โดย บูรพา เล็กล้วนงาม
สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยมที่ประชาชนถูกสอนให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ ปัญหาหลายอย่างที่ไม่ควรเป็นปัญหา เช่น เรื่องสาโท จึงเป็นปัญหา และถ้าไม่แก้ไขเชิงโครงสร้างปัญหาก็จะยังคงอยู่ต่อไป
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 เว็บไซต์ข่าวสดลงข่าวว่า นางเสน่ห์ ป่วงรัมย์ อายุ 60 ปี แม่ค้าขายข้าวหมากบริเวณตลาดนัดคลองถมสี่แยกกระสัง อ.เมืองบุรีรัมย์ ถูกเจ้าหน้าที่สรรพสามิตจับกุมเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมขณะนั่งขายข้าวหมาก ในข้อหาจำหน่ายเหล้าสาโท พร้อมปรับเงินจำนวน 1 หมื่นบาท ทำให้ผู้ต้องหาเดือดร้อนเพราะต้องจ่ายเงินค่าปรับจำนวนมาก

นางเสน่ห์ ป่วงรัมย์ แม่ค้าขายข้าวหมาก ชาวบุรีรัมย์ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่สรรพสามิตจับข้อหาขายสาโท และปรับ 1 หมื่นบาท ภาพจากเว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์
ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างถึงความเหมาะสมต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
ก่อนที่วันต่อมา (16 ส.ค. 2561) เจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่บุรีรัมย์จะชี้แจงว่า สาเหตุที่ต้องจับกุมเป็นเพราะนางเสน่ห์ขายสาโทจำนวน 11 ถุงด้วย เจ้าหน้าที่ไม่ได้จับกุมเพราะขายข้าวหมาก พร้อมมีภาพสาโทบรรจุถุงในที่เกิดเหตุยืนยัน
เมื่อไปพลิกข้อกฎหมายดูก็พบว่า การผลิตและจำหน่ายสาโท หรือสุราแช่ ที่เกิดจากการหมักข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวจนเกิดแอลกอฮอล์ ต้องขออนุญาตกรมสรรพสามิตและเสียภาษี ดังนั้นการจับกุมผู้จำหน่ายสาโทจึงเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
แต่ในประเด็นนี้ถ้ามองให้กว้างออกไปจะพบว่า เรื่องราวบางเรื่องในสังคมไทยไม่สามารถใช้กฎหมายเป็นสิ่งตัดสินความถูกความผิดได้
คำถามก็คือ ทำไมถึงต้องมีกฎหมายควบคุมการผลิตสุราแช่พื้นบ้าน อาทิ สาโท ทำให้การผลิตและจำหน่ายของผู้ผลิตรายย่อยเป็นไปด้วยความยุ่งยาก จึงมีแต่ผู้ผลิตรายใหญ่เท่านั้นเป็นผู้ครองตลาด ทั้งที่แต่เดิมคนในภาคอีสานก็ผลิตและจำหน่ายสุรามาก่อน แต่เป็นเพราะการออกกฎหมายจากส่วนกลางใช่หรือไม่ที่ทำให้การผลิตสุราเป็นความผิด
สมควรหรือไม่ที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดเสรีการผลิตสุรา ประกอบด้วย สุรากลั่น สุราแช่ (ไวน์และเบียร์) เพื่อลดการผูกขาด ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการบริโภค และสามารถได้ซื้อสุราในราคาถูกลงเพราะไม่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงตามเดิม ซึ่งจะทำให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น
ส่วนภาษีสุราและภาษีเบียร์ ซึ่งเป็นภาษีสรรพสามิตที่แม้จะสร้างรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลการคลังระบุว่า ปี 2560 เก็บภาษีสุราได้ 61,021 ล้านบาท และเก็บภาษีเบียร์ได้ 83,945 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 114,966 ล้านบาท แต่ภาษีดังกล่าวคือภาษีทางอ้อมที่ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสามารถผลักภาระการเสียภาษีไปให้ผู้บริโภคได้ หรือให้ผู้บริโภคเป็นผู้เสียภาษีเองทั้งหมดโดยรวมภาษีเอาไว้ในราคาจำหน่ายสินค้า
ภาษีทางอ้อมยังทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อสังคม เนื่องจากผู้ที่มีรายได้มาก และผู้ที่มีรายได้น้อยเสียภาษีจำนวนเท่ากัน แต่เมื่อคิดจากรายรับของทั้งสองฝ่ายแล้ว ผู้ที่มีรายได้น้อยจะเสียภาษีในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้มีรายได้มาก
ตัวอย่างเช่น ผู้มีรายได้เดือนละ 15,000 บาท กับผู้มีรายได้เดือนละ 150,000 บาท หากต้องเสียภาษีสรรพสามิตเดือนละ 1,500 บาท ผู้มีรายได้เดือนละ 15,000 บาทจะเสียภาษีในสัดส่วนร้อยละ 10 ของรายได้ ขณะที่ผู้มีรายได้เดือนละ 150,000 บาทจะเสียภาษีเพียงสัดส่วนร้อยละ 1 ของรายได้
แต่ที่ผ่านมารัฐบาลมักไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรม และเมื่อรัฐบาลต้องการได้ภาษีเพิ่มขึ้นก็จะเก็บภาษีสรรพสามิตซึ่งเป็นภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคได้
การขึ้นภาษีล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน ปี 2560 โดยมีการขึ้นภาษียาสูบ ภาษีสุรา ภาษีเบียร์ และภาษีเครื่องดื่ม ซึ่งเท่ากับเป็นการเก็บเงินคนจนไปอุดหนุนรัฐบาล
จึงเห็นได้ว่าถ้าจะมองมุมกว้างแล้ว ข่าวเจ้าหน้าที่สรรพสามิตจับคนขายสาโทที่จ.บุรีรัมย์ จึงไม่ใช่แค่เรื่องการทำตามกฎหมาย หรือมองอีกมุมคือการรังแกคนจนหรือการเลือกปฏิบัติกับเฉพาะคนเล็กคนน้อยเท่านั้น
แต่ยังสะท้อนว่า กฎหมายสรรพสามิตเป็นกฎหมายที่ไม่สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม จึงสมควรได้รับการแก้ไขเพื่อลดการผูกขาดการผลิตและจำหน่ายสุราและสินค้าประเภทอื่นโดยผู้ผลิตรายใหญ่
ต่อจากนี้จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องมองปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ลึกไปถึงเรื่องเชิงโครงสร้างของสังคม เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจว่า โครงสร้างตรงส่วนไหนของสังคมไทยปราศจากความยุติธรรมอย่างไร แล้วเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจรัฐแก้ไขเปลี่ยนแปลง
แต่ก่อนที่จะไปถึงวันนั้น ประชาชนควรหรือไม่ที่จะรวมตัวกันเรียกร้องอำนาจของตัวเองในการเลือกผู้ปกครองประเทศกลับคืนมาเสียก่อน เพราะถ้าไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ก็ยากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เพราะผู้มีอำนาจรัฐไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน ดังเช่นผู้มีอำนาจรัฐที่มาจากการรัฐประหารในปัจจุบันที่เป็นตัวแทนของ “นายทุน ขุนทหาร และชนชั้นนำ”