สิงคโปร์ – ประเทศไทยเสนอประเด็นให้ผู้นำประเทศเจ้าภาพอาเซียนซัมมิทต้องมาจากการเลือกตั้งในเวทีภาคประชาชนอาเซียนได้สำเร็จ ขณะที่ตัวแทนจากจ.อุบลราชธานี และจ.สุรินทร์ ไม่ประทับในการจัดงานเพราะขาดการมีส่วนร่วม  

การจัดเวทีมหกรรมภาคประชาชนอาเซียน ประจำปี 2561 (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN Peoples’ Forum 2018 – ACSC/APF 2018) มีขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่สมาคมผู้สำเร็จการศึกษาของสิงคโปร์โปลีเทคนิค (Singapore Polytechnic Graduates Guild – SPGG) ประเทศสิงคโปร์

เวทีมหกรรมภาคประชาชนอาเซียนได้รับการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศที่เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ซึ่งปีนี้สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 11 – 15 พฤศจิกายนนี้ โดยเวทีภาคประชาชนเริ่มต้นครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซียเมื่อปี 2548

เวทีนี้มีตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมหลายสิบคน แต่ส่วนใหญ่มาจากสองกลุ่ม ได้แก่ คณะกรรมการรากหญ้าอาเซียน (ประเทศไทย) (ASEAN Grassroots Committee (AGC) Thailand) และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

การจัดประชุม ACSC/APF 2018 ที่คณะกรรมการภาคประชาชนสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพค่อนข้างไม่ราบรื่นเนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์ไม่สนับสนุนการจัดเวที ประกอบกับงบประมาณที่มีจำกัด ทำให้สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้เพียง 200 คน โดยแบ่งโควต้าให้ชาติละ 20 คน (มีผู้เข้าร่วมน้อยกว่าหลายเวทีที่ผ่านมา อาทิที่ฟิลิปปินส์เมื่อปีที่ผ่านมา) อีกทั้ง การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมเวทีล่าช้า ส่งผลให้ตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซียจำนวนหนึ่งถอนตัว ทั้งนี้ การจัดงานไม่มีสื่อมวลชนจากสิงคโปร์เข้ามาทำข่าวแต่อย่างใด

“ใกล้ถึงวันจัดงานแล้วสิงคโปร์ยังไม่ตอบรับกลับมา แต่เราจำเป็นต้องซื้อตั๋วเครื่องบินก่อน ไม่อย่างนั้นตั๋วจะแพงกว่านี้” ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวถึงความฉุกละหุกในการนำกรรมการรากหญ้าอาเซียน (ประเทศไทย) และเครือข่าย จำนวน 18 ชีวิต ไปยังประเทศที่ตั้งอยู่สุดปลายแหลมมาลายู

เวทีบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอาเซียนได้รับ ที่สมาคมผู้สำเร็จการศึกษาของสิงคโปร์โพลีเทคนิค ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2561

โปรแกรมการเยือนสิงคโปร์กำหนดไว้ 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-5 พ.ย. 2561 วันแรกและวันสุดท้ายเป็นวันเดินทางจากกรุงเทพฯ และหาดใหญ่ไปกลับสิงคโปร์ คณะจากกรุงเทพฯ จำนวน 14 คนเดินทางถึงที่พักในช่วงค่ำ ส่วนคณะจากหาดใหญ่ 4 คนเดินทางไปถึงก่อนหน้าแล้ว เมื่อทั้งหมดถึงที่พักในคืนวันที่ 1 พ.ย. 2561 มีการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมเล็กน้อยก่อนไปยังสิงคโปร์โพลเทคนิคในวันถัดไป

การจัดงานวันแรก (2 พ.ย. 61) เป็นการพูดในเวทีใหญ่โดยให้ผู้ร่วมประชุมทุกคนเข้ารับฟัง รายการที่น่าสนใจช่วงเช้า ได้แก่ การบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนควรรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่ได้รับจากการพัฒนา รายการช่วงบ่าย ได้แก่ ช่วงรายงานข่าวจากภาคประชาสังคม ซึ่งมีการพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเรียกร้องให้ภาคประชาสังคมทำธุรกิจติดต่อค้าขายกันเองในอาเซียน

ช่วงเย็นเป็นกิจกรรมย่อย อาทิ กิจกรรมทัวร์ในบูกิตบราวน์กับเต็ง เคียต ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปเยี่ยมชมสุสานคนจีน (ฮวงซุ๊ย) ที่จะต้องถูกรื้อถอนเพื่อให้เกิดโครงการพัฒนา และกิจกรรมเดินศึกษาผู้อพยพ กิจกรรมนี้ต้องการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สัมผัสกับการเป็นผู้อพยพว่าต้องประสบกับสถานการณ์ใดบ้าง เช่น การสร้างที่พักชั่วคราว การข้ามพรมแดน การพลัดพรากจากครอบครัว และการหางานทำ

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ฮวงซุ๊ยแห่งหนึ่งที่ต้องถูกรื้อถอนเพื่อรองรับการก่อสร้างถนน ในกิจกรรมทัวร์ในบูกิตบราวน์กับเต็ง เคียต ภาพจากคณะกรรมการรากหญ้าอาเซียน (ประเทศไทย)

การจัดเวทีและกิจกรรมในวันแรกสายกว่ากำหนดการณ์ตั้งแต่งานช่วงเช้าทำให้กิจกรรมต่อมาล่าช้าไปด้วย

วันที่สองของเวที (3 พ.ย. 61) เป็นการประชุมกลุ่มย่อยทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย ซึ่งแบ่งเป็นออกเป็น 6 กลุ่ม อาทิ

เวทีการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรม มีการพูดถึงผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติทำให้เกิดผลกระทบจากการขึ้นลงของน้ำที่ไม่เป็นธรรมชาติตามฤดูกาล ต่อคนในพื้นที่ อาทิ ไทย ลาว และกัมพูชา โดยคำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส ได้นำเสนอปัญหาของเกษตรกรในจังหวัดอุบลราชธานีที่พื้นที่เกษตกรรมเสียหายจากน้ำท่วมเนื่องจากเขื่อนในประเทศจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขง และรายได้จากการจับปลาของชาวบ้านลดลงกว่า 10 เท่าตัว จนชาวบ้านต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการหาปลาและปลูกผักไปเป็นการซื้ออาหารสดจากตลาด

ในเวทีนี้ยังพูดถึงผลกระทบจากกรณีเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อยแตกที่แขวงอัตบือ สปป.ลาว โดยเปรมฤดี ดาวเรือง จากเครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว ทำให้ภาคประชาชนจากประเทศลาวโต้แย้งว่า คนลาวมีสิทธิที่จะพัฒนาประเทศ และปัญหาประมงในแม่น้ำโขงเกิดจากเรื่องอื่นด้วยไม่ใช่เกิดจากเขื่อนอย่างเดียว (ภาคประชาชนจากประเทศลาวเป็นตัวแทนที่รัฐบาลลาวส่งเข้าร่วมประชุม)

คำปิ่น อักษร ผู้สื่อข่าวพลเมืองไทยพีบีเอส (ที่ 2 จากซ้าย) และ เปรมฤดี ดาวเรือง (ที่ 3 จากซ้าย) พูดถึงผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ภาพจากคณะกรรมการรากหญ้าอาเซียน (ประเทศไทย)

เวทีการเคลื่อนย้ายที่ปลอดภัยของผู้ย้ายถิ่น มีการพูดถึงสถานการณ์ของชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์ โดยนักกิจกรรมหลายคนรวมถึงนักกิจกรรมชาวเมียนมาร์ที่ต้องปกปิดตัวตนเพื่อความปลอดภัย ช่วงของการสอบถามถึงความคืบหน้าของสถานการณ์แต่ก็ไม่ได้รับตอบจากเวที รวมถึงมีการสอบถามถึงความต้องการที่แท้จริงจากปากชาวโรฮิงญาซึ่งก็ไม่ได้รับคำตอบเช่นกัน

เวทีสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม/ความยุติธรรม ในเวทีนี้ ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ได้ร่วมเป็นผู้นำเสนอประเด็นด้วย โดยข้อหนึ่งที่เสนอคือเรียกร้องให้ชาติที่จะเป็นประธานการประชุมอาเซียนซัมมิทต้องมีรัฐบาลมาจากตัวแทนของประชาชน (การเลือกตั้ง) ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้ถูกบรรจุไว้ในร่างแถลงการณ์ภาคประชาชนอาเซียน ประจำปี 2561 (Draft ACSC/APF 2018 Statement) ด้วย ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีที่มาจากข้อเสนอของคณะกรรมการรากหญ้าอาเซียน (ประเทศไทย) ที่จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม 2561 เพื่อยื่นต่อกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561

การประชุมวันที่สองก็เช่นเดียวกับวันแรกคือล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ (ซ้าย) ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน นำกรรมการรากหญ้าอาเซียน (ประเทศไทย) และเครือข่ายร่วมเวที ACSC/APF 2018 ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 1-5 พ.ย. 2561

วันสุดท้ายของเวที ACSC/APF 2018 (4 พ.ย. 61) เป็นวันร่างแถลงการณ์ภาคประชาชนอาเซียน ประจำปี 2561 ในห้องประชุมใหญ่ แต่ก่อนจะร่างแถลงการณ์มีการฉายภาพยนตร์เรื่องราวของการหายตัวไปของ สมบัด สมพอน นักพัฒนาสังคมชาวลาวซึ่งหายตัวไปจากการถูกลักพาตัว พร้อมมีการยืนไว้อาลัยแก่สมบัดด้วย

การร่างแถลงการณ์ช่วงเช้า ประธานที่ประชุมของสิงคโปร์แจ้งต่อผู้เข้าร่วมประชุมว่า ต้องการยกร่างแถลงการณ์ให้กระชับและนำสิ่งเฉพาะที่ได้จากการประชุมกลุ่มย่อย 6 กลุ่มมาบรรจุไว้ในแถลงการณ์ แต่ปรากฎว่า ร่างแถลงการณ์มีความยาวถึง 9 หน้ากระดาษ โดยเนื้อหาภาพรวมในแถลงการณ์เป็นการนำปัญหาและสถานการณ์ของแต่ละประเทศมาบรรจุไว้ โดยไม่ได้ปัญหาหรือสถานการณ์ร่วมกันของอาเซียน อีกทั้งยังมีการเพิ่มเติมประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องในห้องประชุมลงไปในแถลงการณ์ด้วย และก่อนที่จะเริ่มร่างแถลงการณ์ในเวลาบ่าย เจ้าภาพได้ฉายภาพยนตร์ความยาวประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งแทรกเข้ามา ทำให้กิจกรรมในวันที่ 3 ล่าช้ากว่ากำหนดถึง 3 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ศันสนีย์  สุทธิศันสนีย์ กรรมการจัดงานมหกรรมภาคประชาชนอาเซียนปี พ.ศ. 2561 (ประเทศไทย) กล่าวเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ว่า เจ้าภาพจะจัดทำแถลงการณ์ฉบับสมบูรณ์ให้แล้วเสร็จในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะไม่ทันต่อการยื่นแถลงการณ์ ACSC/APF 2018 ต่อที่ประชุมอาเซียนซัมมิท ที่สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 11-15 พฤศจิกายนนี้

กิจกรรมของประเทศไทยในการรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดเวทีมหกรรมภาคประชาชนอาเซียน ประจำปี 2562 ต่อจากประเทศสิงคโปร์

กิจกรรมสุดท้ายคือการรับธงอาเซียนภาคประชาชนต่อจากประเทศสิงคโปร์ โดยภาคประชาชนไทยจะเป็นภาพเจ้าจัดการประชุมครั้งต่อไปในปี 2562 ซึ่งได้รับการตอบรับผู้เข้าร่วมประชุมจากชาติอื่นๆ

โฮสเทลแห่งหนึ่งกลางกรุงสิงคโปร์ เป็นที่พักของกรรมการรากหญ้าอาเซียนและเครือข่าย ระหว่างวันที่ 1-5 พ.ย. 2561 ภาพจากคณะกรรมการรากหญ้าอาเซียน (ประเทศไทย)

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพของสิงคโปร์มีปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการ และมีปัญหาที่การประชุม

กลุ่มย่อยขาดความเข้มข้นเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนถอนตัว

“ปีหน้าที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจะต้องเตรียมการในเรื่องของกระบวนการจัดการและเนื้อหาของการประชุม”

ชลิดากล่าวอีกว่า สิ่งที่ต้องการจัดทำคือเว็บไซต์การประชุม ACSC/APF 2019 เพื่อให้ข้อมูลแก่สมาชิกชาติต่างๆ และจัดทำโปรแกรมทัวร์เพื่อให้ภาคประชาชนจากประเทศอื่นได้เรียนรู้สถานการณ์ในประเทศไทย ส่วนวันประชุมควรจะเพิ่มจาก 3 วันเป็น 4-5 วันเพื่อให้เพียงพอ โดยวันที่ 18-19 ธันวาคมนี้ ตนจะไปร่วมประชุมที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนอื่น เพื่อหารือถึงการเป็นเจ้าภาพในปีหน้า

“หากปีหน้าที่ไทยเป็นเจ้าภาพแล้วยังไม่มีการเลือกตั้ง ก็จะใช้เวทีอาเซียนภาคประชาชนเรียกร้องให้ไทยมีเลือกตั้ง” ชลิดากล่าว

จันทร์นภา คืนดี ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล กรณีเขื่อนปากมูล ต้องการให้สื่อมวลชนเข้าร่วมเวทีอาเซียนภาคประชาชนในปีหน้าด้วย เพื่อช่วยกันนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ภาพจากคณะกรรมการรากหญ้าอาเซียน (ประเทศไทย)

จันทร์นภา คืนดีผู้ ประสานงานสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลกรณีเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า การร่วมประชุมครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่จะนำไปใช้ในการประชุมในปีหน้า ยังไม่ประทับใจเวทีที่สิงคโปร์เพราะยังไม่มีประเด็นร่วมของอาเซียนที่ชัดเจน การประชุมครั้งนี้ยังเหมือนการประชุมทั่วไปที่ไม่มีบรรยากาศของการมีส่วนร่วม

“คาดหวังว่าการประชุมระดับอาเซียน จะมีประเด็นร่วมกันและหาทางออกร่วมกัน แต่ยังไม่เห็น เพราะแต่ละคนที่มาพูดถึงแต่ประเด็นตัวเอง”

พักตร์วิไล สหุนาฬ (คนกลาง) ผู้ประสานงานกลุ่มเยาวชนศรีขรภูมิ ประทับใจความมีระเบียบวินัยของประเทศสิงคโปร์

พักตร์วิไล สหุนาฬ ผู้ประสานงานกลุ่มเยาวชนศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ระบุว่า ไม่ประทับใจการประชุมครั้งนี้มากเท่าไรเพราะการประชุมขาดการมีส่วนร่วมและประเด็นที่นำมาพูดคุยก็เป็นประเด็นเดิม การประชุมในปีหน้าที่ประเทศไทยจะได้นำสิ่งที่ได้รับไปเป็นบทเรียนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการประชุมมากกว่านี้

สำหรับสิ่งที่ประทับใจ พักตร์วิไลกล่าวว่า ประทับในประเทศสิงคโปร์มากกว่าการจัดประชุม ในเรื่องความมีระเบียบวินัย ความสะอาด การให้สวัสดิการประชาชน การรักษาดูแลต้นไม้ การแท็กซี่มีจำนวนมากให้บริการ และการมีทางเท้าสำหรับรถจักรยาน และคนพิการ

ทั้งนี้คาดว่า เวที ACSC/APF 2019 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ จะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือนมิถุนายน ปี 2562 เนื่องจากกรมอาเซียนต้องการให้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเป็นเจ้าภาพจัดประชุมอาเซียนซัมมิท (ปกติมีการประชุมอาเซียนซัมมิทในเดือนเมษายน) ส่วนในเดือนพฤศจิกายนจะเป็นการประชุมอาเซียน + 3

image_pdfimage_print