การพูดคุยอภิปรายกันเรื่องผู้หญิงอีสานย้ายถิ่นในสังคมไทยส่วนมากถูกครอบงำด้วยประเด็นด้านการค้ามนุษย์และงานบริการทางเพศมานานแรมปี โดยยังขาดมุมมองที่มาจากผู้หญิงย้ายถิ่นเองและญาติพี่น้องของเธอ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีงานศึกษาจากทั้งนักวิชาการไทยและต่างชาติมากขึ้นที่ทำให้เห็นว่า ผู้หญิงอีสานที่อยู่ต่างประเทศนั้นไม่ได้เป็นแค่ “นางบำเรอ” “เมียฝรั่ง” หรือ “สาวชนบทที่ไม่นิยมเรียนหนังสือ” แต่เป็นกลุ่มคนที่ต้องแบกรับภาระอันเกิดขึ้นเนื่องจากระบบสวัสดิการสังคมของภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพและการพัฒนาสนับสนุนช่วยเหลือชุมชนหมู่บ้านทุรกันดารของรัฐที่ไม่ทั่วถึง

งานกิจกรรมฉายหนังสารคดี เรื่อง “Heartbound – A Different Kind of Love Story” / “เมืองแห่งหัวใจ – รักที่แตกต่าง” (2018) ภาพยนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตผู้หญิงอีสานที่ได้แต่งงานกับชายชาวเดนมาร์ก ซึ่งภายหลังกิจกรรมการชมหนังมีเวทีเสวนาในหัวข้อเรื่อง  “อีสานโพ้นทะเล : การย้ายถิ่นและการแต่งงานข้ามแดนในทัศนะใหม่” เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่งานเทศกาลศิลปะ “Khonkaen Manifesto” โดยกิจกรรมฉายหนังเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งที่จัดขึ้นโดยเดอะอีสานเรคคอร์ดภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์

งานนี้ได้รับความสนใจจากนักชมภาพยนตร์ นักคิด นักเขียน ศิลปิน นักศึกษา ครู อาจารย์ รวมถึงประชาชนทั่วไปกว่า 100 คน ทำให้ห้องฉายหนังขนาดเล็กที่ติดตั้งเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ขนาดพกพาเพื่อฉายบนผนังปูนเปลือยไม่สามารถจุคนได้เพียงพอ บางคนจึงต้องพลาดโอกาสเข้ารับชม

หนังสารคดีเรื่อง “Heartbound” ฉายในประเทศไทยครั้งแรกอย่างไม่เป็นทางการ ภายในโรงหนังสุ่มไก่ จ.ขอนแก่น ซึ่งนอกจากฉายที่ประเทศไทยแล้ว ขณะนี้หนังสารคดีเรื่องนี้กำลังเดินทางไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลกอีกด้วย

“Heartbound” คือหนังสารคดีที่ยานูส เม็ทส์ (Janus Metz) ผู้กำกับหนังชื่อดังชาวเดนมาร์ก และ ซิเน่ พลามเบค (Sine Plambech) ผู้กำกับและนักวิจัยมนุษยวิทยาจากสถาบันเดนมาร์กเพื่อการศึกษาระหว่างประเทศ (Danish Institute for International Studies) ได้ใช้เวลาถ่ายทำนานกว่า 10 ปี โดยสารคดีพาผู้ชมติดตามชีวิตของผู้หญิงชาวอีสานที่แต่งงานกับชายชาวเดนมาร์ก ซึ่งอพยพย้ายถิ่นไปใช้ชีวิตที่เมืองทรุ เมืองดั้งเดิมขนาดเล็กที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลในตอนเหนือของประเทศเดนมาร์ก ทั้งนี้ กระแสการแต่งงานระหว่างหญิงชาวไทยกับชายชาวเดนมาร์กที่เมืองแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อราว 25 ปีก่อน หลังจากที่ผู้หญิงไทยคนแรก ผู้ซึ่งเป็นอดีตผู้หญิงทำงานกลางคืนที่พัทยา ได้แต่งงานกับผู้ชายชาวเดนมาร์กคนหนึ่ง เขาพาเธอย้ายมาอยู่ที่นี่ด้วยกัน และหลังจากที่ย้ายมาอยู่ที่เมืองทรุ เธอก็ได้ช่วยให้หนุ่มโสดชาวเมืองทรุที่เคว้งคว้างและโหยหาความรักได้สมหวังกับหญิงสาวจากหมู่บ้านของเธอมาหลายต่อหลายคน

เดนมาร์กมีคนไทยอาศัยอยู่กว่า 12,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

งานวิจัยของซิเน่ พลามเบค หนึ่งในผู้กำกับหนังเรื่องนี้ระบุว่า ข้อมูลจากองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติปี 2560 เผยว่า จำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานทั่วโลก 244 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง และผู้หญิงที่ย้ายถิ่นส่วนมาก คือ ผู้หญิงที่เดินทาง,kจากประเทศที่ยากจนโดยลำพัง ซึ่งถูกนิยามว่าเป็น “ผู้ย้ายถิ่นที่ทำงานดูแล” (care migrants) โดยมักจะทำงานภาคบริการต่าง ๆ ในประเทศที่ร่ำรวยอย่างประเทศเดนมาร์ก เช่น แม่บ้าน พยาบาล พี่เลี้ยงเด็ก รวมถึงขายบริการทางเพศ เป็นต้น

ประเทศเดนมาร์ก มีประชากรทั้งหมดราว 5.8 ล้านคน และมีคนเชื้อสายไทยอาศัยอยู่ 12,625 คน ซึ่งในเหล่าบรรดาคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศเดนมาร์กนั้น กลุ่มประชากรไทยอพยพถือว่ามีจำนวนมากเป็นอันที่ 11 จากจำนวนคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ทั้งหมด

จากจำนวนคนไทยทั้งหมด 10,494 คน นั้น คิดเป็นผู้หญิงประมาณร้อยละ 83 จึงเห็นได้ชัดว่าในเหล่าบรรดาคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศเดนมาร์ก กลุ่มคนไทยที่เป็นผู้หญิงมีอัตราส่วนสูงที่สุด และผู้หญิงไทยเหล่านี้มักอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเดนมาร์กเกือบร้อยละ 90

จากปี 2551 ถึงปี 2560 มีจำนวนผู้หญิงไทยที่อายุ 20 ปีขึ้นไปย้ายถิ่นไปอยู่ที่ประเทศเดนมาร์กเพิ่มขึ้นร้อยละ 65

นอกจากผู้หญิงเดนมาร์กแล้ว ผู้หญิงไทยเป็นกลุ่มที่ได้แต่งงานกับผู้ชายชาวเดนมาร์กมากที่สุด โดยตั้งแต่ปี 2542 มีคู่สมรสระหว่างผู้หญิงไทยและชายชาวเดนมาร์กเเฉลี่ย 253 คู่ ต่อปี และมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 400 คู่ในช่วงปี 2553 ถึงปี 2555 และมีอายุแตกต่างกันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10 ปี ชายชาวเดนมาร์กจะมีอายุประมาณ 40 ถึง 49 ปีและผู้หญิงไทยมีอายุประมาณ 30 ถึง 39 ปี

ประชากรชาวไทยทั้งหมดในประเทศเดนมาร์กมีจำนวน 10,494 คน คิดเป็นผู้หญิงประมาณร้อยละ 83 (ภาพฉากหนังสารคดีเรื่อง “Heartbound”)

รัฐไทยกระจายความมั่งคั่งให้คนไม่เท่ากัน ผู้หญิงจึงต้องค้นคว้าหาโอกาส

สำหรับผศ.ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพหุวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล แล้ว ปรากฏการณ์การแต่งงานกับชาวต่างชาติของผู้หญิงอีสานที่เธอเรียกว่า “การข้ามชาติ” เธอมองว่า ผู้หญิงอีสานที่ข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจและมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่สูง แต่สามารถข้ามชาติ ข้ามพรมแดนได้โดยผ่านกระบวนการแต่งงานกับชาวต่างชาติ ซึ่งผู้หญิงกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เดินทางไปแค่ตัวคนเดียว เธอเหล่านี้ยังได้นำเอาครอบครัว คนในชุมชนในหมู่บ้านของเธอข้ามชาติไปด้วย

ผศ.ดร.ศิริจิตกล่าวอีกว่า ผู้หญิงเหล่านี้ใช้พื้นที่ท่องเที่ยวอย่างพัทยาเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่จะได้ใช้ความเป็นผู้หญิงของตนเพื่อแสวงโอกาสสร้างชีวิตใหม่กับชายชาวต่างชาติ ด้วยหวังที่จะหลุดพ้นจากปัญหาความเสียเปรียบด้านเศรษฐกิจที่ตัวเธอและครอบครัวกำลังเผชิญอยู่

“จะว่าไปเพราะรัฐไทยไม่มีประสิทธิภาพในการกระจายทรัพยากรและความร่ำรวยต่าง ๆ ให้กับประชากรได้ทั่วถึง ผู้หญิงบางคนบางกลุ่มจึงต้องพยายามหาช่องทางของตัวเองเพื่อก้าวพ้นอุปสรรคที่เธอและครอบครัวกำลังเผชิญอยู่” ผศ.ดร.ศิริจิตกล่าว

ผศ.ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพหุวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล 

ความเห็นข้างต้นของผศ.ดร.ศิริจิตคล้ายกับ ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ ประธานหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาสาขาวิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.ขอนแก่น ที่ศึกษาวิจัยเรื่อง “การแต่งงานข้ามชาติของผู้หญิงอีสาน” ที่วิเคราะห์ว่าผู้หญิงอีสานใช้พื้นที่พัทยาเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติด้วยความรักเพื่อหวังจะมีชีวิตที่ดีขึ้นนั้น โดยดร.พัชรินทร์เชื่อว่ารูปแบบความสัมพันธ์ที่ผู้หญิงอีสานมีกับชาวต่างชาตินั้นไม่ใช่การขายบริการทางเพศเหมือนอย่างในอดีตแล้ว

“งานศึกษาการแต่งงานข้ามชาติของผู้หญิงอีสานตั้งแต่ปี 2543 เรื่อยมา ผู้หญิงอีสานไม่ได้ไปพัทยาเพื่อขายบริการทางเพศเหมือนในอดีต แต่ไปเพื่อพบปะ สังสรรค์กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพื่อหวังจะได้แต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกัน”

ดร.พัชรินทร์กล่าวอีกว่า รูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่การขายบริการทางเพศจะเป็น ความสัมพันธ์ที่ยาวนาน ซึ่งอาจทำให้ชีวิตของผู้หญิงอีสานคนนั้นและครอบครัวเปลี่ยนไปในทางที่ดีด้วย

ดร.พัชรินทร์ตั้งข้อสังเกตอีกว่า เมื่อพูดถึงประเด็นผู้หญิงอีสานแต่งงานกับชาวต่างชาติเพราะต้องการเงินจากชาวต่างชาตินั้น แสดงว่าสังคมคนอีสานยังมีความเชื่อติดกรอบความคิดที่ว่า เพศหญิงยังต้องเป็นเพศที่ต้องรับผิดชอบหาเงินมาดูแลลูก ดูแลครอบครัว ซึ่งเป็นคำถามต่อมาว่า ทำไมภาระการเลี้ยงดูลูกถึงจะต้องตกเป็นภาระของผู้หญิง ตนอยากชวนให้คิดต่อเรื่องนี้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงที่สังคมคาดหวังหรือไม่

“บางคนคิดว่าประเด็นนี้ ลูกผู้หญิงต้องทำหน้าที่เป็นลูกกตัญญูเลี้ยงดูแลพ่อแม่ คำถามคือว่า ทำไมผู้หญิงเป็นลูกกตัญญูต้องเลี้ยงพ่อแม่โดยวิธีการนี้ แล้วผู้ชายไม่ทำหน้าที่เลี้ยงดูพ่อแม่หรือ ประเด็นนี้มันโยงไปถึงเรื่องบทบาทหญิงชายที่ในสังคมคาดหวังด้วย” ดร.พัชรินทร์กล่าว

ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ ประธานหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาสาขาวิชาสังคมวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า ผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติจะกลายเป็นชนชั้นใหม่ในสังคมชนบทอีสาน มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ภรรยาชาวต่างชาติคือชนชั้นใหม่ในสังคมชนบทอีสาน

จากงานศึกษาของดร.พัชรินทร์ เธอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติเหล่านี้จะกลายเป็นชนชั้นใหม่ในสังคมอีสาน โดยเฉพาะในชนบท เธอเชื่อว่าหากใครเข้าไปในหมู่บ้านชนบทในอีสานแล้ว จะพบเห็นบ้านหลังใหญ่ ๆ สวย ๆ ราคาแพงมีอยู่มากมาย

“เมื่อคนเห็นบ้านหลังใหญ่ หลายคนตั้งคำถามว่า นี่คือบ้านเขยฝรั่งใช่ไหม เพราะลักษณะของบ้านจะคล้ายบ้านจัดสรรในเมือง ที่มีการประดับตกแต่งสวยงาม มีเฟอร์นิเจอร์ มีข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่เหมือนในบ้านอื่นทั่วไปในชนบท”ดร. พัชรินทร์กล่าว

ความเห็นของดร.พัชรินทร์ข้างต้นสอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ครัวเรือนผู้หญิงที่แต่งงานข้ามวัฒนธรรมในชนบทอีสาน” ของทิพย์สุดา ปรีชาพันธุ์ และดุษฏี อายุวัฒน์ (2558) สาขาวิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ที่ระบุว่า ครัวเรือนผู้หญิงที่สมรสกับชาวตะวันตกจะมีเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก เป็นครัวเรือนที่มีรายได้และทรัพย์สินเพิ่มขึ้น มีการออมเงินและไม่มีหนี้สิน เพราะสามีชาวตะวันตกจะรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้านของฝ่ายหญิงทั้งหมด และชาวตะวันตกจะซื้อที่ดินและสร้างบ้านหลังใหญ่ให้ใหม่ รวมถึงซื้อยานพาหนะ เช่น มอเตอร์ไซต์ รถยนต์ และยังต่อเติมบ้านหลังเก่าของฝ่ายหญิงให้ใหม่ ตลอดจนชำระหนี้สินของฝ่ายหญิงให้หมดอีกด้วย

ผู้หญิงควรขายบริการทางเพศได้อย่างเสรี

แม้ว่าผู้หญิงอีสานอาจจะไม่ได้ไปพัทยาเพื่อขายบริการทางเพศเหมือนในอดีต เรื่องสิทธิผู้หญิงในการขายบริการทางเพศยังเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้อาชีพขายบริการทางเพศถูกฎหมาย

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ประธานเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์และผู้ประสานงานมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER) มูลนิธิที่ทำงานผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิผู้หญิงในการขายบริการทางเพศอย่างถูกกฎหมาย เธอคิดว่าประเด็นเรื่องผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ มีเรื่องการขายบริการทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จากประสบการณทำงานเกี่ยวกับผู้หญิงขายบริการมากว่า 20 ปี เธอพบว่าร้อยละ 80 ของผู้หญิงที่ทำงานขายบริการทางเพศเป็นผู้หญิงที่เคยมีลูกมาแล้ว ผู้หญิงบางคนเป็นผู้นำครอบครัวต้องหาเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ พวกเธอเลือกที่จะเข้าสู่อาชีพขายบริการทางเพศ เพราะว่าต้องการที่จะยกสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของตัวเองให้สูงขึ้น ผู้หญิงเหล่านี้ต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเงินไว้ดูแลตัวเองและคนในครอบครัวให้ได้

ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ประธานเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์และผู้ประสานงานมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER) มูลนิธิที่ทำงานผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิผู้หญิงในการขายบริการทางเพศอย่างถูกกฎหมาย

“ไม่ใช่แค่ตัวเขา เขาทำทุกอย่างเพื่อคนรักและครอบครัว ทำให้ผู้หญิงหลายคนตัดสินใจที่จะเข้าสู่อาชีพนี้ เพราะว่าอาชีพนี้สามารถให้รายได้เพื่อชีวิตที่ดีของเขาและครอบครัว” ทันตากล่าว

ทั้งนี้ ทันตายังกล่าวอีกว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงถูกปิดกั้นไม่ให้ทำอาชีพขายบริการทางเพศ เพราะว่าสังคมคาดหวังกับเพศหญิงว่าต้องเป็นคนอ่อนหวาน ต้องแต่งงานกับผู้ชายที่ดี ต้องอยู่บ้านทำงานบ้านได้ ต้องมีลูกและต้องเลี้ยงดูสามีและลูก ซึ่งตนคิดว่าถือเป็นความเชื่อที่ล้าหลัง ที่มีผลให้ประเทศไทยต้องมีกฎหมายพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีมาปิดกั้นเสรีภาพในการทำอาชีพขายบริการทางเพศของผู้หญิง

ฉากหนึ่งในหนังสารคดีเรื่อง “Heartbound” ซึ่สมหมาย (สวมเสื้อสีดำ) และสามีกลับมาเยือนเมืองพัทยา เมื่อประมาณ 25 ปีก่อนทั้งคู่พบรักกันที่นี่ขณะที่สมหมายทำงานที่บาร์แห่งหนึ่ง

“คิดว่าจริง ๆ แล้วผู้หญิงควรมีสิทธิในการทำอาชีพนี้ เพราะนี่คือสิทธิในเนื้อตัวและร่างกายผู้หญิง ในการที่จะใช้ร่างกายในการหารายได้เพื่อความมั่นคงในชีวิตตัวเองและครอบครัว ไม่ควรมีกฎหมายมาบอกว่าอาชีพนี้ผิดกฎหมาย” ทันตากล่าว

สิ่งที่ทันตาเชิญชวนให้ผู้หญิงที่ทำอาชีพขายบริการทางเพศทำคือ ผลักดันให้เกิดการยกเลิกกฎหมาย พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่ได้ให้ประโยชน์กับผู้หญิงที่ต้องการทำงานขายบริการทางเพศ ตนคิดว่าควรยกเลิกกฎหมายนี้แล้วให้ผู้หญิงที่ต้องการทำอาชีพขายบริการทางเพศ สามารถทำอาชีพนี้ได้ถูกกฏหมายภายใต้กฎหมายแรงงานที่มอบสิทธิต่าง ๆ คล้ายกับอาชีพบริการทั่วไป   

 

image_pdfimage_print