โดย พีระ ส่องคืนอธรรม

…ดูกรมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตรอมาตย์ ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้น พึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า. บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร … มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ … สูงต่ำหรือปานกลาง … ดำขาวหรือผิวสองสี … อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้น เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่าเรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้นเป็นชนิดมีแหล่งหรือเกาทัณฑ์ … สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอผิวไม้ไผ่ เอ็น ป่านหรือเยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก หางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้น เขาเสียบด้วยขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูงหรือนกชื่อว่า สิถิลหนุ (คางหย่อน) … เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่างหรือลิง … ลูกธนูที่ยิงเรานั้น เป็นชนิดอะไร ดังนี้ เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น ดูกรมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้บุรุษนั้นพึงทำกาละไป ฉันใด ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ นั้น ฯลฯ แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้ บุคคลนั้นพึงทำกาละไป ฉันนั้น.

จูฬมาลุงกโยวาทสูตร จากพระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕ มัจฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ : ตอนพระพุทธเจ้าสอนมาลุงกยบุตรว่าการขบคิดปัญหาเชิงอภิปรัชญาที่ไม่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นนั้นเสียเวลาเปล่า ควรลงมือปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ให้ได้เสียจะดีกว่า

สองปีติดกันแล้ว ที่พล.อ.อ.ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรม ได้ให้เกียรติมาเป็นองค์ปาฐกพิเศษในงาน E-San Industrial Fair ที่เมืองขอนแก่น งานของปีนี้เพิ่งจบไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ปาฐกถาทั้งสองครั้ง ประจินกล่าวสนับสนุนการขับเคลื่อน “ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้” ของท้องถิ่นว่าสอดคล้องกับนโยบายก้าวสู่สังคมดิจิตอล “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเขาเปรียบเข้ากับการยิงลูกธนูไปสู่เป้าหมาย ลูกธนูนี้คือประชาชนไทย โดยแบ่งลูกธนูออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนหัว ส่วนแกน (ซึ่งอาจแบ่งออกได้อีกเป็นแกนด้านหน้ากับแกนด้านหลัง) และส่วนหาง

ประจินยกลูกธนูขึ้นมาเพื่อประกอบการอธิบายว่าไม่ใช่คนไทยทุกคนจะก้าวสู่การเป็น “คนไทย 4.0” ได้สำเร็จ คนส่วนหนึ่งที่มีศักยภาพ มีความพร้อม จะตรงแหน็วไปถึงเป้าหมายแดงกลม อีกส่วนหนึ่งอาจไม่เข้าเป้าสีแดงเสียทีเดียว ได้เป็น “3.0” “2.5” ลดหลั่นกันไป ประจินบอกว่าถ้าหางธนูสามารถขยับจาก “1.0” ไปเป็น “2.0” ได้ ก็ยังถือว่านโยบายนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ลูกธนูสามสี่ส่วนของประจินพ้องกันกับไม้บรรทัดวัดคนไทยภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” เกือบพอดี คือจาก “คนไทย 1.0” คนใช้แรงงานหนักผลตอบแทนน้อยที่มีโทรศัพท์มือถือไว้โทรอย่างเดียว (และน่าจะอยู่ในภาคเกษตรกรรม) วิวัฒน์ไปจนถึง “คนไทย 4.0” ผู้ประกอบการที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสร้างรายได้มากโดยไม่ต้องทุ่มแรง

ภาษาไทยมีอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบจำแนกช่วงชั้นของคนเต็มไปหมด ที่ลูกธนูของประจินชวนให้นึกถึงมากที่สุดคือ “บัวสี่เหล่า” คำสอนว่าด้วยสติปัญญาของคนสี่จำพวก – บัวพ้นน้ำหนึ่ง บัวปริ่มน้ำหนึ่ง บัวใต้น้ำหนึ่ง บัวในตมหนึ่ง

ในราชอาณาจักรไทย อะไรๆ ก็กลายเป็นคำเปรียบเทียบกับช่วงชั้นในสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือทั้งห้าที่ “ไม่เท่ากัน” ก็ดี รากหญ้าที่ถูกมองว่า “อยู่ที่ต่ำ” ก็ดี ลูกธนูดอกเดียวที่แบ่งได้เป็น “หัว” กับ “หาง” ก็ดี หรือก้านบัวที่มี “ระดับ” ความสูงต่างกันก็ดี

จริงๆ แล้ว “บัวสี่เหล่า” ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพุทธไทยแล้ว ถ้าท่านเคยเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลไทยทั่วไป ท่านอาจเคยได้ยินครูด่า “เด็กหลังห้อง” บางคนว่าเป็น “บัวใต้ตม” เป็น “ปทปรมะ” จนทุกวันนี้ก็ยังได้ยินอยู่ เป็นคำด่าคน “โง่” เกินเยียวยาและสมควรดักดานอยู่อย่างนั้น รอวันเต่าปลามาเขมือบ

ฉันเกิดสงสัยขึ้นมาว่า ตอนนี้ที่มีกระแสของการพัฒนาเมืองขอนแก่นในแนวทาง “Khon Kaen Smart City” หรือ “ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ” ทำไมคำว่า “สมาร์ท” จึงจุดติดได้ขนาดนี้? ถ้ามองในมุมกลับว่าอะไรที่ไม่ “สมาร์ท” นั่นหมายความว่ามัน “สตูปิด” ทำอะไรดีๆ ด้วยตัวเองไม่เป็นหรือเปล่า? แล้วธนูดอกนี้ยิงไปไหนกัน?

จึงขอขบคิดใคร่ครวญปัญหาการพัฒนาประเทศไทยไปเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” และการพัฒนาเมืองขอนแก่นไปเป็น “เมืองอัจฉริยะ” ดังต่อไปนี้…

ถ้าประชากรไทยเป็นลูกธนู แล้วใครล่ะเป็นคนยิงธนู?

ถึงประจินจะไม่ได้บอกตรงๆ ในปาฐกถาทั้งสองที่ขอนแก่น เอ่ยเพียงว่าการจะไปถึงเป้าหมายอย่างแม่นยำนั้น “มันอยู่ที่คนง้างธนู อยู่ที่พลังที่จะง้างธนูให้ถึงขีดสูงสุดของความสามารถธนู” แต่พอลองสืบค้นดูก็เจอเอกสารหนึ่งที่บันทึกคำประจินพูดถึง Thailand 4.0 ว่า “ลูกธนูจะไปได้แรงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับทุกหน่วยงานที่ขับเคลื่อนซึ่งเป็นคนง้างคันธนูและส่งลูกธนูออกไปคือภาพรวมของประชากรประเทศทั้งหมดเพื่อไปสู่เป้าหมาย”

ใช่ว่านักธนูต้องมีทักษะการยิงอย่างเดียว แต่ประจินยังขยายความว่าเขาต้องรู้สภาพของลมด้วย ในปาฐกถาที่ขอนแก่นปีนี้ ประจินให้เครดิตภาคอุตสาหกรรมว่าควรเป็นผู้กำหนดนโยบายรัฐโดยชอบธรรม ประจินบอกว่า

“ผมเคยคิดว่าอุตสาหกรรมจะต้องรอรับนโยบาย ผมคิดผิด ความจริงอุตสาหกรรมเนี่ย คือผู้กำหนดนโยบาย เพราะถ้า demand ไม่เกิด การชี้เป้าไม่ถูกต้อง การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐผิดทางแน่นอน”

นักธนูที่คุณสมบัติพร้อม จึงดูจะเป็นองค์กรเทคโนแครตที่รู้ทิศทางลมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ประจินพูดรวมๆ ถึง “ทุกหน่วยงานที่ขับเคลื่อน” ซึ่งน่าจะหมายรวมทั้งหน่วยงานรัฐส่วนกลางและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นอย่างเทศบาลต่างๆ แต่ท่านรองนายกฯ จะพูดยังไงนะต่อกรณีที่มีการช่วงชิงตำแหน่งนักธนูเอกกันระหว่างอำนาจส่วนกลางกับอำนาจท้องถิ่น?

วันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง 5 เทศบาลขอนแก่นที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียกับ “รถไฟฟ้ารางเบา” ได้ “ตอบโต้” ร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น ด้วยวิธีการจัดเสวนาให้ประชาชนแสดงเจตจำนง ซึ่งเกือบทุกคนที่ลุกขึ้นพูดก็อยากให้เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง และทางผู้บริหารเทศบาลเองก็นำเสนอตัวเองว่าถึงจะประสบการณ์น้อยกว่า แต่ก็เหมาะสมกว่า รฟม.

หางธนูไม่มีอะไรดีเลย?

เมื่อจัดที่ทางให้ “คนไทย 1.0” ไว้หางลูกธนูที่ไม่ถูกคาดหวังให้ไปถึงเป้าหมาย ประจินก็ดูจะคิดเผื่อไว้แล้วว่าส่วนหางธนูไม่มีศักยภาพ ไม่มีความพร้อม ไม่มีพลังอำนาจ ต้องคอยตามคนอื่นต้อยๆ ประจินเองก็เคยกล่าวถึงส่วนหางไว้ทำนองนั้น “ส่วนปลายธนู จะต้องดูแลกันต่อไปให้สามารถเพิ่มศักยภาพได้มากขึ้น”

ด้านบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด หัวหอกผู้ร่วมลงทุนเพื่อสร้าง “ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ” ให้เป็นจริง ก็ไม่ลืม “หางธนู” เช่นกัน มีภาพสโลแกนในเว็บไซต์ว่า “ขอนแก่น SMART City เมืองแห่งโอกาส เมืองของคนทุกคน เมืองที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

เราอาจคิดเองเออเองว่าถ้าต้องการความเร็วของลูกธนูเป็นสำคัญ มีแค่หัวแหลมๆ กับก้านก็น่าจะพอไหม? ปักขนนกไว้ท้ายดอกธนูมันไม่เป็นตัวถ่วงเปล่าๆ เหรอ? แต่เมื่อลองศึกษาหลักการทางฟิสิกส์ของลูกธนูจริงๆ ก็จะตระหนักถึงความสำคัญของปีกธนูด้านปลาย ข้อเท็จจริงก็คือปีกธนูจะถ่วงความเร็วก็ต่อเมื่อลูกธนูพุ่งไปทางทิศที่มันไม่ “ลู่ลม” ตามแผ่นปีกธนูเท่านั้น

นอกจากนี้ ถ้าหัวของลูกธนูเริ่มหมุนติ้วๆ ปีกธนูนี่แหละที่จะช่วยตีศรกลับสู่ทางที่ตั้งไว้ พาให้ลูกธนูพุ่งไปอย่างราบรื่น

การเน้นโวหารการขับเคลื่อนไปด้วยกัน ดูแลกันต่อไป และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังของ “ไทยแลนด์ 4.0” และ “ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ” นี้ มองอีกด้านหนึ่งก็มองข้ามศักยภาพการออกแรงต้านให้ลูกธนูไม่ออกนอกลู่นอกทาง มองข้ามอำนาจกำหนดว่าทิศทางไหนที่ลูกธนูจะพุ่งไปได้สะดวก ทิศทางไหนจะลำบาก

ลูกดอกนี่อาบยาพิษหรือเปล่า?

ไม่ใช่เรื่องเกินจริงหากจะพูดว่า “การพัฒนา” คือยาพิษ ดังที่ปรากฏจากการบังคับใช้จริงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมาตั้งแต่ราวห้าสิบปีก่อน ยาพิษจริงๆ ในรูปของมลพิษในดิน น้ำ อากาศ (ปีที่แล้วกรีนพีซรายงานว่าขอนแก่นมีมลภาวะในอากาศสูงสุดในประเทศ) และในรูปของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ “ยาฆ่าหญ้า” ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศใช้กันมาหนักหน่วงจนอยู่ในภาวะพึ่งพาเพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุ้มกับการลงทุน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังรับเรื่องจากกระทรวงสาธารณสุขและเดินสายรับฟังความเห็นประชาชนโดยกรมวิชาการเกษตรตั้งแต่ปีที่แล้ว คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติไม่แบน “พาราควอต” สารเคมีชนิดแรงที่ใช้กันมากในไร่อ้อย ไร่ข้าวโพดและไร่มันสำปะหลังขนาดใหญ่ กลุ่มเรียกร้องกำลังรวมพลประท้วงอยู่ในขณะนี้ ด้วยคำขวัญ “หยุดแผ่นดินอาบยาพิษ”

กลุ่มผู้ประท้วงมติไม่แบน “พาราควอต” รวมตัวที่กรุงเทพฯ ภาพดึงมาจากโพสต์สาธารณะในเฟซบุ๊กของ Bongkod NokHook Phu วันที่ 5 มิถุนายน 2561

มิพักเอ่ยถึงยาพิษในเชิงอุปมาอุปไมย ซึ่งมาในรูปของวงจรหนี้ที่นับวันยิ่งขยายขึ้นๆ ยาพิษเหล่านี้ที่ผู้คนบริโภคเข้าไป เพื่อจะได้อยู่และตายอย่างสุขสบายกว่าเก่า

ทุกวันนี้มีการพูดถึงการกระจายความเจริญการพัฒนาที่ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปทุกท้องที่ของไทย แทนที่จะเป็นแค่กรุงเทพฯ เมืองท่าภาคใต้และภาคตะวันออก และถ้าในภาคอีสานก็หัวเมืองใหญ่แค่สี่เมืองอย่างที่เคยเป็นมา (โคราช, อุดร, อุบล, ขอนแก่น) หน่วยงานในกระทรวงมหาดไทยก็พยายามผลักดัน “ผังประเทศไทย พ.ศ. 2600” เข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผังนี้มีแผนการพัฒนาแต่ละ “กลุ่มจังหวัด” ตามจุดแข็งและจุดขายของตัวเอง

แต่เมื่อเปรียบเทียบแผนการสวยหรูเหล่านี้กับสภาพความเป็นจริงที่เกษตรกรรายย่อยและคนจนเมืองต้องเผชิญ ท่านก็น่าจะเห็นว่ามันห่างกันไกล

สิ้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สมาชิกชุมชนบขส. เก่าขอนแก่นหลายพันคนรายได้หดหายคาตาพร้อม “ดีเดย์” ย้ายให้รถขนส่งทุกคันไปใช้เฉพาะ บขส. 3 หรือ บขส.แห่งใหม่ที่อยู่ห่างออกไป 9 กิโลเมตร อันเป็นผลมาจากนักขมังธนูในกรมโยธาธิการและผังเมืองหลับตาข้างหนึ่งเพื่อเล็งปลายแหลมของลูกธนูให้ตรงเป้า นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” ด้วยหรือเปล่า? บังเอิญ บขส. แห่งใหม่อวดนวัตกรรม “สมาร์ทบัส” ที่วิ่งตลอด 24 ชั่วโมงด้วย

หรือเป้าแดงกลมที่ลูกศรพุ่งเข้าใส่นั้น แท้จริงเป็นคนที่มีเลือดเนื้อ?

ยิงใส่ใคร?

ภายใต้ “ไทยแลนด์ 4.0” เกษตรกรค่อนข้างไม่อยู่ในสายตา มองเผินๆ แล้วรัฐมีแนวนโยบายเกี่ยวกับเกษตรกรหลายอย่าง ดังเช่นส่งเสริมให้เกษตรกรธรรมดากลายเป็นผู้ทำการเกษตรเชิงอุตสาหกรรม มีการแปรรูป มีการเชื่อมโยงนวัตกรรมเป็น “เกษตรกรสมาร์ท” หรือการสร้างเครือข่าย “Young Smart Farmer” ก็ดี หรือการบรรจุเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติก็ดี

แต่วิธีการดำเนินนโยบายเหล่านี้ ยังใช้ช่องทางแบบ “ไทยแลนด์ 1.0” อยู่ นั่นก็คืออาศัยหน่วยงานราชการซึ่งส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการมองเกษตรกรเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมทำนโยบาย ไม่ใช่ผู้รับการช่วยเหลือเพื่อสนองนโยบายจากข้างบน

ประสบการณ์ที่เกษตรกรรายได้น้อยมีร่วมกันอย่างเดียวภายใต้รัฐบาลชุดนี้ น่าจะเป็นการไปร่วมเทศกาลรับเงินช่วยเหลือที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ (ธกส.) สาขาใกล้บ้านคุณ

แล้วเรื่องค่าครองชีพที่แพงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะใน “เมืองอัจฉริยะ” อย่างขอนแก่นล่ะ? โครงการสร้างรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit – LRT) ความยาว 26 กิโลเมตร จะต้องเพิ่มราคาที่ดินในเมืองขอนแก่นไม่น้อย ซึ่งปัจจุบันก็สูงอยู่แล้ว (เมื่อปี 2555 กรมธนารักษ์ให้ข้อมูลว่าที่ดินบนถนนศรีจันทร์นั้นราคาสูงถึงตารางวาละ 200,000 บาท) แต่คงต้องทายว่าค่าแรงรายวันของคนธรรมดาคงจะไม่ขึ้นไปแบบได้สัดส่วนกันแน่นอน

พวกเรารู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลของประเทศไม่ได้เห็นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ดูได้ง่ายๆ จากที่ราคาแก๊สหุงต้มขึ้นพรวดเดียว 10% ในช่วงเวลาเดียวกับมีคำสั่งจากกระทรวงพลังงานว่าไม่ให้ผู้ประกอบการค้าน้ำมันแจ้งการปรับราคาล่วงหน้าเพื่อ “การแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด” (ตอนนี้กลับคำแล้วด้วยกระแสตีกลับของท้ายธนู)

ประจินเสนอทางออกของปัญหาเรื่องค่าครองชีพและความยากจนไว้ในปาฐกถาพิเศษที่ขอนแก่นเมื่อปีที่แล้วว่า

“ต้องมีเงิน 8,000-12,000 ถึงอยู่ได้ ขอนแก่นค่าครองชีพเริ่มสูงแล้ว การจะสร้างงานต้องมีอะไร อย่างที่ท่านผู้ว่าพูดไว้เมื่อเช้า ต้องมีสามอย่าง คือ งาน เงิน และวุฒิ — พอมีเงินแล้วท่านก็มีความสามารถที่จะดูแลครอบครัว สร้างความสะดวกสบาย สร้างวิถีชีวิต มีเงินไปรักษาพยาบาล มีเงินไปเล่าเรียน มีเงินไปท่องเที่ยว เพราะนั้นชีวิตท่านจะเปลี่ยนไป”

น่าสังเกตว่า การรักษาพยาบาล การศึกษาเล่าเรียน ตามด้วยการท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่ “งาน เงิน และวุฒิ” จะบันดาลให้ได้ ราวกับว่าการรักษาพยาบาลและการศึกษาเล่าเรียนไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรเป็นบริการของรัฐสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะมี “งาน เงิน และวุฒิ” หรือไม่!

จะถอนลูกธนูออกได้ยังไง? (ติ๊ต่างว่าร่างที่ถูกยิงนั้นไม่สามารถถอนศรออกได้เอง)

เมื่อปีกลาย มีแคมเปญรณรงค์บนเว็บไซต์ Change.org เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา “สถาปนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงให้มีกฎหมายคุ้มครอง” เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ศรัทธาแนวทางปรัชญาผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองให้พ้นจากการรุกรานของนโยบายพัฒนาโดยรัฐหรือกลุ่มทุนในอนาคต มีคนลงชื่อสนับสนุน 900 กว่าคน ทว่าแม้แต่ผู้ร่วมลงชื่อบางคนก็แสดงความเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ทั้งในทางหลักการและการปฏิบัติ คนหนึ่งเขียนว่า “แคมเปญนี้ดีที่เห็นหัวคนตัวเล็ก ๆ ชาวบ้านตาดำ ๆ แต่เสียดายจริง ๆ เมื่อคำนึงถึงความเป็นไปได้ทั้งหมดแล้ว คนตัวเล็ก ๆ ก็ต้องถูกเอาเปรียบต่อไปในทางเศรษฐกิจครับ”

ถ้าไปทางนั้นไม่ได้แล้ว นอกจากการลุกฮือขึ้นล้มล้างระบอบรัฐและนายทุน เราจะฝากความหวังไว้กับการจับมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (สไตล์ “ประชารัฐ”) ได้ไหม? เมื่อนักการเมืองท้องถิ่นผู้มีพลังดึงดูดอย่างนายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่นร่วมมือกับนักธุรกิจ “รักบ้านเกิด” ผู้ก่อตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง ดึงเอาภาคส่วนอื่นๆ มามีส่วนร่วม อย่างน้อยๆ พวกเขาก็มีสิ่งที่ต้องมี นั่นคือเงินกับอำนาจ คุณเอาด้วยไหม? หรือไม่เอา?

ถ้าไม่พยายามยิงไปไหนเลย จะมีใครต้องสูญเสียไหม?

มีสิ เวลาเป็นสิ่งที่แพงที่สุด อย่างที่อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวปกป้องโครงการ “สร้างอนาคตไทย 2020” สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทุกวันนี้อนาคตนั้นกลายเป็นจักรวาลคู่ขนานกับจักรวาลของเราภายใต้รัฐบาลทหารกับรถไฟไทย-จีนที่ลดสเกลและลดสเป็กลงมา ถ้าหาก “ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ” ต้องหยุดอยู่ที่ภาพฝันบนหน้าจอเช่นเดียวกันแล้ว ก็คงเป็นอนาคตที่จะต้องตกทุกข์มากที่สุด

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน “สร้างอนาคตไทย 2020” สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เปิดตัวปี 2556 โครงการนี้รู้จักกันในหน้าสื่อว่าโครงการ “สองล้านล้าน”

ในบทความ “Thinking about smart cities” นักวิชาการอเมริกัน Amy Glasmeier และ Susan Christopherson ชี้ภาวะเร่งด่วนไว้ชัดเจนว่า:

“มีตัวเลขประมาณการไว้ภายในปี 2050 [พ.ศ. 2593] ว่าคน 2.6 พันล้านคนจะย้ายเข้าเมืองหรือเกิดในเมือง สองในสามของจำนวนนั้นจะอาศัยอยู่ในเอเชียหรือแอฟริกา หากปล่อยไปตามมีตามเกิด เมืองเหล่านี้จำนวนมากจะผุดขึ้นจากหรือผนวกกลืนชุมชนที่คนไปตั้งรกรากในที่สาธารณะ ประปา น้ำเสีย ขนส่ง ไฟฟ้า โทรคมนาคม ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การศึกษา ระบบทั้งหลายเหล่านี้จะต้องถูกสร้างขึ้นมาจากศูนย์ . . . พยากรณ์ไว้ว่าความเร็วการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปอย่างฉับพลันเสียจนกระทั่งหากไม่พยายามสร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัยที่เป็นรูปธรรมเสียแต่ตอนนี้แล้ว ก็มีแนวโน้มว่าความคิดเห็นและคำชี้แนะของนักวิชาการจะไม่สร้างแรงกระเพื่อมหรือมีผลกระทบใดๆ ต่อเมืองอนาคตเหล่านี้”

ชนชั้นนำของเมืองขอนแก่นได้เล่นเกมในกระดานของรัฐบาลทหารอย่างสุดความสามารถแล้ว จนปลดล็อกอำนาจและตำแหน่งนายขมังธนู(เกือบ)ได้

ไม่ว่าจะคู่ควรหรือไม่ ชนชั้นนำขอนแก่นก็มีเจตจำนงทางการเมืองที่จะฝ่าฟันให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้ลุล่วงไปได้ ซึ่งสิ่งนี้แหละคือคุณค่าที่อนาคตคู่ควร

ประจิน จั่นตอง ดูจะเป็นคนเดียวที่มั่นใจว่า “ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้” จะได้ขับเคลื่อนแน่นอนไม่ว่าอยู่ในมือใคร “ผมมั่นใจว่าแม้จะมีรัฐบาลใหม่ รัฐบาลใหม่ก็จะรับหลักการที่จะสานต่อแนวคิดนี้ต่อไป” เขากล่าวในปาฐกถาปีที่แล้ว คนขอนแก่นไม่ได้มั่นใจหรือใจเย็นปานนั้น ต่างวิตกกังวลว่าถ้าการเมืองพลิก มีสิทธิต้องนับหนึ่งใหม่สูง อีกทั้งถ้าไม่ทำเองตอนนี้ คงต้องเข้าคิวต่อจากภูเก็ตและเชียงใหม่และแย่งกันเป็นคิวที่สามกับโคราช ต้องรอราวเก้าปีกว่าจะได้เริ่มสร้าง

ฉะนั้นแล้ว การสักแต่ขบคิดใคร่ครวญอย่างวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ วนไปๆ อาจเข้าข่ายเพิ่มความทุกข์ของผู้คนได้ด้วยซ้ำ การวิพากษ์วิจารณ์ต้องมีพื้นฐานจากการเข้าไปคลุกคลีมีส่วนร่วมกับความพยายามพัฒนาเมืองในพื้นที่ที่เจาะจง เพื่อที่ว่าการวิพากษ์จะได้ตอบโจทย์ตามสภาพความจริง

ที่พระพุทธเจ้าพูดไว้ อาจจะถูกต้องแล้ว

image_pdfimage_print