โดย ปัทมา ราตรี

อำนาจเจริญ – เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพบว่าคนไทยหนึ่งในสามไม่ปลอดภัยเนื่องจากสัมผัสกับสารเคมีในผักผลไม้ ขณะที่ผลการสุ่มตรวจเกษตรกรโนนหนามแท่ง จังหวัดอำนาจเจริญ พบว่า กว่าร้อยละ 65 สัมผัสกับสารเคมี

การประชุมที่มูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม คณะทำงาน ประกอบด้วย ตัวแทนจากเครือข่ายวิชาการ เครือข่ายท้องถิ่น เครือข่ายNGOs/ผู้บริโภค เครือข่ายสื่อมวลชน

คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน – Thai-PAN) ประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานของโครงการร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปี 2561-2562 ที่สวนชีววิถี บางอ้อ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ประเด็นของการประชุมเนื่องจากเครือข่ายเตือนภัยฯ พบว่า มีสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ การพบสารตกค้างในผักผลไม้เกินค่า MRL (ค่ากำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด) ในแหล่งจำหน่ายสำคัญ อาทิ ห้างค้าปลีก ตลาดค้าส่ง และอาหารในโรงเรียน การพบตกค้างในสิ่งแวดล้อม การที่สารเคมีเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร และการพบสารเคมีตกค้างในประชาชนทุกกลุ่มในระดับเสี่ยงถึงไม่ปลอดภัย

นายแพทย์พิบูล อิสระพันธุ์ คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยฯ กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์การคัดกรองความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชด้วยกระดาษทดสอบโคลีนเอสเตอเรสของกระทรวงสาธารณะสุข ในปี 2561 จำนวน 269,700 ราย พบว่า ประชาชนอยู่กลุ่มไม่ปลอดภัย (ได้รับสารเคมีกำจัดศัตรู)และกลุ่มเสี่ยง รวม 108,083 ราย หรือ ประมาณร้อยละ 40

“คนไทยหนึ่งในสามหรือราวยี่สิบล้านคนในทุกอาชีพ ได้รับสารเคมีค่อนข้างมาก และมีภาวะที่ร่างกายขับสารพิษออกมาได้ไม่ดี การสะสมสารเคมีในร่างกายระยะยาวจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ” นพ.พิบูลกล่าว

นพ.พิบูล อิสระพันธุ์ ข้าราชการบำนาญ จากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยฯ ดูแลการสืบสวนโรคอันเกิดจากสารเคมีการเกษตร

นายพรณรงค์ ปั้นทอง คณะทำงานเครือข่ายเตือนภัยฯ จากจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า ผลการตรวจคัดกรองความเสี่ยงฯจากเกษตรกรจำนวน 108 คน ที่ต.โนนหนามแท่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 โดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำน้อย พบผลปกติ 37 คน มีความเสี่ยงน้อย 20 คน มีความเสี่ยงมาก 51 คน สรุปว่า ประชากรต.โนนหนามแท่งมีสารเคมีในเลือดระดับผิดปกติถึงร้อยละ 65 (ความเสี่ยงน้อยและความเสี่ยงมาก) โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำน้อยจะตรวจคัดกรองกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นต่อไป

กิจกรรมตรวจสารเคมีในเลือด ครั้งที่ 1 โดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านคำน้อย อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ชี้แจงว่า การสุ่มตรวจสารพิษตกค้างในผักผลไม้ของ Thai-PAN เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเฝ้าระวัง ซึ่งทำได้เพียงปีละ 2 ครั้ง รวมจำนวนตัวอย่าง 300 ตัวอย่าง เนื่องจากงบประมาณมีอย่างจำกัด

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า การสุ่มตรวจผักผลไม้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารเคมี แผนการทำงานของเครือข่ายเตือนภัยฯ ในปีงบประมาณ 2562 (1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2562) คือการสร้างการมีส่วนร่วมในการสุ่มตรวจกับเครือข่ายเตือนภัยฯ และหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่นในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสำนักงานสาธาณสุขจังหวัด ที่มีความพร้อม โดยหวังว่าในระยะยาวจะเกิดกลไกหลัก เกิดระบบร่วมของประเทศเพื่อทำหน้าที่สุ่มตรวจสารเคมีในผักผลไม้

ปัทมา ราตรี เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ดประจำปี 2561

   

image_pdfimage_print