โดย รุ่งรวิน แสงสิงห์

[พรรคการเมืองใหม่หลายพรรคหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ที่มาภาพ: Voice TV]

สิ่งที่สั่นสะเทือนการเมืองไทยในช่วงสัปดาห์นี้ นอกจากการเข้าการพบนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ที่ได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากบทสนทนาที่ลึกซึ้งของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาแล้ว การปรากฏตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยอีก 2 คน ในช่วงเวลาเดียวกันที่ลอนดอนพร้อมทั้งการเปิดเผยคลิปแสดงความขอบคุณที่อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยบางส่วนตัดสินใจย้ายค่ายไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ได้ทำให้บรรยากาศทางการเมืองในขณะนี้ดูคึกคักและร้อนแรงอย่างมาก

ช่วงนี้เราได้ยินชื่อพรรคใหม่ๆ ผุดขึ้นมามาก ตั้งแต่การประกาศลงเล่นการเมืองทั้งน้ำตาของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ในนามของ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” พร้อมทั้งเดินสายไปยังจังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่ง “พรรคประชาชนปฏิรูป” ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ก่อตั้งพรรคว่าจะสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ในสมัยถัดไป  

และข่าวที่ดังหนาหูในช่วงสัปดาห์นี้ คือกรณีการดูดนักการเมืองจากภาคเหนือและภาคอีสาน (ประเดิมที่จังหวัดเลย) ของ “พรรคพลังประชารัฐ”   เริ่มต้นจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีในสมัยทักษิณฯ ที่ย้ายออกจากพรรคเพื่อไทยไปซบอกพรรคนี้ ซึ่งสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราเริ่มรู้สึกสับสนว่าใครเป็นใครในเกมการเมืองกระดานนี้ รวมถึงชื่อพรรคที่มีความคล้ายคลึงอย่างมากจนต้องหาวิธีจัดหมวดหมู่ให้สับสนน้อยลง ด้วยการให้ผู้อ่านตั้งคำถามในใจว่า พรรคไหนเป็นพรรคพวกทหารและพรรคไหนไม่ใช่พรรคพวกทหาร จะทำให้ง่ายต่อการติดตามการเมืองในช่วงนี้มากที่สุด

อาจมีคำถามว่า เป็นพรรคพวกทหารหรือพรรคที่เกี่ยวข้องกับทหารมันมีปัญหาอย่างไร ในเมื่อจดทะเบียนอย่างถูกต้อง และพร้อมที่จะลงเล่นการเมืองตามกติกา จริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ถ้าพรรคพวกทหารตั้งใจที่จะลงเล่นการเมืองในระบอบรัฐสภา และมีกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

แต่สิ่งที่ต้องกังวลใจเกี่ยวกับท่าทีของพรรคพวกทหารนั้น คือการสืบทอดอำนาจ และการจะนำประเทศไทยกลับไปใช้โครงการสร้างการเมืองไทยเมื่อราวๆ 20-30 ปีที่แล้ว กลับไปเป็นการเมืองเหมือนในทศวรรษที่ 1980-1990 พร้อมทั้งทำลายสำนึกความเป็นพลเมืองของประชาชนจนหมดสิ้น เพราะการเมืองจะถูกทำให้เป็นเพียงเรื่องงั้นๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เป็นสาระ

พรรคพวกทหารทำงานอย่างเป็นระบบ อย่างกรณีคลิปการให้สัมภาษณ์ของ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยอย่าง นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีตส.ส.จากมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์กับมติชนวีคลี่ว่า การช่วงชิงส.ส. อีสาน ทำกันอย่างเป็นระบบและรัดกุม โดยมุ่งเข้าหาส.ส. ที่มีคดี ใช้จิตวิทยาในการเกลี้ยกล่อม พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่า ถ้าอยู่แบบนี้ก็ไม่รับประกัน ซึ่งก็เป็นคำพูดที่ถ้าไม่ไร้เดียงสาต่อโลกเกินไป ก็คงเข้าใจว่ามันคือคำขู่

การช่วงชิงส.ส. ไม่ได้มีเพียงแต่พรรคพวกทหาร หรือไม่ได้เพิ่งมามี แต่มันมีมานานคู่กับการเมืองไทย หากแต่การช่วงชิงส.ส.อีสานในช่วงนี้ มันแสดงให้เห็นถึงทิศทางและความต้องการของพรรคพวกทหาร ที่เน้นการกว้านซื้อเพื่อชิงส.ส.มาจากพรรคเพื่อไทย อย่างน้อยก็เพื่อที่นั่งในสภา และสะท้อนถึงความสำคัญของอีสานในฐานะพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการเมือง

ย้อนกลับไปในปี 2540 เป็นต้นมาในระบบการเมืองไทยถูกออกแบบมาเพื่อให้มีการแข่งขันกันของสองพรรคการเมืองใหญ่ เพิ่มแรงจูงใจให้กับพรรคการเมืองเข้าแข่งขันในระบอบรัฐสภา มากกว่าที่จะรวมกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลจากมุ้งการเมืองเหมือนในอดีต แต่ในบริบทการเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้นกลับแตกต่างออกไป

พรรคต่างๆ ที่ผุดขึ้นในนามของชาติและประชาชน มันสร้างความกังขาว่า จุดมุ่งหมายของพรรคเหล่านี้คืออะไร การรับใช้ประชาชน หรือผุดขึ้นเพื่อสร้างกลุ่มก้อนทางการเมืองให้มีจำนวนมากขึ้นและรวมกลุ่มเกี้ยเซี้ยกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

[พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบประชาชนชาวบุรีรัมย์ ที่มาภาพ: The Standard]

การเป็นทหารที่มาเล่นการเมืองทางลัดนั้นคงศักดิ์น้อยกว่าการเป็นทหารที่เข้ามาเล่นการเมืองตามกติกา นี่จึงทำให้พรรคพวกทหารแสดงตัวอย่างชัดเจนในครั้งนี้ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ โครงสร้างทางสังคมการเมืองไทยจะถอยหลังลงคลองยิ่งกว่าเก่า เนื่องจากระบบการเมืองจะกลับไปเหมือนกับการเมืองในทศวรรษ 1980-90

การเมืองแบบ“อ”ประชาธิปไตยที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่นี้ มันได้เริ่มต้นหลังจากการที่ประชาชนไม่มีอำนาจในการต่อรองทางการเมือง และถูกวงจรอุบาทว์เข้ามาตัดเส้นทางของการเมืองในระบอบรัฐสภา  นับตั้งแต่การลงจากอำนาจของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประเทศไทยได้วนกลับไปอยู่ภายใต้การเมืองในระบอบเผด็จการ และสมบัติที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พยายามจะถ่ายทอดจนกลายเป็นวัฒนธรรมทางความคิดของคน คือความเชื่อในอำนาจของตนเองที่น้อยลง การตัดตอนสิทธิประโยชน์ สวัสดิการต่างๆ ของประชาชนที่เน้นให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียมอย่างเสมอหน้า ให้กลายเป็นสิ่งที่รัฐประทานมาให้

ภายใต้ระบอบเผด็จการที่เราอยู่กันมา 4 ปีเต็มนั้น ทางข้างหน้าแยกเป็นสองทาง ระหว่าง อำนาจที่อ่อนแอลงของประชาชนอันเนื่องจากการถูกกดขี่ ข่มขู่ของรัฐบาลทหาร และอีกหนทางคือการแสดงพลังของสำนึกความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว ภาพจะออกมาเป็นอย่างหลังมากกว่า

แต่ถึงแม้อีสานจะถูกระบบการเมืองของทหารกดขี่แค่ไหน ผู้เขียนก็เชื่อว่า สำนึกทางการเมืองที่อีสานรู้สึกและสัมผัสมันได้จริงในยุคก่อนหน้าจะทำให้อีสานกลับมาแสดงพลังในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญของการช่วงชิง ส.ส.อีสานของพรรคพวกทหาร เหตุผลสำคัญที่พวกเขาจะทิ้งขว้างเขตต่างๆ ในภาคอีสานไม่ได้ มันถึงมีภาพของการไปเยือนบุรีรัมย์ของประยุทธ์ จันทร์โอชา และการออกหน้าของนายเนวิน ชิดชอบ นั่นเอง

แต่ในสายตาของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร การซื้อส.ส.ไปเพื่อกะหวังว่าส.ส.เหล่านั้นจะคว้าชัยชนะและทำให้พรรคพวกทหารได้ที่นั่งเพื่อจัดตั้งพรรคนั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะสำเร็จได้ง่ายๆ และต้องเอาชนะความนิยมของพรรคเพื่อไทยในอีสานให้ได้เสียก่อน

น้ำเสียงเย้ยหยันในทีในคลิปของทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาแสดงความขอบคุณส.ส.กลุ่มดังกล่าวว่าได้เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ลงเล่นการเมือง ก็ได้ทำให้เห็นถึงการมองการเมืองของทักษิณว่า เขาแยกขาดส.ส. จากพรรคการเมือง นโยบายพรรคต่างหากคือหัวใจสำคัญของการต่อสู้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการเมืองในยุคหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา ที่ส.ส.ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าพ่อที่มีความผูกพันกับชาวบ้านในพื้นที่ แต่สามารถเป็นตัวแทนภาพจำของพรรค นำเสนอนโยบายของพรรคได้

การใช้โวหารของพรรคการเมืองในยุคทหารเรืองอำนาจยังสะท้อนภาพความรุ่งเรืองของลัทธิชาตินิยมสุดโต่งในสังคมไทย เน้นใช้คำสำคัญในการตั้งชื่อพรรค คำที่แทรกซึมอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน และยังเป็นคำสำคัญที่ปรากฏอยู่ตลอดการครองอำนาจของคสช. ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “ประชารัฐ” “ประชาชน” “ปฏิรูป”

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ soft power อย่างต่อยอดกันของกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ในการกล่อมเกลากระแสความนึกคิดของผู้คน อย่างคำว่า “ประชารัฐ” ที่พยายามหา ‘ซีน’ ให้ตัวเองโดดเด่นกว่าคำว่าประชานิยม ซึ่งเป็นโลโก้ที่ประสบความสำเร็จของทักษิณ การหาซีนให้ตัวเองของคำว่าประชารัฐ อาจจะยังไม่มีบทบาทมากนักในเกมการเมืองในครั้งนี้ เพราะประชารัฐของรัฐบาลทหารมันไม่ได้ทำให้ประชาชนเชื่อว่าการเมืองกินได้ เหมือนกับประชานิยมของทักษิณ

ในทางกลับกัน “ประชารัฐ” ของพรรคพวกทหารกลับเน้นการสร้างพละกำลังให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นยอดและตัวเลขในภาพรวม แต่ในเวลาเดียวกัน การเติบโตของทุนใหญ่กลับบดขยี้คนตัวเล็กจนแหลกลาญ น้ำยาของประชารัฐจึงไม่น่าจะใช้ได้ผลและมีอิทธิพลเท่าใดนักเมื่อเทียบกับคำอื่นๆ อย่าง “อนาคตใหม่” หรือ “สามัญชน”

การเกิดพรรคการเมืองใหม่ขึ้นหลายพรรค (ไม่นับรวมพรรคพวกทหาร) สะท้อนว่าการปกครองในระบบ“อ”ประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมาและตอนนี้ ได้กระตุ้นความรู้สึกนึกคิดให้คนตั้งคำถามถึงทางเลือกในชีวิตของตนเอง ทางเลือกในการต่อรองอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง

ที่กำลังมาแรงอย่าง “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยมที่ชูนโยบายด้านสวัสดิการของรัฐอย่างครบวงจร ซึ่งลักษณะภาพรวมคร่าวๆ มีความคล้ายคลึงกันกับรูปแบบนโยบายในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ที่เน้นการอัดฉีดเศรษฐกิจฐานรากเพื่อนำไปสู่ความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น

หากในอนาคตพรรคอนาคตใหม่ต้องการที่จะได้รับชัยชนะในภาคอีสาน สิ่งที่ต้องทำการบ้านอย่างหนัก คือ การระบุตำแหน่งทางเศรษฐกิจการเมืองเฉพาะของอีสานให้ชัดเจน นอกเหนือจากการชูนโยบายยิบย่อยเฉพาะกลุ่ม เพราะมิฉะนั้นก็อาจมองได้ว่าพรรคการเมืองนี้เพียงหวังให้คนหมู่มากในอีสานเป็นฐานเสียงของตัวเอง

ขณะที่อีกพรรคนั่นก็คือ “พรรคสามัญชน” เป็นพรรคที่เมื่อเอ่ยชื่อขึ้นมาแล้วคนมักมีท่าทียี้และรู้สึกว่าพรรคนี้นำเสนอแนวคิดที่สุดโต่ง ปฏิกิริยานี้สะท้อนความสำเร็จของชนชั้นนำที่ต้องการแยกขาดการเมืองออกจากชีวิตประจำวันคนไทย

แต่พอลองไล่สาวหาความคิดที่สุดโต่งดังคำกล่าวอ้างจากปากผู้กล่าวอ้าง มักไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ที่สุดโต่งที่สุดเห็นแต่มีเพียงชื่อพรรค ที่ฟังแล้วรู้สึกว่าถ้าเลือกพรรคนี้เราคงต้อยต่ำเป็นเพียงสามัญชนธรรมดา หรือภาพลักษณ์มันอาจจะดูไม่เป็นปัญญาชน ไม่เป็นผู้ดี หรือไม่ก็ไม่ทราบ

แต่สิ่งที่พรรคสามัญชนพยายามเรียกร้องและเริ่มเคลื่อนไหวผ่านหน้าสื่อต่างๆ นั้นเป็นความจริงของสังคมนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมดของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและมีผลกระทบมายังการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ชนชั้นทางสังคมที่ปรากฏอยู่จริง ช่องว่างระหว่างชนชั้นที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างมากในทางสังคม หากพรรคสามัญชนต้องการที่จะเป็นตัวแทนของ “คนเบี้ยล่าง” และสร้างรูปแบบการเมืองที่เน้นจากล่างสู่บน หรือการเมืองแบบ bottom up ก็จะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากคนในพรรคส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรม เครดิตในการเรียกร้องคงมากกว่าส.ส. ตระกูลสายดูด ที่ทำหน้าที่เป็นเพียง “ตาอยู่” คอยรวบกินตอนจบ มากกว่าอาชีพผู้แทนราษฎร

สุดท้ายแล้ว โมเมนตั้มทางการเมืองจะเปลี่ยนเพราะส.ส.อีสานถูกดูดด้วยวิธีคิดและทำแบบทหารเช่นนี้หรือไม่ สำหรับผู้เขียนแล้วคงตอบว่าไม่ เพราะภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในพรรค(พวก)ทหารไม่ได้ทำให้คนอีสานรู้สึกว่าการเมืองกินได้ ไม่ได้เชิญชวนให้คนอีสานกล้าฝากฝังชีวิตไว้กับพวกเขา

แต่การช่วงชิงส.ส.อีสานในครั้งนี้จะเสียเปล่าหรือ ก็คงกล้าบอกว่า ไม่เสียเปล่าแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้นได้เปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งเสียใหม่ ซึ่งจะต้องสร้างเรื่องราวน่าตื่นเต้นให้พวกเราได้เห็นในเวลาอันใกล้อย่างแน่นอน

image_pdfimage_print