ภาพหน้าปกจาก www.77jowo.com

วันหยุดยาวที่ผ่านมา คุณได้กลับบ้านหรือเปล่าเวลาคุณเดินทางกลับบ้าน คุณกลับด้วยรถส่วนตัว รถทัวร์ รถตู้ รถไฟ หรือเครื่องบินที่ค่าตั๋วถูกกว่ารถไฟตู้นอน

ด้วยเหตุที่ผู้เขียนได้กลับไปพักผ่อนที่บ้านเกิดที่อุบลฯ เป็นระยะสั้นๆ คำถามจำนวนมากเกิดขึ้นทั้งระหว่างทางและระหว่างพักอยู่บ้าน ทำไมเราคนส่วนใหญ่ถึงมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ มันมีเหตุผลอะไรที่ต้องเป็นแบบนั้น แบบที่ต้องเดินทางไกลเพื่อจากบ้าน แบบที่คนอีสานต้องมาสร้างภาพโรแมนติกให้กันเองขณะรถติดอยู่ตามเส้นทางสายสำคัญ

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนนึกแย้งและรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แย่ตลอดมาคือความพยายามกล่อมมืตัวเองให้รู้สึกว่า ใครๆก็ลำบากบนท้องถนนเหมือนกับเราแต่ปลายทางคือการกลับบ้านที่อบอุ่น ลำบากเท่าใดก็ยอมหรือแค่ได้กลับบ้านก็สุขใจแล้ว

ความโรแมนติกที่มีได้ปีละหนสองหนแบบนี้สั่งสมมาหลายทศวรรษจนกลายเป็นเรื่องปกติ เสมือนว่าการกลับบ้านนั้นเป็นช่วงอนุญาตให้พักหายใจของคนอีสานจำนวนมาก

แต่การกลับบ้านมันเป็นเรื่องของเรา ไม่ควรเป็นเรื่องที่ใครอื่นมาเป็นคนกำหนด มิใช่หรือ

คำถามที่ทำให้ยิ้มหุบ

ทันทีที่เดินทางถึงอุบลฯ ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะยิ้มกว้างและใจเต้นแรง หลังจากที่ไม่ได้กลับบ้านในรอบปีสองปี มันทำให้ผู้เขียนเริ่มสนใจถึงอาการที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ความรู้สึกดีใจนั้นก็เป็นความรู้สึกสามัญที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสามารถเกิดได้กับทุกคนอยู่แล้ว

แต่คำถามถอยร่นเข้าไปอีกว่า ทำไมการให้คุณค่ากับกิจกรรมปกติ กิจกรรมที่เป็นเรื่องสามัญของการดำเนินชีวิตถึงมีความหมายมากขนาดนี้ อีกนัยหนึ่งคือ ทำไม “บ้าน” ถึงมีขนาดใหญ่ขึ้นจนครอบคลุมแทบทั้งภูมิภาค บ้านในความหมายปกติที่หมายถึงสิ่งก่อสร้างนั่นก็อีกความหมายหนึ่ง แต่สิ่งที่ผู้เขียนกำลังนึกสนใจคือบ้านในความหมายของสภาพแวดล้อม บ้านในความหมายของวัฒนธรรมที่เติบโต บ้านที่อบอุ่นเป็นทั้ง safety net และ safety nest ไม่มีคนแปลกหน้า เพราะเราถูกแยกออกจากบ้านแบบไหนกัน ถึงทำให้เรารู้สึกถึงความว้าเหว่และโดดเดี่ยว จนพอได้มีโอกาสกลับบ้านถึงรู้สึกปลื้มปริ่มและดีใจอย่างมาก

คำตอบที่หาให้ตัวเองได้คงจะเป็น “บ้าน” ในความหมายอย่างหลังเกิดขึ้นได้เพราะการกลับบ้านถูกทำให้กลายเป็นเรื่องยาก ด้วยเงื่อนไขและกลไกโครงสร้างอำนาจรัฐไทย

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปเรื่องศูนย์กลางอำนาจในการปกครองและศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจของไทยนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ ขณะที่พื้นที่ภูมิภาคนั้นมีความสำคัญลดหลั่นและมีความสำคัญที่กระจัดกระจายกันออกไปตามปัจจัยการผลิต ในบางพื้นที่ที่ถูกสร้างให้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) แผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีมูลค่าและดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปค้าแรงงาน

อีสานเป็นพื้นที่ต่างออกไปจากนั้น คนอีสานส่วนใหญ่ย้ายออกมาเป็นแรงงานตามแหล่งพื้นที่ทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะสร้างอาณาจักรทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคของตนเอง แนวคิดการพัฒนาอีสานมาพร้อมกับความยากจนที่รัฐส่วนกลางจัดหามาให้ พร้อมทั้งการล่มสลายลงของรูปแบบส.ส.แบบผู้แทน ที่ทำให้อีสานขาดความสามารถในการต่อรองกับรัฐส่วนกลางได้อย่างที่แล้วมา

เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนเวลาในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา จะพบว่าช่วงเวลาของการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานอีสานอพยพสามารถแนบกันได้สนิทกับช่วงของการหายไปของส.ส.อีสานแบบผู้แทนที่เน้นรักษาผลประโยชน์แบบอีสาน  กอปรกับแรงดึงของการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐไทยกับความสัมพันธ์ระหว่างทุนนิยมโลก(สหรัฐฯ)ในช่วงนั้นทำให้อุปสงค์แรงงานจากภาคอีสานต้องเดินทางออกจากพื้นที่ ไปอยู่ในแหล่งทุนเข้มข้น ทั้งกรุงเทพ และพื้นที่เศรษฐกิจใกล้เคียง ตลอดจนโลกใบใหญ่

คนอีสานถูกทำให้หมดอำนาจในการต่อรองไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่งกับโครงสร้างอำนาจรัฐส่วนกลาง ผู้ใช้แรงงานอีสานกลายเป็นปัจจัยผลิตถูกตีตรวนในฐานะทรัพยากรแรงงาน ความสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจ ขนาดความลึกและความกว้างของรูปแบบตลาดในอีสานจึงไม่เกิดขึ้น ทางออกเดียวในการเติบโตของอีสานก็คือการออกไปยังพื้นที่ที่มีอุปสงค์แรงงาน พร้อมทั้งภูมิภาคอีสานที่มีคำพ่วงที่สร้างขึ้นโดยอำนาจส่วนกลางอย่าง ยากจน ภัยคอมมิวนิสต์ ในช่วงแรกๆ หรือการดำเนินนโยบายไรซ์พรีเมี่ยมที่เป็นตัวเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศจากเกษตรกรรมสู่การเป็นอุตสาหกรรม ยิ่งบีบให้ชาวนาอีสานจำเป็นต้องออกจากภาคเกษตรกรรม แต่ปัญหาคือไม่มีภาคการผลิตอื่นใดรองรับคนอีสานในภูมิภาคของตนเองเลย

ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันในข้างต้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ‘บ้าน’ ของแรงงานอีสานที่ออกไปทำมาหากินในแหล่งทุนอื่นนั้นไกลออกไป การกลับบ้านจึงไม่ใช่ความหมายรูปธรรมแบบที่เลิกเรียน เลิกงานแล้วกลับบ้าน แลงมากะกิ่นเข่าแลงแล้วกะนอน มันไม่ใช่ความแบบนั้นอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นเรื่องยาก อย่างเก่งก็ทำได้ปีละหนสองหน

เมื่อการกลับบ้านกลายเป็นเรื่องโรแมนติก

เมื่อคิดถึงประเด็นที่แรงงานอีสานถูกทำให้สูญเสียอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจการเมืองเป็นระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเรื่องของสัญญะการกลับบ้านในฐานะตัวแทนของความโรแมนติก ตัวอย่างที่แล้วมาคงหนีไม่พ้นเทศกาลการกลับบ้านครั้งใหญ่ของชาวอีสานอย่างในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือช่วงที่เพิ่งผ่านมาก็วันหยุดยาว 4 วันในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันออกพรรษา

ผู้เขียนมองว่า การกลับบ้าน-ความโรแมนติก-เศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ นั้นมีความสัมพันธ์และเติมเต็มซึ่งกันและกัน

ในภาพกว้างการทำงานของระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ คือระเบียบเศรษฐกิจที่มีหัวใจในการลดกฎเกณฑ์ของรัฐเพื่อเน้นการแข่งขัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อทศวรรษ 80 นำโดยสองประเทศค่ายโลกเสรีอย่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา  และการแข่งขันภายใต้ระบบเศรษฐกิจนี้ มีผลกระทบต่อชีวิตของคนทั้งหมดในระดับที่เล็กลงมาของการแข่งขันของทุนขนาดใหญ่อย่างเสรีและสมบูรณ์แบบ ผลกระทบในระดับย่อยต่อสภาพชีวิตของแรงงานที่ทำงานเพื่อรับใช้ระบบเศรษฐกิจเช่นนี้คือ คุณภาพชีวิตที่หายไปจากการตัดลดสวัสดิการและความมั่นคงรูปแบบต่างๆในการดำเนินชีวิตเพื่อลดต้นทุนของบริษัทที่เน้นการลดค่าใช้จ่าย นอกจากการลดสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการทำงาน ยังมีความนิยมในการจ้างงานแบบรายวัน/รายชั่วโมง หรืองานประเภทฟรีแลนซ์ที่เกิดขึ้นอย่างมากในทศวรรษนี้ก็เพื่อผลักภาระและลดการเข้าเงื่อนไขที่บริษัทต้องรับผิดชอบแรงงานตามกฎหมายแรงงาน  แรงงานต้องแบกรับความเสี่ยง ใครแพ้คัดออกจากระบบ กอปรกับสวัสดิการของรัฐที่ไม่สมบูรณ์และถ้วนหน้า

ความรู้สึกหมดแรง หรือ โรคยอดนิยมที่หันไปทางไหนก็เจออย่างโรคซึมเศร้า นั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดขึ้นจากทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขาดการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ การผลักดันให้คนจำนวนมากต้องสู้ทั้งๆ ที่ไม่มีอาวุธใดๆ สู้มือเปล่าในตลาดแรงงานไทยแห่งนี้

“บ้าน” จึงกลายเป็นคำขนาดใหญ่ที่ใหญ่ขึ้นเมื่อแรงงานอีสานมีโอกาสจะได้กลับไปหาบ้านอีกครั้งในวันหยุด ทุกคนต่างตั้งหน้าคอยวันหยุดเพื่อที่จะได้กลับบ้านโดยไม่ต้องสูญเสียวันลา และวันทำงานไป เพราะอาจจะถูกหักเงินจากบริษัทได้้

อาการถวิลหาหรือหวนหาสภาพแวดล้อมในอดีต ในฐานะ safety nest จึงกลายเป็นเรื่องโรแมนติก และเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแรงงานอีสานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มประเทศที่ดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่เข้มข้น แม้แต่ประเทศใน OECD ที่พัฒนาแล้วอย่าง เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น ก็มักใช้แสดงออกถึงความถวิลหาสภาพความมั่นคงในชีวิตผ่านสัญญะต่างๆ ทั้งในละคร การ์ตูน แฟชั่นการแต่งกาย ฯลฯ

แต่อาการถวิลหาอดีตของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมักไม่ได้แสดงออกผ่านการกลับบ้าน เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วมีการกระจายพื้นที่ทางเศรษฐกิจและรายได้ค่อนข้างเท่าเทียมและเป็นธรรมและไม่ได้มีการกระจุกตัวและรวมศูนย์อำนาจไว้ที่เมืองเดียวแบบของประเทศไทย

ความโรแมนติกจากการกลับบ้านจึงกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างเดียวกัน แรงงานอีสานที่มีโอกาสได้กลับบ้านจึงยอมทุกเงื่อนไขที่เกิดขึ้น ในสภาพที่แย่ที่สุดอย่างการติดอยู่บ้านถนนหลายชม.ต่อวันเพียงเพื่อให้ได้กลับบ้าน และอยู่กับคนที่รัก  

แต่การกลับบ้านมันเป็นเรื่องของเรา ไม่ควรเป็นเรื่องที่ใครอื่นมาเป็นคนกำหนด  อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ผู้เขียนอยากเห็นคือ การไม่ยอมรับ ไม่ก้มหัวให้กับเงื่อนไขที่อำนาจส่วนกลางวางเอาไว้ ถ้าเรามีอำนาจต่อรองทั้งทางเศรษฐกิจการเมือง มันคงดีกว่าหรือเปล่าที่จะสามารถเรียกร้องให้บ้านของเราอยู่ใกล้ขึ้นจากที่ทำงาน มันจะดีกว่าหรือเปล่าที่สามารถเลือกที่ทำงานใกล้บ้านของเราได้

เราละทิ้งความโรแมนติกได้หรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพ่อแม่พี่น้องชาวอีสานทุกคน อยู่กับความโรแมนติกแบบนี้มาหลายทศวรรษเกินไป จนมันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เรื่องเหล่านี้โยนคำถามกลับมาที่ผู้เขียนว่า จะทำยังไงให้การกลับบ้านเป็นเรื่องของเราทุกคน เป็นเรื่องที่พ่อแม่พี่น้องชาวอีสานมีอำนาจกำหนด มีทางเลือกทำงานที่บ้านของเรา

สิ่งที่ผู้เขียนสามารถทำได้ในบทความนี้ คือการนำเสนอประเด็นที่ทุกคนมองข้าม และคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ ‘มันเฮ็ดอีหยังบ่ได่’  แต่จริงๆ มัน ‘เฮ็ดได่’ และ ‘เปลี่ยนได่คือกัน’

ระหว่างที่รอให้การเมืองท้องถิ่นค่อยๆ สถาปนาความแข็งแรงในตัวมัน สิ่งที่ทำได้ก็คือ การทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า เพื่อให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ เพื่อที่ว่าให้เราไม่เชื่อว่ามันถูกต้อง มันเป็นเรื่องที่ผิดที่ศูนย์กลางทางอำนาจและเศรษฐกิจไปกระจุกตัวอยู่ที่เดียว และความเจริญและแสงสีไปกองอยู่ที่เดียว

ถ้าเราต้องละทิ้งความโรแมนติกที่เกิดขึ้นแค่ครั้งสองครั้งต่อปี เพื่อสร้างความโรแมนติกที่เกิดขึ้นได้ในทุกวันระหว่างทางกลับบ้านของเรา และ เกิดขึ้นที่บ้านเรา คงจะเป็นภาพของความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของอีสานและเป็นโจทย์แห่งอนาคตสำหรับคนอีสานทุกคน

image_pdfimage_print