ชาวนาบ้านดอนผดุง ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี บางคนที่อยู่ใกล้บ่อขยะบ้านดอนผอุงของเทศบาลเมืองวารินชำราบ นิยมนำน้ำเสียจากบ่อบำบัดน้ำเสียของบ่อขยะมาใส่ในที่นาหลังการเก็บเกี่ยว เพราะเชื่อว่าน้ำเสียจากขยะมีสารอาหารที่สำคัญต่อดินและต้นข้าวคล้ายกับปุ๋ยอินทรีย์ แต่นักวิชาการการจัดการขยะ ม.เกษตรศาสตร์ จ.สกลนคร แนะขอให้มีผลตรวจสอบคุณภาพและสารพิษในน้ำเสียขยะก่อนนำไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากในบ่อขยะลักษณะนี้อาจมีขยะอันตรายในครัวเรือนปนอยู่ เช่น สารปรอท สารแมงกานีส สารโลหะหนักและสารตะกั่วเจือปนในน้ำเสีย
มังกร หยุดชม อายุ 44 ปี ชาวบ้านดอนผดุง รู้สึกไม่สบายใจเมื่อเห็นเจ้าของที่นาที่อยู่ติดกันต่อท่อส่งน้ำเสียสีดำข้น (น้ำเสียจากกองขยะ) จากบ่อบำบัดน้ำเสียของบ่อขยะบ้านดอนผอุงของเทศบาลเมืองวารินชำราบที่ตั้งอยู่ห่างจากไปประมาณ 1 กิโลเมตร มาปล่อยใส่ไว้ในที่นาตนเอง เขากังวลว่าน้ำเสียจากบ่อขยะอาจปนเปื้อนสารพิษจากขยะอันตรายในกองขยะ อาจซึมลงดินหรือไหลเข้ามาในที่นาตนเอง ทำให้นาข้าวมีสารพิษปนเปื้อนในดินและต้นข้าวได้

มังกร หยุดชม ยืนอยู่บริเวณที่นาของตนเอง โดยคันดินที่ตั้งอยู่ตรงหน้านั้นมีขนาดสูงต่ำกว่าระดับหัวเข่า ทั้งนี้ คันนาดังกล่าวทำหน้าที่กั้นไม่ให้น้ำเสียจากบ่อขยะไหลเข้าที่นาของเขา
บ้านพักที่ทำจากไม้มีลักษณะไม่มั่นคงล้อมรอบด้วยที่นาจำนวน 9 ไร่ เป็นบ้านอีกหลังที่มังกรกับภรรยาใช้เป็นอยู่อาศัยชั่วคราวมากว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากต้องมาดูแลที่นาของครอบครัวผืนดังกล่าว นอกจากนี้ ทั้งสองยังใช้เป็นที่พักสำหรับคัดแยกขยะที่ไปเก็บมาจากบ่อขยะที่อยู่ไม่ไกลไปขายอีกด้วย ทั้งนี้ บ้านอีกหลังของพวกเขานั้นตั้งอยู่ที่บ้านก่อ ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
เขาเล่าว่า ที่นาจำนวน 9 ไร่ของตนปลูกข้าวเหนียวเพื่อไว้กินในครอบครัวเท่านั้น ไม่ได้นำไปขายแต่อย่างใด นอกจากปลูกข้าวแล้วเขายังปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงไก่ไข่ไว้เป็นอาหาร มังกรและภรรยามีรายได้จากการไปคัดแยกขยะในบ่อขยะขาย เฉลี่ยต่อวันประมาณ 300 บาท

น้ำเสียสีดำจากบ่อขยะไหลออกจากท่อส่งน้ำที่เชื่อมต่อมาจากบ่อบำบัดน้ำเสียที่บ่อขยะลงสู่ผืนที่นาที่อยู่ติดกันกับที่นาของมังกร
“เจ้าของที่นาข้าง ๆ เพิ่งเกี่ยวข้าวเสร็จประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น เขาก็เอาท่อส่งน้ำเสียจากบ่อขยะมาปล่อยน้ำเสียให้ขังอยู่ในนาข้าว” มังกรกล่าว
เจ้าของที่นาคนดังกล่าวเคยเล่าให้มังกรฟังว่า น้ำจากบ่อขยะมีสารอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อดินและต้นข้าวเหมือนกับส่วนผสมของปุ๋ยอินทริย์และน้ำหมักชีวภาพที่ใช้การเพาะปลูกพืชทั่วไป จึงจำเป็นต้องเอาน้ำเสียดังกล่าวมาขังไว้ในนาหลังเกี่ยวข้าวเสร็จ เพราะต้องการให้น้ำซึมลงดินเพื่อให้ดินได้รับสารอาหารก่อนเริ่มปลูกข้าวในฤดูกาลใหม่
หลายคนในหมู่บ้านเชื่อว่าน้ำเสียจากบ่อขยะเป็นเสมือนปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำให้ต้นข้าวมีขนาดใหญ่ ต้นข้าวออกรวงข้าวจำนวนมาก เมล็ดข้าวโต โดยเห็นคนที่ทำนาใกล้บ่อขยะได้ข้าวมากกว่าที่นาที่ไม่ได้ใส่น้ำจากบ่อขยะ
“ผมก็ยังรู้สึกตกใจว่า ทำไมหลายคนคิดว่าน้ำเสียจากบ่อขยะไม่มีสารพิษจากขยะปนอยู่” มังกรกล่าวย้ำถึงความกังวลใจว่าน้ำจากบ่อขยะต้องมีสารพิษจากขยะปนเปื้อนอยู่
มังกรทราบมาว่า น้ำจากบ่อขยะนี้ หากใครต้องการ เจ้าของนาต้องเป็นคนไปขอจากเจ้าหน้าที่บ่อขยะเอง หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะต่อท่อส่งน้ำเสียจากบ่อขยะมาให้เจ้าของนาที่ต้องการ โดยเจ้าหน้าที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการต่อท่อเอง ซึ่งเขาและภรรยาไม่เชื่อว่าน้ำเสียจากบ่อขยะมีสารอาหารจำเป็นต่อดินและพืชเหมือนคนอื่นๆ ในหมู่บ้านพากันคิด เเขาเชื่อว่าน้ำจากบ่อขยะต้องมีสารพิษจากขยะปนเปื้อน เมื่อซึมลงดินและน้ำจะทำให้ที่ดิน นาข้าวและผักสวนครัวที่เขาปลูกรวมถึงปลาในสระน้ำตามธรรมชาติมีสารพิษตกค้างและไม่สามารถนำมาทำอาหารรับประทานได้
“ผมไม่กินปลาและเก็บผักตามทุ่งนามากินกว่า 5 ปีแล้ว เพราะผมเคยเห็นปลาตาย ผักบุ้งเหี่ยวตายในสระน้ำ ผมไม่แน่ใจว่าเกิดจากน้ำเสียจากบ่อขยะหรือไม่ เพราะนารอบบ่อขยะเอาน้ำจากบ่อขยะมาขังไว้ในนา” มักกรกล่าวทิ้งท้าย

เศษขยะพลาสติกและน้ำสีดำเข้มไหลลงหนองน้ำธรรมชาติภายในบริเวณเขตบ่อขยะบ้านดอนผอุงของเทศบาลเมืองวารินชำราบ
บ่อขยะบ้านดอนผอุงของเทศบาลเมืองวารินชำราบ
สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือประชาชนตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ รู้จักกันในชื่อ “บ่อขยะบ้านดอนผอุงของเทศบาลเมืองวารินชำราบ”
บ่อขยะดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานเมื่อปี 2541 โดยมีขนาดพื้นที่รองรับขยะมากำจัดทั้งหมด 282 ไร่ และตั้งอยู่บริเวณบ้านดอนผอุง หมู่ที่ 5 ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ 30 กิโลเมตร บนเส้นทางวารินชำราบ-เดชอุดม บ่อขยะแห่งนี้ใช้วิธีกำจัดขยะโดยการฝังกลบและการเผาในเตาเผา ซึ่งปริมาณขยะที่บ่อขยะรับมากำจัดมีประมาณ 300 ตันต่อเดือน และมีโรงงานเผาขยะติดเชื้อของเอกชนจำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตบ่อขยะอีกด้วย

ภาพแผนที่อาณาเขตของบ่อขยะบ้านดอนผอุงของเทศบาลเมืองวารินชำราบ โดยหมายเลข 1 ถึงหมายเลข 3 คือ บ่อบำบัดน้ำเสียภายในบ่อขยะ ชาวนาอ้างว่าน้ำเสียจากบ่อบำบัดที่ 3 สามารถนำมาใส่ในนาข้าวได้ แต่น้ำบำบัดในบ่อที่ 1 และ 2 น้ำเสียยังไม่ตกตะกอน ทำให้ยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
จากการรายงานข่าวเมื่อปี 2559 ชาวบ้านหลายรายที่อยู่อาศัยใกล้กับบ่อขยะแห่งนี้ได้รับแจ้งว่า บ่อพักขยะและบ่อบำบัดน้ำเสียหลายบ่อใช้การไม่ได้ ทำให้ขยะถูกเททับถมจนเต็มบ่อ ส่วนการเผาขยะติดเชื้อก็มีการเผาตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ควันและฝุ่นจากเตาเผาขยะติดเชื้อปลิวลอยเข้าไปในหมู่บ้าน นอกจากนี้ น้ำขยะยังซึมลงไปใต้ดินส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถสูบน้ำใต้ดินมาใช้อุปโภคบริโภคได้
น้ำเสียจากบ่อขยะคือปุ๋ยเพื่อนาข้าวชั้นดี
สำหรับอนันต์ พูกาล อายุ 47 ปี เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในหมู่บ้านดอนผอุงแล้ว เขาเชื่อว่าน้ำเสียจากบ่อขยะเป็นน้ำที่มีสารอาหารสารอินทรีย์ที่จำเป็นต่อดินและพืชจริง แต่ต้องผ่านการบำบัดจากบ่อบำบัดน้ำเสียตามขั้นตอนการบำบัดน้ำเสียก่อน
เขาเล่าว่าเมื่อ 3 ปีก่อน เขาขอให้เจ้าหน้าที่บ่อขยะต่อท่อส่งน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดจากบ่อขยะบ่อที่ 3 ซึ่งเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียจากขยะที่ฃาวบ้านเชื่อว่าสามารถนำมาใส่ในนาข้าวช่วงฤดูกาลเพาะปลูก

อนันต์อ้างว่าผืนนาที่นำน้ำเสียขยะจากบ่อบำบัดมาใส่จะทำให้ต้นข้าวมีขนาดใหญ่ ต้นข้าวออกรวงใหญ่และมีเมล็ดข้าวจำนวนมากอย่างที่เห็นในนาข้าวของเขา
อนันท์ทำนาจำนวน 34 ไร่ เขาปลูกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ข้าวเจ้าหอมมะลิคือพันธุ์ข้าวที่สร้างรายได้ให้เขาและครอบครัว โดยปี 2560 เขาเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิได้ 16 ตัน ซึ่งหักต้นทุนแล้วเขาขายได้กำไรประมาณ 160,000 บาท จำนวนรายได้ดังกล่าวสำหรับเขาถือว่าประสบความสำเร็จในอาชีพชาวนา
“ในที่นาทั้งหมด 34 ไร่ ผมใส่ปุ๋ยเคมีเพียงแค่ 4 กระสอบถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนที่นา เพราะผมใช้น้ำเสียจากบ่อขยะแทนปุ๋ย” อนันต์กล่าว
สำหรับอนันท์แล้วการนำเอาน้ำขยะมาใส่นาแทนการซื้อปุ๋ยเป็นการลดต้นทุนในการปลูกข้าวแต่ละครั้งอย่างมาก
อนันต์เล่าว่า ตามจริงแล้วก่อนหน้าที่จะตัดสินใจเอาน้ำเสียจากบ่อขยะมาใส่ที่นานั้น ตนเห็นเพื่อนบ้านที่เอาน้ำเสียจากบ่อขยะมาใส่ในนาแล้วทำให้ต้นข้าวตาย เพราะไม่มีวิธีทำให้ความเข้มข้นของน้ำเสียจากขยะลดลง ตนทดลองใช้วิธีขังน้ำเสียไว้ในนาข้าวแล้วช่วงที่ฝนตกต้องขุดลอกนาเพื่อระบายน้ำออกมา และเมื่อน้ำเสียในนาและน้ำจากน้ำฝนระบายออกมาแล้ว จะทำให้ปริมาณความเข้มข้นของน้ำเสียลดลง หลังจากนั้นก็ปล่อยให้น้ำในนาแห้งขอดไปเอง วิธีนี้ทำให้ข้าวของอนันต์ไม่ตายจากน้ำเสียของบ่อขยะ

อนันต์ยกท่อน้ำชนิด PE ที่เจ้าหน้าที่บ่อขยะต่อท่อน้ำเสียจากบ่อขยะมาที่นาของตน หลังจากเขาเข้าไปขอให้น้ำเสียจากบ่อขยะมาใส่ในนาเพื่อปลูกข้าว ซึ่งที่นาของเขาห่างจากบ่อขยะเพียงแค่ 800 เมตร
อนันต์ไม่กังวลเรื่องสารพิษน้ำเสียจากขยะปนเปือนในนาข้าวหรือในน้ำ เพราะเขาเชื่อว่า ถ้าในดินในน้ำมีการปนเปื้อนสารพิษจากขยะจริง ทำไมปลา ปู กบ เขียดยังสามารถอาศัยอยู่ในนาระหว่างมีน้ำเสียจากขยะขังอยู่ แล้วทำไมต้นข้าวที่ตนปลูกไม่ตาย รวมถึงตนและคนในครอบครัวที่ต้องทำนาในนาข้าวตัวเองไม่มีอาการแพ้แสบคันจากการสัมผัสน้ำเสียขยะในที่นาตัวเองเลย
“ตอนนี้ผมได้ยินเพื่อนบ้านหลายคนในหมูบ้านบอกว่าอยากได้น้ำจากบ่อขยะมาใส่ในนาตนเองมากขึ้น แต่พิจารณาแล้วต้องต่อท่อยาวหลายกิโลเมตร เพราะที่นาห่างจากบ่อขยะ บางคนคุยกันว่าจะเอารถดูดส้วมไปดูดเอาน้ำจากบ่อขยะปล่อยในนา” อนันต์กล่าว
คนในตำบลเชื่อว่าน้ำเสียจากบ่อขยะดีต่อดินและต้นข้าวจริง
เพชรัตน์ สีดารักษ์ กำนัน ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีกล่าวว่า เรื่องชาวนาหลายคนในตำบลแห่งนี้นิยมนำน้ำเสียขยะจากบ่อบำบัดภายในบ่อขยะบ้านดอนผอุงของเทศบาลเมืองวารินชำราบมาใส่ในนาข้าวจริง

เพชรัตน์ สีดารักษ์ กำนัน ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีกล่าวว่า “เรื่องมีการพูดกันมา 3 ปีแล้ว ผมได้ยินมาว่าชาวนาหลายคนเห็นชาวนาที่นาใกล้บ่อขยะนำน้ำเสียจากบ่อบำบัดภายในบ่อขยะมาใส่ในนาแล้วทำให้ต้นข้าวใหญ่ มีรวงข้าวใหญ่ ทำให้คนที่ทำนาห่างจากบ่อขยะเริ่มสนใจอยากได้น้ำนี้มาใส่ในนาเหมือนกัน” เพชรัตน์กล่าว
เขาเล่าว่า ชาวนาที่เอาน้ำขยะมาใส่เชื่อว่ามันเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เหมือนขี้วัวขี้ควายและทำให้ดินดี ต้นข้าวโต กระแสความนิยมอยากได้ในน้ำขยะมาใส่ในที่นานั้น คนในหมู่บ้านจะพูดกันปากต่อปากแต่ไม่มีการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญว่าน้ำขยะจากบ่อบำบัดน้ำเสียในบ่อขยะนั้นปลอดสารพิษตกค้างจากขยะหรือไม่
“บางคนเอาน้ำขยะมาใส่แล้ว ปรากฎว่าข้าวตายก็เลิกทำนา แต่ไม่รู้ว่าเกิดจากน้ำขยะหรือไม่ จึงต้องขายที่นาทิ้งเพราะดินปลูกข้าวไม่ได้ ทุกวันหลายคนที่เคยทำก็เปลี่ยนความคิด” เพชรัตน์กล่าว

จีระชัย ไกรกังวาร นายกเทศมนตรีเมืองวารินชำราบกล่าวว่า น้ำเสียที่ชาวนาของเอาไปใส่ในนาเพื่อปลูกเป็นน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดที่ได้มาตรฐานแล้ว
น้ำเสียขยะที่ใส่นาผ่านการบำบัดตามขั้นตอนแล้ว
จีระชัย ไกรกังวาร นายกเทศมนตรีเมืองวารินชำราบกล่าวว่า เรื่องที่ชาวบ้านมาขอน้ำเสียขยะที่ผ่านการบำบัดขั้นสุดท้ายเพื่อเอาไปใส่นาข้าวในมีจริง เพราะเชื่อว่าเป็นปุ๋ยสำหรับดินและต้นข้าว ซึ่งเป็นความต้องการและความสมัครใจส่วนบุคคล
เมื่อถามว่าน้ำเสียในบ่อบำได้มีการตรวจคุณภาพน้ำหรือไม่ จีระชัยตอบว่า มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 อุบลราชธานีและนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาตรวจสอบคุณภาพน้ำรอบบ่อขยะทุก 4 เดือนอยู่แล้ว และบ่อขยะของแห่งนี้มีการคัดแยกขยะอินทรีย์กับขยะเคมีออกจากกันตั้งแต่ก่อนเอามาทิ้ง ซึ่งทำให้น้ำเสียจากขยะไม่มีสารพิษปนเปื้อน

ศมณพร สุทธิบาก อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนครกล่าวว่า หากจะเอาน้ำเสียจากขยะไปใช้ประโยชน์ ควรมีผลตรวจสอบการปนเปื้อนสารพิษในน้ำเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้
น้ำเสียบ่อขยะควรผ่านการตรวจสอบหาสารพิษก่อน
ศมณพร สุทธิบาก อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม
คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนครเธอคิดว่าหากจะเอาน้ำเสียจากขยะไปใช้ประโยชน์ ควรมีผลตรวจสอบการปนเปื้อนสารพิษในน้ำเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้
“ตามหลักการแล้วถ้าจะเอาน้ำเสียจากบ่อขยะมาใช้ประโยชน์ เทศบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดต้องเข้ามาตรวจสอบน้ำและพิสูจน์ตามหลักวิชาการให้ได้ก่อนว่าน้ำไม่มีการปนเปื่อนของสารพิษจากขยะ” ศมณพรกล่าว
ศมณพรยังกล่าวอีกว่า น้ำเสียจากบ่อขยะหลัก ๆ แล้วมาจากขยะครัวเรือนทั้งขยะอินทรีย์และขยะอันตราย เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ แบตเตอรี่ต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับการคัดแยกจากครัวเรือน ซึ่งหากเป็นขยะอินทรีย์ น้ำเสียขยะสามารถนำไปใช้ในการเพาะปลูกได้ และถ้าน้ำเสียจากขยะอันตรายไม่ควรนำไปใช้ประโยชน์ เพราะอาจมีสารพิษจากขยะประเภทนี้ปนเปื้อน เช่น สารตะกั่ว สารปรอท สารแมงกานีสและสารโลหะหนัก

(ซ้าย) สีน้ำเสียจากบ่อขยะที่ผ่านการบำบัดจากบ่อบำบัดน้ำเสียบ่อสุดท้าย (ขวา) สีน้ำเสียจากบ่อขยะบริเวณถนนภายในบ่อขยะที่ยังไม่ผ่านการบำบัด
เมื่อศมณพรเห็นภาพน้ำเสียขยะในทุ่งนากับน้ำเสียจากกองขยะในพื้นถนนบริเวณบ่อขยะ เธอกล่าวว่าสีของน้ำไม่ต่างกัน แต่ความเข้มข้นของน้ำแตกต่างกัน ซึ่งเป็นเพราะว่าน้ำในที่นาอาจผ่านการบำบัดจากบ่อบัดน้ำเสียจริง จึงทำให้ความเข้มข้นลดลง
“ส่วนสีน้ำเป็นสีดำนั้นคิดว่า ระบบบำบัดน้ำเสียแบบธรรมชาตินี้ไม่สามารถบำบัดน้ำให้เป็นสีใสได้ ถ้าจะให้ใสต้องผ่านระบบบำบัดขั้นสูง ซึ่งในบ่อขยะลักษณะนี้ยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียขั้นสูง” ศมณพรกล่าว
ตามหลักการบำบัดน้ำเสียภายในบ่อขยะลักษณะนี้ ศมณพรกล่าวว่า จะมีระบบบำบัดน้ำเสีย 3 บ่อ เพื่อให้สิ่งปนเปื้อนในน้ำพักตัวและตกตะกอน ซึ่งน้ำเสียที่อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จะเป็นน้ำบำบัดจากบ่อที่ 3
“แต่ก็ควรตรวจสอบว่าน้ำเสียจากบ่อบำบัดมีสารพิษปนเปื้อนหรือไม่ ก่อนนำน้ำไปใช้ประโยชน์” ศมณพรกล่าวย้ำ
ถึงแม้จะมีชาวบ้านหลายคนในหมู่บ้านได้ประโยชน์จากบ่อขยะ เช่นมีรายได้จากการคัดแยกขยะขายหรือได้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดมาใส่ในนาข้าว แต่ยังมีชาวบ้านหลายคนเป็นห่วงผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากบ่อขยะ
ตั้งแต่ต้นปี 2560 ได้มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในพื้นที่ ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ที่ออกมาคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงงานคัดแยกขยะและโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ของบริษัท กรีนเนอร์เวิลด์ จำกัด เนื่องจากชาวบ้านหลายคนกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกังวลว่าจะมีการนำขยะเข้ามาทิ้งในบ่อขยะเทศบาลเมืองวารินชำราบเพิ่มอีก