โดย พุฒิพงศ์ มหาอุตร

อุบลราชธานี – จันทร์ ภูการ เกษตรกรบ้านดอนผอุง หมู่ที่ 5 ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยกับเดอะอีสานเรคคอร์ดว่า คนในพื้นที่ที่ทำอาชีพหาปลาบริเวณหนองน้ำรอบบ่อขยะ จะนำปลาและสัตว์น้ำที่จับได้ไปขายยังพื้นที่นอกหมู่บ้าน เนื่องจากคนในหมู่บ้านจะไม่กล้ากินปลาที่จับจากหนองน้ำบริเวณใกล้บ่อขยะ เพราะกังวลว่าปลาจะมีสารพิษจากน้ำเสียขยะปนเปื้อน

“คนในพื้นที่จะเรียกปลาที่อยู่ตามหนองน้ำใกล้บ่อขยะว่า ปลาขยะ คนที่นี่จะไม่กล้ากินปลาตามหนองน้ำใกล้บ่อขยะ” จันทร์กล่าว

พื้นที่บ้านดอนผอุง หมู่ที่ 5 ถูกใช้เป็นพื้นที่ทิ้งขยะมูลฝอยของอำเภอวารินชำราบและพื้นที่ใกล้เคียง โดยบ่อขยะแห่งนี้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “สถานที่กำจัดขยะมูลฝอย โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลคูเมือง มีพื้นที่ 282 ไร่ เปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2541 มีขยะจากองค์กรส่วนท้องถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ร่วมกำจัดขยะทั้งหมด 37 แห่ง โดยเข้ามาทิ้งบ่อฝังกลบประมาณ 300 ตันต่อวัน และมีโรงเตาเผากำจัดขยะติดเชื้ออีกหนึ่งแห่ง เพื่อกำจัดขยะที่มาจากโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยมีปริมาณการเผากำจัดติดเชื้อประมาณ 3-4 ตันต่อวัน

จันทร์ ภูการ เกษตรกร ชาวบ้านดอนผอุง กล่าวว่า ปลาที่จับได้จากแหล่งน้ำบริเวณรอบบ่อขยะคนในพื้นที่จะไม่กล้าซื้อกิน และคนในพื้นที่จะเรียกปลาเหล่านี้ว่าปลาขยะ

จันทร์ ยังกล่าวอีกว่า การเผาขยะอันตรายของบ่อขยะฯ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านด้วยเช่นกัน เพราะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและควัน ซึ่งชาวนาที่ทำนาในพื้นที่ใกล้กับบ่อขยะจะได้กลิ่นเหม็นรุนแรงเกือบตลอดเวลา

“บางวัน กลิ่นและควันลอยมาไกลถึงหมู่บ้านซึ่งห่างจากบ่อขยะฯ กว่า 2 กิโลเมตรได้ ควันจะทำให้ชาวบ้านมีอาการแสบจมูก เพราะกลิ่นนั้นเหม็นเหมือนปลาร้าเน่า” จันทร์ กล่าว

กลิ่นควันจากการเผาขยะเคยทำให้จันทร์รู้สึกมีปัญหาในระบบการหายใจ ส่วนหนึ่งคิดว่าเกิดจากอาการแพ้ควันจากการเผาขยะ จันทร์ กล่าวว่า

“ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บ้านเคยได้ร้องเรียนไปยังบ่อขยะฯ เพื่อขอให้มีการกำหนดเวลาเผาขยะ และงดเว้นการเผาขยะในเวลากลางคืน แต่การร้องเรียนไม่เป็นผล การเผาขยะฯ ยังดำเนินอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน” เกษตรกร ชาวบ้านดอนผอุง กล่าวทิ้งท้าย

อาชีพหาปลาของ เพียร นินอนัน ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติของที่บ่อขยะฯ

เพียร นินอนัน อาชีพหาปลา ชาวบ้านดอนผอุง หมู่ที่ 5 อายุ 70 ปี ผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษของบ่อขยะฯ กล่าวว่า ตนยึดถืออาชีพหาปลาเพื่อขายและกินมากว่า 20 ปี ซึ่งหลังจากที่มีการก่อสร้างบ่อขยะฯ บ่อขยะปล่อยน้ำเสียไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้น้ำไม่สะอาดเหมือนในอดีต

“ผมไม่หาปลาในแหล่งน้ำบริเวณใกล้บ่อขยะแล้ว เพราะกังวลว่าปลาจะมีสารพิษตกค้างจากน้ำเสียของบ่อขยะ กลัวเอาปลามากินแล้วจะเกิดโรคภัยต่างๆ” เพียรกล่าว

มังกร หยุดชม คิดว่าสาเหตุที่ปลาในสระน้ำริมที่นาตนเองตายเป็ฯเพราะน้ำเสียที่ไหลมาจากบ่อขยะ

มังกร หยุดชม เกษตรกร ชาวบ้านดอนผอุง หมู่ที่ 5  อายุ 44 ปี เล่าว่า น้ำเสียจากบ่อขยะฯ ที่ไหลลงสู่สระน้ำที่มีปลาอาศัยอยู่นั้นจะทำให้ปลาตาย ที่ผ่านมา เพื่อนบ้านเคยขอให้บ่อขยะฯ ปล่อยน้ำเสียจากบ่อบำบัดน้ำเสียเข้ามาในพื้นที่นา เพราะเชื่อว่าน้ำเสียจากบ่อบำบัดจะเป็นปุ๋ยสำหรับดินและต้นข้าวที่ดี ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวมากขึ้น

“ผมจะไม่นำน้ำจากบ่อขยะฯ มาใช้ในนาแน่นอน เนื่องจากกลัวว่าน้ำจะมีสารพิษปนเปื้อน ซึ่งหากน้ำเสียไหลส่งสระน้ำ หรือหนองน้ำในที่นา น้ำก็จะไม่มีออกซิเจน และทำให้ปลาตาย” มังกรกล่าว

รายงานการตรวจวัดคุณภาพน้ำในบ่อบำบัดน้ำเสียในบ่อขยะ ฯ ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 อุบราชธานี หลังจากผูสื่อข่าวเดอะอีสานเรคคอร์ดร้องเรียนไป

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เดอะอีสานเรคคอร์ดได้ติดต่อไปยังสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยตรง เพื่อให้ลงมาตรวจสอบคุณภาพของบ่อบำบัดน้ำเสียในพื้นที่บ่อขยะฯ  ทำให้ต่อมา เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ประเดิม ภาคแก้ว ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 อุบลราชธานี แจ้งว่า กำลังพาเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 และเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองวารินชำราบลงพื้นที่ตรวจสอบและได้เผยแพร่รายงานผลตรวจสอบคุณภาพดังกล่าว

ทั้งนี้ ผลการรายงานระบุว่า น้ำในบ่อบำบัดมีค่าความเป็นกรด-ด่าง pH 8.5 ซึ่งถือว่ามีค่าอยู่ในมาตรฐานการระบายน้ำลงสู่ทางน้ำชลประทาน และทางน้ำที่ต่อเชื่อมกับทางน้ำชลประทานในเขตพื้นที่โครงการชลประทาน

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังได้อ้างถึงผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ที่พบว่า ค่าปริมาณออกซิเจนในน้ำที่จุลินทรีย์ใช้ในการสลายอินทรีย์ (Biochemical Oxygen Demand-BOD) ของบ่อบำบัดน้ำเสียแห่งนี้อยู่ที่ 83.6 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ที่กำหนดให้น้ำที่จะปล่อยลงสู่ชลประทานต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/ลิตร

สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 จึงได้แจ้งให้เทศบาลเมืองวารินชำราบรับทราบถึงปัญหาและสั่งให้ทำการหยุดปล่อยน้ำจากบ่อบำบัดส่งสู่ที่นา

พุฒิพงศ์ มหาอุตร ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2561

image_pdfimage_print