โดย ปารณีย์ ศรีสง่า

ขอนแก่น/อุบลราชธานี – อาจารย์สาขาวิชาพัฒนศาสตร์ ม.ขอนแก่น ไม่ตกใจตัวเลขการว่างงานของผู้จบปริญญาตรี เพราะคนตกงานของไทยน้อยกว่าประเทศอื่น อีกทั้งศรษฐกิจไทยยังไม่ดี ส่วนบัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ ต้องการเรียนต่อเพราะอยากทำงานด้านสังคมมากกว่าด้านที่เรียนมา   

จากรายงานข่าวของเว็บไซต์โพสตูทูเดย์ เรื่อง “ว่างงาน 5 แสนคน ปริญญาตรีแชมป์” นักศึกษาระดับอุดมศึกษาว่าที่บัณฑิตตกงานเป็นจำนวนมาก ว่าง เดอะอีสานเรคคอร์ดจึงสอบถามความคิดเห็นของอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในเรื่องดังกล่าว

ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ อาจารย์สาขาวิชาพัฒนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ไม่ตกใจกับการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่เพราะเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ดี

นายธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ อาจารย์สาขาวิชาพัฒนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงสถานการณ์การว่างงานของบัณฑิตในปัจจุบันว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 พบว่า จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป มี 56.15 ล้านคน เป็นผู้ที่พร้อมจะทำงาน 38.42 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.60 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.91 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.3 และ ผู้ที่รอฤดูกาล 3.29 หมื่นคน ผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 17.74 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว ตัวเลขการว่างงานของไทย ร้อยละ 1.3 จึงไม่น่าตกใจมากนัก

ข้อมูลจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ เรื่องอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในโลก โดยพีรพล ประเสริฐศรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ระบุว่า ธนาคารโลกรายงานตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เท่านั้น คิดเป็นลำดับ 4 ของประเทศที่มีอัตราการว่างงานที่น้อยที่สุดในโลก ถัดจากประเทศรวันด้า ร้อยละ 0.6 ประเทศกาต้า ร้อยละ 0.5 และประเทศกัมพูชา ร้อยละ 0.3

ประเทศที่พัฒนาแล้วมีตัวเลขอัตราการว่างงานสูงขึ้น อาทิ ฝรั่งเศส ร้อยละ 10.4 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 7.4 เยอรมัน ร้อยละ 5.3 หรือญี่ปุ่น ร้อยละ 4 ในประเทศกลุ่มอาเซียนมีอัตราการว่างงาน ดังนี้ สิงคโปร์ ร้อยละ 2.8 มาเลเซีย ร้อยละ 3.2 อินโดนีเซีย ร้อยละ 6.3 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 7.1

นายธนพฤกษกล่าวอีกว่า สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยซบเซาจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีงานให้บัณฑิตทำเพียงพอต่อความต้องการ ฉะนั้น จึงต้องเกิดการว่างงานอย่างแน่นอน การเลือกงานของบัณฑิตเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้บัณฑิตว่างงาน อาทิ ถ้าเป็นงานที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยบัณฑิตก็เลือกที่จะไม่ทำงานและรอจนกว่าจะได้งานที่พอใจ ส่วนค่านิยมที่เปลี่ยนไปก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การว่างงานของบัณฑิตเพิ่มสูงขึ้น สมัยก่อนถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีเงินใช้แต่ในปัจจุบันนี้ถ้าไม่มีงานทำก็สามารถขอเงินพ่อแม่ใช้ได้

ข้อมูลการว่างงานล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 พบว่า จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มี 56.27 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือพร้อมจะทำงาน 38.85 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 38.37 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.26 แสนคน ผู้ที่รอฤดูกาล 5.88 หมื่นคน ผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 17.41 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น

ในจำนวนผู้ว่างงาน 4.26 แสนคน จำแนกตามภาค พบว่า ภาคที่มีจำนวนผู้ว่างงานมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 1.16 แสนคน รองลงมาคือภาคกลางจำนวน 1.08 แสนคน

จำแนกตามระดับการสำเร็จการศึกษา พบว่า ระดับอุดมศึกษามีผู้ว่างงานมากที่สุดจำนวน 1.70 แสนคน รองลงมา คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 8.64 หมื่นคน

จำแนกตามประสบการณ์ในการทำงานและการสำเร็จการศึกษา พบว่า ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีทั้งสิ้น 1.70 แสนคน เป็นผู้ไม่เคยทำงานมาก่อนมากที่สุดจำนวน 1.33 แสนคน เป็นผู้เคยทำงานมาก่อนเพียง 3.7 หมื่นคน

จากข้อมูลดังกล่าว สรุปได้ว่า ผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโอกาสว่างงานสูงที่สุด

นายเด่นพงษ์ แสนคำ บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์ ม.ขอนแก่น บอกว่า ไม่ชอบทำงานที่ผูกมัด จึงคิดว่าการเรียนต่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด

นายเด่นพงษ์ แสนคำ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2560 (สาขาฟิสิกส์เน้นการวิเคราะห์ปรากฎการณ์ของธรรมชาติผ่านทางสมการทางคณิตศาสตร์เพื่อประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ ) กล่าวว่า ที่ตนเลือกเรียนในสาขานี้เพราะเป็นความชอบโดยส่วนตัว ขณะนี้ตนขึ้นทะเบียนเป็นผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปี 2560 และจะรับปริญญาช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ ตนทำงานแล้วโดยทำงานที่ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง ม.ขอนแก่น เป็นนักวิจัยอิสระ ตนจะเรียนต่อชั้นปริญญาโทด้านมนุษศาสตร์และสังคมศาสตร์ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเรียนต่อในสาขาอะไรจึงทำงานเพื่อรอการตัดสินใจ

นายเด่นพงษ์กล่าวด้วยว่า ตนไม่ชอบทำงานที่เป็นลูกจ้างหรืองานที่ผูกมัด จึงคิดว่าการเรียนต่อเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อที่จะมีโอกาสทำงานที่จะได้เป็นนายของตัวเอง

“ไม่น่าจะทำงานตรงสายกับที่เรียนมา เพราะว่าชอบเรียนฟิสิกส์ แต่ไม่ได้ชอบทำงานในด้านฟิสิกส์ ชอบทำงานทางสังคมมากกว่า” นายเด่นพงษ์กล่าว

นางสาวพิชญธิดา รบเกล้า บัณฑิตคณะบริหารศาสตร์ ม.อุบลราชธานี เล่าว่า ตนไม่มีสิทธิเลือกเรียนและเลือกงาน ทำให้ตนไม่ต้องพยายามการหางานเหมือนคนอื่น

นางสาวพิชญธิดา รบเกล้า ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญาตรี ในปี 2560 จากคณะบริหารศาสตร์ สาขาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (สาขาที่การสอนการเขียนโปรแกรม การทำฐานข้อมูล) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การเรียนสาขานี้ไม่ได้มาจากความสนใจของตน แต่เรียนสาขานี้เพราะครอบครัวไม่สนับสนุนให้เรียนในสาขาอื่น ตนรู้สึกมาตลอด 4 ปีที่เรียนในมหาวิทยาลัยว่า ตนไม่ถนัดและไม่อยากเรียนในสาขานี้ ส่งผลให้ตนไม่มีความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ที่จะนำความรู้ไปใช้ได้จริงในเวลาทำงาน

นางสาวพิชญธิดากล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้วางแผนเรื่องการทำงานและยังไม่พร้อมที่จะทำงาน อีกทั้งตนไม่มีสิทธิเลือกอะไรเลย ตั้งแต่การเรียนจนการทำงาน ทำให้ตนไม่ต้องพยายามหางานเหมือนกับคนอื่น ตนอยู่บ้านกับพ่อแม่และไม่ได้เดือดร้อนที่ไม่ได้ทำงาน ส่วนครอบครัวที่ประกอบอาชีพผู้รับเหมาอยากให้ตนทำงานรับราชการหรือทำงานรัฐวิสาหกิจ

ปารณีย์ ศรีสง่า เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2561

image_pdfimage_print