โดย กรชนก แสนประเสริฐ ขบวนการอีสานใหม่
วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีถือได้ว่าเป็นวันรัฐธรรมนูญของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จึงได้ถือเอาวันนี้ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริงของสังคมแล้ว วันที่ 10 ธันวาอาจเป็นเพียงวันหยุดนักขัตฤกษ์วันหนึ่งเท่านั้น เป็นช่วงวันหยุดยาวที่จะได้กลับบ้านไปหาครอบครัวหรือท่องเที่ยวพักผ่อนตามที่ตัวเองอยากจะไป เพื่อใช้เวลาพักผ่อนให้คุ้มค่าหลังจากทำงานหนักมาตลอดทั้งปี แล้วจะมีสักกี่คนที่ให้ความสำคัญกับวัน “วันรัฐธรรมนูญ” นี้
ด้วยความสงสัยส่วนตัวของผู้เขียนบวกกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในวันนี้ จึงมีคำถามว่า คนในสังคมให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด แล้วจริง ๆ สังคมไทยเราต้องการเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงไม่ให้ความสำคัญกับวันรัฐธรรมนูญ ทำไมนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจึงปล่อยให้มันเป็นวันรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐผู้มีอำนาจเสมอมา เมื่อนัยยะในทางหนึ่งของวันรัฐธรรมนูญคือชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย ที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อชวนแลกเปลี่ยนกับนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย เผื่อจะมีใครสนใจในการดึงวันรัฐธรรมนูญกลับมาเป็นของภาคประชาชนได้ เพราะความสำคัญของวันที่ 10 ธันวานั้น ไม่ใช่เป็นเพียงวันรัฐธรรมนูญของไทย แต่ยังเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลอีกด้วย
10 ธันวา ในฐานะวันรัฐธรรมนูญ คือ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยโดยคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้วมีการใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวในการบริหารประเทศ จนในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นหลักในการบริหารประเทศ ดังนั้น เหตุผลความสำคัญของมันจึงไม่ใช่เรื่องของ “วันที่หรือวันแรก” ที่เรามีรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่เป็นวันแรกที่ประชาชนคนอย่างเราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง หาใช่ใครหรือเพียงแต่กลุ่มบุคคลใดไม่
นั่นหมายถึง วันที่ 10 ธันวา เป็นวันแรกที่ประชาชนคนธรรมดาเป็นเจ้าของประเทศไทยประเทศนี้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร มีสิทธิเท่าเทียมกันทุกคนโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ของแต่ละคนในสังคม ความสำคัญของรัฐธรรมนูญจึงอยู่ที่ตรงนี้ คือมันไม่เป็นเพียงแต่กฎหมายสูงสุดของประเทศเหมือนที่นักศึกษากฎหมายท่องไปตอบเวลาสอบสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น มันคือตัวกำหนด สิทธิ อำนาจ และหน้าที่ของคนสังคมอีกด้วย ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีการปฏิวัติรัฐประหารอยู่บ่อยครั้ง ก็จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจแก่ผู้ที่ยึดอำนาจมากกว่าประชาชนคนธรรมดาเป็นตัวอย่าง เช่น รัฐธรรมนูญสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการเขียนว่าให้อำนาจนายกรัฐมนตรีทำอะไรก็ได้ แม้แต่การประหารชีวิต ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็คือจอมพลสฤษดิ์เอง อาจมองดูคล้ายกันกับรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการปัจจุบัน ที่มี ม.44 ให้อำนาจแก่ คสช. จะทำอะไรก็ได้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเขาได้มีอำนาจเหนือประชาชนคนทั่วไปเป็นที่เรียบร้อย มิหนำซ้ำยังจะสืบทอดอำนาจโดยอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปอีกนาน
ส่วนวันที่ 10 ธันวา ในฐานะวันสิทธิมนุษยชนก็คือ หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อค.ศ. 1945 สงครามที่เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงของมวลมนุษยชาติ มีการรบราฆ่าฟันกันอย่างเหี้ยมโหด มนุษย์มีมุมมองต่อกันอย่างไม่ใช่มนุษย์ คนที่แตกต่างกันทางศาสนาหรือสีผิวไม่เหมือนกันกลายเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ จนเกิดการเข่นฆ่าคนที่แตกต่างกับพวกตน เพื่อกำจัดมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นให้สิ้นซากไป ประเทศทั้งหลายจึงมาทำการตกลงกันว่า จะไม่ทำให้เหตุการณ์เหมือนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นอีก มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้มีสิทธิเท่าเทียมกัน และได้ร่วมกันเขียนเป็นเอกสารเพื่อรับรองสิทธิของคนทุกคนบนโลกใบนี้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จนเสร็จแล้วรับรองเป็นมติของที่ประชุมใหญ่องค์กรสหประชาชาติซึ่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุน โดยประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948 หรือ พ.ศ. 2491 หลังจากนั้น แม้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะมิได้มีสถานะเป็นกฎหมายก็ตาม แต่ก็เป็นหลักการสิทธิมนุษยชนที่แต่ละประเทศต้องนำไปปรับใช้เป็นกฎหมายภายใน ประเทศทุกประเทศจึงต้องนำหลักการสิทธิมนุษยชนไปเขียนไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญนั่นเอง รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ไม่รู้ว่าความบังเอิญด้วยเหตุใด วันรัฐธรรมนูญของประเทศไทยกับวันสิทธิมนุษยชนมาตรงกัน คือ วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี แต่ความเหมือนของเรื่องราวทั้งสองเรื่องวันสิทธิมนุษยชนของไทยกับวันสิทธิมนุษยชนสากลก็คือวันที่ประชาชนสถาปนาวันแห่งความเท่าเทียมของมนุษย์ขึ้นมานั่นเอง ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือมีความคิดทางการเมืองแบบใด เราทุกคนต่างเท่าเทียม ซึ่งถ้าพิจารณาจากหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเรื่องของความเท่าเทียม การรัฐประหารในแต่ละครั้งก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไม่อาจยอมรับได้ เพราะเป็นการปล้นชิงสิทธิและอำนาจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริงไป แล้วเขียนกฎหมายให้อำนาจตนเองอย่างล้นฟ้า เช่น ใน ม.44 ของรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ณ ปัจจุบัน
ก็คงมีแต่ภาคประชาชน นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว นักสิทธิมนุษยชน ที่จะต้องช่วงชิงและประกาศว่า วันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันสิทธิมนุษยชนของประชาชน เป็นวันที่เราผู้เป็นประชาชนคนธรรมดาเป็นเจ้าของประเทศ ซึ่ง ณ เวลานี้ ได้ถูกปล้นชิงสิทธิและอำนาจอันชอบธรรมของเราไปโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งได้วางแผนที่จะสืบทอดอำนาจและอยู่เหนือประชาชนไปอีกนานโดยอาศัยอำนาจจากรัฐธรรมนูญที่เขาเขียนขึ้นมาเอง เพื่อพวกพ้องของเขาจะได้กดขี่ประชาชนอย่างพวกเราไปอีกนาน
สุดท้ายนี้ ด้วยหวังว่า ต่อไปนี้วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญของประเทศไทยและเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล ประชาชนอย่างเราจะได้ภาคภูมิใจในความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกันทุกคน รู้สึกภูมิใจกับสิทธิเสรีภาพของตนเองบ้าง และเผด็จการทั้งหลายจะต้องเคารพวันที่ 10 ธันวาคม ในฐานะวันสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างแท้จริง
กรชนก แสนประเสริฐ ผู้ก่อตั้งกลุ่มดาวดิน ม.ขอนแก่น ปัจจุบันเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม ในกลุ่มชื่อขบวนการอีสานใหม่ เคลื่อนไหวประเด็นสิทธมนุษยชน ประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อมในภาคอีสาน