ขอนแก่น – อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น เปิดเวทีระดมความคิดเห็นนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็นเมืองแห่งอนาคต ด้านกลุ่มคนรุ่นใหม่เสนอสร้างแอพฯ ลดการทิ้งขยะจากการก่อสร้าง และสร้างแอพฯ แผนที่เมืองขอนแก่นหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (KICE) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนโครงการ “ขอนแก่น 2029 สมาร์ท ฟอรั่ม (KhonKaen 2029 Smart Forum)” เมืองแห่งอัจฉริยะ ในหัวข้อ “อยู่ดี มีแฮง” (Smart Living Forum) จากทุกภาคส่วนในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ได้แก่ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชน ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชน รวมกันจำนวน 30 คน เพื่อนำเสนอโครงการและกิจกรรมพัฒนาสุขภาวะให้คนขอนแก่นมีสุขภาวะ ความเป็นอยู่ที่ดี (Well–being) ภายใต้โครงการ Smart City Operation Center (SCOPC) ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ที่เห็นชอบแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศแก่จังหวัดขอนแก่นนำไปบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

นายรวี หาญเผชิญ อาจารย์ประจําคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ต้องการทำกิจกรรมเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ ทั้งหมด 6 ด้าน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการพัฒนา เช่น การพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เมืองน่าอยู่ ปลอดภัย (Smart Living) เมืองที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ (Smart Economy) เมืองที่ให้เท่าเทียมกันในสังคม (Smart Citizen) เมืองที่ประหยัด ลดใช้พลังงาน (Smart Enironment) และเมืองที่บริหารจัดการโปร่งใส (Smart Government) ในจังหวัดขอนแก่น
นายรวีกล่าวอีกว่า การพัฒนาทั้ง 6 ด้านใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาคุณภาพของชุมชน ให้ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตในเมือง โดยกระทรวงดิจิตอลฯ ต้องการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ชาญฉลาด รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และราคาไม่แพง มาใช้ในการพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็นเมืองแห่งอนาคตที่ทันสมัย เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้บริการขนส่งสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองขอนแก่น เป็นต้น
นายรวีกล่าวอีกว่า รูปแบบการดำเนินโครงการพัฒนาทั้ง 6 ด้านเป็นการจัดประชุมระดมความเห็น เพื่อเสนอปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหาต่อทีมงานของตน จากนั้นทีมงานของตนจะรวบรวมความเห็นและข้อเสนอในลักษณะร่างโครงการและกิจกรรม ส่งให้แก่จังหวัดขอนแก่นเพื่อนำไปพิจารณาและคัดเลือกเพื่อบรรจุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่นต่อไป
“ในแต่ละเวที ทีมงานจะคัดเลือกโครงการหรือกิจกรรมที่สามารถทำได้จริงที่คนร่วมเวทีเสนอ เราตั้งเป้าไว้แต่ละเวทีต้องได้โครงการทั้งหมด 5 โครงการ เพื่อส่งให้จังหวัดขอนแก่นพิจารณา” นายรวีกล่าว
หัวหน้าโครงการ Smart City Operation Center (SCOPC) กล่าวอีกว่า หลังจากสำนักงานจังหวัดขอนแก่นได้อนุมัติโครงการหรือกิจกรรมที่ทีมงานของตนส่งไปให้ จังหวัดขอนแก่นจะเปิดให้ผู้ที่สนใจ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เสนอตัวขอทำโครงการหรือกิจกรรม โดยจังหวัดขอนแก่นจะสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำโครงการต่อไป
“ทีมงานผมเหมือนเป็นคนกลางในการสร้างพื้นที่ให้คนเข้ามาร่วมแสดงความเห็นว่าต้องการพัฒนาเมืองขอนแก่นอย่างไร เมื่อได้ความเห็นผมก็เอาไปให้หน่วยงานรัฐพิจารณาและสนับสนุน” นายรวีกล่าว

นายนนท์ ผลสามารถ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอที (IT) ของเป็นบริษัท สยาม นิวไฮ จำกัด หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม “Kaen Move” กลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมืองขอนแก่นที่สนใจการพัฒนาเมืองขอนแก่น กล่าวว่า ตนเสนอแก้ไขปัญหาขยะจากการก่อสร้าง เช่น เศษอิฐ เศษหิน แท่งปูน และทราย ที่มีผู้ลักลอบนำไปทิ้งในเขตเทศบาลนครขอนแก่น จนทำให้เกิดปัญหาขยะจากการก่อสร้าง ด้วยการสร้างแอพพลิเคชั่นในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ต้องการทิ้งขยะจากการก่อสร้างและผู้ต้องการขยะจากการก่อสร้าง
นายนนท์กล่าวว่า แอฟพลิเคชั่นดังกล่าวจะมีแผนที่บอกจุดของที่ผู้ต้องการทิ้งขยะ ผู้ต้องการขยะสามารถเข้าไปดูข้อมูล และคนทั้ง 2 ฝ่ายสามารถติดต่อพูดคุยกันในแอพพลิเคชั่น หากจัดการขยะได้ผล หน่วยงานของเทศบาลก็ไม่ต้องลำบากกำจัดขยะประเภทนี้
“ผมคิดว่าขยะจากการก่อสร้าง คนในชุมชนบางคนต้องการ เช่น การเอาหิน เอาอิฐ เอาเศษปูนไปถมพื้นที่ดิน ที่อยู่อาศัยให้แข็งแรงขึ้นได้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นคนทิ้ง แล้วใครต้องการ” นายนนท์กล่าว
นายนนท์กล่าวอีกว่า ตนได้เสนอโครงการสร้างแอพพลิเคชั่นแผนที่เมืองขอนแก่นเพื่อบอกข้อมูลการเดินทางในเมือง การเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงข้อมูลสถานที่ต่างๆ ในเมืองขอนแก่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนที่มาท่องเที่ยวและทำกิจกรรม
สมาชิกกลุ่ม “Kaen Move” ผู้นี้กล่าวอีกว่า เหตุผลที่เสนอแอพพลิเคชั่นแผนที่ฯ เพราะตนคิดว่าเมืองขอนแก่นเป็นเมืองที่คนต่างถิ่นในประเทศและคนต่างประเทศนิยมเข้ามาทำกิจกรรม ประชุม สัมมนา และแข่งขันกีฬา แอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้คนที่เข้ามาเมืองขอนแก่นสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
“แอพพลิเคชั่นนี้ก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองขอนแก่นได้อีกด้วย” นายนนท์กล่าว

นางธนพร บึงมุม นักวิชาการสาธารณสุขชํานาญการ โรงพยาบาลขอนแก่น สมาชิกกลุ่มระดมความเห็นเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ กล่าวว่า ตนได้เสนอโครงการให้หน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดขอนแก่นสร้างแอพพลิเคชั่นหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำเพื่อแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุรู้สึกโดดเดี่ยวและไร้ค่าในสังคม เพราะตนรับผิดชอบเรื่องการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในอนาคตอันใกล้สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
นักวิชาการสาธารณสุขผู้นี้ระบุว่า แอพพลิเคชั่นนี้จะเชื่อมต่อให้ลูกหลานผู้สูงอายุในชุมชนเดียวกันหรือชุมชนข้างเคียง สามารถค้นหาว่าในละแวกบ้านมีกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุอะไรบ้าง เช่น งานประดิษฐ์ งานเย็บปักถักร้อย งานเสริมความงาม เป็นต้น จากนั้น ถ้าผู้สูงอายุสนใจร่วมกิจกรรมก็ให้ลูกหลานพาผู้สูงมาพบกันที่จุดนัดหมาย หลังจากลูกหลานเลิกงานก็ให้มารับผู้สูงอายุกลับบ้าน
“แอพพลิเคชั่นนี้มีเพื่อนัดหมายสถานที่ให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมร่วมกัน หากมีผู้สูงอายุจำนวนมาก อาจจะตั้งกลุ่มตั้งชมรมทำกิจกรรมร่วมกัน ลดปัญหาสภาวะผู้อายุโดดเดี่ยวอยู่คนเดียวได้” นางธนพรกล่าว
หลังจากจบการระดมความเห็น ทีมงานได้ร่างโครงการและร่างกิจกรรมที่ได้จากการระดมความเห็นทั้งหมด 5 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการผลิตสื่อให้ความรู้เรื่องอาหารปลอดสารพิษ โดยเน้นการใช้ข้อมูลตัวเลขสถิติผู้ป่วยและอันตรายจากอาหารที่มีสารเคมี 2) โครงการพัฒนาพื้นที่ตลาดชุมชน ตลาดสีเขียวในชุมชนเทศบาลนครขอนแก่น 3) โครงการชุมชนดูแลกล้องวงจรปิดในชุมชน เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม โดยให้ชุมชนมีส่วนเข้าถึงระบบกล้องวงจรปิด เพื่อสอดส่องดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในชุมชน 4) โครงการแอพพลิเคชั่นหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ เพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว และ 5) โครงการสร้างพื้นที่งานศิลปะ ให้ศิลปินทุกแขนงในขอนแก่นมีพื้นที่ในการแสดงผลงาน และคนขอนแก่นมีพื้นที่ในการเรียนรู้ ชมผลงานศิลปะ เพิ่มสุนทรียะในชีวิตคนขอนแก่น
ทั้งนี้ เวทีเสวนาระดมความคิดเห็นย่อยของโครงการนี้มีทั้งหมด 6 เวที ประกอบด้วย “ไปดี มาดี ฟอรั่ม” “มั่นคง เป็นหลักแหล่ง ฟอรั่ม” “ฮักแพงสิ่งแวดล้อม ฟอรั่ม” “อยู่ดี มีแฮง ฟอรั่ม” “พร้อมตื่นรู้ ดูแลกัน ฟอรั่ม” และ”ราชการ รับฟัง พัฒนา ฟอรั่ม” แบ่งจัดเวทีทั้งหมด 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 – 29 มิถุนายน 2561 โดยเวที “อยู่ดี มีแฮงฟอรั่ม” เป็นเวทีที่ 4 ของโครงการนี้สามารถติดตามบรรยากาศการประชุมระดมความเห็นย้อนหลังได้ที่ เพจเฟซบุ๊ค Smart Living Forum