ขอนแก่น – เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการย้าย บขส. ขอนแก่น ไม่เห็นด้วยเทศบาลนครขอนแก่นนำพื้นที่ บขส.แห่งที่ 1 ไปทำเป็นตลาดนัด เผยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างการตัดสินคดีปกครอง ด้านผู้ฟ้องร้องคดีชี้ หากศาลตัดสินให้กลับมาใช้ บขส.แห่งที่ 1 ตามเดิม อาจเกิดความขัดแย้งรอบใหม่
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช. อีสาน) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตัวแทนประชาชนและผู้ประกอบการเดินรถโดยสารสาธารณะกว่า 30 คน ร่วมกันแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยต่อกรณีที่เทศบาลนครขอนแก่นมีแผนพัฒนาพื้นที่ บขส.แห่งที่ 1 ให้เป็นตลาดนัด บขส. (ชั่วคราว) จำนวน 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกลางเมืองขอนแก่น ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นมีแผนเริ่มดำเนินการปลายเดือนตุลาคม ปี 2561
โดยกลุ่มประชาชนดังกล่าวเป็นตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการย้ายบขส.3 ภายหลังการประกาศของกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดให้รถโดยสารประจำทางเข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่นแห่งที่ 3 (บขส.3) เพียงแห่งเดียว ลงวันที่ 21 ส.ค. 2558 ที่มีคำสั่งให้ย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดขอนแก่นแห่งที่ 1 (บขส.1) ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น ไปใช้ บขส. แห่งที่ 3 บริเวณถนนวงแหวนรอบเมืองด้านทิศตะวันตก (เลี่ยงเมือง) ต.เมืองเก่า อ.เมืองขอนแก่น เพียงสถานีเดียว ซึ่งบขส.แห่งที่ 3 ห่างจากตัวเมืองกว่า 10 กิโลเมตร

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2561 ที่สำนักงาน กป.อพช. อีสาน เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการย้าย บขส.ขอนแก่น ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยที่เทศบาลนครขอนแก่นจะนำพื้นที่ บขส.แห่งที่ 1 ไปทำเป็นตลาดนัดกลางเมือง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่กำลังพิจารณาคดีความปกครองอยู่ในศาลปกครองสูงสุด
ทั้งนี้ เหตุผลที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากพื้นที่ บขส.แห่งที่ 1 ยังมีคดีปกครองระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน กรณีประชาชนผู้เดือดร้อนจากประกาศกรมการขนส่งทางบก ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองขอนแก่นต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน ปี 2560 รวมถึงยื่นขอให้ศาลปกครองสูงสุดคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีการพิพากษาคดี กรณีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ปี 2560 ศาลปกครองขอนแก่นพิพากษาว่าประกาศของกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดให้รถโดยสารประจำทางเข้าใช้ บขส.แห่งที่ 3 เพียงแห่งเดียวชอบด้วยกฎหมาย และขอให้รถโดยสารประจำทางเข้าใช้ บขส.แห่งที่ 3 เพียงแห่งเดียว ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป
เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบฯ เห็นว่า การยกเลิกใช้ บขส.แห่งที่ 1 ในตัวเมือง แล้วย้ายไปใช้บริการ บขส.แห่งที่ 3 ที่ตั้งอยู่นอกเมืองเพียงแห่งเดียวนั้น สร้างผลกระทบให้กับประชาชนที่ต้องการใช้รถโดยสารสาธารณะเข้าในเมืองขอนแก่นเพื่อทำงานและเรียนหนังสือ เพราะผู้โดยสารต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากการต้องนั่งรถ 2 ต่อ รวมถึงต้องใช้เวลาในการเดินทางเข้าเมืองเพิ่มขึ้น จึงเสนอให้มีการเปิดใช้ บขส. ทั้ง 2 แห่งพร้อมกัน

นายสวาท อุปฮาด ผู้ได้รับผลกระทบจากการย้าย บขส.แห่งที่ 1 (คนถือไมโครโฟน) กล่าวว่า เทศบาลนครขอนแก่นควรชะลอโครงการตลาดนัดในพื้นที่ บขส. แห่งที่ 1 ไว้ก่อน และขอให้รอฟังคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดก่อน
นายสวาท อุปฮาด ประชาชนบ้านโนนหนองลาด ต.บ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ผู้ได้รับผลกระทบจากการย้าย บขส.แห่งที่ 1 และเป็นหนึ่งในผู้ฟ้องคดีปกครองต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางบกและพวกรวม 4 คน ที่ออกประกาศกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรณีที่เทศบาลนครขอนแก่นจะนำพื้นที่ บขส.แห่งที่ 1 พัฒนาเป็นตลาดนัดนั้น ตนเห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวยังมีความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นพื้นที่ที่มีคดีในศาลปกครอง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด การนำพื้นที่ไปทำตลาดนัดจึงยังไม่เหมาะสมในช่วงเวลานี้
“เทศบาลควรรอฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก่อนว่าจะให้ บขส.แห่งที่ 1 กลับมาเปิดใช้บริการอีกครั้งหรือไม่” นายสวาทกล่าว
นายสวาทกล่าวอีกว่า หากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กลับมาใช้ บขส.แห่งที่ 1 แต่พื้นที่ บขส.แห่งที่ 1 ถูกปรับปรุงเป็นตลาดนัดจะทำให้ไม่มีพื้นที่ให้รถโดยสารสาธารณะเข้ามาจอดให้บริการ รวมถึงประชาชนจะไม่สามารถใช้บริการ บขส.แห่งที่ 1 ได้อีก ซึ่งอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนครั้งใหม่ จึงขอให้เทศบาลนครขอนแก่นระงับโครงการตลาดนัดจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
ผู้ได้รับผลกระทบจากการย้าย บขส.ขอนแก่นผู้นี้ยังเรียกร้องให้เทศบาลนครขอนแก่นหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการย้าย บขส. ได้ศึกษาผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากการย้าย บขส. อย่างรอบด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะตั้งแต่มีคำสั่งย้าย บขส. ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาศึกษาผลกระทบที่ประชาชนได้รับอย่างจริงจังเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา อีกทั้งพื้นที่ บขส.แห่งที่ 1 นี้เป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งตามกฎหมายถูกประกาศให้ทำเป็น บขส. ซึ่งมอบให้เทศบาลนครขอนแก่นดูแล ดังนั้นถ้าพิจารณาตามกฎหมายแล้ว พื้นที่นี้ควรเป็น บขส.ไม่ใช่ตลาดนัด
“กรณีที่เทศบาลนครขอนแก่นจะดำเนินการพัฒนาพื้นที่ บขส. แห่งที่ 1 เป็นตลาดนัดนั้นก็ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหานี้ มิหน้ำซ้ำยังเป็นการเพิ่มปัญหาขึ้นมาอีก” นายสวาทกล่าว
นอกจากนี้ หากมองถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ แล้วออกประกาศ คสช. งดการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นกับกรณีย้าย บขส.แห่งที่ 1 และกรณีสร้างตลาดนัดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไรนั้น นายสวาทเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากเมื่อไม่มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น ก็ไม่มีตัวแทนประชาชนเข้ามารับฟังปัญหา แต่หากมีการเลือกตั้ง คนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งต้องนำกรณีดังกล่าวเสนอเป็นนโยบายเพื่อหาเสียงก่อน พร้อมระบุว่า คนในท้องถิ่นจะได้ประโยชน์อะไรจากการย้ายบขส. และการมีตลาดนัด หากคนในท้องถิ่นสนใจนโยบายดังกล่าวพวกเขาก็จะลงคะแนนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้น
“เมื่อไม่มีการเลือกตั้ง เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็ไม่จำเป็นต้องฟังความต้องการของคนในท้องถิ่น เพราะพวกเขามาจากมาจากแต่งตั้งของข้าราชการ” นายสวาทกล่าว

นายสถาพร เริงธรรม อาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น (คนถือไมโครโฟน) กล่าวว่า เทศบาลนครขอนแก่นควรยุติโครงการเปลี่ยนพื้นที่ บขส. แห่งที่ 1 เป็นตลาดนัดก่อน เพราะจะสร้างปัญหาใหม่เกิดขึ้น
นายสถาพร เริงธรรม อาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการย้าย บขส.ขอนแก่น มีความเห็นสอดคล้องกับนายสวาทโดยไม่ต้องการให้เทศบาลนครขอนแก่นสร้างตลาดนัดในพื้นที่ บขส.แห่งที่ 1 โดยกล่าวย้ำว่า “เทศบาลอย่าเพิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องตลาด ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนได้รับจากการย้าย บขส. ก่อน”
นายสถาพรกล่าวอีกว่า ระหว่างรอฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ตนอยากให้เทศบาลนครขอนแก่นหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการย้าย บขส. ตั้งคณะกรรมการร่วมทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่มีส่วนได้เสียจากการย้าย บขส. มาศึกษาผลกระทบและร่วมหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ถึงแม้โครงการย้าย บขส. เจ้าหน้าที่รัฐจะตัดสินใจบนหลักการประโยชน์สาธารณะ แต่หลังจากดำเนินโครงการแล้วมีคนบางส่วนเสียประโยชน์และได้รับผลกระทบจากโครงการ
“ผู้มีอำนาจตัดสินใจโครงการนี้ไม่ควรมองข้ามปัญหานี้ ควรหาทางแก้ไขปัญหาให้ทุกคนทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันก่อน เพราะนี่คือโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่มีคนเสียประโยชน์” นายสถาพรกล่าว
อาจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ผู้นี้กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าโครงการย้าย บขส. ออกไปนอกเมือง เป็นความปราถนาดีของหน่วยงานรัฐที่ต้องการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในตัวเมือง แต่วิธีการปฏิบัติน่าจะมีปัญหาและล้มเหลว เนื่องจากตนทราบจากผู้ใช้บริการ บขส. ผู้ประกอบการรถโดยสาร และพ่อค้าแม่ค้า ในบขส.แห่งที่ 1 ว่า พวกเขาไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการอย่างเพียงพอ และไม่ได้รับทราบถึงวิธีการปรับตัวและการปฏิบัติตัวหลังย้าย บขส. ตนจึงมองว่าความล้มเหลวของโครงการนี้คือการขาดการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์
นอกจากนี้ นายสถาพรกล่าวอีกว่า ถ้าย้อนกลับไปได้ รัฐหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในโครงการนี้ควรเปิดให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันวางแผนปรับตัวหลังการย้าย บขส. ซึ่งอาจจะไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนเช่นนี้
“หากผู้มีอำนาจพิจารณาหาวิธีแก้ปัญหานี้บนพื้นฐานความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว ควรจะเปิดใช้บริการ บขส. ทั้ง 2 แห่ง แล้วบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนในเมืองขอนแก่นใหม่ หาใช่ทิ้งปัญหาไว้ต่อไป” นายสถาพรกล่าวทิ้งท้าย