ขอนแก่น – หากคุณเป็นผู้สื่อข่าว นักเล่าเรื่อง หรือบรรณาธิการสื่อทุกแขนง คุณจะเลือกใช้คำว่า  ชะนี ตุ๊ด ตุ๋ย แอบจิต ระเบิดถังขี้ สายเหลือง แอ๊ปแมน เก้ง กวาง ลักเพศ ตีฉิ่ง รักร่วมเพศ ชาวสีม่วง เสือไบ อัดถั่วดำ เป็นต้น นำเสนอในเนื้อหาข่าวหรือเรื่องราวทั่วไป หรือที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีเพศวิถีไม่ตรงกับเพศกำเนิด หรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศหรือไม่

กิจกรรมเลือกคำที่เหมาะสมในการรายงานข่าวหรือใช้เพื่อสื่อสารกับสังคมในประเด็นเรื่องเพศวิถี (sexuality)

แต่สำหรับ ดร.ชเนตตี ทินนาม คณาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติเรื่อง “การสื่อเรื่องราวและรายงานข่าวที่ไหวรู้ต่อเพศภาวะ” ให้กับนักเขียนและนักสื่อมวลชนในภาคอีสาน จัดขึ้นโดยเดอะอีสานเรคคอร์ดและองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา เธอคิดว่าหากสื่อมวลชนใช้คำเหล่านี้นำเสนอในเรื่องราวหรือเนื้อหาเกี่ยวกับบุคคลที่มีเพศวิถี (sexuality) ไม่ตรงกับเพศกำเนิด (sex) หรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ (sexual harassment) ถือว่าเป็นการใช้ภาษาเพื่อลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลเหล่านั้น

“มันเป็นการทำให้คนไม่เท่ากันผ่านภาษาที่สื่อใช้  เช่น ไปเปรียบเทียบคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้เขาเป็นสัตว์ เช่น เก้ง กวาง หรือเรียกผู้หญิงว่าชะนี” ชเนตตีกล่าว

ดร.ชเนตตี ทินนาม คณาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้ ภาษาที่สื่อบางสำนักรายงานเกี่ยวกับกลุ่มคนที่มีหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) ยังเป็นภาษาที่สื่อความว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีความหมกมุ่นอยู่กับเรื่องกามอารมณ์ ทำให้สื่อมักผลิตคำศัพท์เพื่อเป็นคำเรียกบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่ใช่เพศชาย เพศหญิง หรือสร้างคำเรียกรสนิยมเพศของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่แตกต่างกันไป เช่น คำว่าระเบิดถังขี้ ตีฉิ่ง ฟันดาบ หรืออัดถั่วดำ สายเหลือง คำพวกนี้เป็นคำที่ลดคุณค่าและความเป็นมนุษย์ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คนที่มีรสนิยมทางเพศแตกต่างจากความเป็นชายความเป็นหญิงที่สังคมคาดหวัง

“สื่อไม่ควรนำเสนอคำเหล่านี้ที่มองมนุษย์เป็นวัตถุ สิ่งของ หรือมีสถานะเป็นสัตว์ หรืออุจจาระที่มีสถานะต่ำ ซึ่งปัจจุบันจะคงเห็นสื่อยังคงใช้คำเหล่านี้ในการรายงานข่าวอยู่เนือง ๆ ” ชเนตตีกล่าว

รายงาน สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง การศึกษาเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศสถานะ การแสดงออกและลักษณะทางเพศในสื่อ ขอบคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.บูรพา (2560) ระบุว่า ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก การนำเสนอภาพ ลักษณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสื่อ หญิงรักหญิง ชายรักชาย บุคคลรักสองเพศ บุคคลข้ามเพศ และผู้ไม่นิยามเพศ มักเป็นไปในด้านลบโดยปราศจาคความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนเกี่ยวกับเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศสถานะ และการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในรูปแบบที่ส่งผลต่อการเกิดอคติและความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และผลักผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้เป็นคนชายขอบของสังคมในวงกว้างในระดับภูมิภาคเอเชีย แฟซิฟิก

สื่อมักใช้ประเด็นเรื่องเพศเรียกเรตติ้ง

สำหรับชเนตตีแล้ว องค์ประกอบในประเด็นเรื่องเพศสามารถเป็นประเด็นข่าว ตามหลักการการประเมินคุณค่าข่าวของหลักการทางวารสารศาสตร์ ประเด็นเรื่องเพศสร้างเป็นข่าว สารคดี ละคร ภาพยตร์ หรือแม้แต่ในโฆษณาได้ เพราะผู้รับสารมักให้ความสนใจกับเรื่องเพศในทุกมิติ เพราะเรื่องเพศเป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนมีเพศ มีรสนิยมทางเพศเป็นอยู่กับตัวเอง  

ความสนใจในเรื่องเพศของสื่อมักนำมาซึ่งความผิดพลาดในกระบวนทำข่าวหรือผลิตเนื้อหาในมิติทางเพศ นักข่าวหรือผู้ผลิตสารมองเห็นแค่ประเด็นเรื่องเพศเป็นสินค้า ที่จะเอามาผลิตในธุรกิจสื่อจำหน่ายในระบบทุนนิยม เพื่อเรียกเรตติ้งของสถานี เรียกยอดคนกดติดตาม (follower) ยอดคลิกถูกใจ (like) ยอดแบ่งบัน (share) ในกระแสสังคมออนไลน์

“นักข่าวหลายสำนักยังมองเรื่องเพศเป็นแค่วัตถุ นำมาผลิตเป็นสินค้า ในธุรกิจสื่อ เพื่อจำหน่ายในระบบทุนนิยมเท่านั้น โดยไม่สนใจว่าผู้ที่เป็นแหล่งข่าวหรือเหยื่อจากผลกระทบเรื่องเพศจะเป็นอย่างไร” ชเนตตีกล่าว

ทิเบต เจ้าของผลงานศิลปะความหลากหลายทางเพศสภาวะและเพศวิถี ชื่อ “ปริญญาที่ไร้ค่า” ซึ่งจัดขึ้นที่นิทรรศการศิลปะ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” ที่มิวเซียมสยาม (Museum Siam) เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน 2561 หนึ่งในผู้อบรม

ประเด็นนี้ชเนตตียังเห็นว่า หากสื่อมองเรื่องเพศเป็นวัตถุ สินค้าในธุรกิจสื่ออย่างเดียว อาจทำสื่อมวลชนพาดนำเสนอคำหรือภาษา หรือข้อมูลที่ไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ของในแหล่งข่าวที่ได้รับผลกระทบเรื่องเพศ เพราะสื่อมวลชนคนนั้น กลุ่มนั้นอาจมีดวงตาที่มืดบอด มองไม่เห็นในมิติเรื่องเพศภาวะ รสนิยมทางเพศของกลุ่มคนเหล่านั้นอย่างเข้าใจลึกซึ้งแท้จริง ซึ่งควรให้สื่อมวลชนได้รับความรู้เกี่ยวเรื่องอย่างจริงจัง ก่อนการทำข่าวในประเด็นเรื่องที่เพศที่อ่อนไหว เปราะบางต่อผู้ได้รับผลกระทบ

“หากสื่อมวลชนทำงานโดยไม่คำนึงเรื่องมิติทางเพศสภาวะอย่างจริงจัง อาจทำให้ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบเรื่องเพศ ถูกกดขี่ทางเพศ ละเมิดสิทธิทางเพศ ซ้ำเข้าไปอีกชั้นจากสังคมหนึ่ง สุดท้ายสังคมอาจจะแบ่งแยก กีดกัน คนเหล่านี้ออกจากสังคมได้ คล้ายกับกรณีสังคมไม่ยอมรับรสนิยมทางเพศของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ” ชเนตตีกล่าว

ทั้งนี้ รายงานตัวชี้วัดเกี่ยวกับความไหวรู้ต่อเพศภาวะในสื่อ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยหน่วยการสื่อสารและข้อมูลขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ปี 2555 ระบุว่า สื่อควรจะสะท้อนความหลากหลายในสังคม เพราะความหลากหลายทางสังคมแสดงถึงความหลากหลายของลักษณะที่ซับซ้อนกันของประชากรมนุษย์ เช่น ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติ ชาติพันธุ์และเพศภาวะ การที่จะทำให้สื่อสามารถสะท้อนสังคมของเราและผลิตการรายงานข่าวที่สมบูรณ์และหลากหลายได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ข่าวจะสะท้อนถึงโลกในแบบที่ลึกซึ้งกว่ามุมมองที่ชายเป็นศูนย์กลาง

“สิ่งสำคัญคือ ข่าวจะต้องสะท้อนถึงโลกที่มองผ่านสายตาของผู้หญิงและผู้ชาย ผู้สื่อข่าวทั้งเพศชายและเพศหญิงสามารถช่วยเปลี่ยนทัศนคติโดยการเสนอภาพของผู้หญิงตามที่พวกเธอเป็นจริง แทนที่จะบังคับใช้ภาพเหมารวมบนฐานเพศภาวะ” ในรายงานระบุ

กิจกรรมระดมความเห็นเกี่ยวกับความคาดหวังของสังคมไทยต่อความเป็นชายและความเป็นหญิง

สื่อควรทลายมายาคติเรื่องเพศสภาพของสังคมไทย

สังคมไทยมีความคาดหวังอย่างสูงว่าประชากรชายและหญิงต้องมีศีลธรรมในเรื่องเพศ ประเด็นสำหรับชเนตตีมองว่าเป็นมายาคติที่ผิดพลาดและยากจะลบออกจากความคิด ความเชื่อคนในสังคมไทย

“ชาย หญิงต้องมีศีลธรรมที่ดีงามทางเพศ ความคาดหวังนี้มันตกอยู่แค่ในบางเพศ เช่น เพศหญิงเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้หญิงต้องแบกรับความคาดหวังของสังคมไว้ จนเกิดความทุกข์ทรมาน ไม่มีอิสระเสรีภาพอย่างแท้จริง”  ชเนตตีกล่าว

เรื่องการที่สื่อสร้างภาพเหมารวมที่คาดเคลื่อนเกี่ยวกับมายาคติเรื่องความเป็นเพศหญิงในสังคมไทย ที่ผู้หญิงที่ดีตามที่สังคมคาดหวังจะต้องมีครอบครัว ไม่สามารถที่จะหย้าร้างได้ หากหย่าร้างกับสามี ผู้หญิงในฐานะอดีตภรรยาก็ต้องรักษาบทบาทความเป็นแม่ ทำหน้าที่เลี้ยงลูกต่อไป ซึ่งมายาคตินี้ถูกถ่ายทอดผ่านละคร  ภาพยนตร์ โฆษณาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันอาจจะยังเห็นอยู่

“มายาคติผู้หญิงที่ดีตามอุดมคติสังคม จริงแล้วมันกดทับผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงเกิดความทุกข์ทรมานจากความคาดหวังของสังคมรอบตัว ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถออกจากกรอบกติกาความเชื่อนี้ได้” ชเนตตีกล่าว

ชเนตตีกล่าวอีกว่า มายาคติเรื่องความคาดหวังของสังคมต่อความเป็นชายและความเป็นหญิงนี้สร้างความไม่พอใจให้กับชายหญิงบางคน จึงทำให้เกิดกลุ่มคนที่ไม่ยอมสังกัดเพศเพียงสองเพศเท่านั้น เรียกว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ) ขึ้นในสังคมไทย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้กล้าแหกกรอบ ทลายกฎกติกา ความคาดหวังของสังคม เพราะกฎและกรอบความคาดหวังนี้ถูกวางไว้ในเหตุผลแค่ความเป็นชายและความเป็นหญิงเท่านั้น ประเด็นนี้คนที่ทำงานสื่อสารมวลชนควรจะทำความเข้าใจในประเด็นนี้อย่างลึกซึ้งเพื่อให้สังคมได้รับสารในประเด็นเรื่องเพศอย่างที่ถูกต้อง

กิจกรรมระดมความเห็นเกี่ยวกับลักษณะความรุนแรงทางเพศที่ผู้หญิงและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศถูกกระทำโดยอาชญากร

สำหรับ พงษ์ศธร พรมโกวาดเจ้าหน้าที่ประสานงานฝึกอบรม (ภาคอิสาน) สำนักเครือข่ายสาธารณะ ThaiPBS แล้ว การได้มาอบรมครั้งทำให้ตัวเขาได้ทราบถึงวิธีการตั้งคำถาม การใช้คำและภาษาในการพูดคุยและสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่ได้รับผลกระทบจากการคุกคามทางเพศและแหล่งข่าวที่มีความอ่อนไหวในเรื่องเพศภาวะ เพื่อไม่ให้แหล่งข่าวรู้สึกว่าถูกคุกคามทางเพศหรือแหล่งข่าวที่เป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศรู้สึกถูกตีตรา แบ่งแยก กีดกันหรือถูกสื่อลดทอนความเป็นมนุษย์ผ่านการรายงานข่าวซ้ำอีก

“ต่อไปนี้ผมต้องมีสติ ระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอ ว่าจะต้องใช้คำและภาษา กริยาท่าทาง การวางตัวอย่างไรเมื่อต้องไปทำข่าวหรือสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่ได้รับผลกระทบจากการคุกคามทางเพศ หรือแหล่งข่าวที่มีความอ่อนไหวเรื่องเพศภาวะ” พงษ์ศธรกล่าว

image_pdfimage_print