โดย นิตยา แสนบุตร

“ทำบุญเมื่อวาน ทำทานวันนี้ และไม่ลืมบริจาคสิ่งของให้พี่น้องชาวลาว บ้านพี่เมืองน้องเราของเรา”

“วันนี้ป้ามีความสุขมากที่ได้ทำบุญถวายเทียนพรรษา และได้ร่วมบริจาคสิ่งของที่จำเป็นแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมชาวลาว อนุโมทนา สาธุ นำกันจ้า”

หนึ่งเดือนผ่านมาแล้วที่หลังเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ความรู้สึกที่หลงเหลืออยู่คืออะไร?

จากอารมณ์สะเทือนใจ เสียใจกับภัยพิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้น แล้วก็ซึ้งใจกับธารน้ำใจที่หลั่งไหลมหาศาล กลับกลายเป็นความเซ็ง และเริ่มปะปนไปกับความรู้สึกปลงๆ จนกลายเป็นอารมณ์ที่เอิ้นว่า “เซ็งเป็ด!”

อารมณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดหวังเพราะกระแส “ทำบุญ” โดย “บ้านพี่” สู่ “เมืองน้อง” (ความเป็น “พี่” ของคนไทยที่คนลาวบางคนรู้สึกว่าถูกยัดเยียดให้คนลาวในฐานะ “น้อง”)

สังคมไทยเป็นสังคมมักทำบุญ ด้วยความหวังว่ามุมมองต่อไปนี้สินำไปสู่การตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบในการแก้ปัญหาเชิงระบบ เฮาสิได้บ่ต้องมาถ่าให้โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง แล้วค่อยมาบริจาคสิ่งของ ทำบุญด้วยเงินบริจาค และรู้สึกว่าจิตใจเฮาเองสูงส่งขึ้นในทันที!!!

บ่ได้ต่อต้าน “การให้” “การบริจาค” แต่อยากให้การให้และการบริจาคเกิดขึ้นจากจิตสำนึกร่วมรับผิดชอบของคนไทยและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทย บ่แมนแค่จิตใต้สำนึกของคน “ใจบุญ” “โลกสวย” “ฉันรวยและมีจะแดก และมีจะแจก” หรือความเชื่อแบบหลงตัวเองคือ “ไทยเป็นพี่” และเป็น “ฮีโร่”

การบริจาคอย่างเดียวสิบ่ช่วยอีหยังเลยในอนาคตระยะยาว บางทีมันกลับไปตอกย้ำปัญหาทางโครงสร้าง ปัญหาระดับรากเหง้าด้วยซ้ำไป การสละทุนทรัพย์ควรเกิดขึ้นด้วยจิตสำนึกต่อความรับผิดชอบเพราะเฮาต่างมีส่วนในการสร้างปัญหาบ่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หนึ่ง: “ทำบุญ” แล้วผู้ให้สูงส่ง ผู้รับวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้

ปฏิกิริยาการตอบรับของคนไทยด้วยการ “ทำบุญ” มันสะท้อนถึงการจัดลำดับสูงต่ำอย่างชัดเจนระหว่าง “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ผ่านการที่คนไทย “เลือก” ทำบุญช่วยเหลือคนลาว ความเชื่อที่ฝังลึกของคนไทยว่ามีศักยภาพหลายกว่ามาตลอด บางคนแฮ่งน่าตลกไปอีก คือว่ามัน “สะดวก” เพราะไหนๆ ก็เป็นเทศกาลทำบุญก็ทำบุญให้คนลาวไปนำเลย ดังสิเห็นได้จากข้อความในเฟสบุ๊คของบางคน เช่น

“บริจาคเสื้อผ้าให้พี่น้อง สปป.ลาว (ไกล้วันเกิดทำบุญไปในตัวเลย)

“บริจาคของให้เพื่อนบ้านชาวสปป. ลาว ต่อด้วยทำบุญถวายสังฆทานไหว้พระขอพรค่ะ”

“ทำบุญเสร็จแล้ว บ่ายนี้จะหาเสื้อผ้าไปบริจาคพี่น้องประเทศลาวกันค่ะ สวยที่หน้าก็ไร้ประโยชน์ ใจเราต้องสวยด้วย #ครูมดผู้ชอบทำบุญ”

มันสิสะดวกและดีงามอีหยังปานนั้น ตกลงว่าหายนะและชะตากรรมอันเลวร้ายของคนลาว กลายเป็นโอกาสอันดีงามของคนไทยบางคนในการยกระดับจิตใจเจ้าของ!!!! โอ้ยน้อ!!!

เมื่อ “ทำบุญ” ด้วยจิตสำนึกว่าผลตอบแทนต้องสวยงาม จึงบ่คาดหวังว่าสิได้รับปฏิกิริยาตอบรับด้านอื่นเลย โดยเฉพาะการถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถาม

เห็นได้จากกรณีที่ “เน็ตไอดอล” ลาว 2 คน (คำแสง คำพูวัน และ บุ้งกี่ พิลาวง) และออกมาวิพากษ์วิจารณ์คนไทยอย่างหนักในกรณีที่บริจาคสิ่งของบางชิ้นที่บ่สมควร เช่น กางเกงชั้นในขาด แต่สุดท้ายก็ต้องออกมาขอโทษเพราะโดนกระแสตอบกลับของคนไทยบางคนที่กดดันและโต้ตอบรุนแรง

บางคนดูถูกว่าทั้ง 2 คนไร้สมอง อีหยังที่ใช้บ่ได้ก็ควรสิทิ้ง สิออกมาเว่าแบบบ่มีมารยาท มาด่าคนไทยเฮ็ดหยัง (ซึ่งสะท้อนทัศนคติที่ว่าก็แหงหล่ะ ไทยว่าลาวได้ แต่ลาวจะมาว่าไทยได้ไง ที่ให้ ที่ทำบุญไปก็ดีถมไปแล้ว…) ยกตัวอย่างจาก เว็บไซต์กระปุก ซึ่งรายงานว่า เฟสบุ๊ก มิด ครับผม หนุ่มไทยได้โพสท์กลับโต้ตอบโดยมีข้อความว่า

“จะทำอะไรก็คิดบ้าง คนบริจาคเขาให้มาด้วยใจ ถ้าเขาเอาของขาด ๆ มาให้มึ- ทั้งกระสอบเนี่ย ค่อยว่าไปอย่าง ของดีมีเป็นร้อย ๆ ชิ้น นี่แค่ของเสียชิ้นเดียว มึ-จะเอามาทำคลิปเพื่ออะไร บ่นด่าว่าไอ้นั่นขาดไอ้นี่ขาด ทำไมมึ-ไม่ขอบคุณข้าวของบริจาคที่ได้รับมา เอาของดี ๆ มาหยิบยื่นสิ”

ซึ่งคนลาวหลายคนต้องออกมาคอมเมนท์ด้านล่างของรายงานนี้ขอโทษแทนไอดอล และขอบคุณคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ

ส่วนคนอ่านฝั่งไทยเองบางคนก็คอมเมนท์กลับไปยกย่องหนุ่มไทยว่า:

Daow Kanjana: “หน้าพี่ชายดูหน้าโหดมาก แต่จิตใจสูงมากค่ะ”

ผู้ใหญ่ หาผ้าใหม่: “ด่าบ้านกูเกลียดบ้านกู แล้วทำไมชอบหนีมาอยู่บ้านกูกันจัง ประเทศมึงมีปัญหา ประเทศกูก็ช่วยทุกทีไป เชี่ยนะมึงเพื่อนบ้าน”

Allen Hawk: “พวกลาวก็นิสัยแบบนี้แหล่ะ วันหนังไทยไม่ต้องไปช่วยพวกมันก็ได้ ผ้าขาดแค่นี้ก็จะตายแล้วเหรอ ถึงผ้าขาดก็เอาไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ของฟรี ไม่ได้ลงทุนอะไรแล้วยังเรื่องมากอีก”

สอง: ผู้ที่ควรรับผิดชอบ กลบเกลื่อนการรับผิดด้วยการ “ช่วยเหลือ” กับการ “มอบ”

การใช้ภาษาของการ “ให้” ขององค์กรต่างๆ บ่ว่าสิเป็น บมจ. ราชบุรี โฮลดิ้ง ซึ่งมีถือหุ้นโครงการนี้ถึง 25 เปอร์เซนต์ ระบุในหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยว่า“บริษัทได้มอบเงินสนุบสนุนช่วยเหลือเบื้องต้น…”

หรือธนาคารธนชาต (หนึ่งใน 4 สถาบันการเงินของไทยที่สนับสนุนเงินกู้สำหรับโครงการนี้) ซึ่งระบุไว้ในข้อความขอรับบริจาคว่า “ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย…” รวมไปถึงนายกฯ ของไทยที่นอกจากสิบริจาคเงินให้แก่ประเทศลาวแล้ว ยังบอกอีกด้วยว่า “ขาดอะไรให้แจ้งมา” พร้อมทั้งเปิดบัญชีรับบริจาคชื่อ “หัวใจไทย ส่งไป สปป. ลาว”

เหล่านี้แสดงถึงการ “ให้” มากกว่า “การรับผิดชอบ” ดังที่ควรสิเป็นเพราะบ่ว่าสิเป็นรัฐบาลไทย บมจ. ราชบุรีฯ หรือ ธนาคารธนชาตต่างมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยนี้ ดังนั้นต้อง “รับผิดชอบ”

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการที่ดาราบางคนแสดงออกถึงความเป็นฮีโร่มากโดยเฉพาะกรณี ดาราและนักร้องอย่าง โตโน่ ภาคิน ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากสื่อและแฟนคลับอย่างคับคั่งหลังจากโพสต์ข้อความบนอินสตาแกรมโดยมีเนื้อหาด้านล่าง รวมถึงการลงพื้นที่ “ด้วยตัวเอง”

“กลับกทม.ด่วน!!!!! เพื่อ บ้านพี่เมืองน้องของเรานะครับ ผมกับทีมจะลงพื้นที่ช่วยผู้ประสบภัยในวันที่28นี้นะครับ เรามีเวลาเตรียมตัวแค่2วัน มันเป็นเรื่องเร่งด่วน สิ่งที่เราต้องการ คือ 1.เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม 2.ผ้าอนามัย + แพมเพิทเด็ก 3.ผ้าห่อศพ 4.น้ำดื่ม อาหารแห้ง นำสิ่งของมาบริจาคได้ตั้งแต่วันนี้นะครับ ที่จุดรับบริจาคห้างยงสงวน จ.อุบลราชธานี ขอบคุณมากนะครับทุกคน #สปปลาว #เขื่อนแตก #laos #ครั้งนี้ขอไม่รับเงินบริจาคนะครับ #prayforlaos”

ย้อนไปเมื่อปี 2557 โตโน่เองก็ออกมาขายเสื้อที่เวที กปปส. ซึ่งเจ้าตัวอธิบายว่าเพื่อช่วยเหลือ “ชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากกรณีจำนำข้าว” (ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์) โดยโตโน่บอกว่า แตงโม (แฟนสาวในขณะนั้น) ออกแบบเสื้อที่นำมาขายให้มี “กลิ่นของชาวนา” โดยเจ้าตัวยืนยันขณะนั้นว่าถ้ากระแสดีก็คงจะช่วย “จนกว่าชาวนาจะแก้ปัญหาของเขา” อยากฮู้เด้โตโน่ยังช่วยชาวนาอยู่บ่? และกรณีของโตโน่ก็สะท้อนจิตใต้สำนึกของความเป็น “ฮีโร่” โดยที่ไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงที่ฝังลึกในเชิงระบบเลย

สาม: การ “ทำบุญ” อำพรางความเป็นการเมืองของโศกนาฏกรรม เปิดช่องให้เกิดเหตุซ้ำโดยไม่มีใครต้องรับผิด

การบริจาคที่ปราศจากสำนึกรับผิดชอบ ดีไม่ดีอาจไปส่งเสริมการบริหารงาน การตัดสินใจที่ขาดความรับผิดชอบของรัฐบาล มันส่งเสริมพฤติกรรมที่มุ่งแต่ผลกำไรของบริษัทต่างๆ เพราะเมื่อหายนะเกิดขึ้นพวกเฮาที่เหลือก็สิร่วม “ทำบุญ” ช่วยผู้ประสบภัยเอง

เฮาต้องมองให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างภัยพิบัติเทือนี้และนโยบายรัฐบาลที่บ่ได้เกิดประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อคนลาวเลยแม้ว่าเขื่อนสิบ่แตก และแม้รัฐบาลลาวต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ประโยชน์ด้านไฟฟ้าสิบ่ตกถึงลาวเลย เพราะ 90 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่สิผลิตจากเขื่อนนี้สิถูกขายให้ประเทศไทย ที่เหลือกะสิขายให้ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ที่ประเทศลาวสิขายไฟฟ้าให้ไทยแล้วซื้อไฟฟ้าจากไทยกลับไปใช้ในลาวในราคาที่สูงขึ้นดังที่องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ได้อธิบายไว้

และแน่นอนนี่สิบ่แมนโศกนาฏกรรมครั้งสุดท้ายที่ไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง รายงานหลายๆ ฉบับชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลลาววางแผนสิสร้างเขื่อนทั้งเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขงและเขื่อนกั้นแม่น้ำสาขาในลาวอยู่ที่ราวๆ กว่า 90 โครงการเขื่อน ภายในปี 2020

เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งส่วนใหญ่สิขายให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและเวียดนาม โดยบริษัทและนักลงทุนมาจากไทย เวียดนาม มาเลเซีย และจีน

นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่กั้นแม่น้ำโขงตอนล่างอีก 11 โครงการซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ 2 โครงการนั่นก็คือ เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง ที่เหลือกำลังรอการดำเนินการก่อสร้าง เฮาควรให้ความสนใจและใช้บทเรียนจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยนี้มาเป็นบทเรียนทบทวนซึ่งเขื่อนเหล่านี้สิใหญ๋กว่าเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยนี้หลาย และสิมีผลกกระทบต่อประชากรที่อาศัยอยู่แถวลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้นี้ถึงกว่า 60 ล้านคน รวมไปถึงชุมชนลุ่มน้ำโขงในไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เนื่องมาจากการสร้างเขื่อนที่ปิดกั้นการไหลของน้ำตามธรรมชาติ การทำลายระบบนิเวศ ระบบเพาะพันธุ์ปลาสายพันธุ์สำคัญๆ ในลุ่มน้ำโขง รวมไปถึงพืชพันธุ์อาหารชนิดอื่นๆ ในชุมชนเหล่านี้นำที่สิมีผลกระทบด้านความมั่นคงทางอาหาร และทางเศษฐกิจซึ่งเงินจากการผลิตไฟฟ้าอาจสิบ่คุ้มค่าเลยก็ได้ และที่สำคัญก็รวบไปถึงโศกนาฏกรรมน้ำถ่วม และเขื่อนแตก ในอนาคต

แต่กะจั๊งว่าหล่ะ การเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในประเด็นผลกระทบในการสร้างเขื่อน บ่ว่าสินำเอาผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์มานำเสนอ นำบทเรียนจากเขื่อนปากมูน แก่งเสือเต้น และโครงการอื่นๆ มาเปิดเผยให้สังคมฟัง บทเรียนเหล่านั้นก็บ่ค่อยสิสร้างการเรียนรู้เท่าที่ควร แต่พอบางคนออกมาเรียกร้องสิทธิก็โดนด่าว่าตามก้นฝรั่ง พอคัดค้านโครงการพัฒนาเหี่ยๆ ก็โดนจับ พอให้การศึกษาและรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบก็หาว่าปั่นป่วน งั้นคนไทยก็ทำบุญต่อไป เป็นผู้ให้ และผู้จิตใจดี ต่อไป เซ็งเป็ด!!!

image_pdfimage_print