โดย นพพล ไม้พลวง

รถที่มีเกือบทุกบ้านในคุ้มบ้านเชียงคง บ้านหนองแรต ต.ขวาวใหญ่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์

สุรินทร์ – นอกจากทุ่งนาเขียวขจีที่ท้ายบ้าน คันดินใหญ่และต้นไม้สูงแล้ว ใต้หลังคายังมีรถกระบะกลางเก่ากลางใหม่เสริมเหล็กเส้นตั้งตรงไว้ขนของจอดอยู่ ราวกับว่าเรือนทุกหลังมีพื้นที่จัดแสดงรถกระบะสมบุกสมบัน นี่เป็นภาพที่ปรากฏเห็นได้ทั้ง 55 หลังคาเรือนในคุ้มบ้านเชียงคง หมู่ 5 บ้านหนองแรต ตำบลขวาวใหญ่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

ไม่มีครอบครัวใดในคุ้มบ้านนี้ที่ไม่เก็บของเก่าขาย

“งานเก็บของเก่ารับซื้อของเก่าดูสกปรกน่ารังเกียจ แต่เป็นอาชีพสุจริตที่สร้างรายได้ และต้องเรียกว่าเป็นรายได้หลัก ไม่ใช่รายได้เสริมของพวกเรา” สติมาภรณ์ พวกดี อายุ 42 ปี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลขวาวใหญ่ (ส.อบต.) เล่าในฐานะที่ตัวเองเคยมีส่วนร่วมกับธุรกิจรับซื้อของเก่ากับคุ้มบ้านเชียงคงมาตั้งแต่ครั้งเป็นวัยรุ่น

“ถ้าทำแต่นาจะได้แค่ปีละครั้ง ถ้าลงทุนทำมาค้าขายอาจมีข้าวของเน่าเสีย แต่งานเก็บของเก่าสามารถเก็บไว้ได้ไม่เสียหาย รายได้จากงานสกปรกพวกนี้ส่งลูกของทุกบ้านเรียนแล้วยังสามารถขยับขยายงานมาเป็นธุรกิจในครอบครัวได้อีก อย่างตอนนี้จาก 55 หลังคาเรือนในคุ้มเรามีแค่ 7 หลังที่ยังไม่ได้ออกรถของตัวเอง แต่ก็ทำงานรับซื้อของเก่าอยู่ด้วยกัน”

สติมาภรณ์ พวกดี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลขวาวใหญ่ อดีตทำอาชีพรับซื้อขายเศษเหล็ก

“มันเริ่มจากการที่เราโตมากับการที่ต้องตื่นมาห่อข้าว แล้วโดดขึ้นท้ายรถหกล้อออกไปเร่รับซื้อของเก่าตามบ้านคน เริ่มจากบ้านที่อยู่ใกล้ๆ ก่อน แล้วก็ขยับไปไกลขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งไปค้างคืน ตอนนั้นทั้งคุ้มบ้านเรามีรถหกล้อคันเดียวกับคน 6-7 คน ที่ผลัดกันออกไปทำแบบนี้ ส่วนคนอื่นก็ทำไร่ทำนาตามประสา” สติมาภรณ์และเพื่อนต่างจากลูกสาววัยทำงานของหมู่บ้านอื่น ครั้นเมื่อหมดฤดูทำนาแล้ว มีเวลาว่างก็จำเป็นต้องออกเดินทางไปหางานทำทั้งในตัวเมืองและในกรุงเทพมหานคร แต่ที่ชุมชนของเธอมีงานให้ทำตลอดปี ไม่ใช่แค่คุ้มบ้านนี้คุ้มบ้านเดียวเท่านั้น ปัจจุบันบ้านหนองแรตแทบทั้งหมู่ดูจะให้ความสนใจในอาชีพรับซื้อของเก่า ทั้งที่ตั้งอยู่ไกลออกไปจากถนนใหญ่กว่า 14 กิโลเมตร แต่กลับมีร้านรับซื้อของเก่าขนาดใหญ่และโรงรับซื้อแบตเตอรีเก่าตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน คอยท่ารับซื้อของเก่าที่ชาวบ้านหนองแรตขับรถกระบะออกไปเร่หาซื้อมาในรัศมีหลายอำเภอ

สุวิมล วงรัมย์ เจ้าของกิจการ “กวงการค้า” ที่ตั้งอยู่กลางคุ้มบ้านเชียงคงกล่าวว่า “ถ้าเป็นรถปิ๊กอัพใหญ่มาเต็มที่นี่ก็ได้เที่ยวละ 3,000-4,000 บาทเลยนะ แต่อย่างรถสามล้อเล็กก็ได้ 800-900 บาท แต่ก็พอให้คนเฒ่าเขาได้จับเงินมากกว่าเบี้ยชราภาพเดือนละไม่กี่ร้อยบาท”

หลังจากรับซื้อของเก่าจากเพื่อนบ้านแล้ว “กวงการค้า” ก็จัดการแยกสินค้าเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น เศษเหล็ก ขวด ขวดแตก และพลาสติก โดยนำเหล็กและขวดไปขายต่อที่สุรินทร์ ส่วนพลาสติกไปขายต่อที่อุบลราชธานี

สุวิมลก้มมองเข็มตาชั่งบนกิโลอย่างถี่ถ้วน อุปกรณ์การทำงานรับซื้อของเก่าของเธอไม่ต้องมีอะไรมาก “แค่มีสมุดฉีก กิโลชั่ง กับปากกาและเงินสดในกระเป๋าวันละไม่ต่ำกว่าสามหมื่นบาทก็พอ” สุวิมลกล่าว

ตาชั่งสองชั้นเพื่อให้ตัวเลขจำนวนกิโลมีความยุติธรรมและตรงไปตรงมาที่สุดเป็นที่พอใจของผู้ขายและผู้รับซื้อ

สถิติของกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงานระบุว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่มีภาวะความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในหมวดอุตสาหกรรมการผลิต หมวดการขายส่งและการขายปลีก นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งจากการที่ประชากรวัยแรงงานของภาคอีสานมักกระจายตัวออกจากบ้านเกิดไปในพื้นที่อื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกภาคอีสาน เพื่อแสวงหางานทำ แต่ก็ไม่มีตัวเลขสถิติชี้วัดความสำเร็จ ทั้งในเชิงปริมาณเงินที่พวกเขาเหล่านั้นหาได้ และเชิงคุณภาพชีวิตที่ได้รับการยกระดับพัฒนาอันเนื่องมาจากการออกไปค้าแรงงานนอกถิ่นฐาน

ต่างจากคนวัยทำงานของคุ้มบ้านเชียงคง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเติบโตมากับการเก็บของเก่าขาย และคนส่วนใหญ่ทำงานในหมู่บ้านไม่ได้อพยพไปทำงานนอกพื้นที่

“มีแค่ 5 หรือ 6 ครัวเรือนในคุ้มบ้านนี้เท่านั้นที่ย้ายไปทำงานที่กรุงเทพฯ” สติมาภรณ์ชี้ว่ากว่า 50 ครัวเรือนที่เหลือยังยึดการซื้อขายเศษเหล็กเป็นอาชีพสำคัญ

แม้ปัจจุบัน หลังจากได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล สติมาภรณ์ พวกดี จะไม่ได้ออกไปรับซื้อของเก่าด้วยตัวเองแล้ว  แต่ครอบครัวของเธอก็ยังคงยึดอาชีพนี้ไปพร้อมกับการทำนาอยู่ เธอมองว่าทุกวันนี้เยาวชนที่ได้มีโอกาสเรียนหนักงสืออาจไม่ได้ยึดอาชีพนี้เป็นหลักเหมือนคนรุ่นพ่อแม่ แต่พวกเขาก็ยังมีความคุ้นเคยกับการช่วยทำงานดังกล่าวในยามว่างอยู่

“จริงๆ แล้วพวกเด็กวัยรุ่นในหมู่บ้านเราก็ยังมีที่ต้องไปเรียนในเมือง แต่ปัญหาเรื่องที่ว่าช่องว่างของวัยทำงานจะไม่ค่อยมี เพราะส่วนใหญ่พอคนพวกนี้พร้อมจะทำงานก็จะกลับมาทำที่บ้าน” สติมาภรณ์กล่าว

นอกจากนั้น เธอยังเล่าให้ฟังอีกว่า ในชุมชนตอนนี้กำลังพัฒนาไปพร้อมกันทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะมีกิจกรรมอะไรก็จะได้กลุ่มผู้สูงอายุที่เรียกกันติดปากว่า “พ่อขาวแม่ขาว” มาออกหน้าเป็นแกนนำ มีการก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ชุมชน และขณะเดียวกันก็มีกลุ่มอาชีพสำหรับแม่บ้านด้วย

รถกระบะขนเศษเหล็กและของเก่าผลัดกันเข้ามาถ่ายสินค้าของพวกเขาลงตรงร้านกวงการค้า เมื่อการซื้อขายเสร็จสิ้น ผู้นำของเก่ามาขายก็ไม่ลืมที่จะทวนรายการขายและตรวจนับธนบัตรในมือ ก่อนล้อรถจะเลื่อนออกไปจากสถานที่ประกอบสัมมาชีพซึ่งอาจถูกตัดสินว่าเป็นที่สกปรกแห่งนี้

เด็กๆ ก็มีส่วนร่วมกับการซื้อขายของเก่า มากับผู้ปกครองที่กำลังตรวจนับความถูกต้อง

นพพล ไม้พลวง เป็นผู้เข้ารับการอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2561

 

image_pdfimage_print