รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน
ยโสธร – กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจัดกิจกรรมเปลี่ยนป้ายไม่เอาโรงงานน้ำตาลอำนาจเจริญและโรงไฟฟ้าชีวมวล เผยคัดค้านเพราะได้รับข้อมูลการก่อตั้งโรงงานไม่เพียงพอจึงหวั่นเกรงผลกระทบด้านมลภาวะ พร้อมตั้งวงหารือโดยพบช่องทางยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วยการเสนอข้อมูลใหม่ต่อ กกพ.
“เราชุมชนตำบลเชียงเพ็ง กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ได้มาแสดงจุดยืน เพื่อจะขึ้นป้ายคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานน้ำตาล วันนี้ จิตสำนึกของพวกเราได้ชวนกันออกมาเพื่อยืนหยัด เพื่อตั้งจุดยืนให้กับชุมชนของเรา เพื่อเราจะได้ปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ลูกหลาน ให้บ้านของเรา ได้อยู่ดีกินดีแบบยั่งยืน โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล ออกไป โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล ออกไป”
นี่คือคำประกาศของชาวตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ริมถนนหมายเลข 202 ยโสธร-อำนาจเจริญ บริเวณตรงข้ามตู้ยามบ้านเชียงเพ็งของสถานีตำรวจภูธรอำเภอป่าติ้ว เพื่อสะท้อนจุดยืนในการเคลื่อนไหว
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายหยัดสู้ต่อหลังโรงงานน้ำตาลได้ใบอนุญาต และลงมือก่อสร้าง โดยจะทำข้อมูลอีกด้านเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคาดหวังให้กกพ.ไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2561 ที่ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายกว่าร้อยคนซึ่งเป็นชาวตำบลเชียงเพ็ง ได้นัดหมายขึ้นป้ายผืนใหม่เพื่อแสดงจุดยืนโดยมีข้อความว่า “ไม่เอาโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล EIA หลอกลวงชาวบ้าน ทำลายชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อม” เพื่อทดแทนป้ายเดิมที่เก่าและชำรุด
กิจกรรมต่อมาคือสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์จะร่วมประชุมเพื่อสรุปผลการเดินทางไปเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2561 เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้เกี่ยวข้องให้สั่งยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัทมิตรผล ไบโอ-พาวเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด และทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาล ของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด ขนาด 20,000 ตันต่อวัน ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร
นางยี่สุ่น โรจนคุณธรรม ครูโรงเรียนชุมชนบ้านเชียงเพ็ง ร่วมคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าเนื่องจากได้รับข้อมูลไม่ชัดเจน
ชาวตำบลเชียงเพ็งไม่รู้เรื่องมาก่อนจึงต้องคัดค้าน
นางยี่สุ่น โรจนคุณธรรม ครูโรงเรียนชุมชนบ้านเชียงเพ็ง กล่าวว่า ชาวตำบลเชียงเพ็งคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้ามาตั้งแต่เริ่มแรกหลังรับรู้ข่าวสารจากชาวตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ พื้นที่ก่อตั้งโรงงาน เมื่อสองปีก่อน [ตำบลน้ำปลีกอยู่ติดกับตำบลเชียงเพ็งโดยมีลำน้ำเซบายคั่นกลาง] โดยก่อนหน้านั้นไม่มีผู้ใดบอกชาวตำบลเชียงเพ็งถึงการก่อตั้งโรงงาน ทั้งผู้ก่อสร้างโครงการ และหน่วยงานราชการ ทำให้ชาวบ้านต้องคัดค้านโรงงานเพราะไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน
“พอรู้ว่าจะมีการตั้งโรงงานชาวบ้านจึงออกมาร้องเรียน ซึ่งการแก้ไขปัญหา ตอบข้อสักถาม ข้อสงสัยของชาวบ้านมีความล่าช้ามาก กลุ่มอนุรักษ์ฯ เลยรวมตัวกันขึ้น และคัดค้านเรื่อยมา” นางยี่สุ่นกล่าว
นางยี่สุ่นบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไปให้ข้อมูลต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตามคำเชิญเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ช่วงแรกเหมือนจะชนะคือ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภคโครงการโรงงานน้ำตาล หรือ EIA โรงงานน้ำตาล แต่ปีต่อมาชาวบ้านเป็นฝ่ายแพ้เพราะ EIA โรงงานน้ำตาลกลับผ่านความเห็นชอบ
ทั้งนี้ โครงการโรงงานน้ำตาลได้นำ EIA โรงงานน้ำตาลไปปรับปรุง และเสนอเข้ามาใหม่ จนเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสให้ทางบริษัทที่ปรึกษาก่อสร้างโรงงานน้ำตาลกลับไปทำรายงานฉบับสมบูรณ์
ครูโรงเรียนชุมชนบ้านเชียงเพ็งกล่าวว่า เมื่อ EIA ผ่านชาวบ้านรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมจึงรวมตัวกันไปพบหน่วยงานราชการในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตอบว่า “ไม่มีอำนาจ อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง” ชาวบ้านจึงรวมตัวไปกรุงเทพฯ เป็นอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อแสดงเจตนายืนยันว่าชาวบ้านยังคัดค้านโครงการอยู่ แม้ว่าโรงงานจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว แต่ชาวบ้านยังกังวลเรื่องมลภาวะที่จะตามมา เช่น ควันพิษ รถติด น้ำเสีย และป่าถูกทำลาย
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายประชุมสรุปบทเรียนและกำหนดแนวทางการต่อสู้ ที่ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2561
บทเรียนของชาวบ้านจากการไปยื่นหนังสือ
หลังจากติดตั้งป้ายคัดเอาท์เสร็จในช้วงเช้า กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้กลับมาตั้งวงสรุปบทเรียนที่บ้านสวนของสมาชิกกลุ่มคนหนึ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนกันถึงบรรยากาศ ความรู้สึกของคนที่ไปกรุงเทพฯ และคนที่อยู่รอที่บ้าน ชาวบ้านส่วนมากที่ไปกรุงเทพฯ รู้สึกดีที่ได้มีโอกาสได้ไปเรียนรู้การต่อสู้ แม้จะมีความยากลำบากในการนอนค้างบริเวณข้างถนน และต้องเดินเท้าระยะทาง 5 กิโลเมตร แต่ทุกคนก็บอกว่า เป็นประสบการณ์ที่ดี มีพลังที่ฮึกเหิมกลับมาเพราะไปด้วยใจ ร่วมกันออกค่าใช้จ่ายเอง และไม่มีใครจ้าง
นายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย เผย การไปติดตามปัญหาที่กรุงเทพฯ ทำให้ชาวบ้านทราบถึงแนวทางการต่อสู้
นายสิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย เล่าว่า ผลการเจรจา เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านมองเห็นช่องทางในการต่อสู้ เพราะกระบวนการจัดทำ EIA ชาวตำบลเชียงเพ็งไม่มีส่วนร่วมตามที่กฏหมายระบุไว้จึงเกิดข้อสงสัยว่า EIA ผ่านความเห็นชอบและมีการออกใบรง.4 ได้อย่างไร และชาวบ้านยังพบเห็นกระบวนการออกใบอนุญาตว่าต้องผ่านขั้นตอนและหน่วยงานใดบ้าง โดยเจ้าหน้าที่ขอเวลาตรวจสอบข้อมูล และปรึกษากับทีมกฏหมายก่อน แต่ไม่สามารถตอบชาวบ้านได้ว่าจะให้ความชัดเจนได้เมื่อไหร่
ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเล่าด้วยว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เดินทางเข้าพบกับ นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำให้ชาวบ้านมีความชัดเจนขึ้นมากว่า กกพ. ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยรายงาน EIA มาถึง กกพ. เกือบ 2 เดือนแล้ว และอยู่ระหว่างการอ่านเอกสารรายงานความหนากว่า 4,000 หน้า ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านสามารถส่งข้อมูลเข้าไปเพิ่มเติมได้
นายสิริศักดิ์กล่าวด้วยว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจะใช้การสื่อสารรณรงค์ในพื้นที่และสาธารณะ เพื่อแสดงถึงความสำคัญของความอุดมสมบูรณ์ของดินน้ำป่าและลำเซบาย และนัดหมายสมาชิกให้มาร่วมกันสรุปข้อมูล ความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการยับยั้งการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยจะส่งข้อมูลไปยัง กกพ. เพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของคนตำบลเชียงเพ็งต่อไป
รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน เป็นผู้เข้าอบรมโครงการนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2561