โดย ดลวรรฒ สุนสุข (เรื่องและภาพ)

ป้ายประกาศพื้นที่ราชพัสดุทหารใช้ประโยชน์ บริเวณภูหินชาด-ซ่อฟ้า อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
หนองบัวลำภู – ชาวบ้านหนองบัวลำภูร้องผู้ว่าราชการจังหวัดถูกทหารมทบ.28 อ้างสิทธิในที่ดิน แล้วบอกให้ชาวบ้านเช่าที่ดินของตัวเอง โดยอ้างว่าเป็นเขตทหารและไม่รับฟังรายงานของกสม. เมื่อปี 2552 ขณะที่อดีตกรรมการกสม.ระบุ ทหารควรหยุดคุกคามชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ชาวบ้านตำบลหนองบัวและตำบลโนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูเพื่อขอความเป็นธรรม กรณีได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดระเบียบที่ดินและที่อยู่อาศัยของมณฑลทหารบกที่ 28 จังหวัดเลย (มทบ.28) และคณะ
โดยก่อนนั้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 เจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานราชการเข้าไปชี้แจ้งกับชาวบ้านว่าต้องเช่าที่ดินบริเวณบ้านภูพานทอง อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู โดยอ้างสิทธิ์ว่าเป็นพื้นที่ราชพัสดุทหาร และให้ชาวบ้านลงนามในสัญญาเช่า
เปิดปัญหาระลอกใหม่ ภายใต้การปกครองแบบทหาร
“ทหารและหน่วยงานราชการเข้ามาในพื้นที่ บอกกับชาวบ้านว่าให้ชาวบ้านลงชื่อเช่าที่ดินไร่ละ 20 บาทต่อปี ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวบ้าน ชาวบ้านก็งงว่าทหารมาอ้างสิทธิ์ได้อย่างไร” นายโชคไพศิฐ ศิริธานี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 บ้านภูพานทอง ต.หนองบัว อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู กล่าวกับเดอะอีสานเรคคอร์ดถึงเหตุผลของการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูเพื่อขอความเป็นธรรม พร้อมบอกอีกว่า
“เรื่องยังไม่สรุปว่าที่เป็นของทหารหรือไม่ ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) แสดงให้ชาวบ้านเห็น อีกทั้ง การเข้ามาในพื้นที่ ทหารเป็นเหมือนคนนำคณะเข้ามา ทั้งที่เป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านโดยตรง”
หนังสือขอความเป็นธรรมระบุว่า พันเอกสมหมาย บุษบา เสนาธิการ มทบ.28 จังหวัดเลย และคณะ ได้เข้ามาชี้แจงต่อชาวบ้านเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ว่า พื้นที่ในเขตหมู่บ้านภูพานทองและบริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับเขตทหาร โดยอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ราชพัสดุสงวนไว้ใช้ในราชการทหาร อยู่ในความรับผิดชอบของ มทบ.28


ร้านค้าชุมชนวิถีคนเทิงภู จำหน่ายสินค้าเกษตรและงานหัตกรรม ถูกขู่ว่าหากไม่ยอมเช่าที่ดินจะไม่ได้รับใบรับรองสินค้าเกษตรจากหน่วยงานรัฐ
ทำให้ชาวบ้านผู้ถือครองพื้นที่ต้องเข้าร่วมโครงการราชพัสดุ คือ
1.เช่าพื้นที่ ตามมติการจัดระเบียบที่ดิน 2.หนึ่งครอบครัวมีสิทธิ์เช่าที่ดินได้ไม่เกิน 15 ไร่ 3.ต้องทำสัญญาเช่าตามระยะเวลาสัญญาเช่าและต่ออายุสัญญาเช่าปีละ 20 บาท/ไร่ และ 4.หากไม่ยินยอมเข้าร่วมโครงการราชพัสดุ สินค้าและผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนจะไม่ได้การรับรองจากหน่วยงานราชการ ทั้งจะไม่ได้รับการส่งเสริมสงเคราะห์ในการประกอบอาชีพ
ชาวบ้านผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวกับเดอะอีสานเรคคอร์ดว่า ทหารเข้ามาในพื้นที่ด้วยท่าทีแข็งกร้าว พูดข่มขู่ไม่เป็นมิตร จะบังคับให้ชาวบ้านเช่าที่ดินอย่างเดียว ทั้งที่รายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ระบุแล้วว่า ชาวบ้านเข้ามาอยู่ในพื้นที่ก่อนที่ทหารจะอ้างสิทธิ์ว่าเป็นพื้นที่ซ้อมรบ
รายงานกสม.ระบุชาวบ้านอยู่ก่อนมีเขตทหาร
รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องสิทธิในที่ดิน กรณีการอ้างเขตทหารทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ที่ 239 /2552 เมื่อวัน 16 กันยายน 2552 มีรายละเอียดดังนี้
ตามการแจ้งเอกสารของฝ่ายทหารระบุว่า ที่ดินราชพัสดุแปลงฝึกรบในป่า (ที่พิพาท) มีทะเบียนที่ราชพัสดุหมายเลย นภ.576 อยู่ระหว่างการดำเนินการออก นสล. (หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง) ของกรมที่ดิน เนื้อที่ 39,329 กว่าไร่ อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานี 20,000 ไร่ และจังหวัดหนองบัวลำภู 19,329 ไร่ ชาวบ้านหนองบัวลำภูที่ถือครองทำประโยชน์ 806 ราย/แปลง เนื้อที่ 12,437 ไร่ จำแนกเป็นบ้านภูพานทอง 277 ราย บ้านภูพานคำ 352 ราย บ้านอ้างบูรพา 53 ราย และบ้านโนนทัน 124 ราย
โดยที่ทหารอ้างมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2509 กำหนดให้เป็นพื้นที่จำแนกให้เป็นสนามฝึกรบในป่าของมทบ.24 อุดรธานี (หน่วยทหารที่รับผิดชอบขณะนั้น ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของมทบ.28 จังหวัดเลย)
ขณะที่ฝ่ายชาวบ้านผู้ร้องอ้างว่า ได้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดินมาตั้งแต่ปี 2495 ก่อนมีการจำแนกที่ดินในปี 2505 ปัจจุบันที่ดินดังกล่าวเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการจัดตั้งถูกต้อง มีโรงเรียน วัด ไฟฟ้า และชาวบ้านตำบลโนนทันจำนวนไม่น้อยมีเอกสารสิทธิ์ อาทิ น.ค.3 นส.3 นส.3 ก และหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่
มติคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า ชุดที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2552 ระบุว่า ชาวบ้านได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่พิพาท ก่อนการจำแนกที่ดิน ปี 2505 ที่ดินที่พิพาทไม่ใช่ที่ราชพัสดุ แต่ยังเป็นที่ป่า ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2509 และการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ มทบ.24 และ กบร.ส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นไปด้วยความล่าช้า และไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อชาวบ้าน
คณะอนุกรรมการฯ กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้
ให้ มทบ.24 ยุติการใช้พื้นที่ที่มีราษฎรครอบครองทำประโยชน์อยู่ทั้งหมดในทันทีที่ได้รับรายงานฉบับนี้
ให้รัฐบาลกำกับสั่งการให้กรมป่าไม้กันแนวเขตในพื้นที่พิพาท เพื่อส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นำไปจัดสรรให้ประชาชน และนำพื้นที่บางส่วนให้ชุมชนช่วยกันดูแลเป็นพื้นที่ป่าชุมชนภายใน 120 วัน
ให้กรมธนารักษ์ส่งมอบที่ดินราชพัสดุ นภ.476 บริเวณหมู่บ้านภูพานทองให้ ส.ป.ก. เพื่อดำเนินการปฎิรูปที่ดินตาม พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดิน ภายใน 60 วัน
และให้มทบ.24 เสนอขอใช้พื้นที่ต่อกรมป่าไม้ให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 60 วัน
รายงานอนุกรรมมาธิการกสม. ระบุอีกว่า ดังนั้น มติ ค.ร.ม. ปี 2509 ที่อ้างการจำแนกที่ดิน ปี 2505 ตามข้อมูลดังกล่าว ที่ดินที่พิพาทจึงไม่ใช่ที่ราชพัสดุแต่ยังเป็นพื้นที่ป่า
ทหาร-ธนารักษ์ ไม่ยอมรับรายงานกสม.เดินหน้าทวงคืนพื้นที่
หลังจากโอนพื้นที่เขตฝึกทหารหนองบัวลำภูจากความรับผิดชอบของ มทบ.24 จังหวัดอุดรธานี เป็นของมทบ.28 จังหวัดเลย ทหารได้เข้ามาทวงคืนพื้นที่โดยอ้างว่าเป็นเขตราชพัสดุทหาร โดยการนำของมือปราบนายทุนทวงคืนผืนป่า

ประกาศมาตราการทวงคืนพื้นที่ของ มทบ.28 จังหวัดเลย ที่มา http://www.isoc.go.th/?p=4280
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 พันเอกสมหมาย บุษบา นำกำลังทหารและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาในพื้นที่พิพาทระหว่างทหารกับชาวบ้าน บริเวณเทือกเขาภูพาน โดยการใช้แผนที่ทางอากาศทหารและมติ ครม.ปี 2509 ที่ระบุว่า เป็นเขตพื้นที่ของทหารใช้ประโยชน์ และไม่ยอมรับข้อเสนอแนะในรายงานของกสม. เมื่อปี 2552 ที่บอกว่าพื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่ป่าไม้อยู่
“ถามว่า คณะกรรมการสิทธิฯ เขามีสิทธิอะไรเหนือประเทศ เหนือกฎหมายไหม คณะกรรมการสิทธิฯ ต้องทำให้มันถูกกฎหมาย พาราษฎรไปทำให้ถูกกฎหมาย มันมีทางกฎหมายใดที่จะพาราษฎรไปได้ นี่คือ (สิ่งที่ทหารทำ)ช่องทางที่กฎหมายกำหนดวางกรอบให้ข้าราชการเขาเดินแบบนี้” พันเอกสมหมายกล่าวถึงการไม่ยอมทำตามรายงานของกสม.
“ส่วนเรื่องที่ว่าทหารอ้างสิทธิเหนือประชาชน ทหารเปิดโอกาสให้ประชาชนหาหลักฐานเอกสาร ที่ยืนยันว่าเข้ามาอยู่ก่อนมีเขตทหาร ก็ว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมาย ไม่ได้ปิดกั้นการแสดงสิทธิแต่อย่างใด ถ้ามีใบแสดงสิทธิ์ เช่น นส.3 สค.1 ก่อนมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2509 ก็ทำประโยชน์ได้ต่อไป ไม่ใช่อ้างปากเปล่า”
พันเอกสมหมายกล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ตั้งแต่แรกเนื่องจากเป็นพื้นที่ภูเขา ส่วนชาวบ้านซื้อขายเปลี่ยนไปที่ดินปากเปล่ากันไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ตกไปเป็นของนายทุน และการเรียกร้องอาจจะมีนายทุนอยู่เบื้องหลัง
คำกล่าวของพันเอกสมหมายสอดคล้องกับกรมธนารักษ์ที่เป็นเจ้าของพื้นราชพัสดุบริเวณพื้นที่พิพาท ที่ยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตราชพัสดุที่อยู่ในการใช้ประโยชน์ของทหาร
นายสมชาย จิรัตติกานนท์ ธนารักษ์จังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยกับเดอะอีสานเรคคอร์ดว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ราชพัสดุตามกฏหมาย แต่พื้นที่บางส่วนยังไม่ถูกขึ้นทะเบียนเพราะมีพื้นที่จำนวนมากถึงกว่าแสนไร่ ส่วนเขตยิงปืนทราบระยะ 3 หมื่นกว่าไร่ ยังไม่แบ่งเขตแดนกันแน่ชัดเพราะว่าแต่เดิมเป็นเขตของจังหวัดอุดรธานี (จังหวัดหนองบัวลำภูแยกตัวออกมาจากจังหวัดอุดรธานี) ทำให้ยังไม่ได้แบ่งแยกเขตที่ชัดเจน แต่พื้นที่พิพาทดังกล่าวต้องยึดตามเอกสาร และแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ตาม มติ ครม. ปี 2509
ส่วนเหตุที่ยังไม่มีเอกสาร นสล. ธนารักษ์หนองบัวลำภูกล่าวว่า ที่ราชพัสดุไม่จำเป็นต้องเกิดจากนสล. ที่ราชพัสดุจะเกิดจากการครอบครองของส่วนราชการหรือเกิดจากการประกาศก็ได้ แต่ช่วงหลังระเบียบกรมธนารักษ์บังคับให้ต้องนำที่ดินราชพัสดุไปออก นสล. แต่พื้นที่บางส่วนยังไม่ได้ออกเอกสาร นสล.
“พื้นที่ดังกล่าวต้องยึดตามผู้ใช้ประโยชน์คือทหาร ถ้าทหารจะให้ชาวบ้านเช่าใช้ก็ต้องทำตาม” ธนารักษ์จังหวัดหนองบัวลำภูกล่าวและว่า ในพื้นที่มีคนยอมรับการเช่าที่ดินด้วย ไม่ใช่มีแต่คนคัดค้าน
ทำไมไม่คัดค้านทั้งหมู่บ้าน ถ้าอยากคัดค้านต้องหาเอกสารมายืนยันคัดค้านกับเอกสารฝั่งราชการ
ชาวบ้านยืนยันอยู่ก่อนมีเขตทหาร
พื้นที่พิพาทกว่า 2 หมื่นไร่ในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู บางส่วนยังไม่มีการออกทะเบียนราชพัสดุ บางส่วนอยู่ระหว่างการออก นสล.
เดอะอีสานเรคคอร์ดลงพื้นที่ หมู่ 2 บ้านภูพานทอง มีที่อยู่อาศัยกว่า 300 หลังคาเรือน ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ (แปลงที่ นภ.576) จำนวน 2,532 ไร่ สภาพพื้นที่ตั้งอยู่บริเวณป่าภูพานน้อย บนเทือกเขาภูพาน ติดกับสนามยิงปืนทราบระยะ (นสล.นภ.ที่ 31660) มีถนนเส้น 210 (อุดรธานี-เลย) กั้นอยู่

นายพุฒ แคนติ (คนกลาง) และชาวบ้านบ้านภูพานทอง เล่าความเป็นมาของหมู่บ้านและการต่อสู้เพื่อที่ดินของพวกเขา
นายพุฒ แคนติ ชาวบ้านวัย 72 ปี เล่าถึงความเป็นมาของพื้นที่ว่า เดิมทีเรียกพื้นที่นี้ว่า “บ้านเตาถ่าน” มีคนเผาถ่านไม้ขาย ตนเข้ามาอยู่จึงนำต้นมะขามหวานมาปลูก หลังจากนั้นก็ได้ถามกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และนายอำเภอ ก็ได้คำตอบว่าถ้าอยู่ได้อยู่ไป ตนเลยอยู่ในพื้นที่เรื่อยมา ถ้าจำไม่ผิดก็ตั้งแต่ปี 2507 ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ชาวบ้านอยู่มานานมีการออกทะเบียนบ้านเป็นหมู่บ้านตามกฎหมาย เมื่อปี 2524 มีวัด โรงเรียน และไฟฟ้า มีทุกอย่างครบ
นายพุฒกล่าวอีกว่า ชาวบ้านไม่เคยทราบว่ามีการอ้างว่าเป็นเขตทหารตั้งแต่เมื่อไหร่ จนถึงปี 2535 ชาวบ้านรู้ว่ามีขยายเขตเป็นสนามยิงปืนแห่งใหม่ จากอีกฝั่งถนนข้ามเข้ามาในหมู่บ้าน และมีการนำหลักเขตแดนมาปัก โดยที่ชาวบ้านไม่ทราบว่าเป็นหลักเขตอะไร ครั้งนั้นตนได้รับจ้างเป็นคนงานแบกเสาด้วย ได้ค่าจ้างวันละ 30 บาท ส่วนเอกสารที่มีตอนนี้ คือ ใบ ภ.บ.ท.5 หรือ เอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภาษีดอกหญ้า) เมื่อประมาณปี 2519 – 2520 [ใบภ.ท.บ.5 ไม่ใช่เอกสารสิทธิในที่ดินตามกฎหมายที่ดิน-ผู้เขียน]

นายโชคไพศิฐ ศิริธานี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 บ้านภูพานทอง ต.หนองบัว บอกถึงปัญหาระลอกใหม่ในพื้นที่ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับทหาร
นายโชคไพศิฐ ศิริธานี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 บ้านภูพานทอง กล่าวว่า ชาวบ้านมี ใบภ.ท.บ.5 อยู่ ถึงแม้ว่าราชการจะอ้าง มติ ครม. ปี 2509 ว่าเป็นเขตพื้นที่ซ้อมรบ แต่ทำไมยังให้มีการตั้งหมู่บ้านและโรงเรียน โดยที่หลักแดนสำรวจเพิ่งมาทำเมื่อปี 2535 แสดงว่าทหารเข้ามาอยู่หลังชาวบ้านในพื้นที่
ส่วนข้อเรียกร้องของชาวบ้าน นายพุฒและชาวบ้านต้องการเอกสารยืนยันสิทธิในที่ดิน เช่น ส.ป.ก. สทก. หรือ โฉนดชุมชน ที่สามารถยืนยันสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยและส่งต่อถึงลูกหลานได้ เนื่องจากการให้เช่าที่ของทางราชการไม่มีสามารถยืนยันว่าทางราชการจะไม่ยึดที่ดินคืน
ปัญหาไม่จบ เพราะทหารไม่ยอมรับรายงานกสม.
นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 1 (พ.ศ. 2544-2552) หนึ่งในคณะกรรมการลงพื้นที่และติดตามพื้นที่พิพาทดังกล่าว เมื่อปี 2552 เปิดเผยว่า พื้นที่ดังกล่าวยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าป่าไม้โอนคืนให้ทหารและกรมธนารักษ์แล้วหรือไม่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้เคยเข้ามารางวัดพื้นที่รายแปลงแล้ว มีข้อมูลชาวบ้านครบแล้ว แต่ไม่ดำเนินการต่อ เช่น ไม่ประกาศออกโฉนด ส.ป.ก. หรือ สทก. ให้ชาวบ้าน ทำให้เรื่องนี้ยังไม่จบ
นางสุนีกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ลงพื้นที่ สรุปรายงานออกมาว่า ยังเป็นพื้นที่ของป่าไม้จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาตามรายงานคณะกรรมการสิทธิฯ แต่ต้องมายุติเพราะเกิดการรัฐประหาร ปี 2557 โดยยังมีกรณีพิพาทพื้นที่ทับซ้อนระหว่างชาวบ้านกับทหาร
ด้านแนวทางแก้ปัญหา นางสุนีกล่าวว่า จากรายงานคณะกรรมการสิทธิฯ มีหลักฐานว่าทหารไม่มีอำนาจในที่ดินตรงนี้ ถ้าทหารอ้างว่าได้ขอที่ดินจากกรมป่าไม้แล้ว ทหารต้องมาชี้แจงเพราะว่าขั้นตอนการใช้พื้นที่ต้องมีการยอมรับจากชาวบ้านด้วย ถ้าจะแก้ไขปัญหาต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ป่าไม้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหา
“ไม่ใช่ให้ทหารคุกคามชาวบ้านจนเกิดความหวาดกลัวและไม่มีความมั่นคงในที่ดินอยู่อาศัยทำกิน” นางสุนีกล่าวทิ้งท้าย
ดลวรรฒ สมสุข เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ดประจำปี 2559