โดย ภานุภพ ยุตกิจ

นายศักดา กาญจนเสน (เสื้อฟ้า) ผู้แทนกลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน รับฟังความเดือดร้อนของเกษตรกรภาคอีสาน 4 จังหวัดก่อนเข้าพบ รมว.ทรัพยากรฯ วันที่ 20 ส.ค. 2561
อุบลราชธานี – กลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน 4 จังหวัด เตรียมเข้าพบ รมว.ทรัพยากรฯ วันที่ 20 ส.ค. นี้ เพื่อทวงถามความชัดเจนการแก้ไขปัญหาหลังได้รับความเดือดร้อนจากการประกาศเขตป่าของรัฐ แต่เรื่องไม่คืบหน้าเพราะยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการ
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 นายศักดา กาญจนเสน ผู้แทนกลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน หรือ สกอ. เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ตนจะนำตัวแทนชาวบ้านจาก 4 จังหวัดภาคอีสาน ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา จ.อุบลราชธานี จ.สุรินทร์ และ จ.ชัยภูมิ เดินทางเข้าพบ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กรุงเทพฯ เพื่อทวงถามความชัดเจนในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่มีความล่าช้า และรัฐบาลไม่จริงใจต่อการแก้ไขปัญหา
นายศักดากล่าวอีกว่า ชาวบ้าน 4 จังหวัดภาคอีสานเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าของรัฐทับที่ดินทำกิน ทำให้ชาวบ้านกว่า 1,000 ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน อาทิ จ.นครราชสีมา ได้รับผลกระทบจากประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง, จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าห้วยยอดมน, จ.สุรินทร์ ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ และจ.ชัยภูมิ ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูแลนคา และเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตน
ผู้แทนกลุ่มสกอ.ผู้นี้เปิดเผยอีกว่า ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมัชชาเกษตร ตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 525/2560 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2560 จากนั้นคณะกรรมการมีมติในคราวประชุม เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นรองประธานกรรมการฯ ว่า ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ซึ่งหลังจากการประชุมตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2561 ผ่านมาถึงเดือนสิงหาคม 2561 เป็นเวลากว่า 3 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ตนจึงได้ติดตามไปที่ผู้อำนวยการสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ ทราบว่าคณะกรรมการ (ชุดใหญ่) ไม่สามารถแต่งตั้งได้ เนื่องจากการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานอนุกรรมการแต่ละจังหวัด จะต้องลงนามแต่งตั้งโดยปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เท่านั้น
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมัชชาเกษตรกร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นคำสั่งตามหมวดที่ 1 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และในคำสั่งที่ 525/2560 นี้ ระบุอำนาจหน้าที่ไว้ชัดเจน ในข้อ 2.4 ว่ามีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น การแต่งตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจึงสามารถทำได้โดยการลงนามของประธานคณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมัชชาเกษตรกรได้ โดยไม่ต้องรอให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ลงนาม
ภานุภพ ยุตกิจ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560