โดย ปัทมา ราตรี
ยโสธร – สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายจากบ้านเซซ่ง ระบุ สวดมนต์ขอพรนักบุญยอแซฟให้เป็นกำลังใจในการต่อสู้กับโรงงานน้ำตาล ด้านสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์กลุ่มข้าวคุณธรรม แจง มีคนสมัครทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้นเพื่อไม่ให้มีโรงงานอยู่ในพื้นที่

พระครูสุกิจธรรมาพร เจ้าอาวาสวัดบ้านเชียงเพ็ง และเจ้าคณะตำบลกระจาย อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เจิมป้ายคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรไฟฟ้าเป็นขวัญกำลังใจให้กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2561 สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จำนวนกว่า 100 คน รวมตัวกันที่ถนนสาย 202 บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านเชียงเพ็ง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เพื่อขึ้นป้าย “ไม่เอาโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล EIA หลอกลวงชาวบ้าน ทำลายชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อม” แทนป้ายเก่า
หลังขึ้นป้ายเสร็จ สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายได้ไปรวมตัวกันในหมู่บ้านเชียงเพ็ง เพื่อสรุปบทเรียนการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการร่วมประชุมกับคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงการมีส่วนร่วมทรัพยากรและสุขภาพพื้น ที่จังหวัดยโสธร ระหว่างวันที่ 19 – 21 กันยายนที่ผ่านมา
กิจกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล ขนาด 20,000 ตันต่อวัน ของบริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธ์ จำกัด ที่กำลังก่อสร้าง และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 31 เมกะวัตต์ซึ่งกำลังขออนุญาตก่อสร้าง โดยทั้งสองโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งอยู่ติดกับตำบลเชียงเพ็งโดยมีลำน้ำเซบายคั่นกลาง ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้แสดงออกมาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าสองปี

นางสุลัดดา ถาวรพัฒน์ (คนขวา) สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย บอกว่า ตนยึดถือนักบุญยอแซฟเป็นแบบอย่างในการต่อสู้
นางสุลัดดา ถาวรพัฒน์ สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จากบ้านเซซ่ง ตำบลเชียงเพ็ง ซึ่งอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงงานน้ำตาล ได้ร่วมคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล มาตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าสองปี เล่าถึงเหตุผล ความเชื่อ และความหวัง ที่เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงการต่อสู้ว่า
“แม่เชื่อว่า เหนือฟ้ายังมีฟ้า ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ บ้านเซซ่งนับถือคริสต์ทั้งหมู่บ้าน ประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของนักบุญยอแซฟเหยียบเรือเป็นตัวอย่างที่ดี” [นักบุญยอแซฟเป็นตัวอย่างของการเสียสละเพื่อชุมชน]
นางสุลัดดากล่าวว่า ตนสวดมนต์ขอพรนักบุญยอแซฟทุกวัน ส่วนชาวบ้านสวดมนต์ร่วมกันทุกวันเสาร์ ตนเชื่อว่าซื่อกินไม่หมดคดกินไม่นาน การตั้งโรงงานน้ำตาลถือว่าเป็นการมาปล้นชาวบ้าน ทั้งๆ ที่รู้ว่าชาวบ้านไม่ต้องการ
นางยืนยง ธรรมสาร สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์กลุ่มข้าวคุณธรรม บอกว่า วิกฤตครั้งนี้ [การตั้งโรงงานน้ำตาล] เป็นโอกาสที่ทำให้ชาวบ้านเชียงเพ็งจากเดิมต่างคนต่างอยู่ ก็มาร่วมใจกัน มีความสามัคคี มีความอบอุ่น และพร้อมเพียง สังเกตได้จากปีนี้มีผู้สมัครทำเกษตรอินทรีย์ระดับรับรองด้วยมาตรฐานเยอรมันเพิ่มขึ้นถึง 20 ราย เพื่อใช้เป็นประเด็นต่อสู้ เนื่องจากกติกาของเกษตรอินทรีย์มาตรฐานเยอรมันนั้นแปลงเกษตรจะต้องอยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม
นางยืนยงกล่าวว่า ก่อนการก่อตั้งโรงงานสำเร็จ น้ำจากลำน้ำเซบายก็ไม่เพียงพอสำหรับประชาชนสองฝั่งน้ำอยู่แล้ว คนในชุมชนจึงรู้ว่าหากมีโรงงานเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบตามมา ตนจึงคัดค้านตามสิทธิที่มีโดยไม่ได้กังวลว่าจะแพ้หรือชนะ เพราะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้
“เราทำสุดความสามารถ ทำอะไรได้ก็ทำ ให้ความร่วมมือทุกรูปแบบ มั่นใจลึกๆ ว่า เราสู้ได้ เพราะเราทำตามช่องทางกฏหมาย ทำตามหลักการ ตามสิทธิของเราเต็มที่” นางยืนยงกล่าวและว่า คนที่ไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิของเขา ตนไม่นำเรื่องนั้นมาเป็นปัญหา

นายพรเทพ รูปหล่อ กำนันตำบลเชียงเพ็ง หนักใจกับปัญหาที่จะเกิดผลกระทบในพื้นที่จากการตั้งโรงงานน้ำตาล
นายพรเทพ รูปหล่อ กำนันตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เล่าถึงการต่อสู้คัดค้านว่า หนักใจที่พลังชาวบ้านต้องสู้กับพลังนายทุน ตำบลเชียงเพ็งตั้งอยู่ปลายน้ำจากที่ตั้งของโรงงานในรัศมี 5 กิโลเมตร ต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่คนตำบลเชียงเพ็งไม่สามารถเจรจา และใช้ขั้นตอนทางกฏหมายกับโรงงานได้ เนื่องจากโรงงานตั้งอยู่ที่ตำบลน้ำปลีก ตนจึงอยากให้นักกฏหมายมาชี้นำแนวทางการต่อสู้ทางกฎหมายให้แก่ชาวบ้าน ส่วนภาครัฐก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชน
นายศิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย เปิดเผยว่า เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การต่อสู้คัดค้านโรงงานน้ำตาลเข้มแข็งและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือประชาชน โดยเฉพาะประชาชนตำบลเชียงเพ็งที่มีจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์
“เริ่มแรกในการต่อสู้ พี่น้องก็หวั่นๆ กังวล กลัวถูกจับ ด้วยความไม่รู้กฏหมายและสิทธิของตนเอง ต้องอาศัยคนภายนอกมาช่วยกำลังใจ ให้ข้อมูล แต่คนที่นี้ก็รวมกันได้ เว้าฟังควมกัน” นายสิริศักดิ์กล่าว
ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายกล่าวด้วยว่า การเก็บเกี่ยวชัยชนะตลอดเส้นทางการเคลื่อนไหวเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดความตื่นตัวและเชื่อมั่น
“เมื่อลงมือทำแล้วไม่สำเร็จ ไม่ได้รับความร่วมมือ เราก็เลือกวิธีการใหม่ การเรียนรู้ในทุกๆ การต่อสู้ คือ ชัยชนะ” นายสิริศักดิ์กล่าวและว่า “แต่ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ควรให้พี่น้องในชุมชน เป็นผู้กำหนดอนาคต และทิศทางการพัฒนา”
ปัทมา ราตรี เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2561