ขอนแก่น – กรรมการเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน เรียกร้องระงับการก่อสร้างไบโอฮับ อ.บ้านไผ่ เนื่องจากพบกากอ้อยมีไม่เพียงพอ หวั่นโรงงานใช้ถ่านหินเกินกำหนดส่งผลต่อสุขภาพประชาชน ด้านตัวแทนเครือข่ายวัฒนธรรม หวั่นเกรงแก่งละว้าปนเปื้อนน้ำเสีย

นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ รองเลขาธิการ กป.อพช.อีสาน นายอกนิษฐ์ ป้องภัย กรรมการเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน นายประมวล ทิ่งเทพ ราษฎรบ้านหนองร้านหญ้า และนายเธียรชัย สุนทอง ตัวแทนเครือข่ายวัฒนธรรม (จากซ้ายไปขวา) ร่วมกันการแถลงข่าว “ผลกระทบจากอุตสาหกรรมอ้อย-พ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน ที่ กป.อพช.อีสาน จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2561

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน จ.ขอนแก่น มีการแถลงข่าวเรื่องผลกระทบจากอุตสาหกรรมอ้อย-พ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน เนื่องจากในภาคอีสานจะมีโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นในกว่า 10 จังหวัด จำนวน 27 โรงงาน และจะมีศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ ไบโอฮับ ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น  

ทั้งนี้ ไบโอฮับที่เตรียมก่อสร้างเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มูลค่า 1.33 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลสนับสนุนภาคเอกชนใช้นวัตกรรมไปทำวิจัยต่อยอดสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยมีพื้นที่นำร่อง 3 โครงการ ได้แก่ ภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จ.นครสวรรค์และกำแพงเพชร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ขณะนี้ แผนพัฒนาอุตสาหกรรม (2561-2570) อยู่ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

บริษัทน้ำตาลมิตรผลได้เตรียมที่ดินประมาณ 4,000 ไร่ ที่บริเวณอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ แต่พื้นที่บางส่วนยังติดกฎหมายผังเมืองไม่สามารถจัดตั้งโรงงานได้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังพิจารณาแก้ไขให้

การเพิ่มโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล และการมีศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ ไบโอฮับ เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี (พ.ศ.2558-2569)  โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี มีเป้าหมาย ดังนี้

เพิ่มพื้นที่ปลูก 5.54 ล้านไร่ จาก 10.53 ล้านไร่ ในปี 2558 เป็น 16.07 ล้านไร่ ในปี 2569 เพิ่มผลผลิตอ้อยโรงงาน 74.04 ล้านตันจาก 105.96 ล้านตัน ในปี 2558 เป็น 180 ล้านตัน ในปี 2569 เพิ่มผลผลิตน้ำตาล 9.02 ล้านต้นจาก 11.34 ล้านตันในปี 2558 เป็น 20.36 ล้านตัน ในปี 2569 เพิ่มการผลิตเอทานอล 2.88 ล้านลิตร/วันจาก 2.5 ล้านลิตร/วัน ในปี 2558 เป็น5.38 ล้านลิตร/วัน ในปี 2569 และเพิ่มการผลิตไฟฟ้า 2,458 เมกะวัตต์ จาก 1,542 เมกะวัตต์ ในปี 2558 เป็น 4,000 เมกะวัตต์ ในปี 2569

นายอกนิษฐ์ ป้องภัย กรรมการเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่า การเตรียมก่อสร้างศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ ไบโอฮับ ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และการจะมีโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงงานไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น 27 แห่ง จะทำให้เกิดปัญหาเนื่องจากโรงงานน้ำตาลใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเองแค่ 15 เมกะวัตต์ แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 60 เมกะวัตต์ขึ้นไป โดยไฟฟ้าส่วนที่เหลือจะขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมชีวภาพ คือ อุตสาหกรมที่ใช้พืชเกษตรเป็นวัตถุดิบในการผลิต อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ โดยนำร่องที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครสวรรค์ การผลิตจะทำการวิจัยแล้วต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตยีสต์ วิตามิน และอาหารเสริม เป็นต้น

นายอกนิษฐ์กล่าวอีกว่า หากมีโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น 27 แห่ง ก็ต้องขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 7 ล้านไร่เพื่อให้มีกากอ้อยเพียงพอต่อการป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีกำลังการผลิตรวม 1,800 เมกะวัตต์ แต่แผนของไบโอฮับจะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยเพียง 1.1 ล้านไร่ นั่นหมายความว่าจะมีกากอ้อยไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวล

“ผมคิดว่าปัญหาคือว่า กากอ้อยที่จะเอามาเผาเพื่อต้มน้ำเพื่อปั่นเป็นไฟฟ้าจะไม่พอ มันจะมีการแย่งชิงกัน” นายอกนิษฐ์กล่าว

นายอกนิษฐ์ ป้องภัย กรรมการเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน ขอให้ระงับการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน เนื่องจากหวั่นเกรงผลกระทบต่อประชาชน

กรรมการเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสานกล่าวอีกว่า ในเมื่อกากอ้อยมีไม่เพียงพอเพื่อรองรับโรงไฟฟ้าชีวมวลกระบวนการผลิตไฟฟ้าจึงจำเป็นต้องใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นพลังงาน โดยบริษัทที่ทำธุรกิจโรงงานน้ำตาล [ไม่เปิดเผยชื่อ] มีหุ้นส่วนในบริษัทที่นำเข้าถ่านหิน ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีการกระจายถ่านหินไปยังโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วภาคอีสานเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะที่ตามกฎหมายกำหนดให้โรงไฟฟ้าชีวมวลสามารถใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงได้ร้อยละ 25 แต่ตนไม่แน่ใจว่าจะมีการใช้ถ่านหินมากเกินกว่ากำหนดหรือไ

นายอกนิษฐ์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ประชาชนกังวลคือโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลจะสร้างฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ตามองไม่เห็นแต่จะส่งผลกระทบต่อทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ และจะมีโลหะหนักที่เกิดจากการเผาไหม้ เช่น ปรอทและแคดเมียม ซึ่งจะสะสมในพืชและสัตว์ เมื่อมนุษย์บริโภคพืชและสัตว์ดังกล่าวก็จะส่งผลเสียต่อร่างกาย อีกทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยก็มีปัญหา เพราะโรงงานที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนก็ยังเปิดได้ เช่น โรงงานแห่งหนึ่ง ที่อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น มีกลิ่นเหม็นและสร้างฝุ่นละออง แต่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม

“มันจะมีอะไรเป็นหลักประกันให้กับชาวบ้านได้ เพราะขนาดโรงงานที่ตั้งมา 20-30 ปีก็ยังแก้ไม่ได้” นายอกนิษฐ์กล่าว

ส่วนข้อเรียกร้องของเครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสานคือ หยุดและทบทวนการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล นายอกนิษฐ์เปิดเผยว่า ตนต้องการให้หารือกันว่าโรงงานสามารถแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อประชาชนได้หรือไม่ โรงานต้องมีคำตอบให้ประชาชน ขณะที่กติกาตามกฎหมายตนเห็นว่าไม่สามารถยึดถือได้ เช่น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ เนื่องจากโรงงานเป็นผู้จ้างบริษัทมาจัดทำอีไอเอ ดังนั้นบริษัทจึงต้องประเมินอีไอเอให้ผ่าน ส่วนรัฐบาลก็เอื้อประโยชน์ให้โรงงาน อาทิ การยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง และการให้โรงงานดำเนินโครงการก่อนแล้วค่อยทำอีไอเอในภายหลัง

นายเธียรชัย สุนทอง ตัวแทนเครือข่ายวัฒนธรรม กังวลว่า ไบโอฮับ ที่อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น จะส่งผลกระทบต่อโบราณสถานเมืองเพียและแก่งละว้า

นายเธียรชัย สุนทอง ตัวแทนเครือข่ายวัฒนธรรม ตำบลเมืองเพีย อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ต้องการให้หน่วยงานราชการให้ข้อมูลของไบโอฮับที่อำเภอบ้านไผ่แก่ประชาชนอย่างรอบด้าน รวมถึงต้องระบุถึงข้อเสียของไบโอฮับด้วย ตนมีความกังวลว่าการก่อสร้างไบโอฮับจะส่งกระทบต่อแหล่งโบราณสถาน “เมืองเพีย” เมืองโบราณยุคทวารวดี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีโบราณสถานกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณ และไบโอฮับยังอาจทำให้เกิดน้ำเสีย แล้วน้ำเสียไหลลงสู่แก่งละว้า ซึ่งเป็นแหล่งน้ำและแหล่งผลิตน้ำประปาของประชาชนใน 6 อำเภอในจังหวัดขอนแก่น

นายประมวล ทิ่งเทพ ราษฎรบ้านหนองร้านหญ้า ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ตนกังวลว่าหากไบโอฮับจะทำให้การสัญจรบนถนนแจ้งสนิทหนาแน่นขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางจราจรเพิ่มขึ้น    

image_pdfimage_print