โดย บูรพา เล็กล้วนงาม
หลังผ่านการยึดอำนาจมา 4 ปี ทำให้พบว่า การเลือกตั้งคือทางออกเดียวของประเทศไทย เนื่องจากการเลือกตั้งจะเป็นกุญแจเปิดไปสู่สังคมที่มีสิทธิเสรีภาพ ปัญหาที่หมักหมมมาในยุค คสช.จะได้รับการแก้ไข แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ความเดือดร้อนนับวันยิ่งเพิ่มขึ้น
ถ้าพูดกันตามโร้ดแมป (ฉบับแรก) การเลือกตั้งควรเกิดขึ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 2558 แต่โร้ดแม็ปของ คสช. เป็นเพียงแค่ลมปาก และการเลื่อนตั้งถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ ถึง 5 ครั้ง ทำให้ไม่มีใครทราบได้ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อไหร่
สมมติว่าถ้ายึดตามข้อกฎหมาย หลังมีรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งต้องมีขึ้นอย่างช้าไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562
แต่จนถึงวันนี้กลับยังไม่มีการกระทำที่บ่งชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จะคืนอำนาจให้ประชาชน เนื่องจากยังไม่มีวี่แววการปลดล็อคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ ด้วยการยกเลิกประกาศ คสช. ที่ 57/2557 (ห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว) และยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน)
จึงราวกับว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเดินหน้าไปทางไหนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจแต่ผู้เดียวของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งฉายภาพการปกครองระบอบเผด็จการได้อย่างชัดเจน
ยิ่งมาพิจารณาถึงคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ก็ยิ่งพบแต่ความกังขา
“ใครทำให้เกิดความไม่มั่นคงปลอดภัยและนำไปสู่การเลือกตั้งไม่ได้ก็ต้องถูกลงโทษเด็ดขาด” คือคำกล่าวพล.อ.ประยุทธ์หลังประชุม ครม. เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2561
คำกล่าวนี้ตีความได้ว่า หัวหน้าคสช.พยายามว่าโยนความผิดให้บุคคลอื่นว่าเป็นผู้ขัดขวางการเลือกตั้ง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาล คสช. ต่างหากที่เป็นคนทำแท้งการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ส่วนการจัดกิจกรรมมขอเลือกตั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 ไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องความไม่มั่นคงปลอดภัย
ถัดมาอีกวันในวันที่ 6 มิ.ย. 2561 นายกรัฐมนตรีระบุว่า “การหาเสียงจะต้องอยู่ในกรอบที่กำหนด โดยต้องขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไป แต่บางอย่างอาจไม่ต้องขอ”
สิ่งนี้ตอกย้ำว่า คสช. เองต่างหากที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งหรือไม่
การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ คสช.หาข้ออ้างที่ดูดีแล้วใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับหรือแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะทำให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้น
สมมติว่าการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปจริงๆ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบคงหนีไม่พ้นคนไทยทั้งประเทศโดยเฉพาะคนภาคอีสาน ที่ถูกตัดการมีเชื้อชาติ “ลาว” ออกไปจากการจัดทำตำราประวัติศาสตร์เมื่อร้อยปีก่อน
หลังการเสวนาเรื่อง “โตเกียว ขอนแก่น: เมืองต้องสู้” ที่ม.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2561 อ.พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะมีความหมายกับคนอีสานอย่างมาก เพราะผู้แทนของคนอีสานถูกพรากอำนาจไปจากการทำรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 มากที่สุด
“การเลือกตั้งน่าจะทำให้คนอีสานกลับมามีสิทธิ มีเสียง มีอำนาจในทางประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง”
คำพูดของพิชญ์แปลความได้ว่า ถ้าไม่มีการเลือกตั้งคนอีสานก็จะไม่มีปากเสียงและไร้ความหมายต่อไป
สอดคล้องกับความเห็นของ อ.วิชาญ ฤทธิธรรม แห่งสาขาวิชารัฐศาสตร์ มรภ.สกลนคร ที่กล่าวถึง คสช. ว่า “เวลาที่ผ่านมา ปีแรกยังพอฟังได้ แต่มันผ่านมาสามสี่ปี มันก็จบแล้ว … คนทำผิดให้โอกาสปีเดียวก็พอ แต่นี่คุณไม่ได้ทำผิด คุณหลงผิดและคุณใจดำมาก”
ถึงแม้ คสช. จะยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองหลายพรรคก็มีความเคลื่อนไหวแล้ว เช่น เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 ผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนจัดคาราวานสามัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชน เริ่มต้นที่จ.ขอนแก่น ศูนย์กลางของภาคอีสาน

พรรคสามัญชนจัดประชุมผู้ก่อตั้งพรรค ที่จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 เพื่อรับฟังความเห็นประชาชนก่อนไปจัดทำนโยบายพรรค
ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน “กรชนก แสนประเสริฐ” เล่าว่า การประชุมผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนมีมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นของผู้ก่อตั้งที่เป็นภาคประชาชนเพื่อรวมรวมแล้วจัดทำเป็นนโยบายของพรรค ซึ่งต่างจากพรรคการเมืองอื่นที่ให้คนระดับบนเป็นผู้จัดทำนโยบาย
แม้ช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์จะออกแรงย้ำหลายครั้งว่า จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าแน่นอน แต่ผู้รักประชาธิปไตยและคนทั่วไปไม่ควรนิ่งเฉยเพื่อรอเวลา เพราะถ้าไม่สร้างกระแสกดดัน คสช. ให้แรงพอ คสช. อาจจะใช้มุกเดิมคือ เลื่อนการเลือกตั้งออกนานเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเป็นวิธีการของคนไร้สปิริต
ส่วนถ้าต้องการสปิริต “ให้ไปเรียกร้องกับนักกีฬา” ตามที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวไว้หลังเผชิญข่าว กกต.พบว่าภรรยานายดอนถือหุ้นเกินร้อยละ 5 แต่ไม่แจ้ง ป.ป.ช. ตามกฎหมาย โดยไม่มีท่าทีจากพล.อ.ประยุทธ์ในหัวหน้ารัฐบาลว่า จะแสดงความรับผิดชอบอะไร