นครพนม – ศาลจังหวัดนครพนมเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูกระแต เนื่องจากจำเลยเสียชีวิต โดยคดีนี้ เจ้าหน้าที่รัฐฟ้องขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่เพื่อนำที่ดินไปสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2561 ศาลจังหวัดนครพนมเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุธรณ์ภาค 4 จ.ขอนแก่น คดีบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูกระแต ที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องประชาชน 29 คน ที่อาศัยบริเวณโคกกระแต (ป่าโนนสูง) บ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ข้อหาบุกรุก แผ้วถางป่าที่ดินสาธารณประโยชน์ (ที่ดินที่ทางราชการได้จัดให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน)

เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฏาคมถึงเดือนตุลาคม ปี 2557 เจ้าพนักงานปกครองจังหวัดนครพนมและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จังหวัดนครพนม ตำรวจและทหาร ใช้อำนาจตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ว่าด้วยเรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. เข้าควบคุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหาประชาชนที่อาศัยบริเวณดังกล่าวเพื่อเตรียมพื้นที่ก่อนการประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.นครพนม เมื่อปี 2558

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 29 คน เนื่องจากโจกท์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยบุกรุกที่ดินสาธารณะตั้งแต่เมื่อใด ประกอบกับจำเลยมีหลักฐานเป็นเอกสารการครอบครองที่ดินที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารครอบครองที่ดินทำประโยชน์ชั่วคราว (น.ส.2) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)

นางสิมาลา หงษามนุษย์ (คนขวาสุด)จำเลยที่ 1 และจำเลยบางส่วน พร้อมญาติ มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีบุกรุกโคกภูกระแต ที่ศาลจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2561

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 จำเลย 15 คน ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เนื่องจากไม่ยอมรับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ตัดสินว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ของรัฐ โดยจำเลยทั้ง 15 คนยืนยันว่า พวกตนมีเอกสารสิทธิการครอบครองที่ดินที่ราชการออกให้ และถ้าหากยอมรับคำพิพากษานี้ก็เท่ากับว่ายอมรับว่าที่ดินบริเวณนี้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ของรัฐไม่ใช่ที่ส่วนบุคคล ซึ่งในอนาคตราชการจะอ้างความชอบธรรมในการเวรคืนที่ดินของรัฐได้

ทั้งนี้ ศาลนครพนมมีคำสั่งให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เนื่องจากจำเลย 2 คนเสียชีวิตระหว่างพิจารณาคดี ศาลต้องส่งรายชื่อจำเลยที่เสียชีวิตไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตัดชื่อจำเลยที่เสียชีวิต แล้วขอให้ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของผู้ตายมาเป็นผู้ฟังคำพิพากษาแทน จากนั้นศาลจะแจ้งวันฟังคำพิพากษาใหม่อีกครั้ง

นางสมหมาย เอฟวา จำเลยที่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นกล่าวว่า ตนไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ว่าที่ดินที่ตนอาศัยอยู่เป็นที่ดินสาธารณะของรัฐ

นางสมหมาย เอฟวา อายุ 47 ปี ชาวบ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ประกอบอาชีพอิสระ จำเลยที่ 15 ซึ่งยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น กล่าวว่า พวกตนไม่ยอมรับคำพิพากษาที่ศาลบอกว่าพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่เป็นพื้นที่สาธารณะของรัฐ เพราะที่ดินที่ตนอาศัยอยู่มีเอกสาร น.ส.2 ที่หน่วยงานราชการออกให้ตั้งแต่ปี 2501 ก่อนหน้าที่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์ เมื่อปี 2557   

“การมีเอกสารสิทธิ [น.ส.2] ทำให้ยืนยันว่าที่ตรงนี้เป็นที่มีคนถือครองไม่ใช่ที่สาธารณะ” นางสมหมายกล่าว

นางสมหมายเล่าว่า เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ปี 2557 ตนได้รับหนังสือจากอำเภอเมืองนครพนมแจ้งให้ไปพบ เนื่องจากมีรายชื่อเป็นผู้บุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์โคกภูกระแต ตนไม่คิดว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้เป็นที่ดินที่พ่อแม่ได้เอกสาร น.ส.2 ให้ทำกินได้ตั้งแต่ปี 2501

“พวกเราฝ่ายอุทธรณ์ยืนยันว่าเมื่อมีเอกสารสิทธิที่ดินที่รัฐออกให้ ก็ถือว่าไม่ใช่ผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ และที่ดินที่อาศัยอยู่ก็ไม่ใช่ที่สาธารณะ เป็นที่ส่วนบุคคล” นางสมหมายกล่าว

ส่วนถ้าหากหน่วยงานรัฐพิจารณาให้ค่าชดเชยเป็นเงินเพื่อให้ออกจากพื้นที่ นางสมหมายตอบว่า รัฐต้องมีที่ดินแห่งใหม่เพื่อรองรับการสร้างที่อยู่ใหม่ให้กับครอบครัวโดยที่ดินนั้นต้องไม่ห่างไกลจากที่ดินเดิม เพราะตนต้องการใช้ชีวิตตามแบบเดิม แต่ถ้าไม่มีที่ดินรับรองก็ต้องมีค่าชดเชยในที่ดินที่เหมาะสมให้

ที่บ้านพักบริเวณที่ดินสาธารณะที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าบุกรุก นางสิมาลา หงษามนุษย์ จำเลยที่ 1 กล่าวถึงเหตุผลที่ไม่ยื่นอุทธรณ์ว่า เพราะกังวลว่าศาลอุทธรณ์อาจจะกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วพวกตนจะกลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินสาธารณะ

“รัฐต้องคำนวนค่าชดเชยตามราคาตลาดที่ดินที่ซื้อขายกันในพื้นที่ถึงจะเหมาะสม” นางสมหมายกล่าว

นางสิมาลา หงษามนุษย์ อายุ 57 ปี ชาวบ้านห้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ประกอบอาชีพค้าขาย จำเลยที่ 1 ผู้ไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา กล่าวว่า ตนตกใจว่าทำไมจำเลยหลายคนตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นตัดสินว่า จำเลยไม่ใช่ผู้บุกรุกที่ดินสาธารณะของรัฐตามที่ถูกกล่าวหา สมมติว่าถ้าศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าจำเลยทำผิด ตนจะกลายเป็นผู้บุกรุกที่สาธารณะของรัฐหรือไม่

“แม่จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐเวนคืนที่ดินหรือไม่ ถ้าเป็นจริงแม่กับครอบครัวคงไม่มีที่อยู่อาศัย” นางสิมาลากล่าว

นางสิมาลาเล่าถึงเหตุการณ์การถูกจับกุม เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2557 เวลา 6.00 น. ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองพร้อมอาวุธครบมือมาหาตนที่บ้าน ขณะที่ตนกำลังเตรียมวัตถุดิบเพื่อทำอาหารขายตามปกติ เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าจะพาตนไปยังสำนักงานที่ดินในตัวเมืองพร้อมกับเพื่อนบ้านอีกหนึ่งคน

“ตำรวจไม่ได้บอกว่าจะให้แม่ไปสำนักงานที่ดินเพื่ออะไร แม่จึงบอกตำรวจว่าจำเป็นต้องขายของนะ ถ้าไม่ขายของวันนี้คงไม่มีรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว” นางสิมาลากล่าว

นางสิมาลาเล่าต่อว่า ตำรวจไม่ได้พาตนไปสำนักงานที่ดินแต่พาไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม พอไปถึงตำรวจให้เข้าไปรอในห้องรับรอง ตนจึงพบเพื่อนบ้านอีก 12 คน จากนั้นเวลา 11.00 น. ตำรวจได้นำเอกสารบางอย่างมาให้ตนและเพื่อนบ้านอีก 12 คนลงลายมือชื่อ โดยตำรวจบอกว่าให้ลงรายมือชื่อเพื่อปฏิเสธว่าไม่ได้บุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์ของรัฐ

“แม่และเพื่อนบ้านที่มาด้วยจึงลงรายมือชื่อในเอกสารนั้น โดยแม่ไม่ได้อ่านรายละเอียดเอกสาร เพราะอ่านหนังสือไม่ออก” นางสิมาลากล่าว

นางสิมาลาเล่าอีกว่า เวลา 13.00 น.ตำรวจให้ทุกคนที่อยู่ในห้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ต่อมาเวลา 16.00 น. ตำรวจบอกกว่า ทุกคนที่มาวันนี้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์โคกภูกระแต ถ้าไม่อยากถูกคุมขังต้องหาหลักทรัพย์มาประกันตัวเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท ซึ่งตนไม่มีเงิน แต่โชคดีที่มีข้าราชการท้องถิ่นที่รู้จักใช้ตำแหน่งมาประกันตัว หลังจากนั้นตนต้องไปรายงานตัวที่ศาลจังหวัดนครพนมทุกเดือน

“ตกใจมากที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ ทั้งที่มีเอกสารสิทธิในที่ดินที่ราชการออกให้”

จำเลยที่ 1 กล่าวอีกว่า ระหว่างต่อสู้คดีทนายความได้ค้นพบเอกสารเกี่ยวกับกรรมสิทธิในที่ดินของตนและจำเลย ที่สำนักงานที่ดิน โดยพบว่าเป็นเอกสาร ใบจอง น.ส.2 และเอกสาร สค. 1 ในที่สุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 ศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้งหมดว่า ไม่ได้กระทำผิดตามที่ฝ่ายโจทก์กล่าวหา

นายอดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน นักกิจกรรมองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวและกล่าวหาประชาชนว่าบุกรุกที่ดินของรัฐ ทั้งที่ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าประชาชนเหล่านั้นมีเอกสารสิทธิหรือไม่

นายอดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน นักกิจกรรมองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐเป็นผู้เริ่มความขัดแย้ง รัฐใช้กำลังเจ้าหน้าที่ไปไล่รื้อและบังคับให้ประชาชนออกจากพื้นที่เพื่อรองรับโครงการการพัฒนาขนาดใหญ่ โดยอ้างว่าประชาชนเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ

“วิธีการที่รัฐใช้คือ ใช้คำสั่ง คสช. และใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกจับกุมพี่น้องแล้วค่อยแจ้งข้อกล่าวหาทีหลัง ถือเป็นวิธีการจับกุมที่เป็นรูปเผด็จการ” นายอดิศักดิ์กล่าว  

นายอดิศักดิ์กล่าวว่า ตามกระบวนการเจ้าหน้าที่รัฐควรตรวจสอบเอกสารสิทธิของคนในพื้นที่ก่อนว่า พวกเขามีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินตามกฎหมายหรือไม่ ถ้ามีการตรวจสอบเอกสารสิทธิคงไม่เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชน

นายอดิศักดิ์กล่าวว่า ตนเคยคุยกับจำเลยหลายคนเกี่ยวกับเรื่องเงินชดเชย จำเลยหลายคนตอบว่า ถึงจะได้เงินชดเชยจำนวนมากหลายแสน หลายล้านบาท ก็ไม่ได้การันตีว่าชีวิตพวกเขาจะมีความสุขเหมือนเมื่อก่อน

“พี่น้องหลายคนอายุเยอะ ไม่ใช่วัยทำงาน ถ้าต้องย้ายออกจากพื้นที่ไปอยู่ห้องเช่า อาจจะกลายเป็นแรงงานรับจ้างก็ได้ ซึ่งไม่ใช่วีถีชีวิตที่พวกเขาเคยเป็น” นายอดิศักดิ์กล่าว

ความเป็นมาของคดีนี้

วันที่ 29 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้านได้เข้าตรวจสอบเอกสารสิทธิในที่ดินของประชาชนจำนวน 14 คน ที่อาศัยบริเวณพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม โดยใช้อำนาจตรวจสอบตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 และเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าประชาชน 14 คน บุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์โคกภูกระแต

วันที่ 18-22 ตุลาคม 2557 พนักงานปกครองอำเภอเมืองนครพนม ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมมั่นคง (กอ.รมน.) จังหวัดนครพนม มีหนังสือเรียกประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวมาพบอีกจำนวน 284 คน โดยอ้างว่าได้ตรวจสอบพบว่าประชาชนทั้งหมดบุกรุกที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตเช่นกัน จึงขอเชิญมามาทำพันธสัญญาและทำความเข้าใจในการดำเนินการขอคืนพื้นที่สาธารณประโยชน์ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 สรุปแล้วมีผู้บุกรุกที่มาพบเจ้าหน้าที่ตามหนังสือเชิญ จำนวน 277 คน ผู้บุกรุกไม่มาพบเจ้าหน้าที่จำนวน 5 คน มีผู้ยินยอมออกจากพื้นที่บุกรุกจำนวน 256 คน และมีผู้บุกรุกอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ครอบครอง จำนวน 21 คน

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2557 นายดำรงค์ สิริวิชย อิ่มวิเศษ นายอำเภอเมืองนครพนม (ขณะนั้น) มีหนังสือมอบอำนาจให้นายสุภชัย ท้าวกลาง ปลัดอำเภอเมืองนครพนม เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม ให้ดำเนินคดีกับผู้ที่อ้างว่ามีเอกสารสิทธิในข้อหาบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูกระแตทั้งหมดเป็น 21 คน รวมจำเลยในคดีนี้ทั้งหมดที่ถูกฟ้องร้องคดีทั้ง 3 ครั้งจำนวน 35 คน

หลังจากศาลจังหวัดนครพนมได้สั่งให้รวมพิจารณาคดีที่มีจำเลยบางคนยอมรับว่าบุกรุกทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาซึ่งศาลมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน อย่างน้อย 2 คน คงเหลือจำเลยที่ยืนยันให้การปฏิเสธและขอต่อสู้คดี รวม 29 คน

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 คณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้มีประกาศฉบับที่ 2/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะ 2 ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2559 กนพ. มีมติเห็นชอบให้ใช้ที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต เนื้อที่ 1,860 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม เพื่อสนับสนุนให้เอกชนเช่าพื้นที่ทำธุรกิจระยะยาว

รายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่า จังหวัดนครพนมเล็งพื้นที่นี้ไว้เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจมาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากอยู่ในบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม–คำม่วน) หลังจาก คสช. ยึดอำนาจรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ได้ใช้อำนาจทหารและราชการเพื่อทำให้ประชาชนนออกจากพื้นที่โดยเร็ว แต่เมื่อประชาชนไม่ยินยอม จึงเกิดการดำเนินคดี

image_pdfimage_print