โดย รณชัย ตุ่นวงษา
บุรีรัมย์- กลุ่ม Ozone รักบ้านเกิด ยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมอำเภอชำนิ จ.บุรีรัมย์ เพื่อขอข้อมูลการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายของบริษัท โรงงานน้ำตาลชำนิ จำกัด จ.บุรีรัมย์ เนื่องจากการประชุมเพื่อจัดทำ EIA เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ไม่มีความชัดเจน และไม่แจ้งข้อมูลให้ผู้ได้รับผลกระทบรับทราบอย่างทั่วถึง พร้อมหวั่นเกรงว่าการตั้งโรงงานจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นายสมพงษ์ สงกูล (เสื้อเขียว) ตัวแทนกลุ่ม Ozone รักบ้านเกิด ยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ โดยมีนายพลวรรธนพล ศักดิ์วรรธนชัย ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง ( ป.อาวุโส) รักษาการแทนนายอำเภอชำนิ (คนสวมเสื้อกั๊ก) รับหนังสือ
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561 กลุ่ม Ozone รักบ้านเกิด (กลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบในรัศมี 5 กิโลเมตร จากโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายของบริษัท โรงงานน้ำตาลชำนิ จำกัด จ.บุรีรัมย์) นำโดยนายสมพงษ์ สงกูล ตัวแทนกลุ่ม เข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ โดยมีนายพลวรรธนพล ศักดิ์วรรธนชัย ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง (ป.อาวุโส) รักษาการแทนนายอำเภอชำนิ เป็นผู้รับหนังสือ
เหตุผลของการยื่นหนังสือเพื่อขอทราบข้อมูลการดำเนินงานการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายของบริษัท โรงงานน้ำตาลชำนิ จำกัด เนื่องจากกลุ่ม Ozone รักบ้านเกิด เห็นว่า ชาวบ้านผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลทรายยังไม่ทราบข้อมูลเพียงพอของการดำเนินงานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีความกังวลต่อการจัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นในครั้งแรกของโรงงานที่ยังมีความไม่ชัดเจน
การจัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นในครั้งแรกจัดขึ้นโดยบริษัท โรงงานน้ำตาลชำนิ จำกัด ที่มอบหมายให้บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง เเอนต์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด เป็นผู้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) “โครงการผลิตน้ำตาลทราย”
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561 บริษัทดังกล่าวได้ยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ต.หนองปล่อง อ.ชำนิ เพื่อติดประกาศกำหนดการประชุมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นครั้งแรก กำหนดการประชุมมีขึ้นในวันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ ศาลากลางหมู่บ้านหนองปล่อง ต.หนองปล่อง อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์
การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนั้น กลุ่ม Ozone รักบ้านเกิด เห็นว่า จำนวนผู้เข้าร่วมยังไม่ครอบคลุมประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร และประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลที่เพียงพอในเรื่องผลกระทบสิ่งเเวดล้อมและข้อมูลการดำเนินงานของโครงการ ดังนั้น เพื่อความโปร่งใส กลุ่ม Ozone รักบ้านเกิดจึงเข้ายื่นหนังสือดังกล่าวเพื่อขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการเปิดเผยข้อมูลว่า บริษัทได้ดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด ต่อกลุ่ม Ozone รักบ้านเกิด และประชาชนทั่วไป

แผนที่พื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากขอบเขตที่ตั้งของโครงการ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 2 อำเภอ ใน 7 ตำบล ได้แก่ ตำบลหน่องปล่อง ตำบลเมืองยาง ตำบลโคกสนวน ตำบลชำนิ อำเภอชำนิ และตำบลหนองยายพิมพ์ ตำบลนางรอง ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
นายสมพงษ์ สงกูล ตัวแทนกลุ่ม Ozone รักบ้านเกิด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้ไปยื่นหนังสือต่อเทศบาลตำบลหนองปล่อง และได้รับคำตอบว่า ยังไม่มีการยื่นเอกสารก่อสร้างโรงงานให้เทศบาลตำบลหนองปล่อง โดยเทศบาลตำบลหนองปล่องจะเป็นผู้ดูแลเรื่องการขออนุญาตและการก่อสร้างอาคาร
“ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าโรงงานฯ ดำเนินงานถึงขั้นตอนใด เราจึงยังทำอะไรไม่ถูก เพราะฉะนั้น ต้องหาข้อมูลก่อนว่า โรงงานดำเนินงานไปถึงขั้นตอนใดแล้ว” นายสมพงษ์กล่าวและว่า ต่อจากนี้ตนจะไปหนังสือยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงาน เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ด้วย
นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า กลุ่ม Ozone รักบ้านเกิด จะทำหนังสือคัดค้าน EIA เพราะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการประชาสัมพันธ์ และการเชิญประชาชนเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น
“ทางเราที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอดยังไม่รู้ว่ามีการจัดรับฟังความคิดเห็นและไม่ได้เข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้ด้วย มารู้ทีหลังจากชาวบ้านใกล้เคียงกับสถานที่จัดประชุมฯ” นายสมพงษ์กล่าว
นายไพฑูรณ์ ศรีเนาว์รัตน์ สมาชิกกลุ่ม Ozone รักบ้านเกิด กล่าวว่า ตนกังวลถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโรงงานน้ำตาลว่า อาจจะทำให้เกิดน้ำเน่า น้ำเสีย ปลาตาย และอาจจะมีการแย่งทรัพยากรน้ำจากชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างโรงงานนำตาลทรายชำนิเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายแห่งใหม่ที่อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ และที่อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ ของบริษัท บุรีรัมย์พลังงานจำกัด ในสังกัด บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) กำลังการผลิตของโรงงานแต่ละโรงงานอยู่ที่ 20,000 ตันอ้อยต่อวัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างโรงงานจำนวน 10,000 ล้านบาท โดยมีรูปแบบคล้ายกับโรงงานเดิมที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินก่อสร้างใน อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ ก่อน
รณชัย ตุ่นวงษา เป็นผู้เข้าอบรมในโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2561