โดย บูรพา เล็กล้วนงาม
อุบลราชธานี – อดีต ส.ว.อุบลราชธานี ระบุ ภาคอีสานถูกละเมิดสิทธิชุมชนต่อเนื่องนับแต่รัฐประหารจากการใช้มาตรา 44 โดยมีตัวอย่างคือนโยบายทวงคืนผืนป่า เผยปรองดองล้มเหลวแถมยังทำให้รัฐบาลขัดแย้งกับประชาชน
เดอะอีสานเรคคอร์ดพูดคุยกับนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และอดีต ส.ว.อุบลราชธานี (ปี 2543-2549) เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2561 ถึงสถานการณ์การเมืองภาพรวมของประเทศและสถานการณ์ในภาคอีสาน
อยากให้ทบทวนในสิ่งที่เกิดขึ้นในอีสานในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาหลังการเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่ามีอะไรน่าจดจำบ้าง
หลังจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2557 ผมคิดว่า ถ้ามองในแง่หลักสิทธิมนุษยชน คนอีสานแทบจะไม่ได้อะไรในเรื่องแนวทางหรือนโยบายในการปกครอง เพราะว่าถ้าเราพูดถึงเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน สิ่งที่จะมีผลอย่างมากคือเรื่องของสิทธิชุมชน
สิทธิชุมชนเป็นหลักใหญ่ใจความของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการใช้ประโยชน์และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การรักษาสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนการทำมาหากินของประชาชนในภาคอีสาน
หลังรัฐประหารมีการใช้กฎหมายและนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2557 ที่มีผลกระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะหลักสิทธิชุมชนอย่างมาก ระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงของการถอยหลังและการทำลายหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้มีการพัฒนาการในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ ปี 2540

มองไปถึงอนาคต คสช. ทิ้งอะไรไว้ให้คนอีสานบ้าง แล้วการเดินไปข้างหน้าจะเกิดปัญหาอะไร
สิ่งที่ทิ้งไว้ให้ ผมคิดว่ามี 2 ประการ ประการแรก คือผลกระทบจากการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เรื่องแรก ได้แก่ การทวงคืนผืนป่า
การทวงคืนผืนป่าส่งผลกระทบต่อคนอีสานและคนทั่วประเทศ เนื่องจากทรัพยากรที่ดินเป็นพื้นฐานของทุนชีวิตและทุนทางสังคมของคนในภาคการเกษตร แต่หลังมีคำสั่งคสช. ที่ 64/2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เรื่องการทวงคืนผืนป่า ทำให้ประชาชนที่อยู่ในผืนป่าไม่สามารถทำมาหากินได้
ในภาคอีสานมีการทวงคืนผืนป่าในหลายจังหวัด ไล่ตั้งแต่อีสานเหนือ ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร ขอนแก่น จนมาถึงบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งกระทบต่อสิทธิการทำกิน
นอกจากทวงคืนผืนป่าแล้ว เจ้าหน้าที่ยังได้ใช้อำนาจตัดต้นยางของประชาชน จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้
คำสั่ง คสช. ช่วงหลังยิ่งมีผลกระทบต่อนโยบายที่มุ่งเน้นการลงทุน เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. 4/2559 เรื่อง ยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการพลังงานและขยะ รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามการชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิการมีการส่วนร่วมของภาคประชาชนในการต่อสู้เรียกร้องในเรื่องที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ
ประการที่สอง การใช้อำนาจออกคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ในประเทศไทยคำสั่งดังกล่าวยังถือเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ตลอดไป เช่นเดียวกับคำสั่งคณะปฏิวัติสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ยังเป็นกฎหมายอยู่ ในอนาคตจึงต้องทำให้อำนาจตาม มาตรา 44 ถูกขจัดออกไป เพื่อไม่ให้คำสั่ง คสช. ส่งผลกระทบต่อประชาชน
หมายความว่าเราน่าจะเสนอให้ทบทวนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. ว่าจะยกเลิกหรือจะแก้ไขอย่างไร
ผมคิดว่าต้องทบทวนว่า คำสั่ง คสช. จากมาตรา 44 ฉบับไหนส่งผลกระทบต้องหาทางขจัดออกไป แล้วชดเชย เยียวยา หรือฟื้นฟู พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย
ช่วยพูดถึงการปฏิรูปตามที่ คสช. บอกว่า ต้องการเข้ามาปฏิรูป แต่ผ่านมาแล้ว 4 ปีการปฏิรูปเป็นแค่แผนยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติ
มี 2 ประการ อย่างแรก การปฏิรูปในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเป็นการปฏิรูปด้วยคำพูด ไม่ได้เกิดการกระทำ หรือการปฏิบัติที่นำไปสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง
อย่างที่สอง การปฏิรูปกลับไปอยู่ในความดูแลของระบบราชการ แต่ระบบราชการส่วนเดียวไม่เพียงพอต่อการปฎิรูป เพราะว่าการปฎิรูปเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ ต้องเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วิธีคิด ตลอดจนกระบวนการทำงานที่ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคประชาชน
สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นเรื่องระบบราชการ แสดงว่าพล.อ.ประยุทธ์ยังไม่เข้าใจเรื่องการปฎิรูปว่า ถ้าต้องการจะปฎิรูป ต้องปฎิรูปตั้งแต่ระบบราชการ ไปจนถึงปฎิรูปประเทศไทย ไม่ใช่แค่ปฎิรูปอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ
สรุปแล้วน่าจะล้มเหลว
ถ้ายังหวังพึ่งระบบราชการ มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศกี่ร้อยชุดก็ตาม ถ้ายังไม่ทำงานอย่างแท้จริง ถ้ายังไม่เปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานว่า ต้องเน้นในเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องกระบวนการการมีส่วนร่วม การต้องทำงานโดยยึดหลักการเปิดเผย โปร่งใส และรับฟังความเห็นที่หลากหลาย ก็ไม่มีทางที่จะปฎิรูปได้สำเร็จ
ผ่านมา 4 ปีแล้ว คนไทยปรองดองขึ้นหรือยัง การเมืองจะเดินถึงทางตันอีกไหม
ถ้าพูดถึงความปรองดองก็เป็นเรื่องของความล้มเหลว คณะรัฐประหารตั้งเป้าหมายเมื่อเข้าสู่อำนาจว่าจะทำเรื่องความปรองดอง การปฎิรูป และการปราบทุจริต ซึ่งทั้ง 3 เรื่องก็ทำไม่สำเร็จ
ความพยายามสร้างความปรองดองมีมาก่อนการรัฐประหาร แต่ทำไม่สำเร็จเพราะไม่มีการนำข้อเสนอต่างๆ มาสู่การปฏิบัติ ส่วนปัจจุบันความขัดแย้งความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น แต่เดิมความขัดแย้งเป็นเรื่องของการเมืองเรื่องสีเสื้อ แต่ขณะนี้ความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ จึงหมายความว่าความปรองดอง และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งล้มเหลว
พอบอกได้ไหมว่า ถ้าจะปรองดองกันจริงๆ ต้องเริ่มทำจากจุดไหนก่อน
หลักการมี 3-4 ข้อใหญ่ๆ ข้อแรกคือต้องทำความจริงให้ปรากฎ ก่อนแม้ความจริงจะทำให้เกิดความเจ็บปวด โดยความจริงเหล่านั้นมีการวิเคราะห์ในงานวิจัยหลายชิ้น งานหลายชิ้นไม่ตรงกัน จึงต้องนำงานวิจัยมาพูดคุยกัน ต้องยอมรับ และหาข้อสรุป
ข้อที่สองคือ เมื่อความจริงปรากฎจึงค่อยหาวิธีพิจารณาเพื่อยอมความกัน หรือ “นิรโทษกรรม” ซึ่งการยอมความไม่ใช่ข้อเสนอของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ต้องเป็นมติร่วมกัน ส่วนการลงโทษในความผิดที่เป็นรูปธรรมก็ยังต้องมีอยู่ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างในการกระทำความผิดต่อไป
ข้อที่สามคือ ผู้ที่ได้รับความเสียหายต้องได้รับการเยียวยาอย่างเป็นระบบ ด้วยการได้รับการชดเชยหรือการฟื้นฟู
ข้อสุดท้ายคือ ต้องพิจารณาว่าสาเหตุอะไร หรือองค์กรอะไรทำให้เกิดความขัดแย้ง ต้องเข้าไปพิจารณา แก้ไข ผลักดัน หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความปรองดอง ต้องทบทวนว่า กฎหมาย หน่วยงาน หรือสถาบันใดบ้าง ที่มีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้ง แล้วนำมาสู่การแก้ไขในเชิงระบบ เชิงโครงสร้าง ของหน่วยงานหรือสถาบัน
สามสี่ข้อนี้เป็นสิ่งที่ต้องมาทบทวนกันและทำให้เกิดความเข้าใจเพื่อสร้างแนวปฎิบัติที่แท้จริง
แสดงว่าที่ผ่านมารัฐบาลกับหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาไม่น่าจะทำเรื่องการปรองดองสำเร็จ
ที่ผ่านมาสังคมไทยมีจุดอ่อนอยู่ข้อนึง คือเรามักจะลบล้างอดีตหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เรามักจะใช้ความคิดที่ว่า ลืมๆ มันไปซะ ยอมๆ มันไปซะ
เราไม่เคยคิดว่าประวัติศาสตร์ หรืออดีตที่เกิดขึ้น ถ้าเราทบทวนและสรุปบทเรียนว่าเกิดอะไรขึ้น อดีตจะเป็นตัวสอนว่า ปัจจุบันเราจะแก้ไขและนำไปสู่ทิศทางในอนาคตที่ถูกต้องอย่างไร แต่เราไม่ค่อยมีบทสรุปแบบนี้
เรามักจะนำหลักศาสนาที่ไม่ทันสมัย เช่น การให้อภัยกัน มาใช้ การไม่อยากพูดถึงอดีตที่มันเจ็บปวดเป็นหลักที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่สอดคล้องกับการที่จะนำไปสู่หลักแห่งความปรองดองในโลกของปัจจุบันที่ตั้งอยู่บนความเห็นที่หลากหลาย มีการใช้เหตุผล และการยอมความกัน ด้วยข้อเท็จจริงมากกว่าใช้จิตใจยอมรับกันเฉยๆ
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ยังจะมีอนาคตไหม
คนในสังคมในขณะนี้ยังตั้งคำถามอยู่ว่า ตกลงจะได้เลือกตั้งในปีหน้าหรือเปล่า เพราะขณะนี้เราก็ยังไม่แน่ใจและยังประเมินไม่ถูก เนื่องจากมีการกระทำบางอย่างในเชิงอำนาจและนโยบายที่ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคกัน และมีการทำงานบางอย่างที่ยังเป็นเรื่องของการใช้อำนาจและมีการละเมิด
ถ้ามีการมองความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องของการก่อความไม่สงบ นั่นหมายความว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถหลุดรอดจากความขัดแย้ง ความหวังให้มีบรรยากาศของการเลือกตั้งและมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จึงยังไม่เกิดขึ้น
ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายสังคมไทยว่า เราจะสรุปบทเรียนและทำให้เราก้าวข้ามสิ่งที่เป็นอุปสรรคได้อย่างไร ถ้าตราบใดเราไม่พยายามสรุปเรื่องราวที่ผ่านมาในรอบ 10 ปี และมองให้เห็นว่าเราจะก้าวไปอย่างไรให้ถูกต้องและมีสติ เราก็จะยังมองไม่เห็นทิศทางของสังคมไทยที่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และแข็งแรง