อุบลราชธานี – รองเสนาธิการ มทบ.22 เข้าพบอาจารย์ม.อุบลราชธานีห้ามไม่ให้มีกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล คสช. ที่มาจากการรัฐประหาร ระหว่างการประชุมครม.สัญจร ที่จ.อุบลราชธานี วันที่ 23-24 ก.ค.นี้
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2561 พ.อ.มงกุฎ แก้วพรหม รองเสนาธิการ มณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ (มทบ.22) จ.อุบลราชธานี พร้อมทหารติดตาม 1 นาย นัดพบอาจารย์ม.อุบลราชธานี 3 คน ประกอบด้วย นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ นางสาวเสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันตก คณะศิลปศาสตร์ และนายธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในม.อุบลราชธานี

การนัดพบดังกล่าวเพื่อพูดคุยและสอบถามว่าจะมีนักศึกษาจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านหรือเรียกร้องระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 23 – 24 ก.ค. 2561 ที่จ.อุบลราชธานี และจ.อำนาจเจริญหรือไม่ โดยวันที่ 23 ก.ค. จะเป็นการตรวจเยี่ยมราชการและวันที่ 24 ก.ค. มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่โรงแรมยูเพลส ม.อุบลราชธานี

นายฐิติพลกล่าวว่า เมื่อสัปดหาก่อน พ.อ.มงกุฎได้โทรศัพท์ติดต่อมาหาตนโดยตรงเพื่อขอพูดคุยและสอบถามว่าจะมีนักศึกษาทำกิจกรรมประท้วงรัฐบาล คสช. ระหว่างการประชุมครม.สัญจรหรือไม่ จึงมีการนัดหมายพูดคุยกันเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยพ.อ.มงกุฎขอให้ตนในฐานะคณบดีคณะรัฐศาสตร์คอยตรวจดูว่าจะมีนักศึกษาในคณะทำกิจกรรมต่อต้านนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ถ้าหากมี ก็ขอให้ห้ามปรามไม่ให้เคลื่อนไหว เพราะอาจจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลขอความร่วมมือลงมา
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุลราชธานีกล่าวว่า ตนตอบไปว่า ตนไม่สามารถรู้ได้ว่านักศึกษาคนไหนหรือกลุ่มไหนจะทำกิจกรรมอะไร และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่เกิดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลในช่วงการประชุม ครม.
“ผมตอบพันเอกมงกุฎไปว่าการคอยดูว่าจะมีนักศึกษาชุมนุมประท้วงรัฐบาล คสช. หรือไม่นั้น ผมไม่รู้ ถ้ารู้ว่ามีก็ไม่สิทธิที่จะไปห้ามได้ เพราะนั้นถือเป็นสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาที่จะแสดงออกต่อการบริหารงานของรัฐบาทุกรัฐบาล” นายฐิติพลกล่าว
นายฐิติพลกล่าวอีกว่า เรื่องการดูแลความสงบเรียบร้อยระหว่างการจัดประชุม ครม. นั้น ตนบอกพ.อ.มงกุฎว่า มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองรวมถึงเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยติดตามความเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ตนจึงไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่นี้
นายฐิติพลกล่าวด้วยว่า ตนคิดว่าสาเหตุที่เจ้าหน้าที่ทหารเจาะจงมาพูดคุยกับตนเนื่องจาก เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2561 คณะรัฐศาสตร์ได้จัดงานเสวนาเรื่อง เสียงของเยาวชน : สะท้อนสถานการณ์ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งในวันนั้นมีนิสิต นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกิจกรรม และวิทยากรที่เสวนาซึ่งเป็นนักศึกษาได้พูดและวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของนิสิตนักศึกษา การคุกคาม จับกุมนักศึกษาที่ทำกิจกรรมประท้วงรัฐบาล คสช. ซึ่งวันเสวนาดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าฟังและบันทึกวีดีโอการเสวนาด้วย ตนคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ พ.อ.มงกุฎติดต่อขอพบตน
กรณีพ.อ.มงกุฎเรียกพบและพูดคุยขอให้ห้ามปรามนักศึกษาไม่ให้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล คสช. ช่วงการประชุม ครม.สัญจรนั้น นายฐิติพลกล่าวว่า ถือเป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยอีกด้วย เพราะมหาวิทยาลัยถือเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพในความคิด การพูด และการเขียน
“มหาวิทยาลัยคือสถาบันการศึกษาที่ตามหลักแล้วต้องไม่ถูกผู้มีอำนาจ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเข้ามาควบคุมหรือปิดกั้นการแสดงออกของคณาจารย์และนักศึกษาตามหลักสิทธิ เสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย” นายฐิติพลกล่าว

นายธีระพลกล่าวว่า ตนรู้แปลกใจตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 2561 ขณะที่ตนมาทำงานที่คณะ มีเจ้าหน้าที่ในคณะคนหนึ่งบอกตนว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบ 2 นาย มาสอบถามหาตนที่คณะ โดยไม่ทราบว่าต้องการพบตนเพราะสาเหตุอะไร และเมื่อช่วงเย็นวันที่ 18 ก.ค. 2561 นางสาวเสาวนีย์ เพื่อนอาจารย์ในคณะได้โทรศัพท์มาบอกตนในขณะที่ตนอยู่ที่ จ.ขอนแก่นว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบอกว่า มีนายทหารจากมทบ.22 ต้องการพบและพูดคุยกับนางสาวสาวนีย์ก่อนที่จะมีการประชุม ครม.สัญจร นางสาวเสาวนีย์จึงชวนตนร่วมพูดคุยเป็นเพื่อนด้วย รวมถึงตนอยากรับรู้ว่าทหารจะพูดคุยกับคนที่เห็นต่างจากรัฐบาล คสช. อย่างไร
นายธีระพลกล่าวด้วยว่า เมื่อถึงเวลานัดหมายพ.อ.มงกุฎได้บอกเหตุผลที่ขอพบว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีความกังวลว่าจะมีนักศึกษา และ น.ส.เสาวนีย์รวมถึงตน และเพื่อนอาจารย์อีกหลายคนในกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล คสช.แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
“พันเอกมงกุฎบอกว่าขออนุญาตอธิการบดีเพื่อขอพบปะพูดคุยกับอาจารย์กลุ่มผม เพื่อขอร้องว่าอย่าได้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในช่วงนี้ ผมจึงบอกไปว่าพวกเราไม่มีแผนการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้นในช่วงนี้” นายธีระพลกล่าว
นายธีระพลกล่าวอีกว่า ตนได้อธิบายให้พ.อ.มงกุฎฟังต่อว่า หากเป็นรัฐบาลที่มาบริหารประเทศมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามวิถีประชาธิปไตย ประชาชน นักศึกษา อาจารย์อย่างพวกตนคงไม่ออกมาต่อต้าน และตนเชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของรัฐบาลออกมาชุมนุม เรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้ ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาล คสช.ที่มาจากการยึดอำนาจประชาชน มาแต่งตั้งตัวเองเป็นรัฐบาลมีอำนาจสูงสุดปกครอประเทศ ผ่านมากว่า 4 ปีแล้วที่ประชาชนอยู่ใต้อำนาจการปกครองของ รัฐบาล คสช.ที่ได้อำนาจการปกครองประเทศมาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งทำให้ความเป็นประชาธิปไตยตกต่ำลงอย่างมาก มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชน จับกุม คุมขังประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของรัฐบาล คสช. ตนจึงต้องการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการปกครองของรัฐบาล คสช.
อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานีผู้นี้กล่าวอีกว่าการที่ทหารขอพบและพูดคุยกับอาจารย์ที่สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องไม่ปกติ ทหารควรทำหน้าที่ทหาร ปกป้องประชาชน ไม่ใช่มาใช้อำนาจสั่งห้ามนักศึกษาและอาจารย์ไม่ให้ทำอะไรที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ชอบ เพราะต่างคนต่างทำหน้าที่ ตนก็ทำหน้าที่อาจารย์ สอนหนังสือ ให้ความรู้นักศึกษา อาชีพอาจารย์สอนหนังสืออย่างพวกตนไม่ใช่ศัตรูของประเทศชาติที่ทหารต้องมาติดตามและคุกคาม
“ทหารไม่ควรขอนัดพบพูดคุยหรืิอแสดงออกในลักษณะที่มีอำนาจห้ามปรามไม่ให้ประชาชนทำอะไร เพราะเหมือนการปิดกั้นการแสดงออกที่เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างพวกผมที่กระทำได้” นายธีระพลกล่าวทิ้งท้าย