
ศรีสะเกษ – บรรณาธิการวารสารชายคาเรื่องสั้นระบุคนอีสานถูกคนกรุงเทพฯดูดกลืนศิลปะวรรณกรรม เรียกร้องนักเขียนอีสานต้องปลดแอกอำนาจรัฐประหาร ด้านอาจารย์ศิลปกรรม ม.มหาสารคามแจงภาพถ่ายภาคอีสานเน้นความโรแมนติกแต่ไม่สะท้อนความเป็นจริง
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 ที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เดอะอีสานเรคคอร์ดร่วมกับภาควิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จัดโครงการเสวนาวิชาการ “ศิลปะ วรรณกรรมอีสาน สิทธิการแสดงออกในมิติการเปลี่ยนแปลง: รื้อ สร้าง ทิศทาง” โดยมีกิจกรรมตลอดทั้งวัน อาทิ การอ่านบทกวีประกอบดนตรี การเสวนาศิลปะ วรรณกรรมอีสานของคนรุ่นใหม่ การแสดงละครเวที การฉายภาพยนตร์ และการประกวดรางวัลภาพถ่ายสภาพอีสาน
นายมาโนช พรหมสิงห์ บรรณาธิการวารสารชายคาเรื่องสั้น กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ไร้ศิลปะวรรณกรรม ไร้ชาติพันธุ์ ไม่มีตัวตน”โดยสรุปว่า “กลุ่มชน ชาติพันธุ์ ประเทศใดๆ จะยืนยันตัวตนต่อสังคมต่อโลกได้ก็ด้วยศิลปะวรรณกรรม หากไร้เสียศิลปะวรรณกรรม พวกเขาจะไร้ชื่อไร้ชาติพันธุ์ไม่มีตัวตน อันจะนำไปสู่การถูกผนวก ดูดกลืน ครอบงำและสาบสูญไปในที่สุด”

“หากจะกล่าวให้ใกล้ตัวของคนอีสานเราแล้ว การผนวกเอาดินแดนของหัวเมืองประเทศราชบนแผ่นดินที่ราบสูงฝั่งขวาแม่น้ำโขง เพื่อสร้างพระราชอาณาจักรสยามของกรุงเทพฯ ก็กระทำอย่างเดียวกับการผนวกดินแดนหรือล่าอาณานิคมอื่น คือ เริ่มจากการพยายามลบหรือกีดกันหรือไม่นับศิลปะวรรณกรรมของลาวอีสาน”
“แต่ทว่าด้วยความที่แผ่นดินอีสานในอดีตนั้น เป็นดินแดนแห่งเสรีชน ซึ่งอำนาจการปกครองแบบราชาธิราช (Empire) จากหัวเมืองใหญ่ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงครอบคลุมมาไม่ถึง จึงกลายเป็นดินแดนของคนผู้ต้องการมีวิถีชีวิตที่ไม่เป็นทาสใคร เป็นคนที่คิดต่างจากกรุงเทพฯ และเวียงจันทน์”
“เป็นไปได้หรือไม่ว่า จิตวิญญาณของการสร้างสรรค์อย่างเสรีชนของคนอีสานในอดีตยังไม่ตาย ไม่สูญหาย ทว่ายังคงงอกงามอยู่ในตัวลูกหลานผู้เป็นศิลปิน เป็นนักเขียนในรุ่นของเรา”
“การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 นำมาสู่การเผชิญหน้าครั้งสำคัญในประเทศ ไม่เพียงการเผชิญหน้าของรัฐเผด็จการกับเสรีชนทุกระดับ ยังมีการเผชิญหน้าระหว่างนักคิดนักเขียนที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างกันด้วย เมื่อนักคิดนักเขียนส่วนใหญ่ในประเทศ และส่วนใหญ่ในภูมิภาคอีสาน ไม่เพียงสยบยอมเห็นดีเห็นงามแต่ยังรับใช้และปกป้องอำนาจอันไม่ชอบธรรม ซึ่งไม่ว่าสังคมอารยะใดในโลกสมัยใหม่ต่างล้วนปฏิเสธและประณาม”
“เรากำลังเผชิญสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียศิลปะวรรณกรรมกับตัวตนของคนทำงานอันสง่างาม ที่มีพันธกิจสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์ยุคสมัยไปอย่างสิ้นเชิง”
“ขอให้นักคิดนักเขียนอีสานทั้งปวงลุกขึ้นมาปลดแอก ทลายมายาคติต่อวรรณกรรมและคนอีสานทั้งมวล สร้างสรรค์งานเพื่อสังคมที่เป็นธรรมด้วยมือของตน เพื่อประกาศยืนยันตัวตนคนอีสานต่อสังคมประเทศชาติ และต่อโลกในที่สุด”
การเสวนา “อ่านอีสาน: รื้อ สร้าง ทิศทาง” ดำเนินรายการโดยนายชานนท์ ไชยทองดี อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

นายประทีป สุธาทองไชย อาจารย์คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บรรยายหัวข้อ “รื้อ/สร้าง: อีสานโรแมนติก” เพื่อหาคำอธิบายว่าความเป็นอีสานคืออะไร โดยมองผ่านภาพถ่ายเพื่อสะท้อนภาพจำของคนทั่วไปที่มีต่อภาคอีสาน ซึ่งพบว่าล้วนแต่เป็นการสร้างภาพในแบบโรแมนติก
นายประทีปกล่าวว่า สมัยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ถ่ายภาพขณะเสด็จภาคอีสาน เมื่อร้อยกว่าปีก่อน จะถ่ายภาพการฟ้อนรำต้อนรับซึ่งไม่ใช่ภาพในชีวิตประจำวันของคนอีสาน ภาพถ่ายในยุคแรกๆ จึงเป็นภาพถ่ายศิลปวัฒนธรรมเพื่อต้อนรับคนที่มาจากที่อื่น
“ภาพถ่ายอีสานเก่าๆ เป็นสิ่งที่ทำให้คนจดจำ คนที่ไม่เคยไปอีสานจะรู้จักผ่านภาพถ่ายแล้วกลายเป็นภาพจำ” นายประทีปกล่าว
อาจารย์คณะศิลปกรรม ม.มหาสารคาม ผู้นี้เปิดเผยว่า ตนเป็นคนกรุงเทพฯ เติบโตขึ้นมาในยุคที่มีโครงการอีสานเขียว ระหว่างปี 2530 – 2533 จึงมีภาพผืนดินแตกระแหงซึ่งเป็นภาพจำของภาคอีสาน ในขณะที่สภาพที่แท้จริงของภาคอีสานไม่ได้แห้งแล้งแบบนั้น แต่ผู้ที่เห็นภาพพื้นดินแตกระแหงจะจดจำภาคอีสานในลักษณะนั้น รวมถึงตนเองด้วย

นายประทีปนำเสนอภาพหน้าปกอนุสารอ.ส.ท. หลายฉบับ (อนุสาร อ.ส.ท. คือ นิตยสารขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) เริ่มจากฉบับปี 2507 ซึ่งเป็นภาพผู้หญิงกำลังฟ้อนจากจังหวัดหนองคาย ส่วนอนุสาร อ.ส.ท. อีกฉบับมีภาพปกคือภาพงานบุญบั้งไฟทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า งานบุญบั้งไฟมีเฉพาะที่จังหวัดยโสธร
นายประทีปกล่าวด้วยว่า ภาพในแบบเรียนเป็นภาพที่ทำให้คนเมืองจินตนาการว่า คนในชนบทมีวิถีชีวิตอย่างไร แต่ภาพในแบบเรียนกลับทำให้คนเมืองเกิดความเข้าใจผิด
“กลายเป็นภาพจำว่าชนบทเป็นพื้นที่บริสุทธิ์และสวยงาม ไม่มีปัญหา ไม่มีความซับซ้อน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมา” นายประทีปกล่าวและว่า “ภาพจำที่เกี่ยวกับชนบททุกวันนี้เป็นสิ่งที่ล้างไม่ได้ และถูกผลิตซ้ำ ในฐานะภาพที่อยากจะเห็นทั้งๆ ที่ความเป็นจริงไม่มีแล้ว”
นายประทีปกล่าวทิ้งท้ายว่า ภาพถ่ายชนบทแบบวานรสไตล์ (Wanon Style) ซึ่งเป็นภาพสวยงาม แต่ทำให้คนเข้าใจผิดว่า ชนบทยังมีวิถีชีวิตแบบนี้อยู่

นายประจวบ จันทร์หมื่น หรือ กุ๋ย อีเกิ้ง ศิลปินนักร้องและอาจารย์วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ บอกว่า การทำความเข้าใจภาคอีสานต้องมองให้ครบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมองรอบด้าน อาทิ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยตนขอมองภาคอีสานตั้งแต่ปี 2504 ผ่านเพลงผู้ใหญ่ลีซึ่งสะท้อนว่า เมื่อปี 2504 สังคมชาวนาอีสานดั้งเดิมไม่ได้มีเงินใช้จ่าย ถนนไม่ได้เจริญคนเดินทางออกนอกหมู่บ้านมีน้อย จึงเห็นภาพการพึ่งพาแรงงานซึ่งกันและกัน
“เราเห็นการหาอยู่หากินที่ไม่ต้องไปใช้เงินมากนัก เพราะว่าลงไปนาก็หาได้กินเลย หาได้เยอะก็เอามาทำอาหาร พอเหลือก็แบ่งกัน” นายประจวบกล่าว
นายประจวบระบุว่า เวลามองด้านเศรษฐกิจจะเห็นภาพความโรแมนติกของสังคมที่มีวัฒนธรรมชุมชน แต่เมื่อมีความเจริญเข้ามามีการตัดถนนเข้ามาในหมู่บ้านความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น สินค้าภายนอกเข้ามาในหมู่บ้าน การหาอยู่หากินในหมู่บ้านจึงไม่เพียงพอต่อการบริโภค ชาวอีสานต้องออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน
อาจารย์วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มรภ.ศรีสะเกษกล่าวอีกว่า ประมาณปี 2525 – 2526 คนอีสานออกไปทำงานนอกหมู่บ้านเพิ่มขึ้น การรวมกลุ่มของคนในหมู่บ้านจึงไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนแต่ก่อนไม่มีการพึ่งพากัน เพราะคนไปหาเงินข้างนอกเข้าหมู่บ้าน เมื่อมองถึงมิติด้านวัฒนธรรมมีเพลงที่เอ่ยถึงความผูกพันของคนสมัยก่อนอยู่มาก เช่น เพลงอีสานบ้านเฮาของเทพพร เพชรอุบล แต่หลังจากความเจริญเข้ามา หมู่บ้านเริ่มมีจุดโหว่จากเคยพึ่งพากันก็ไม่ได้พึ่งพากันอีกต่อไป
“พอมาถึงด้านการเมือง แต่ก่อนเครือญาติเดียวกัน แต่ก่อนเอากันดีเนาะ เอาญาติพี่น้อง สมัยก่อนถ้าเครือญาติใหญ่ ยังไงก็ได้เป็นผู้นำ [ในหมู่บ้าน]” นายประจวบเริ่มต้นอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง และว่า แต่การเลือกผู้นำหมู่บ้านหรือผู้ใหญ่ในทุกวันนี้ไม่สามารถสรุปได้เช่นเดิมว่าเครือญาติใหญ่ต้องได้เป็นผู้นำ โดยการเลือกตั้งต้องมีการจ่ายเงินให้ญาติพี่น้อง ถ้าไม่จ่ายเงินก็อาจจะไม่ได้รับเลือก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมชาวนาอีสานมีความเปลี่ยนแปลง
ด้านลักษณะของสังคมชาวนาอีสาน นายประจวบกล่าวว่า “จะดั้งเดิมก็ไม่ใช่ จะทันสมัยก็ไม่เชิง” เช่น แม้จะมีความทันสมัยแต่ก็ยังมีความเชื่อดั่งเดิมอยู่ เช่น การฟ้อน การทำนายังบูชาผีตาแฮกหรือผีเฝ้าไร่เฝ้านา แต่ขั้นตอนลดลง และ การจัดงานบุญผะเหวด หรืองานบุญตามความเชื่อในพระเวสสันดรชาดก ที่มีการประมูลเพื่อจัดงานและผู้จัดงานจะคำนึงถึงความคุ้มทุนด้วย

นายธีระพล อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชานิเทศน์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าว่า ได้อ่านบทบรรณาธิการ “นิตยสารทางอีศาน” ที่เขียนโดยนายปรีดา ข้าวบ่อ บรรณาธิการอำนวยการ จำนวน 74 เล่มจาก 77 เล่ม เพื่อทราบแนวคิดและจุดยืนนิตยสารทางอีสานซึ่งเป็นนิตยสารด้านวรรณกรรมของภาคอีสาน ทำให้พบว่า บทบรรณาธิการส่วนใหญ่กล่าวถึงความเป็นอีสานในตำนาน อีสานที่มีความมั่งคั่งทางศิลปะวัฒนธรรม พร้อมกล่าวถึงการถูกรุกรานโดยทุนและโดยรัฐ และมีการกล่าวถึงชุมชนท้องถิ่น วัฒนธรรมชุมชน โดยสรุปใจความว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน”
“ผมพบว่าอุดมการณ์วัฒนธรรมชุมชนซ่อนอยู่ในบทบรรณาธิการ ซ่อนอยู่อย่างเปิดเผย ทุกอย่างดูงามหมด มันจะไม่งามก็ต่อเมื่อคนมันโกง” นายธีระพลกล่าว
อาจารย์สาขาวิชานิเทศน์ศาสตร์ ม.อุบลราชธานีผู้นี้ กล่าวด้วยว่า เมื่อพูดถึงการเมืองจะเป็นการเมืองของคนดี นักการเมืองไม่โกง เช่นเดียวกับสี่รัฐมนตรีอีสานในอดีตที่ถูกลอบสังหาร แต่ไม่ปรากฎว่ามีการยอมรับนักการเมืองร่วมสมัย แต่บทบรรณาธิการต้องการให้การเมืองอีสานกลับไปสู่การเมืองยุคในอดีต หรือ คิดแบบยูโทเปีย (ยูโทเปีย – โลกในอุดมคติ) แต่ไม่ได้พูดถึงปัญหาปากท้องในปัจจุบัน
“แต่สิ่งที่บทบรรณาธิการไม่ได้พูดถึงคือ อำนาจซึ่งมันลดทอนอำนาจปัจเจกบุคคล ชุมชน ท้องถิ่น และอำนาจประชาชน มากว่า 4 ปี [การรัฐประหารปี 2557 – ปัจจุบัน]” อาจารย์สาขาวิชานิเทศน์ศาสตร์กล่าว
นายธีระพลระบุด้วยว่า แม้บทบรรณาธิการจะเสนอทางออกด้วยแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน แต่ตราบใดที่ไม่มองถึงความเป็นจริงที่ชาวอีสานถูกกดทับด้วยอำนาจปืนและอำนาจรัฐประหาร และละเลยที่จะกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิการเลือกตั้ง อำนาจสูงสุดคงไม่ใช่อำนาจของประชาชนตามเจตนารมย์ของของคณะราษฎร ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475
