นครพนม – หลายปีมาแล้วที่นางสิมาลา หงษามนุษย์ ได้เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวและอาหารตามสั่งที่ปากทางเข้าบ้านห้อม ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนโคกภูกระแตและมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 เป็นทิวทัศน์ ลูกค้าหลายคนของนางสิมาลาเป็นคนขับรถบรรทุกที่ไปๆมาๆจากสะพานนี้ ซึ่งทำให้โคกภูกระแตและชุมชนนี้ได้ถูกแบ่งเป็นสองส่วนเมื่อเกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อปี 2558 รัฐบาลทหารประกาศให้จังหวัดนครพนมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยครอบคลุมพื้นที่สะพานแห่งนี้ จังหวัดนครพนมจึงเป็นหนึ่งใน 10 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนมเป็นส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่เพื่อดึงดูดการลงทุนเพื่อกระตุ้นธุรกิจไทยที่กำลังสะดุดตัว ด้วยข้อเสนอแรงงานราคาถูก การเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค พร้อมกับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเป็นเวลานาน

ปัจจุบัน ประเด็นของสิทธิที่ดินได้กลายเป็นข้อขัดแย้งทางกฎหมายระหว่างชุมชนที่นางสิมาลาอาศัยอยู่และรัฐบาล อีกทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษยังทำให้หมู่บ้านแห่งนี้แตกแยกอีกครั้ง

แม้ว่าเธอจะเคยเผชิญกับการถูกทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนข่มขู่เพื่อควบคุมตัวก่อนที่จะมีการดำเนินการตามกฎหมาย นางสิมาลาก็ยังคงไม่ยอมแพ้ที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม ทั้งโดยพฤตินัยและโดยนิตินัย

ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล

แรกเริ่ม รัฐบาลทหารใช้กฎอัยการศึกในการไล่รื้อชาวบ้านจากบ้านห้อมด้วยข้อหาบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ โดยใช้อำนาจศาลทหารเมื่อปี 2557 เมื่อมีการยกเลิกกฎอัยการศึกในเดือนเมษายน ปี 2558 รัฐบาลทหารได้หันไปใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2557 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอย่างเข้มงวด เพื่อขจัดชาวบ้านกว่า 300 คน ให้ออกไปจากพื้นที่โคกภูกระแตโดยเร็ว

แต่เมื่อชาวบ้านหลายคนยืนหยัดไม่ยอมแพ้ต่อการแสดงอำนาจดังกล่าว รัฐบาลจึงพยายามที่จะขับไล่พวกเขาโดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐผ่านการดำเนินการทางศาลแพ่ง

“อยู่ดีๆ จะมาไล่รื้อเราอย่างนี้ไม่ได้ เราอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2480 รัฐต้องให้เกียรติและมีที่ยืนให้เราบ้าง” นางสิมาลากล่าว

รัฐบาลปฏิเสธที่จะถกเถียงถึงประเด็นทางศีลธรรมอันเกี่ยวกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่รัฐจะต้องชดเชยความเสียหายให้กับชุมชน แต่รัฐกลับเลือกใช้ท่าทีทางกฎหมายแทน โดยพยายามตีตราชาวบ้านว่าเป็นผู้บุกรุกที่ดินสาธารณะที่โชคดีแค่ไหนแล้วที่ไม่ถูกคิดค่าเช่าย้อนหลัง ดังที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นคนหนึ่งได้กล่าวไว้

ไม่นานหลังจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2557 นางสิมาลากล่าวว่า รัฐบาลทหารได้เสนอเงินจำนวน 200,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนบ้านเรือนให้กับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านปฏิเสธที่จะรับเงินดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่หันมาใช้วิธีการคุกคามและออกกลอุบายต่างๆ เพื่อจัดการกับชาวบ้าน ในตอนนั้น เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมักจะเดินทางมาที่หมู่บ้านและถ่ายรูปชาวบ้านอยู่ตลอดเป็นเวลาหลายเดือน

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้หลอกนำตัวชาวบ้านไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองนครพนม

“ตำรวจบอกว่าจะพาไปสำนักงานที่ดินไม่นาน แต่กลับพาเราไปคุมตัวที่สถานีตำรวจ แล้วให้เราเซ็นต์เอกสาร” นางสิมาลากล่าว

ปรากฎว่าเอกสารดังกล่าวเป็นคำฟ้องคดีอาญาข้อหาบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์โคกภูกระแต

พื้นที่ที่ทำเครื่องหมายคือบริเวณที่เป็นข้อพิพาทโดยประมาณ ชุมชนริมแม่น้ำแห่งนี้พึ่งพาหาเลี้ยงชีพจากการหาปลาและการเกษตรขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ และพวกเขายืนยันว่า หากต้องย้ายถิ่นที่อยู่ ชาวบ้านควรได้รับการชดเชยจากรัฐบาลต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการดำรงชีวิต

เมื่อต้องขึ้นศาล

ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจำต้องขึ้นศาลเพื่อต่อสู้คดีที่รัฐบาลเป็นฝ่ายฟ้องร้อง หลังถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2558 พวกเขาปรากฏตัวในศาลจังหวัดนครพนมและปฏิเสธข้อกล่าวหาต่ออัยการ

ในตอนแรก รัฐบาลทหารมีความพยายามที่จะกำจัดหมู่บ้านแห่งนี้ออกไปจากที่ดินดังกล่าวโดยใช้คำสั่งคสช. ที่ 64/2557 ซึ่งมอบอำนาจให้ทหารสามารถไล่รื้อผู้ที่ได้รับการระบุว่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และทำลายที่อยู่อาศัยและพืชผลของพวกเขาได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่ต้องชดเชยค่าเสียหายหรือจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ ทว่าอนาคตของหมู่บ้านไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตีความของศาลต่อสิทธิในที่ดินของชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับสถานะของที่ดินด้วย

เดือนมกราคม ปี 2560 ศาลพิพากษายกฟ้องชาวบ้าน 33 คน ในข้อหาบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์ โดยชาวบ้านที่เป็นจำเลยพ้นผิดจากข้อหาดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยทั้งหมดบุกรุกที่ดินสาธารณะตั้งแต่เมื่อใด แต่ชาวบ้านที่เป็นจำเลยสามารถหาหลักฐานเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่พิสูจน์ว่าพวกเขามีสิทธิ์ที่จะอาศัยอยู่และเพาะปลูกบนที่ดินนั้นได้

แตกหัก

มีชาวบ้านบางคนเท่านั้นที่ยินดีปรีดากับผลการพิพากษาดังกล่าว มีชาวบ้านอีกกลุ่มที่แยกตัวออกมา 15 คนที่คัดค้านผลการพิพากษาดังกล่าว พวกเขาแย้งว่า เนื่องจากการยอมรับคำตัดสินเบื้องต้นของศาลทำให้เปรียบเสมือนเป็นการยอมรับว่าอาศัยอยู่บนที่ดินสาธารณะประโยชน์จริง ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีต่อไปในอนาคตที่ล่อแหลมสำหรับชาวบ้านบ้านห้อม ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ชาวบ้านเหล่านี้จึงยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 4 พร้อมกับเตือนชาวบ้านคนอื่นๆ ให้ระวังเล่ห์กับดักทางกฎหมายไว้ด้วย

ชาวบ้านที่เห็นต่างกล่าวแย้งว่า ศาลจังหวัดไม่ควรนิยามที่ดินดังกล่าวว่าเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ และควรแก้ถ้อยคำตัดสินของศาลด้วย

“เราขอยืนยันว่าเราไม่ได้บุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์แต่อย่างใด” นางสมหมาย เอฟวา หนึ่งในชาวบ้านที่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นกล่าว “เราอยู่บนที่ดินส่วนบุคคล แล้วเราก็มีเอกสารที่รัฐออกให้มาพิสูจน์”

นางสมหมายเชื่อว่า อันที่จริงแล้วรัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้โดยการมอบค่าชดเชยที่ดินตามราคาตลาดที่ดินที่ซื้อขายกันให้กับชาวบ้านตั้งแต่แรก “รัฐไม่มีทางออก[และ]ไม่มีที่ยืนให้เราเลย นอกเหนือไปจากการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ” นางสมหมายกล่าว

ทัศนียภาพที่มองเห็นจากหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนโคกภูกระแต สามารถมองเห็นหลังคาสีขาวของด่านตรวจตรงเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ตั้งอยู่ทางขวามือ รถบรรทุกสินค้ากำลังเดินทางมุ่งหน้าไปยังประเทศลาว และอาคารสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษหลังคาสีเหลืองตั้งอยู่ถัดออกไป

ไม่ได้รับเชิญ

นักธุรกิจท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกสภาหอการค้าของเมืองนครพนมผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวว่า แม้จะไม่รู้สึกเห็นใจชาวบ้านมากนัก แต่ก็วิจารณ์การจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

“ไม่มีการปรึกษาหารือเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษกับภาคธุรกิจท้องถิ่น จู่ๆรัฐบาลก็โยนโครงการจัดตั้งพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษออกมาจากกรุงเทพทั้ง 10 แห่งโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า มีการพูดประกาศ แต่ไม่มีแผนการจัดการที่เป็นรูปธรรมที่จะมาจัดการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง สนามบินหรือทางรถไฟ” เขากล่าวและว่า “ดูเหมือนว่ารัฐคิดว่า หากประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ธุรกิจใหญ่ๆ จะตามมาเอง แต่ธุรกิจการค้าไม่ได้จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอนะ”

สัดส่วนความรับผิดชอบที่ไม่สมดุล

กิติมา ขุนทอง อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้ซึ่งมีความคุ้นเคยกับประเด็นปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาต่อชุมชนริมแม่น้ำโขง กล่าวว่าตนรู้สึกกังวลกับความไม่เสมอภาคที่อาจมีมากขึ้น

“รัฐมักอ้างถึงข้อดีของเขตเศรษฐกิจพิเศษว่า เป็นการกระจายการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งไปทั่วประเทศ แต่ในทางปฏิบัติจริง รัฐบาลกลับสนับสนุนให้เกิดความมั่งคั่งกับกลุ่มทุน ซึ่งเป็นส่วนน้อยของสังคม แต่กลับกระจายความเหลื่อมล้ำและความไม่เสมอภาคให้เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากในสังคมทั่วประเทศ”

อาจารย์กิตติมากล่าวเสริมว่า รัฐบาลมักจัดการกับเรื่องทางเศรษฐกิจโดยมีสำนึกความรับผิดชอบต่อกลุ่มทุนรายใหญ่ค่อนข้างสูง แต่ไม่ค่อยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อกลุ่มอื่นๆในสังคม หรือประชาชนที่อาจจะไม่พร้อมเข้าทำงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อสนองต่ออุตสาหกรรมในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

นางสมหมาย เอฟวา หนึ่งในชาวบ้านที่ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งพวกเขาตัดขาดการติดต่อกับทนายความอาสาที่เป็นตัวแทนในการต่อสู้คดีในชั้นศาลในตอนแรก

นิโรธสมาบัติ

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ชาวบ้านหลายคนได้รวมตัวที่ศาลจังหวัดนครพนม เพื่อเข้าฟังการตัดสินของศาลอุทธรณ์ เนื่องจากมีชาวบ้านไม่กี่คนที่เป็นเจ้าของรองเท้าหุ้มส้นที่จำเป็นสำหรับการปรากฎต่อศาล บริเวณหน้าทางเข้าห้องพิจารณาคดีจึงเต็มไปด้วยรองเท้าแตะของชาวบ้านที่เข้ารับฟัง

ขณะที่ศาลเรียกชื่อจำเลย ปรากฎว่านับตั้งแต่มีการยื่นอุทธรณ์ จำเลยที่อยู่ในวัยชราจำนวน 4 คน ได้เสียชีวิตลงขณะรอการตัดสิน ผู้พิพากษาแสดงสีหน้าที่ผิดหวังอย่างเห็นได้ชัดขณะที่เธอบอกชาวบ้านว่าพวกเขาต้องกลับบ้านไปก่อนและรอหมายเรียกอีกครั้ง เนื่องจากศาลจะต้องจำหน่ายชื่อจำเลยที่เสียชีวิตออกจากคดี ก่อนที่จะเปิดเผยผลการพิจารณาคดีได้

ดูเหมือนว่าชาวบ้านได้ทำใจไว้แล้ว เห็นได้จากการที่เขาพากันยืนขึ้นและทยอยออกจากห้องพิจารณาคดีอย่างสงบ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าอาคารศาลที่เขียวชะอุ่มตกแต่งเรียบร้อย นางสิมาลากล่าวย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่ชาวบ้านกำลังทำอยู่นั้นเป็นการเรียกร้องความยุติธรรม และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่จำเป็นต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะ

“เราไม่ได้ต้องการขัดขวางการพัฒนาจังหวัดนครพนม” นางสิมาลากล่าวย้ำ “เราแค่ต้องการได้รับความเป็นธรรม”

 

image_pdfimage_print