1

“สามัญชน” ลงพื้นที่ฟังความเห็นปชช. จัดทำนโยบาย

ขอนแก่น – พรรคสามัญชนจัดคาราวานลงพื้นที่รับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชนเพื่อมาจัดทำเป็นนโยบายพรรคฯ พร้อมเผยถึงปัญหาการหาเงินทุนประเดิมพรรคการเมือง 1 ล้านบาท เนื่องจากสมาชิกพรรคไม่มีทุนทรัพย์ ด้านอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี แนะนโยบายพรรคทุกพรรคควรมาจากความต้องการของประชาชน ชี้กฎหมายพรรคการเมืองทำให้พรรคการเมืองเป็นหน่วยงานราชการ  

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 พรรคสามัญชน จัดกิจกรรม “คาราวานสามัญชน” ที่วัดวุฒาราม อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชน แล้วนำไปจัดทำเป็นนโยบายพรรค หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกหนังสือรับรองการจดแจ้งชื่อ “พรรคสามัญชน” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561

กิจกรรมรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชนคนขอนแก่นของพรรคสามัญชน ที่วัดวุฒาราม อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมคาราวานสามัญชนประกอบด้วยตัวแทนประชาชนจากกลุ่มที่ทำงานในประเด็นทางสังคมใน จ.ขอนแก่น อาทิ ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ตัวแทนชุมชนริมคลองชลประทาน ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น  ตัวแทนสภาคนพิการ และตัวแทนสภาองค์กรชุมชน ต.หนองสองห้อง อ.หนองสองห้อง

คาราวานรับฟังปัญหาและหาวิธีแก้ไข

“พรรคเราคิดว่านโยบายของพรรค ควรมาจากความต้องการของพี่น้องในพื้นที่จริง ๆ ไม่ใช่จะมาจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ข้าราชการ นายทุน เหมือนในอดีต” นายกิตติชัย งามชัยพิสิฐ หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนกล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักของการจัดกิจกรรมคาราวานสามัญชน

นายกิตติชัยกล่าวอีกว่า การจัดกิจกรรมนี้เพราะพรรคต้องการลงพื้นที่เพื่อมารับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเก็บข้อมูลไว้สำหรับจัดทำนโยบายของพรรคก่อนการเลือกตั้ง

เมื่อถามถึงขั้นตอนการรวบรวมปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่แล้วจัดทำเป็นนโยบาย นายกิตติชัยตอบว่า ขั้นตอนการร่างนโยบายพรรคมาจากความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ขั้นตอนแรกทีมงานพรรคจะประสานงานไปยังเครือข่ายประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมส่งทีมงานลงพื้นที่ เมื่อลงพื้นที่ก็จะจัดวงประชุม บันทึกความเห็น และสรุปความเห็น แล้วส่งความเห็นให้ทีมงานผู้เชี่ยวชาญเรื่องนโยบายเรียบเรียงข้อมูลและเขียนร่างนโยบายเบื้องต้น จากนั้นพรรคจะส่งร่างนโยบายเบื้องต้นกลับไปให้คนในพื้นที่แสดงความคิดความเห็น

ผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนกล่าวด้วยว่า การลงพื้นที่ของพรรคจะแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกคือตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนสิงหาคม หลังจากนั้นพรรคจะรวบรวมความเห็นของประชาชนแล้วจัดทำเป็นรายงานสรุปความต้องการของประชาชน

“เมื่อรวบรวมเป็นรายงานเสร็จ พรรคจะส่งรายงานดังกล่าวกลับกลับไปให้คนในพื้นที่ได้อ่านและตรวจสอบว่ามีความเห็นและความต้องการของพวกเขาอยู่ในรายงานนี้หรือไม่ เพื่อยืนยันว่าพรรคให้ความสำคัญกับความเห็นทุกคน” นายกิตติชัยกล่าว

นายกิตติชัยกล่าวอีกว่า ช่วงที่สองคือเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 จนถึงเดือนมกราคม ปี 2562 พรรคจะลงพื้นที่ให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่พรรคจะนำข้อเสนอต่างๆ ที่ได้มากำหนดเป็นร่างนโยบายพรรค แล้วจะส่งร่างนโยบายฯ ให้ฝ่ายจัดทำนโยบายของพรรคซึ่งประกอบด้วย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายของพรรคกำหนดเป็นนโยบายที่แท้จริงของพรรคต่อไป

จัดวงคุยแบบกันเอง เพื่อให้พี่น้องกล้าแสดงความเห็น

นายกิตติชัยกล่าวว่า รูปแบบกิจกรรมนี้ พรรคเลือกใช้วิธีจัดวงคุยแลกเปลี่ยนขนาดเล็ก โดยพรรคเชื่อว่า ถ้าจัดวงคุยขนาดเล็กและมีบรรยากาศเป็นกันเอง ทุกคนที่ร่วมประชุมจะกล้าแสดงความเห็นมากกว่ารูปแบบประชุมที่เป็นทางการเหมือนในห้องประชุมที่จัดขึ้นโรงแรมใหญ่ทั่วไป ซึ่งตนเชื่อว่า การประชุมรับฟังความเห็นจะมีประสิทธิภาพ

“พวกเราไม่ใช่มาฟังปัญหาจากพี่น้องแล้วบอกว่าจะแก้ไขปัญหาให้ แต่เราต้องการรับฟังปัญหาแล้วให้ผู้ที่ประสบปัญหาร่วมกันเสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมให้กับเรา” นายกิตติชัยกล่าว

นายกิตติชัยกล่าวอีกว่า แนวคิดการจัดกิจกรรมนี้มีสมมุติฐานที่ว่าประชาชนทุกคนมีความคิด รู้จักวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมที่ตนอาศัยอยู่เหมือนกับข้าราชการ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ที่มักให้ความเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาในสังคม

ทุกพรรคการเมืองควรใช้วิธีนี้กำหนดนโยบาย

นางสาวจิดาภา เฉียบแหลม ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ จ.ขอนแก่น ซึ่งทำงานติดตามและช่วยเหลือเรื่องสิทธิผู้ติดเชื้อเอชไอวีใน จ.ขอนแก่น หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้กล่าวว่า ตนรู้สึกตื่นเต้น เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมเสนอปัญหาและความต้องการของต่อพรรคการเมือง

“ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีจึงอยากให้พรรคการเมืองทุกพรรคลงพื้นที่สอบถามความต้องการของประชาชนแล้วนำไปทำเป็นนโยบายของพรรคเหมือนอย่างพรรคสามัญชนทำ” นางสาวจิดาภากล่าว

นางสาวจิดาภา เฉียบแหลม ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า พรรคการเมืองทุกพรรคควรลงพื้นที่รับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชนในทุกพื้นที่

นางสาวจิดาภากล่าวอีกว่า ตนได้เสนอเรื่องสวัสดิการด้านสุขภาพต่อพรรคสามัญชนเพื่อนำไปพิจารณากำหนดเป็นนโยบายพรรค ในเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีและมีประสิทธิภาพแบบมาตรฐานเดียว โดยไม่แบ่งว่าเป็นสิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค ตนอยากให้ประเทศไทยมีนโยบายรักษาพยาบาลแบบมาตรฐานเดียว คนทุกอาชีพควรมีสิทธิรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน เพื่อให้ทุกคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“สาเหตุที่เสนอเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลมาตรฐานเดียว เพราะต้องการให้ประชาชนทุกคน ทุกอาชีพ เข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาลที่ฟรีและมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน ไม่แบ่งแยกว่าทำอาชีพอะไรหมือนที่ผ่านมา” นางสาวจิดาภากล่าว

ปัญหาทุนประเดิมพรรค 1 ล้าน ปัญหาใหญ่ของพรรค

เมื่อถามถึงปัญหาและอุปสรรคของในการจัดตั้งและเคลื่อนไหวพรรคสามัญชนหลังจากนี้คืออะไร นายกิตติชัยกล่าวว่า ปัญหาใหญ่ตอนนี้เรื่องการหาเงินทุนประเดิมพรรคให้ได้ 1 ล้านบาทจากสมาชิกพรรค 500 คนแรกที่ร่วมจัดตั้งพรรค คนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 50,000 บาท ก่อนเดือนพฤศจิกายนนี้ ตามที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป.พรรคการเมือง) กำหนด ถ้าไม่มีเงินทุนประเดิม พรรคก็ไม่ผ่านขั้นตอนต่อไปของการจัดตั้งพรรค

“การบังคับให้สมาชิก 500 คนแรกของพรรค บริจาคเงินรวมกันให้ได้ 1 ล้านบาทเป็นปัญหากับพรรคมาก เพราะสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่มีเงิน หลายคนเป็นเกษตรกร ค้าขาย ประกอบอาชีพอิสระไม่มีเงินเดือนที่มั่นคง” นายกิตติชัยกล่าว

ทีมงานพรรคสามัญชนกำลังจดบันทึกความต้องการของประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมคาราวานสามัญชน เพื่อนำไปจัดทำเป็นร่างนโยบายของพรรค

นายกิตติชัยกล่าวอีกว่า ตนคิดว่ากฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน ไม่สนับสนุนให้เกิดพรรคการเมือง เพราะด่านแรกที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองได้ต้องมีทุนประเดิมพรรค ถ้าไม่มีเงินทุนประเดิมพรรคก็ไม่ผ่านขั้นตอนต่อไปของการจัดตั้งพรรคการเมือง และทำงานทางการเมืองได้

ผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชนกล่าวว่า ตนเชื่อว่าคนในรัฐบาล คสช. ที่มีอำนาจในเสนอและพิจารณากฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองนี้มีอคติกับพรรคการเมือง เกลียดนักการเมือง มองว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองทำให้ประเทศแตกแยก วุ่นวาย ประชาชนแตกความสามัคคีมากว่า 10 ปี จึงทำให้ คสช.พยายาม ปิดกั้นการเกิดของพรรคการเมือง ซึ่งตามหลักการกฎหมายควรให้อิสระกับประชาชนก่อตั้งพรรคการเมือง เพื่อแข่งขันกันนำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและให้ประชาชนมีตัวเลือกในการเลือกตั้ง

นโยบายพรรคไม่ควรมาจากสมาชิกพรรคไม่กี่คน

นางสาวอรุณี สัณฐิติวณิชย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงกรณีพรรคสามัญชนลงพื้นที่รับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชนเพื่อกำหนดเป็นนโยบายพรรคว่า ถือว่าเป็นเรื่องดีที่พรรคการเมืองทุกพรรคควรทำ เพราะนโยบายของพรรคควรมาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่จริงๆ ไม่ใช่มาจากสมาชิกพรรคเพียงไม่กี่คน

นางสาวอรุณีกล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือรูปแบบกิจกรรมของพรรคสามัญชนที่มีการจัดเวทีรับฟังความต้องการของประชาชนในรูปแบบที่เรียบง่าย เป็นกันเอง ซึ่งตนมองว่าการจัดประชุมแบบเรียบง่ายนี้จะทำให้ประชาชนกล้าพูดถึงความต้องการของตนต่อพรรคการเมือง  

“เมื่อคนในพื้นที่แสดงความต้องการให้พรรคการเมืองรับรู้ พวกเขาจะรู้สึกว่ามีตัวตน รู้สึกว่าตัวเองก็มีส่วนร่วมในการนำเสนอปัญหาและความต้องการให้พรรคการเมืองนำไปกำหนดเป็นนโยบายได้” นางสาวอรุณีกล่าว

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานีผู้นี้ กล่าวอีกว่า เมื่อพรรคได้ข้อมูล ความเห็นและความต้องการของประชาชนมาแล้ว สิ่งที่พรรคต้องทำต่อไปคือการนำเอาความต้องการของประชาชนที่มีจำนวนมาก มาเรียบเรียงเป็นนโยบายของพรรคให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ ประชาชนที่เคยให้ความเห็นและแสดงความต้องการไว้อาจไม่สนับสนุนพรรค

น.ส.อรุณี สัณฐิติวณิชย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า กิจกรรมลงลงพื้นที่รับฟังความต้องการของประชาชนเพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายของพรรค เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองทุกพรรคควรทำ

ทุนประเดิมพรรค 1 ล้าน เพื่อให้สมาชิกผูกพันกับพรรค

นางสาวอรุณีกล่าวว่า กรณีที่พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดให้พรรคการเมืองที่ผ่านการจดแจ้ง ชื่อพรรค ระดมทุนจากสมาชิกบังคับให้สมาชิกพรรค 500 คนแรกบังคับสมาชิกจ่ายคนละ 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 50,000 บาท ให้ได้รวม 1 ล้านบาทเพื่อเป็นทุนประเดิมพรรคนั้น เป็นหนึ่งในอุปสรรคแรกสำหรับการก่อตั้งพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่สมาชิกไม่มีเงินทุน

“สมาชิกพรรคสามัญชนส่วนใหญ่มีอาชีพที่มีเงินเดือนไม่มั่นคง เช่น เกษตรกร ค้าขาย อาชีพอิสระ อย่าลืมว่าเงินหนึ่งพันบาทของคนเหล่านี้ถือว่ามาก เพราะเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำรวมกัน 3 วัน ถ้าจ่ายไป อาทิตย์นั้นคงไม่มีเงินไว้ใช้จ่าย” นางสาวอรุณีกล่าว

นางสาวอรุณีกล่าวอีกว่า ตนเสนอว่าถ้าจะให้ดีควรให้พรรคบริหารจัดการการจ่ายเงินทุนประเดิมพรรคได้ เช่น ให้สมาชิกพรรคแบ่งจ่ายเงินทุนประเดิมพรรคได้ เดือนละ 200 – 300 บาท อาจจะลดช่วยแบ่งเบาภาระสมาชิกที่ไม่มีเงินได้

นางสาวอรุณีกล่าวอีกว่า ตนคิดว่าหลักการเรื่องการระดมทุนจากสมาชิกพรรคนั้นต้องการให้สมาชิกพรรคมีความผูกผันกับพรรคที่ตัวเองสังกัด ให้สมาชิกรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ตัวแทนของพรรคที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องฟังเสียงของพรรคสมาชิกพรรค เพราะเงินที่ใช้ในการบริหารจัดการภายในพรรคและเคลื่อนไหวของพรรคก็มาจากสมาชิกทุกคน  

กฎหมายพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองเป็นหน่วยงานราชการ

นางสาวอรุณีกล่าวว่า ถึงแม้ว่าในอนาคตพรรคสามัญชนจะสามารถระดมทุนประเดิมพรรคได้ตามที่กฎหมายกำหนดจนสามารถตั้งพรรคการเมือง ทำกิจกรรมทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งได้ พรรคก็จะสามารถยื่นขอเงินทุนอุดหนุนพรรคการเมืองจากกองทุนพรรคการเมือง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดูแล ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารเงินและทรัพย์สินของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองพ.ศ. 2560 ก็จะใช่ว่าพรรคจะสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ เพราะหลังจาก กกต. อนุมัติเงินทุนสนับสนุนพรรคการเมืองแล้ว พรรคการเมืองที่ได้เงินทุนต้องทำตามระเบียบการทำเบิกจ่ายเงินทุนที่ กกต. กำหนดอย่างละเอียด เช่น การใช้เงินทุนพรรคการเมืองต้องเป็นไปเพื่อทำกิจกรรมที่กฎหมายกำหนด เช่น ให้พรรคการเมืองให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยกับประชาชน เป็นต้น โดยเงินที่ได้จากกองทุนห้ามนำไปใช้ในการบริหารงานทั่วไปภายในพรรค เช่น จ่ายเป็นเงินเดือนให้สมาชิกพรรคบางคน เป็นต้น  

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานีผู้นี้ กล่าวอีกว่า ตามระเบียบ กกต. เรื่องการใช้จ่ายเงินทุนกองทุนอุดหนุนพรรคการเมือง กำหนดให้พรรคการเมืองมีบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน อีกทั้งต้องการแยกประเภทบัญชีตามการใช้จ่าย จัดทำบัญชีทรัพย์สิน จัดทำบัญชีหนี้สินของพรรค และต้องผ่านการตรวจสอบบัญชีด้วย

“จะเห็นว่ากฎระเบียบต่างๆ ของเงินกองทุนพรรคการเมืองเหมือนระบบการจัดการในหน่วยงานราชการที่มีกฎระเบียบควบคุมการใช้เงินอย่างละเอียด ซึ่งอาจทำให้พรรคมุ่งสนใจบริหารจัดการเรื่องเงินมากกว่าการลงพื้นที่ทำงานการเมือง” นางสาวอรุณีกล่าว

นางสาวอรุณีกล่าวอีกว่า ธรรมชาติพรรคการเมืองไม่ควรจะมีระบบระเบียบการบริหารจัดการเหมือนระบบราชการ เพราะเป้าหมายการทำงานของพรรคการเมืองกับหน่วยงานราชการไม่เหมือนกัน โดยเป้าหมายของหน่วยงานราชการคือบังคับใช้กฎหมาย ปฏิบัติตามกฎหมาย การมีระบบเอกสารที่ตรวจสอบได้ มีบัญชีการเงินตรวจสอบการใช้เงินได้

“เป้าหมายการทำงานของพรรคการเมือง เป็นการทำงานทางการเมือง เป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการเสนอและผลักดันความต้องการของประชาชนซึ่งต้องอาศัยความคล่องตัว และความรวดเร็วในการทำงาน” นางสาวอรุณีกล่าว