โดย ปารณีย์ ศรีสง่า

ขอนแก่น – ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาฯ ระบุว่า ญี่ปุ่นแก้ปัญหาความแออัดของกรุงโตเกียว ทศวรรษ 1960 ด้วยการออกแบบผังเมือง ด้านอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า จ.ขอนแก่นเป็นเมืองแห่งความหวังของการพัฒนาของคนอีสาน

ผศ.นิรมล กุลศรีสมบัติ (คนซ้าย) ผอ.ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาฯ กล่าวว่า ยุคทศวรรษ 1960 ญี่ปุ่นมีการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวกระโดดทำให้เกิดปัญหาแออัดในกรุงโตเกียวสถาปนิกจึงเข้ามาแก้ปัญหา ภาพจากเพจ หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น มีการเสวนาหัวข้อเรื่อง “โตเกียว ขอนแก่น: เมืองต้องสู้” โดยนายรวี หาญเผชิญ อาจารย์ประจําคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อํานวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจําคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยเป็นการจัดเสวนาภายใต้นิทรรศการสัญจรของเจแปนฟาวน์เดชั่น เรื่อง “เมืองต้องสู้” ประสบการณ์โครงการเมืองของ ญี่ปุ่นในทศวรรษ 1960 (Struggling Cities : from Japanese Urban projects in the 1960 s) ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.- 12 มิ.ย. 2561 เนื้อหาของนิทรรศการ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและเมืองของญี่ปุ่น โดยเริ่มจากความคิดทดลองเกี่ยวกับเมืองต่างๆ ที่เจริญเติบโตในญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 1960

จุดประสงค์นิทรรศการเพื่อให้ผู้ชมรับรู้และเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างอดีตและปัจจุบัน ว่าการค้นหาวิสัยทัศน์ของเมืองคลี่คลายอย่างไรตามกาลเวลา

การจัดแสดงผังเมืองอุดมคติในประวัติศาสตร์ (จากซ้ายไปขวา) แผนผังเมืองปารีส “Voisin de Paris” ค.ศ.1925 โดย เลอ คอร์บู ซิเย Le Corbusier Palmanova แบบแปลนเมืองปัลมาโนว่า ค.ศ.1953 โดยวินเซนโซ สกามอซซี่ และDadu (Beijing) แผนผังการฟื้นฟูเมืองต้าดู(ปักกิ่ง) สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมาร์โค โปโล

ผศ.นิรมลกล่าวว่า วิธีคิดของคนญี่ปุ่นคือการต่อสู้ด้วยการวางแผน ญี่ปุ่นจะพลิกวิกฤตด้วยการวางแผนเสมอ เช่น ช่วงทศวรรษ 1960 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง 15 ปี ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สูงสุดที่สุดโลก แต่การพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา การพัฒนาทำให้กรุงโตเกียวเติบโต เมืองขยายตัวมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอยู่จำนวนมาก จึงเกิดปัญหาความแออัดคล้ายกับกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

กลุ่มเมตาบอลีส (Matabolis) เป็นกลุ่มสถาปนิก ที่พยายามให้คำตอบแก่สังคมญี่ปุ่นในยุคนั้น ด้วยความคิดสมัยใหม่ (Modernism) วิธีแก้ปัญหาของกลุ่มเมตาบอลีสไม่เปลี่ยนผังเมืองเดิม แต่จะเพิ่มเติมสิ่งใหม่เข้ามา เช่น อาคารซิตี้อินดิแอร์ (City in the air) ของ อาราตะ อาโซซากิ อาคารที่ตั้งบนเสาสูง 31 เมตร การสร้างถมอ่าวโตเกียวเพื่อสร้างเป็นเมืองใหม่ และการสร้างบ้านรูปทรงรูปตัวเอ ถ้ามีครอบครัวก็จะขยายบ้านออกไปเรื่อยๆ สถาปนิกสมัยนั้นจึงเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนญี่ปุ่นอย่างมาก

นายพิชญ์กล่าวว่า คงไม่มีใครสนใจแล้วว่า กรุงเทพฯ จะมีรถไฟฟ้ากี่สาย แต่คนไทยสนใจว่า รถไฟฟ้าที่จ.ขอนแก่นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถ้าพูดถึงรถไฟฟ้าทุกคนก็จะพูดถึงจ.ขอนแก่น แต่ถ้าพูดถึงรถติดทุกคนพูดถึงกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นจ.ขอนแก่นคือความหวังของการพัฒนาเมืองในประเทศที่ชัดเจนที่สุด จ.ขอนแก่นไม่ใช่เป็นแค่เมืองแห่งอนาคต แต่จ.ขอนแก่นเป็นอนาคตของคนอีสาน

นายพิชญ์กล่าวอีกว่า นิทรรศการเมืองต้องสู้เป็นนิทรรศการที่มีเที่ยงธรรมมาก มีการบอกเล่าถึงสิ่งที่พยายามทำ สิ่งที่ทำไม่ได้ บทเรียน และการยอมรับ นิทรรศการนี้ไม่ยกย่องญี่ปุ่นว่ามีข้อดีทั้งหมด แต่พยายามแสดงให้เห็นว่า ถ้าจะไปข้างหน้าได้ต้องยอมรับความผิดพลาดของตัวเองก่อน ส่วนสิ่งที่ตนสนใจมากที่สุดของนิทรรศการ คือ วิธีคิดในการปฏิบัติ อาทิ Tokyo plan, Metabolism, Sky cities ซึ่งชี้ให้เห็นว่า คนญี่ปุ่นสามารถให้อะไรกับโลกได้ งานเหล่านี้แพร่กระจายไปยังต่างประเทศ ความคิดของคนญี่ปุ่นได้แก้ปัญหาให้กับประเทศของเขาเพื่อเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่น

นายรวีกล่าวว่า ตนมองว่าคำว่า “เมืองต้องสู้” เป็นการสู้ของคนเพราะรถไม่ได้สู้ด้วยตัวเองรถไม่ได้ขับด้วยตัวเอง แต่ต้องขับด้วยคน เช่นเดียวกับเมืองก็ต้องสู้ด้วยคน จึงเป็นประเด็นที่ต้องถามในทุกๆ เมืองว่า แต่ละเมืองสู้เพื่อใคร ใครควรสู้และสู้อย่างไร สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นโจทย์ใหม่ให้กับประเทศไทยได้ เพราะว่าเมืองก็เป็นแรงขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจ สังคม โดยผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนจะแสดงออกทางกายภาพและทางเศรษฐกิจ

ภายในงานเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ซักถามวิทยากร โดยผู้ร่วมงานคนหนึ่งถามถึงการจัดวางรูปแบบเมืองเกี่ยวกับป้ายโฆษณาว่า ป้ายโฆษณาสะท้อนเศรษฐกิจของเมืองนั้นอย่างไร และการที่มีป้ายโฆษณามากเกินไปจะบังวิถีธรรมชาติของเมืองนั้นหรือไม่

นายพิชญ์กล่าวว่า การที่เมืองมีป้ายโฆษณาแสดงว่าเศรษฐกิจกำลังดี แต่อาจจะไม่ได้ดีในทุกส่วน เช่น กิจการป้ายโฆษณาของเพื่อนของตนต้องเลิกกิจการก็เพราะคนส่วนใหญ่หันไปใช้โฆษณาทางช่องทางออนไลน์ ส่วนการวางผังเมืองก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการเมือง คือต้องเริ่มจากการพูดถึงก่อน และก็เกิดการตั้งคำถาม ท่าทีในการพูดมีความสำคัญ

ส่วนเรื่องที่ว่าป้ายโฆษณาจะบังวิถีธรรมชาติหรือไม่ นายพิชญ์บอกว่า ต้องวัดกันว่าคนในเมืองมีข้อตกลงร่วมกันอย่างไร ก็เหมือนกับข้อตกลงว่าต้องการให้มีหาบเร่แผงลอยหรือไม่ หรือถ้าจะมีหาบแร่แผงลอยจะมีประมาณไหน จะสามารถมาค้าขายได้ทุกถนนหรือเฉพาะบางถนน

ปารณีย์ ศรีสง่า เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2561

                                                                                           

image_pdfimage_print