โดย ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์

ยโสธร – รองนายกอบต.เชียงเพ็งคาด โรงงานน้ำตาลจะสร้างปัญหาจราจรในพื้นที่จากจำนวนรถบรรทุกอ้อยวิ่งไปกลับวันละเกือบพันเที่ยว ทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้นไม้ใหญ่สองข้างทางก็อาจถูกตัดโค่นเพื่อขยายถนน

นายประวิทย์ วิทยาศิลป์ และน.ส.มันธนารัตน์ รุ่งเรือง กรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กังวลว่าต้นไม้ใหญ่ริมถนนใกล้เคียงกับบริเวณโรงงานน้ำตาลอำนาจเจริญจะต้องถูกตัดโค่นเพื่อรองรับปริมาณรถขนส่งอ้อย

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2561 นายประวิทย์ วิทยาศิลป์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร และนางสาวมันธนารัตน์ รุ่งเรือง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ในฐานะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซบาย พาผู้อบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด รุ่นที่ 3 ครั้งที่ 4 ลงพื้นที่สำรวจถนนสายยโสธร-อำนาจเจริญ ซึ่งเป็นถนนสองช่องทางจราจร บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านหนองแสง ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร โดยสองข้างทางมีต้นไม้ขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายอุโมงค์

นายประวิทย์เปิดเผยว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายคือกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาดกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน ของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกกะวัตต์ ที่ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งจะต้องใช้เชื้อเพลิงจากอ้อยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากเกรงว่า หากมีโรงงานในพื้นที่จะเกิดผลกระทบตามมา อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเสียจากโรงงานอาจซึมลงในชั้นดินของลำน้ำเซบาย และลำน้ำสาขา ซึ่งจะทำให้คนในพื้นที่ไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการบริโภคและการเกษตรได้ ด้านปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้งานเนื่องจากการแย่งชิงน้ำจากลำน้ำเซบายระหว่างคนในพื้นที่กับโรงงาน และด้านมลพิษทางอากาศ เช่น กลิ่นและฝุ่นละออง จากกระบวนการผลิตของโรงงานต่อประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงงาน

นอกจากผลกระทบดังกล่าวแล้ว การเกิดขึ้นของโรงงานสร้างยังจะทำให้ปริมาณการจราจรในท้องถนนหนาแน่นขึ้นจากจำนวนรถขนส่งอ้อยที่จะมีปริมาณมาก รองนายก อบต.เชียงเพ็ง กล่าวว่า หากมีรถเพิ่มขึ้นอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ อาทิ การจราจร ฝุ่นละออง เศษอ้อยหล่น และถนนชำรุด ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น รวมถึงต้นไม้ขนาดใหญ่สองข้างทางอาจจะถูกตัดโค่นเพื่อขยายถนนรองรับรถบรรทุกอ้อย

นายประวิทย์กล่าวอีกว่า เมื่อ 2 ปีก่อน รถบนถนนเส้นนี้มีไม่มากเพราะส่วนใหญ่มีแค่รถของคนในพื้นที่และรถโดยสารประจำทางใช้สัญจร แต่ปัจจุบันขณะก่อสร้างโรงงานน้ำตาลมีรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ามาใช้ถนนด้วยซึ่งทำให้ถนนชำรุด

นายประวิทย์ วิทยาศิลป์ รองนายกอบต.เชียงเพ็ง เชื่อว่าโรงงานน้ำตาลจะทำให้มีอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น

รองนายกอบต.เชียงเพ็ง กล่าวอีกว่า ตนทราบข้อมูลว่า หากมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีปริมาณรถบรรทุกอ้อยแล่นเข้าออกโรงงานวันละ 420 คัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณรถขนาดใหญ่บนถนนเพิ่มขึ้น และอาจจะทำให้ประชาชนในชุมชนที่ใช้ถนนเส้นนี้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากรถขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องขับขี่รถจักรยานยนต์บนถนนเส้นนี้เพื่อรับส่งลูกหลานไปกลับโรงเรียน

“ยิ่งในช่วงที่รถใหญ่แซงรถเล็ก หรือรถเล็กแซงรถใหญ่ก็จะแซงไม่พ้น เข้าเลน [ช่องทางจราจร] ไม่ได้ก็จะเกิดอุบัติเหตุ ปัจจุบันยังไม่มีรถบรรทุกมากขนาดนั้น อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งอยู่แล้ว” รองนายกอบต.เชียงเพ็ง

เมื่อปริมาณรถเพิ่มขึ้นอาจจะส่งผลต่ออนาคตของต้นไม้หากมีการขยายถนนเพื่อรองรับการจราจร นายประวิทย์กล่าวว่า ต้นไม้ขนาดใหญ่สองข้างทางลักษณะคล้ายอุโมงต้นไม้บนถนนเส้นนี้อาจจะถูกตัดทิ้ง โดยต้นไม้ขนาดใหญ่บางต้นมีอายุมากกว่า 40 ปี

“อุโมงต้นไม้อันเป็นมนต์เสน่ห์บนเส้นนี้ของชุมชนจะหายไป เพราะเมื่อมีรถมากขึ้น ก็ต้องขยายถนนเพื่อรองรับ ซึ่งจะต้องแลกด้วยการตัดต้นไม้ใหญ่สองข้างทาง”  นายประวิทย์กล่าว

ปากทางเข้าโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตัน/วัน ของบริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จำกัด

นางสาวมันธนารัตน์กล่าวเสริมว่า ผู้ใช้รถจักรยานยนต์จะสัญจรด้วยความลำบากหากปริมาณการจราจรหนาแน่นขึ้น  

“รถที่ไม่เคยเจอก็เจอ รถที่ไม่เคยเห็นก็เห็น กังวลต่อปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นง่ายและบ่อย ชาวบ้านที่จะต้องเดินทางข้ามถนนเพื่อไปนาก็มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ” นางสาวมันธนารัตน์กล่าวทิ้งท้าย

 

ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์ เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2561

image_pdfimage_print