ระยะทางกว่า 90 กิโลเมตรจากตัวอำเภอวานรนิวาร ผ่านอำเภอพังโคน อำเภอพรรณาและอำเภอดงมะไฟ ปลายทางที่ตัวเมืองสกลนคร คือเส้นทางที่กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กลุ่มที่เคลื่อนไหวคัดค้านการสำรวจและทำเหมืองแร่โพแทช ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาสและเครือข่ายภาคประชาชนจะทำกิจกรรม “ไทวานรก้าวเดิน” (Wanon Walk) เดินเท้า 5 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561

“เราอยากให้พี่น้องอำเภอใกล้เคียงวานรนิวาสอย่างพังโคน พรรณา ดงมะไฟ และตัวอำเภอเมืองสกลนคร รับรู้ว่าเรากำลังเคลื่อนไหวอะไร และกังวลผลกระทบเรื่องอะไรหากมีเหมืองแร่เกิดขึ้นในพื้นที่” มะลิ แสนบุญศิริ ชาวบ้านหินกอง-หินเหิบ ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสและคณะกรรมการจัดกิจกรรมครั้งนี้ กล่าวกับเดอะอีสานเรคคอร์ด

เมื่อปี 2558 บริษัทไชน่าหมิงต๋า โปแตช คอร์เปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับอาชญาบัตรพิเศษจากรัฐบาลไทยในการสำรวจแร่และการทำเหมืองแร่โพแทช (แร่เกลือ) สำรวจพื้นที่จำนวน 12 แปลงรวมพื้นที่ 116,875 ไร่ ครอบคลุม 6 ตำบล 82 หมู่บ้านในเขตอำเภอวานรนิวาส

มะลิเชื่อว่าตอนนี้ คนในจังหวัดสกลนครไม่ทราบข้อมูลด้านผลกระทบที่คนทั้งอำเภอวานานิวาสจะพบเจอจากโครงการทำเหมืองแร่โพแทชในอนาคต จึงเป็นเหตุผลทำให้เธอและสมาชิกคนอื่นต้องออกมาทำกิจกรรมนี้

“ผลกระทบจะไม่เกิดขึ้นแค่ในวานรนิวาส อาจจะขยายไปทั้งจังหวัดสกลนคร  ลูกหลานเราอาจจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง สกลนครอาจเปลี่ยนเป็นนครแห่งเหมืองแร่ ไม่มีป่าไม้ ไม่ธรรมชาติและวิถีชีวิต วัฒนธรรมพวกเราอาจหายไป” มะลิกล่าว

มะลิ แสนบุญศิริ (คนขวามือ) ชาวบ้านหินกอง-หินเหิบ ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสและคณะกรรมการจัดกิจกรรมไทวานรก้าวเดิน (ภาพจากแฟ้ม)

กิจกรรมดังกล่าวได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสมาชิกในกลุ่มและคนในพื้นที่ผ่านการจัดงานบุญบุญกุ้มข้าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ที่ศาลาประชาคม หมู่ 17 บ้านหินกอง-หินเหิบ ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ซึ่งได้รับสนับสนุนเงินทุน ข้าวสาร อาหารแห้งจากสมาชิกในกลุ่มและคนพื้นที่ใกล้เคียง

แผนผังพื้นที่บริเวณอ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ที่อยู่ในเขตสัมปทานเหมืองแร่โพแทช (ภาพจากแฟ้ม)

กังวลเหมืองแร่มา ชุมชนและระบบนิเวศธรรมชาติเสียหาย

มะลิเล่าว่า เหตุผลที่คนในพื้นที่รวมตัวคัดค้านโครงการทำเหมืองแร่โพแทชเนื่องจากกังวลว่าผลกระทบจากเหมืองแร่จะตกกับคนในพื้นที่

“หวั่นเกรงผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เช่น ดินทรุดตัว มีการปรับพื้นที่ที่เคยทำไร่ ทำนา ปลูกพืช ซึ่งอาจกระทบความมั่นคงทางอาหารของชุมชน รวมถึงการแย่งชิงน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติระหว่างเหมืองและชุมชนในพื้นที่”

เธอเล่าต่อว่า ผลกระทบที่น่ากังวลที่สุดสำหรับคนในชุมชนคือ ดินทรุดตัว มะลิและเพื่อนในกลุ่มเคยเห็นดินทรุดตัวบริเวณหมู่บ้านกุดเรือคำ ต.กุดเรือคำ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน ต.บ้านม่วง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ที่ขุดและสูบเกลือจากใต้ดินขึ้นมาขาย จนทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวทรุดตัวลง ลักษณะเป็นหลุมกว้างและพื้นดินมีรอยแตกแยก

“เคยเห็นมากับตาว่า หากสูบเกลือขึ้นจากใต้ดิน จะทำให้ดินทรุดตัวและแตกแยก รวมถึงความเค็มของเกลือทำให้ดินเค็ม ปลูกพืชไม่ได้ นี่ขนาดแค่สูบเกลือขาย ธุรกิจเล็ก ๆ ยังเกิดผลกระทบแบบนี้ จินตนาการดูหากเป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่ขนาดใหญ่ ผลกระทบจะขนาดไหน” มะลิกล่าว

เธอเคยยินเรื่องราวและลงพื้นที่ดูผลกระทบที่ชุมชนบางแห่งได้รับจากการโครงการทำเหมืองประเภทต่าง ๆ  เช่นที่ เหมืองแร่โพแทช จ.ชัยภูมิ เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ประสบการ์ดังกล่าวทำให้ตัวเธอกังวลว่า ชุมชนที่อาศัยอยู่จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

“วิจัยไทบ้าน” ชาวบ้านทำข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบจากเหมือง

มะลิเป็นหนึ่งในทีมที่ร่วมทำงานวิจัยที่เรียกว่า “งานวิจัยไทบ้าน” ซึ่งเป็นการวิจัยร่วมกับนักวิชาการ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักพัฒนาเอกชนที่ทำงานวิจัยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่โครงการทำเหมืองแร่ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเริ่มทำมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา

“เป้าหมายของงานวิจัยเป็นการเก็บข้อมูลและทำรายงานในรูปแบบงานวิชาการของคนในพื้นที่ที่สามารถอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการ เพื่อเตรียมไว้นำเสนอกับฝ่ายวิจัยของหน่วยงานรัฐและบริษัท” มะลิกล่าว

มะลินำเสนองานตัวอย่างสัตว์บกและสัตว์น้ำที่พบในบริเวณเขตพื้นที่ที่สัมปทานทำเหมืองแร่

ตัวอย่างประเด็นที่งานวิจัยไทบ้านทำการศึกษา เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติในเขตสัมปทานทำเหมืองแร่ทั้งหมด งานวิจัยพบว่าในพื้นที่มีความหลายหลากทางชีวภาพอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าและแหล่งน้ำธรรมชาติที่ยังมีสภาพอุดมสมบูรณ์

“ในพื้นที่มีของป่า เช่น เห็ด แมลงกินได้ มีปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ จำนวนมาก รวมถึงพืชสมุนไพรอีกด้วย ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเมินมูลค่าเป็นจำนวนเงินไม่ได้” มะลิกล่าว

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนวานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนครประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือต่อหัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลคร เพื่อขอเอกสารแนบท้ายการขุดเจาะสำรวจแร่โพแทชและแผนผังสำรวจแร่ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา

รัฐพยายามปกปิดข้อมูลโครงการเหมืองแร่

“เราไม่รู้ว่ารายละเอียดของโครงการเหมืองแน่ชัดเลยว่า เหมืองจะมีขนาดเท่าไหร่ ครอบคลุมกี่พื้นที่ วิธีการทำเหมืองจะทำอย่างไร แล้วจะเกิดผลกระทบกับคนในพื้นที่หรือไม่อย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยมาชี้แจงเพื่อให้คนในพื้นที่เตรียมตัว” มะลิกล่าว

นับจากปี 2558 เธอและสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสมักเดินทางไปสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครเพื่อยื่นหนังสือขอข้อมูล อาทิ การเจาะสำรวจ การอนุมัติโครงการ และเอกสารแนบท้ายตามอาชญาบัตรพิเศษ จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครถึง 4 ครั้ง แต่ทางอุตสาหกรรมจังหวัดปฏิเสธการให้ข้อมูล โดยไม่ให้เหตุผล และในช่วงนั้นบริษัทฯ เริ่มดำเนินการขุดเจาะสำรวจแร่ในระยะแรก

“ช่วงนั้นเราต้องการทราบข้อมูลการเจาะสำรวจแร่ดังกล่าวว่า บริษัท ฯ จะเจาะสำรวจกี่ครั้ง บริเวณไหน ใกล้ที่ดินใกล้ที่นาใครในหมู่บ้าน พวกเราต้องการรู้ข้อมูลเหล่านี้” มะลิกล่าว

เวลาผ่านมากว่าสามปี กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสถึงจะได้ข้อมูลเหล่านี้จากอุตสาหกรรมจังหวัด โดยกลุ่มเพิ่งได้รับข้อมูลเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา

แต่เมื่อเธอได้เห็นข้อมูลต่าง ๆ ในเอกสาร มะลิและสมาชิกกลุ่มยังคงกังวลว่าชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติอาจได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนหากเกิดการทำเหมืองในพื้นที่

“ขอยืนยันว่าพวกเราไม่ต้องการให้มีการเหมืองแร่ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จึงอยากให้ชาวจังหวัดสกลนครร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านกับพวกเรา” มะลิกล่าว

คัดค้านการเจาะสำรวจแร่

บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2563 ซึ่งใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี  

มะลิกล่าวอีกว่า บริษัทฯ เริ่มทำการขุดเจาะสำรวจแร่ใต้ดินเพื่อดูว่าตำแหน่งใดมีแร่ที่บริษัท ฯ ต้องการตั้งแต่กลางปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งสามารถเจาะสำรวจแร่สำเร็จ เพียง 3 หลุมเท่านั้น เนื่องจากคนในพื้นที่รวมตัวกันคัดค้านการเจาะสำรวจ ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 บริษัท ฯ พยายามขุดเจาะสำรวจแร่หลุมที่ 4 แต่ไม่สามารถทำการขุดเจาะสำเร็จเนื่องจากคนในพื้นที่คัดค้าน

“เราคัดค้านเพราะไม่อยากให้บริษัททำการสำรวจ เพราะเมื่อสำรวจพบแร่ อาจจะนำไปสู่การทำเหมืองแร่ใต้ดินในอนาคต” มะลิกล่าว

บริษัทฯ ฟ้องคดีคนที่คัดค้านการเจาะสำรวจแร่

การเคลื่อนไหวคัดค้านการเจาะสำรวจแร่ของคนในพื้นที่ ทำให้บริษัทฯ ยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีคนในพื้นที่ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการสำรวจรวมตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา นายสักกพล ไชยแสงราช ทนายความและที่ปรึกษาด้านกฎหมายกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสเคย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2561 หลังมีโครงการสำรวจแร่โพแทชว่า มีชาวบ้านถูกดำเนินคดีแล้ว 14 คนคดีหลักมีอยู่ 3 คดี คือ คดีหมิ่นประมาท คดีผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และคดีร่วมกันข่มขืนจิตใจผู้อื่น ชาวบ้านบางคนถูกกล่าวหาเกิน 1 ครั้ง คดีของชาวบ้านรวมกันแล้วมีทั้งหมดกว่า 20 คดี

ขอให้รัฐสำรวจพื้นที่ใหม่ว่าเหมาะสมแก่การทำเหมืองหรือไม่

มะลิต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตให้บริษัทสำรวจและทำเหมืองแร่ ลงพื้นที่ทำข้อมูลสำรวจพื้นที่ทั้งหมดใหม่ว่าเหมาะสมกับการทำเหมืองแร่หรือไม่

“พื้นที่จริง ๆ มีชุมชน มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและจำนวนมาก แต่ละครัวเรือนมีวิถีชีวิตเป็นเกษตรกรรม ทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชเอาไว้กิน เอาไว้ขายเป็นหลัก จึงอยากให้หน่วยงานทำข้อมูลสำรวจพื้นที่ใหม่ว่าเหมาะสมทำเหมืองหรือไม่” มะลิกล่าว

กิติมา ขุนทอง อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามโครงการเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร (ภาพจากแฟ้ม)

ผลกระทบไม่ได้เกิดแค่คนวานรนิวาสแต่อาจกระทบคนในอีสานทั้งหมด

กิติมา ขุนทอง อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามโครงการเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ กล่าวว่า กิจกรรมนี้ ตนคิดว่าเป็นกิจกรรมที่กลุ่มคัดค้านโครงการทำเหมืองแร่ต้องการสร้างพื้นที่เพื่อสื่อสารกับคนในจังหวัดสกลนครและคนในภาคอีสาน เพื่อให้คนเหล่านั้นได้รับทราบถึงเหตุผลว่าทำไมกลุ่มนี้ต้องออกมาคัดค้านโครงการเหมืองแร่ในพื้นที่

“ก็เพราะในอนาคตหากมีการทำเหมืองแร่จริง ๆ ในพื้นที่ อาจจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ และที่แย่ที่สุดคือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ขนาดใหญ่อาจจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ไปทั้งหมด” กิติมากล่าว

กิติมาวิเคราะห์ต่อว่า ตามจริงแล้วโครงการเหมืองแร่โพแทชเกิดขึ้นในหลายจังหวัดในภาคอีสาน เช่น ที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ที่ อ.เมือง จ.อุดรธานีและที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เท่าที่ทราบข้อมูล โครงการเหมืองแร่โพแทชนี้ครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานกว่า 6,000,000 ไร่

“หากวิเคราะห์ดูแล้ว นี่คืออุตสาหกรรมเหมืองแร่โพแทชที่มีขนาดใหญ่มาก ใหญ่ระดับภูมิภาคอีสานด้วยซ้ำ อุตสาหกรรมนี้อาจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนในพื้นที่ได้ เพราะรัฐไทยต้องการเอาทรัพยากรใต้ดินเอามาใช้ประโยชน์และสร้างรายได้ให้ประเทศ” กิติมากล่าว

เลิศศักดิ์ หนึ่งในนักพัฒนาเอกชนที่ติดตามโครงการเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ภาคอีสานกล่าวว่า ตอนนี้บริษัทกำลังเร่งขุดเจาะสำรวจแร่ให้ได้จำนวนหลุมมากขึ้น ก่อนใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทชในอำเภอวานรนิวาสจะหมดอายุในต้นปี 2563 (ภาพจากแฟ้ม)

บริษัทเหมืองเร่งสำรวจหาแร่ ก่อนใบอนุญาตหมดอายุปี 2563

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศน์ศึกษา หนึ่งในนักพัฒนาเอกชนที่ติดตามโครงการเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่ภาคอีสาน เขาคิดว่าความคืบหน้าของโครงการเหมืองแร่โพแทชอำเภอวานรนิวาส พบว่าปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการขุดเจาะสำรวจหาแร่ ซึ่งบริษัท ฯ ขุดเจาะสำรวจได้เพียงแค่ 3 หลุม จากทั้งหมด 54 หลุมตามที่กฎหมายแร่ ปี 2510 ซึ่งเป็นกฎหมายแร่ฉบับเก่ากำหนดไว้

“ดูเหมือนว่าตอนนี้บริษัทฯกำลังเร่งขุดเจาะสำรวจแร่ให้ได้จำนวนหลุมมากขึ้น ก่อนใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่จะหมดอายุในต้นปี 2563” เลิศศักดิ์ กล่าว

เลิศศักดิ์บอกว่า ถึงแม้ใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่จะหมดอายุ ถ้าบริษัทยังสำรวจไม่ครบ บริษัทสามารถยื่นของใบอนุญาตสำรวจแร่เพิ่มอีกคราวละ 5 ปี

เลิศศักดิ์วิเคราะห์ต่อว่า กฎหมายแร่ ฉบับปี 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายแร่ฉบับใหม่นั้นมีการแก้ไขเรื่องจำนวนหลุมเจาะสำรวจ ซึ่งทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องเจาะสำรวจแร่ทั้งหมด 54 หลุม แต่ขุดเจาะสำรวจเพียง 5 – 6 หลุมก็เพียงพอ เขาคิดว่าเป็นเพราะบริษัทอาจจะใช้เทคโนโลยีขุดเจาะสำรวจแร่ที่ทันสมัย ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องเจาะสำรวจถึง 54 หลุมเหมือนเดิม

“กฎหมายแร่ใหม่ให้บริษัทไม่ต้องทำการเจาะสำรวจแร่เหมือนเดิม ประเด็นนี้ถือว่ากฎหมายเอื้อให้บริษัทดำเนินการโครงการได้สะดวกขึ้น” เลิศศักดิ์กล่าว

image_pdfimage_print