โดย มาโนช พรหมสิงห์

ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ไร้ศิลปะวรรณกรรม ไร้ชาติพันธุ์ ไม่มีตัวตน” โดยมาโนช พรหมสิงห์ บรรณาธิการวารสารชายคาเรื่องสั้น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561

กลุ่มชน/ชาติพันธุ์/ประเทศใดๆ จะยืนยันตัวตนต่อสังคมต่อโลกได้ก็ด้วยศิลปะวรรณกรรม หากไร้เสียศิลปะวรรณกรรม พวกเขาจะไร้ชื่อไร้ชาติพันธุ์ไม่มีตัวตน อันจะนำไปสู่การถูกผนวก ดูดกลืน ครอบงำและสาบสูญไปในที่สุด สงครามหรือการปราบปรามเพื่อล้มล้างแนวคิด ล้างเผ่าพันธุ์ การผนวกดินแดน การย่างยาตราเข้าครอบครองของเจ้าอาณานิคม การสร้างความเป็นปึกแผ่นมีอัตลักษณ์เดียวเท่านั้นของประชาชน เท่าที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากจะต้องฆ่าคนแล้วยังต้องฆ่าศิลปะวรรณกรรมด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างชาติจีนให้เป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียวของจินซีฮ่องเต้ ที่ต้องเผาหนังสือทุกเล่มและประหารนักปราชญ์มากมาย การล่มสลายของอารยธรรมกรีก-โรมันที่ดำรงมา 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช จากการกรีฑาทัพของจูเลียส ซีซาร์ แล้วเผาหอสมุดอเล็กซานเดรีย ม้วนกระดาษปาปิรุสของสรรพความรู้ไม่ต่ำกว่า 4 แสนม้วน ลุกไหม้เป็นเถ้าถ่านในกองเพลิง การกักขังหนังสือ Comedy ของอริสโตเติลในยุคกลางและฆ่าทุกคนที่แอบเปิดอ่าน เพราะถือว่าการหัวเราะเป็นการจาบจ้วงพระเจ้า เป็นอันตรายต่อคริสตศาสนา ในนวนิยาย The name of the Rose ของอุมแบร์โต เอโก

หากจะกล่าวให้ใกล้ตัวของคนอีสานเราแล้ว การผนวกเอาดินแดนของหัวเมืองประเทศราชบนแผ่นดินที่ราบสูงฝั่งขวาแม่น้ำโขง เพื่อสร้างพระราชอาณาจักรสยามของกรุงเทพฯ ก็กระทำอย่างเดียวการผนวกดินแดนหรือล่าอาณานิคมอื่น คือ เริ่มจากการพยายามลบหรือกีดกันหรือไม่นับศิลปะวรรณกรรมของลาวอีสาน

ไล่เรียงจากการประกาศห้ามเล่นแอ่วลาว โดยอ้างว่าเป็นต้นเหตุทำให้ฝนแล้ง ในสมัยรัชกาลที่ 4 การห้ามเรียน/เขียน/อ่านตัวอักษรไทน้อยและการเผาทำลายหนังสือกับกลอนลำของกบฏผีบ้าผีบุญ ในสมัย รัชกาลที่ 5 การไม่นับ/การกดให้ต่ำลงสำหรับบรรดาวรรณคดียิ่งใหญ่ของอีสาน อย่าง ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง ผาแดงนางไอ่ สังข์สินชัย พญาคันคาก เป็นต้น

แต่ทว่าด้วยความที่แผ่นดินอีสานในอดีตนั้น เป็นดินแดนแห่งเสรีชน ซึ่งอำนาจการปกครองแบบราชาธิราช(Empire)จากหัวเมืองใหญ่ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา และทางลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงครอบคลุมมาไม่ถึง จึงกลายเป็นดินแดนของคนผู้ต้องการมีวิถีชีวิตที่ไม่เป็นทาสใคร เป็นคนที่คิดต่างจากกรุงเทพฯจากเวียงจัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นดินแดนที่เกิดการปะทะของแนวคิด การสร้างสรรค์และวิถีที่ไม่มีกรอบกำหนดจากวัง วัด หรือนายทาส ดังเช่นชาวไอโอเนียน (Ionia) ในหมู่เกาะและเวิ้งอ่าวทะเลอีเจียนตะวันออกอันเป็นอาณานิคมของของกรีกโบราณเมื่อ 2,500 ปีก่อน ที่แต่ละเกาะมีระบบการเมืองต่างกัน ไม่มีศูนย์รวมอำนาจที่บีบบังคับให้ทุกเกาะเห็นพ้องต้องกันทั้งในทางสังคมและความคิด ทุกคนร่วมคิดค้นความรู้และความรู้นั้นมิได้ถูกปิดกั้นไว้เพื่อชนชั้นสูงเท่านั้น ชาวไอโอเนียนจึงสร้างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ได้ล้ำหน้ากว่าอารยธรรมกรีก-โรมันยุคนั้น (ก่อน-นิโคลัส โคเปอร์นิคัสและกาลิเลโอ) ซึ่งยังเชื่อเรื่องทวยเทพและเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล เช่นเดียวกัน คนอีสานในอดีตจึงสร้างศิลปะวรรณกรรมด้วยความคิดเปิดกว้างและเป็นไปอย่างเสรีอย่างเต็มที่

เป็นไปได้หรือไม่ว่า จิตวิญญาณของการสร้างสรรค์อย่างเสรีชนของคนอีสานในอดีตยังไม่ตาย ไม่สูญหาย ทว่ายังคงงอกงามอยู่ในตัวลูกหลานผู้เป็นศิลปิน เป็นนักเขียนในรุ่นของเรา

ดังจะเห็นว่า ทำเนียบของวรรณกรรมร่วมสมัยทรงคุณค่าแห่งชาติไทยในปัจจุบัน ย่อมปรากฏชื่อของ รวมเรื่องสั้น ‘ฟ้าบ่กั้น’ ของ ‘ลาว คำหอม’/ นวนิยาย‘ลูกอีสาน’ ของคำพูน บุญทวี และ ‘ครูบ้านนอก’ ของ ‘คำหมาน คนไค’ อยู่ในรายชื่อต้นๆ ทว่าคุณค่านี้ก็ถูกบิดเบือนกลับหน้าเป็นหลัง ให้กลายเป็นมายาคติ  ‘ข้ามไม่พ้นภูเขาสามลูก’ มุ่งมากดทับนักเขียนและวรรณกรรมรุ่นใหม่อีสาน ต่อเนื่องมาหลายทศวรรษจวบจนปัจจุบัน ขณะที่ในภูมิภาคอื่นมิได้มีสิ่งที่เรียกว่า-ข้ามไม่พ้นภูเขา-อยู่เลย

ทั้งๆ ที่มีเค้ารางเส้นทางใหม่ของวรรณกรรมอีสานก่อตัวกระเส็นกระสายมาชั่วระยะหนึ่งแล้ว ทว่ากว่าจะปรากฏเด่นชัดและมีพลวัตรที่น่าตื่นตาและน่าจับตาก็ลุล่วงมาจนถึงช่วงพุทธทศวรรษ 2550 อันมีมูลเหตุมาจากการตื่นตัว/แบ่งขั้วความคิดทางการเมือง กับการบ่มเพาะตัวศึกษาแนวคิดหลังสมัยใหม่ (post-modern) และหลังอาณานิคม (post-colonial) อย่างจริงจัง ของเสรีชนนักคิดนักเขียนนักวิชาการในอีสานนั่นเอง

วรรณกรรมอีสานใหม่จึงมีลักษณะ ดังนี้ คือ ล้อวรรณกรรมสมัยใหม่ ล้อตัวเอง ตั้งคำถามกับความเป็นศิลปะ/กระตุ้นคนอ่านให้ตั้งคำถามกับความเป็นจริง/มุ่งปลดแอกการครอบงำทางวัฒนธรรม ไม่ยอมสยบอยู่ใต้อำนาจหรือแบบแผนวรรณกรรมของเจ้าอาณานิคม/วิพากษ์อุดมการณ์กระฎุมพีซึ่งปฏิเสธโลกทัศน์และคุณค่าของพื้นบ้านหรือชาวบ้าน/นำภาษาพื้นถิ่น ความเป็นพื้นถิ่นมาใช้เต็มที่อย่างไร้เชิงอรรถ เพื่อยั่วล้อ/สร้างความปั่นป่วน เพราะอิทธิพลด้านภาษาศาสตร์ของแฟร์ดิน็องด์ เดอ โซซูร์และแนวคิดสัญศาสตร์ (semiotics)

แต่ทว่าสภาพการณ์ของห้วงปัจจุบันต้นพุทธทศวรรษ 2560 ไม่เพียงเกิดการตายหมู่ของหนังสือและนิตยสารอย่างไม่เคยคาดคิดกันมาก่อน ทว่าการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2557 ได้นำมาสู่การเผชิญหน้าครั้งสำคัญในประเทศ ไม่เพียงการเผชิญหน้าของรัฐเผด็จการกับเสรีชนทุกระดับ ด้วยการปิดกั้นเสรีภาพของการแสดงความคิดและการเขียนอย่างเข้มงวดดุดันแล้ว ยังมีการเผชิญหน้าระหว่างนักคิดนักเขียนที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างกันด้วย เมื่อนักคิดนักเขียนส่วนใหญ่ในประเทศ(และส่วนใหญ่ในภูมิภาคอีสาน) ไม่เพียงสยบยอม/เห็นดีเห็นงามแต่ยังรับใช้และปกป้องอำนาจอันไม่ชอบธรรม ซึ่งไม่ว่าสังคมอารยะใดในโลกสมัยใหม่ต่างล้วนปฏิเสธและประณาม

เรากำลังเผชิญสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียศิลปะวรรณกรรมกับตัวตนของคนทำงานอันสง่างาม ที่มีพันธกิจสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์ยุคสมัยไปอย่างสิ้นเชิง

เรา-ผม และคณะเขียนอันล้วนเป็นกลุ่มก้อนของนักเขียนอีสานใหม่ ทุ่มเทกายใจสร้างทำ ‘วารสารชายคาเรื่องสั้น’ โดยมุ่งหมายจะให้เป็นส่วนสะท้อนสุ้มเสียงของนักเขียนเสรีทั่วประเทศและเป็นบันทึกสภาพสังคม/ผู้คนในยุคมืดนี้ ดังคำกล่าวของลีโอ ตอลสตอยที่ว่า ‘ศิลปินถ้าเป็นศิลปินที่แท้จริงแล้ว ย่อมจักต้องใช้งานของเขาเป็นสะพาน เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของเขาที่ได้รับจากประสบการณ์ ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาก้าวหน้าของสังคมมนุษย์’ เราอาจพ่ายแพ้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า เพียงเพราะเราซื่อสัตย์ต่อพันธกิจของนักเขียน ซึ่งต้องมีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมอุดมคติ แต่ทว่านักคิดนักเขียนเช่นเราก็ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่แห่งพันธกิจนี้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง ตราบวันสุดท้ายของชีวิต เพราะเราเชื่อมั่นว่าสังคมประเทศชาติจักต้องวิวัฒน์ไปข้างหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย

ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้นักคิดนักเขียนอีสานทั้งปวงลุกขึ้นมาปลดแอก ทลายมายาคติต่อวรรณกรรมและคนอีสานทั้งมวล สร้างสรรค์งานเพื่อสังคมที่เป็นธรรมด้วยมือของตน เพื่อประกาศยืนยันตัวตนคนอีสานต่อสังคมประเทศชาติ และต่อโลกในที่สุด

บรรณาธิการวารสารชายคาเรื่องสั้น

image_pdfimage_print