โดย สุนีย์ กรุมรัมย์ และ ชัญวีรัณยา กัญจนเศรษฐ์ 

บุรีรัมย์ – ชาวบ้านบ้านเสม็ดช่วยกันจัดทำป่าชุมชนริมลำน้ำชี พื้นที่ 552 ไร่ จนแล้วเสร็จ โดยได้รับการประสานจากนักวิชาการ มรภ.บุรีรัมย์ โดยชาวบ้านยังต้องการเอกสารสิทธิในที่ดินที่ครอบครองอยู่โดยรอบป่าชุมชนเพื่อความมั่งคงในที่ดิน  

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ทีมงานโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด รุ่นที่ 3 ลงพื้นที่ป่าชุมชนริมลำน้ำชีของชุมชนบ้านเสม็ด ต.หนองเต็ง อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์

ป้ายรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านเสม็ด โดยมีการตั้งกติการ่วมกันหลายข้อ รวมถึงการห้ามเผาป่า และห้ามล่าสัตว์

ก่อนลงพื้นที่ นายอุทิศ ทาหอม นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และนางบุญยัง หวังอยู่ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเสม็ด ร่วมกันให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า เมื่อปี 2557 มีการพลิกฟื้นคืนผืนป่าที่เสื่อมโทรมจากการถูกบุกรุกอย่างต่อเนื่องให้เป็นป่าชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างนายอุทิศ กลุ่มนักวิชาการ และชาวบ้าน มีการจัดเวทีประชุมขอคืนพื้นที่ป่าจากชาวบ้านที่บุกรุก จัดกิจกรรมปลูกป่าและสร้างฐานเรียนรู้ให้เยาวชน พร้อมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกให้คนในชุมชน และตั้งกฏกติกาในการประโยชน์จากป่าร่วมกัน เช่น หากทิ้งขยะในป่าจะถูกปรับ 500 บาท

สำหรับที่ดินของหมู่บ้านเสม็ด บางส่วนเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) บางส่วนเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (นส.3) ขณะที่ที่ดินส่วนใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่นา ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ทำให้ชาวบ้านบ้านเสม็ดรู้สึกไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย

แผนที่ทางอากาศป่าชุมชนบ้านเสม็ด (ในกรอบสีเขียว) มีเนื้อที่ 479 ไร่ 86 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ ต.หนองเต็ง อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับจ.สุรินทร์ที่มีลำน้ำชีเป็นแนวเขตแดน ภาพจากข้อมูลสารสนเทศ กรมป่าไม้

ป่าชุมชนสำเร็จได้ด้วยนักวิจัยเข้ามาหารือกับชุมชน

บ้านเสม็ดไม่ใช่ชุมชนแรกในต.หนองเต็งที่มีการจัดทำป่าชุมชน เทศบาลตำบลหนองเต็งได้เริ่มจัดทำป่าชุมชนที่หมู่บ้านบ้านจาน ต.หนองเต็ง อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์มาตั้งแต่ปี 2542 ขณะที่เมื่อปี 2556 ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านบ้านเสม็ด ได้ร่วมกันเสนอแผนฟื้นฟูป่าต่อเทศบาลตำบลหนองเต็ง แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังหาข้อตกลงกันไม่ได้ระหว่างคนไม่มีที่ทำกิน คนมีที่ดินทำกินและมีเอกสารสิทธิตกทอดมาจากบรรพบุรุษ และคนมีที่ดินทำกินจากการบุกรุกจับจองที่ดินเป็นของตนเองซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ เนื่องจากผู้ที่บุกรุกจับจองที่ดินไม่ยอมคืนป่า แต่คนไม่มีที่ทำกินเสนอว่า ถ้าจัดทำป่าชุมชนได้ก็สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน จนเมื่อปี 2557 นายอุทิศและกลุ่มนักวิชาการเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่การจัดทำป่าชุมชนจึงได้เกิดขึ้น แต่เดิมป่าบ้านเสม็ดมีพื้นที่ 461 ไร่ แต่ชาวบ้านยอมคืนพื้นที่ป่า 91 ไร่ ทำให้มีเนื้อที่ป่าชุมชนบ้านเสม็ดมีเพิ่มขึ้นเป็น 552 ไร่

นายอุทิศ ทาหอม อายุ 32 ปี อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ตนมองเห็นปัญหาที่ชาวบ้านบุกรุกป่าบ้านเสม็ดเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าจนป่าเสื่อมโทรม ทั้งยังไม่มีการกำหนดกฎกติกาภายในหมู่บ้านเพื่อใช้ประโยชน์ป่าร่วมกัน จึงไม่สามารถใช้ประโยชน์ป่าอย่างคุ้มค่า ตนจึงตัดสินใจพาทีมงานมาศึกษาและทำงานวิจัยในพื้นที่นี้ตั้งแต่ปี 2557 และได้จัดประชุมหารือระหว่างชาวบ้าน โรงเรียน วัด และมรภ.บุรีรัมย์ขึ้นหลายครั้ง เพื่อขอคืนพื้นที่ป่าและบูรณาการทรัพยากรให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้ จนนำไปสู่ตั้งกติกาในปี 2558 ว่า ห้ามชาวบ้านเข้าไปทำลายป่าชุมชน ซึ่งคณะทำงานได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.)

นายบรรหยัด สุพรรณ อายุ 47 ปี ชาวบ้านผู้เสียประโยชน์จากการคืนป่า บอกว่า ตนเองเคยจับจองพื้นที่ป่าชุมชนมาก่อนหน้า และในภายหลังได้ยอมคืนป่าเพราะอยากเห็นป่าอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากเห็นตัวอย่างป่าที่อื่นซึ่งจัดทำเป็นป่าชุมชนแล้วปรากฏผลที่ดี จึงอยากจัดทำป่าชุมชนบ้าง หลังมีนักวิชาการเข้ามานำชาวบ้านจัดทำป่าชุมชนให้เป็นรูปเป็นร่าง จึงคิดว่านักวิชาการจะเป็นตัวนำในการผลักดันแผนการทำป่าชุมชนให้สำเร็จได้

นางบุญยัง หวังอยู่ ผู้ใหญ่บ้านบ้านเสม็ด เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมจากการถูกบุกรุกให้เป็นพื้นที่ป่าชุมชน

ป่าชุมชนสำเร็จ แต่ชาวบ้านยังอยากมีโฉนดที่ดินเป็นของตนเอง

พื้นที่ของหมู่บ้านเสม็ด ต.หนองเต็ง นอกจากพื้นที่ป่าชุมชนริมลำน้ำชีเนื้อที่ 552 ไร่แล้ว พื้นที่ที่เหลือคือที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน แต่ชาวบ้านบางส่วนยังไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินเป็นของตนเอง

นางบุญยัง หวังอยู่ อายุ 39 ปี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเสม็ด กล่าวว่า ชาวบ้านบ้านเสม็ดบางส่วนอยากมีเอกสารสิทธิเป็นของตนเองเพราะทราบมาว่า พื้นที่ป่าชุมชนใกล้เคียงที่ทำกินของชาวบ้านสามารถออกเอกสารสิทธิได้ เช่น ส.ป.ก. หรือ นส.3 ตนจึงอยากให้ภาครัฐดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้ชาวบ้านในหมู่บ้านซึ่งเป็นพื้นที่โดยรอบป่าชุมชนเสม็ด  

“ทุกวันนี้ชาวบ้านอาศัยในที่ดินที่ไม่ใช่ของตัวเอง และทำได้เพียงหาของป่าและทำนา” นางบุญยังกล่าว

ผู้ใหญ่บ้านบ้านเสม็ดเล่าอีกว่า พื้นที่ที่ต้องการให้ภาครัฐออกเอกสารสิทธิ เป็นพื้นที่ซึ่งชาวบ้านอยู่อาศัยมาแต่ดังเดิมแล้ว พื้นที่ดังกล่าวปรากฎในแผนที่ว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่สภาพในปัจจุบันเสื่อมโทรมและไม่ได้มีสภาพเป็นป่า ชาวบ้านยังไม่เคยรวมตัวกันไปติดต่อทางราชการเพื่อขอเอกสารสิทธิมีแต่การดำเนินการส่วนตัวของแต่ละบุคคล

นางอ้อย เชิดสุข อายุ 47 ปี ชาวบ้านที่หารายได้จากป่าชุมชน โดยไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย เล่าว่า ตนเก็บเห็ดขาย ขายได้กิโลกรัมละ 300 บาท บางวันแหย่ไข่มดแดงมากิน บางวันหามันนก มันแซง และหน่อไม้ ในป่าชุมชนไปขาย แตกต่างจากชาวบ้านบางคนที่มีเอกสารสิทธิในที่ดินของตัวเอง เช่น นส.3 เนื่องจากมีการจับจองที่ดินมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าของพวกเขา ทำให้พวกเขามีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร อาทิ การเพาะปลูกพืชผล มากกว่าคนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง

นางอ้อยกล่าวอีกว่า ป่าชุมชนอาจทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นก็จริง แต่ลึกๆ แล้วตนต้องการเอกสารสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินซึ่งตนครอบครองอยู่ (บริเวณรอบนอกป่าชุมชน) เนื่องจากตนอยากให้บุตรสาวมีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

ทั้งนี้ ที่ดิน ส.ป.ก. มีไว้เพื่อรับรองการทำเกษตรกรรมเท่านั้น ตามกฎหมายแล้วไม่สามารถออกโฉนดในนามบุคคลผู้ครอบครองพื้นที่เพื่อให้นำไปซื้อขายได้ ส่วน นส.3 เมื่อจัดให้มีรูปถ่ายทางอากาศเป็นใบ นส.3 ก แล้ว สามารถนำไปขอออกโฉนดที่ดินกับรัฐเพื่อการซื้อขายได้

นางบุญยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือชาวบ้านให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิในที่ดิน โดยมีเอกสารสิทธิ อาทิ สปก. หรือ นส.3  หรือเอกสารสิทธิ์ที่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชนได้

ผู้ใหญ่บ้านบ้านเสม็ดบอกด้วยว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ต้องการเอกสารสิทธิแค่เป็นที่ดิน ส.ป.ก. เพราะไม่สามารถซื้อขายได้ แต่ต้องการได้โฉนดที่ดิน ส่วนความต้องการเอกสารสิทธิในที่ดินไม่เกี่ยวข้องกับกรณีจัดทำป่าชุมชน แต่เป็นเรื่องที่ชาวบ้านต้องการมานานแล้ว

ป่าชุมชมริมลำน้ำชีบริเวณบ้านเสม็ด ต.หนองเต็ง อ.กะสัง จ.บุรีรัมย์ กำลังเริ่มฟื้นตัวหลังเริ่มจัดทำป่าชุมชน เมื่อปี 2558

“โฉนดชุมชน” ทางออกสู่กรรมสิทธิ์ในที่ดินสำหรับชาวบ้านในอนาคต

นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ (P-move) และกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล กล่าวว่า ที่ดินบ้านเสม็ดที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์สามารถทำเป็นโฉนดชุมชนได้ โดยให้ชาวบ้านรวมตัวและลงชื่อเป็นแนวร่วมกับพีมูฟได้เพื่อดำเนินการยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โฉนดชุมชนคือหนังสืออนุญาตให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ เพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน ซึ่งชุมชนมีหน้าที่ต้องดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฏหมายและระเบียบ

นายศรายุทธ ฤทธิพิณ ผู้ดูแลสำนักข่าวปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า ทางออกสำหรับชุมชนบ้านเสม็ดในเรื่องสิทธิที่ดิน อาจใช้แนวทางโฉนดชุมชน โดยผู้สนใจสามารถมาเข้าร่วมเรียนรู้กับทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานได้

ปัจจุบันชุมชนบ้านเสม็ดมีการสร้างฐานเรียนรู้เพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้ใหญ่บ้านบ้านเสม็ด ยังกล่าวว่า ในทุกๆ ปี จะมีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เข้ามามีส่วนร่วมในชุมชนและพาเยาวชนทำกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าชุมชน

สุนีย์ กรุมรัมย์ และ ชัญวีรัณยา กัญจนเศรษฐ์ ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2561

image_pdfimage_print