*บทสัมภาษณ์ระหว่างวันที่ 7-9 กรกฏาคม พ.ศ. 2560

อิหม่ามผู้ต้นคิดสร้างมัสยิดเพื่อคนนับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดบึงกาฬ เล่าถึงความจำเป็นที่ต้องมีมัสยิดและความรู้สึกหลังถูกชาวพุทธต่อต้านและลุกลามไปถึงการเกลียดชังชาวมุสลิมในพื้นที่

เสียงบทสวดละหมาดขอพร อ้อนวอน สักการะและถวายความภักดีต่อพระเจ้าประจำศาสนาอิสลาม อันเป็นหนึ่งในศาสนกิจของชาวมุสลิมหรือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ครั้งแรกของวันดังก้องไปทั่วบริเวณมัสยิดอัศศอบีรีนที่ตั้งอยู่ในป่าท้ายหมู่บ้านโนนก่อ หมู่ 6 ต.ปากคาด อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ

มัสยิดอัศศอบีรีนได้รับอนุญาตจัดตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559 และใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 3,000,000 บาท โดยสร้างเสร็จและเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560 (ถ่ายเมื่อ 8 กรกฏาคม 2560)

ช่วงปี 2559 ก่อนมัสยิดแห่งนี้จะสร้างเสร็จ เกิดกระแสชาวพุทธทั้งในพื้นที่และในสื่อสังคมออนไลน์ออกมาต่อต้านการก่อสร้างอย่างหนัก ซึ่งการต่อต้านในสื่อสังคมออนไลน์ถูกเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อ “คนอีสานไม่เอามัสยิด”

ผู้ต่อต้านให้เหตุผลไว้หลายประการ เช่น จุดก่อสร้างมัสยิดตั้งอยู่ใกล้ชุมชนชาวพุทธซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งทางศาสนา และการมีมัสยิดในพื้นที่อาจสร้างมลภาวะทางเสียง เนื่องจากทางมัสยิดจะใช้เครื่องกระจายเสียงดังประกาศเรียกชาวมุสลิมให้มาละหมาด นอกจากนี้ ผู้ต่อต้านยังระบุอีกว่า การมีชุมชนคนมุสลิมอาศัยอยู่อาจทำให้เกิดการก่อการร้ายและสร้างความไม่สงบเช่นเดียวกันกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

กระแสคนท้องถิ่นที่นับถือศาสนาพุทธบางส่วนที่ออกมาต่อต้านการสร้างมัสยิดของคนที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่ภาคอีสานเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2561 ซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นตามหน้าสื่อสังคมออนไลน์อยู่ ทั้งนี้ การต่อต้านการสร้างมัสยิดในพื้นที่อย่างหนักเริ่มขึ้นในพื้นที่ จ.บึงกาฬ ทำให้มีการต่อต้านของคนที่นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่ จ.มุกดาหาร จ.นครพนม จ.สกลนคร และล่าสุดเกิดขึ้นที่ จ.ขอนแก่น  ทั้งนี้ มัสยิดบางแห่งสามารถดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ในขณะที่บางแห่งโครงการก่อสร้างจำเป็นต้องยกเลิกไป

วสันต์ ท่อทิพย์ หรือ “อาบีดูน” อิหม่ามประจำมัสยิดอัศศอบีรีนและเป็นหนึ่งในผู้ที่ริเริ่มแนวคิดก่อสร้างมัสยิดแห่งแรกใน จ.บึงกาฬ

มัสยิดจำเป็นสำหรับมุสลิมในบึงกาฬ

“ก่อนที่ยังไม่สร้างมัสยิดที่นี่ พี่น้องมุสลิมในจังหวัดได้รับความยากลำบากในการเดินทางไปละหมาดทุกวันศุกร์หรือวันที่มีการประกอบศาสนกิจที่สำคัญของอิสลามที่ตัวจังหวัดหนองคายและที่อำเภอโซพิสัย เพราะบางคนไม่มีรถยนต์ และบางคนไม่มีเงินค่าเดินทาง” วสันต์ ท่อทิพย์ หรืออาบีดูน พ่อค้าขายพริกแกงใต้ในตลาดอำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ อิหม่ามประจำมัสยิดอัศศอบีรีนและเป็นหนึ่งในผู้ที่ริเริ่มแนวคิดก่อสร้างมัสยิดแห่งแรกในจ.บึงกาฬ กล่าวกับเดอะอีสานเรคคอร์ด

ข้อมูลจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) ประกาศสถิติจำนวนมัสยิดที่จดทะเบียนจัดตั้ง ลงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.  2559 ระบุว่า ภูมิภาคที่มีมัสยิดมากที่สุดในประเทศไทยคือ ภาคใต้ โดยมีมัสยิดถึง 3,305 หลังและมัสยิดที่จดทะเบียนจัดตั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีทั้งหมดจำนวน 15 จังหวัด โดยมีมัสยิดจำนวน 30 หลัง หนึ่งในนั้นคือ มัสยิดอัศศอบีรีน มัดยิดแห่งแรกในจังหวัดบึงกาฬ ที่ได้รับการอนุญาตจัดตั้งตามกฎหมายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เหตุผลที่ต้องการสร้างมัสยิดอัศศอบีรีนในพื้นที่จ.บึงกาฬ อาบีดูนเล่าว่า ความคิดในการก่อสร้างเริ่มต้นเมื่อกุมภาพันธ์ ปี 2559 คนมุสลิมในพื้นที่ใช้เวลาช่วงการละหมาดในวันศุกร์พูดคุยถึงเหตุผลที่ต้องการสร้างมัสยิด โดยต่างเห็นพ้องต้องกันว่าในจังหวัดบึงกาฬนั้นยังไม่มีมัสยิดสำหรับประกอบศาสนากิจทางศาสนาอิสลามอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และชาวมุสลิมที่นี่จะต้องเดินทางไปประกอบศาสนกิจที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีระยะทางห่างจากจังหวัดบึงกาฬกว่า 100 กิโลเมตร จึงสร้างความลำบากให้คนมุสลิมในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ

“บางคนก็ไม่มีรถยนต์ บางคนไม่มีเงินค่าเดินทาง” อาบีดูนกล่าว

หลายครั้งพวกเขาต้องนัดรวมตัวกันที่บ้านของใครคนใดคนหนึ่งเพื่อร่วมเดินทางไปละหมาดหรือประกอบศาสนกิจที่ต่างอำเภอด้วยกัน อีกทั้งขนาดพื้นที่ของสถานที่ประกอบศาสนกิจแห่งดังกล่าวก็ไม่เพียงพอที่จะรองรับชาวมุสลิมในพื้นที่

“สถานที่ที่พวกเราเคยใช้ประกอบศาสนกิจและละหมาดที่มุศ็อลลา ที่ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬนั้นตั้งอยู่บนที่ดินของคนอื่น ช่วงนั้นจำนวนคนมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจเพิ่มมากขึ้น มุศ็อลลามีพื้นที่แคบและไม่สามารถขยายพื้นที่เพิ่มรองรับพี่น้องมุสลิมได้”

บริเวณที่ประชุมกันในวันศุกร์ ช่วงที่ยังไม่มีมัสยิด ณ บ้านของนายรังสรรค์ มัสโอดี (คนกลาง) พี่น้องคนมุสลิม ผู้บริจาคที่ดินบางส่วนของตนเพื่อก่อสร้างอาคารมัสยิดอัศศอบีรีน ถ่ายเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม พ.ศ. 2560

การไม่มีสถานที่เพื่อประกอบศาสนกิจและพบปะพูดคุยกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะทำให้อาบีดูนและพี่น้องมุสลิมคนอื่นต้องละหมาดกันภายในบ้านส่วนตัว ส่วนในวันศุกร์ ซึ่งถือเป็นสำคัญของคนที่นับถือศาสนาอิสลามนั้น ในการละหมาดและการพบปะพูดคุยกัน พวกเขาจะนัดเจอกันที่บ้านของคนใดคนหนึ่งในชุมชนแทน

การละหมาดวันศุกร์ (ละหมาดยุมอะฮฺ) คนมุสลิมต้องการรวมตัวกันในรอบสัปดาห์ เนื่องจากถือว่าเป็นวันสำคัญของพี่น้องมิสลิม ผู้ชายต้องมาละหมาดที่มัสยิดและฟังบรรยายเกี่ยวกับหลักการศาสนา นอกจากนี้ พี่น้องมุสลิมยังได้ใช้โอกาสนี้ในการรับประทานอาหารร่วมกัน พบปะพูดคุย ตลอดจนแจ้งข่าวสารและประชุมกันในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งมักจะนัดรวมตัวกันทุกวันศุกร์ เวลาก่อนเที่ยงเป็นต้นไป

“ปัจจุบันคนที่มาละหมาดที่มัสยิดแห่งนี้ โดยเฉพาะวันศุกร์และวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม เช่น วันอีดและวันอีดิลฟิตร เป็นต้น จะมีผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ประมาณ 30 คน ที่เข้าละหมาดในมัสยิดได้ หากนับรวมเด็กและผู้หญิงแล้วก็ประมาณ 70 คน” อาบีดูนกล่าว

หลังจากอาบีดูนและพี่น้องมุสลิมในพื้นที่พูดคุยกัน จึงได้ข้อสรุปว่าจะต้องหาพื้นที่สร้างมัสยิดที่มีเนื้อที่กว้างขวางกว่าเดิม

อาบีดูนเล่าต่อว่า ระหว่างพูดคุยกัน รังสรรค์ มัสโอดี พี่น้องมุสลิมในพื้นที่ อ.ปากคาด อาสาที่จะสละที่ดินของตนเองเพื่อใช้ก่อสร้างมัสยิดประจำจังหวัด ที่ประชุมจึงเห็นพ้องต้องกันว่าหากมีที่ดินสำหรับก่อสร้างแล้ว ก็ควรที่จะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ

“พวกเราคิดแล้วก็ลงมือทำเลย เริ่มขออนุญาตหน่วยราชการ เริ่มปรับที่ดิน ซื้ออุปกรณ์ก่อสร้าง และลงมือสร้างกัน ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าการสร้างมัสยิดจะเกิดการต่อต้านจากคนที่นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่” อาบีดูนกล่าว

รังสรรค์ มัสโอดี (ซ้าย) พี่ชายของสันติ มัสโอดี ผู้ซึ่งยินยอมยกที่ดินบางส่วนของตนเพื่อก่อสร้างอาคารมัสยิดอัศศอบีรีน

การละหมาด สิ่งที่คนมุสลิมต้องทำ

“คนที่นับถือศาสนาอิสลาม หากขาดการละหมาดไปครั้งหนึ่งในแต่ละวันโดยไม่จำเป็น ตามความเชื่อของศาสนาจะต้องลงนรก เพราะเป็นมาตรการทางศาสนา”

สำหรับคนมุสลิมอย่างอาบีดูนแล้ว หากวันไหนไม่ได้ทำการละหมาดจะรู้สึกว่าชีวิตวันนั้นเหมือนขาดอะไรไป เพราะตามหลักศาสนา การละหมาดถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำสำหรับชาวมุสลิมที่บรรลุภาวะในศาสนาอิสลาม

ชาวมุสลิมในพื้นที่ชุมชนโนนก่อ ต.ปากคาด อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ กำลังทำการละหมาดครั้งสุดท้ายของวัน เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม พ.ศ. 2560

การละหมาดทำให้ตัวอาบีดูนรู้สึกสุขใจ สงบและสบายใจ หากวันใดที่เขาไม่ได้ละหมาดหรือหากเมื่อได้เวลาที่จะต้องละหมาดแต่ไม่ละหมาด เขาจะรู้สึกไม่สบายใจ ฉะนั้นเมื่อถึงเวลาละหมาด เขาจึงต้องหาที่ละหมาดให้ได้

“ความคาดหวังจากการละหมาดก็เพื่อการชำระบาป ชำระสิ่งไม่ดี ล้างมลทินในตัว เพราะบางครั้งเราทำอะไรไม่ดีไป เวลาเข้าละหมาดก็ขอพรพระเจ้าให้ชำระบาปในสิ่งที่ทำผิดพลาดในวันนี้ พระเจ้าจะรับหรือไม่รับ ก็ไม่รู้” อาบีดูนกล่าว

การต่อต้านการสร้างมัสยิด

“ผมรู้สึกตกใจเมื่อเห็นการต่อต้านการสร้างมัสยิดจากคนอื่นที่นัยถือศาสนาพุทธ ทั้งในพื้นที่และในสังคมออนไลน์ ตอนนั้นผมทำอะไรไม่ถูก รู้สึกเครียด เพราะกังวลว่าเหตุการณ์การต่อต้านจะบานปลายไปสู่ความรุนแรงมากกว่านี้”

มัสยิดแห่งนี้เริ่มสร้างปลายเดือนมีนาคม ปี 2559 ซึ่งหลังจากเริ่มสร้างได้ประมาณสองเดือนก็เกิดกลุ่มต่อต้านในสื่อสังคมออนไลน์ โดยการต่อต้านพูดถึงเหตุผลต่าง ๆ ที่เหมารวมว่าการตั้งมัสยิดของศาสนาอิสลามที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนชาวพุทธในพื้นที่

จนถึงช่วงเดือนกันยายน ปี 2559 การต่อต้านเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่และในสื่อสังคมออนไลน์ อาบีดูนเล่าว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงที่การก่อสร้างกำลังขึ้นรูปตามโครงสร้างที่วางแผน โดยมีการมุงหลังคาและก่ออิฐแล้ว แต่ยังไม่ฉาบผิวปูน

เขาเล่าต่อว่า ตามถนนทางเข้าหมู่บ้านและทางเข้ามัสยิดเต็มไปด้วยป้ายผ้าสีขาวเขียนตัวอักษรสีแดงระบุข้อความ “คนบึงกาฬไม่เอามัสยิด” หรือ “ปากคาดบ่เอามัสยิด” และ “บ้านนี้บ่เอามัสยิด” ติดไว้ตลอดเส้นทาง ซึ่งภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย

ภาพป้ายคัดค้านการสร้างมัสยิดถูกติดไว้บริเวณชุมชนโนนก่อ ต.ปากคาด อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ ซึ่งภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ค อีสานไม่เอามัสยิด (ภาพจาก : อีสานไม่เอามัสยิด)

“สถานการณ์การต่อต้านน่ากลัว คนในชุมชนต่างมองพวกเราเป็นคนไม่ดี เหมือนเราเป็นศัตรูกับพวกเขา มีการปลุกระดมในโลกออนไลน์และระดมมวลชนชาวพุทธทั้งในและนอกพื้นที่มาต่อต้าน” อาบีดูนกล่าว

เหตุผลที่คนที่นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่ต่อต้านมัสยิดและลุกลามไปถึงการต่อต้านคนมุสลิมนั้น เป็นเพราะพวกเขากลัวว่าจะเกิดเสียงดังในช่วงที่บิหลั่น หรือ ผู้ที่ทำหน้าที่ประกาศผ่านเครื่องกระจายเสียงเชิญชวนให้ชาวมุสลิมในหมู่บ้านมาละหมาดหรือปฏิบัติศาสนกิจของศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ ผู้ต่อต้านยังกังวลว่าคนที่นับถือศาสนาอิสลามจะก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่เหมือนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“และเหตุผลที่ผมคิดว่าเป็นเหตุผลที่น่าอาจจะปลุกระดมคนไทยมาต่อต้านได้คือ พวกเขากังวลว่าวัฒนธรรมของศาสนาอิสลามจะกลืนกินวัฒนธรรมของศาสนาพุทธ” อาบีดูนกล่าว  

ยุติการก่อสร้างมัสยิดชั่วคราว

ช่วงเกิดการต่อต้านอย่างหนักหน่วง หน่วยงานราชการได้ขอให้อาบีดูนและกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามหยุดก่อสร้างมัสยิดไว้ชั่วคราวก่อนเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อยุติความขัดแย้งและเปิดโอกาสให้กลุ่มที่ต่อต้านกับคนมุสลิมในพื้นที่ได้พูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน

“ปลายเดือนกันยายน เราไปที่อำเภอ มีทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่อำเภอ เจ้าหน้าที่ทางเทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้านร่วมประชุมพูดคุยกัน นายอำเภอเสนอว่า ในเมื่อคนมุสลิมก่อสร้างมัสยิดก็ให้ก่อสร้างต่อไป แต่คนที่นับถือศาสนาพุทธควรมาพูดกันว่า จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ทั้งสองศาสนา” อาบีดูนกล่าว

หลังจากนั้น นายอำเภอให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยในแต่ละปัญหาที่ฝ่ายคนที่นับถือศาสนาพุทธกังวล เช่น เรื่องเสียงดังขณะเรียกคนมาละหมาด เป็นต้น โดยข้อสรุปที่ได้จากการประชุมคือ คนมุสลิมสัญญาว่าจะไม่ติดเครื่องขยายเสียงภายนอกมัสยิด

“ส่วนความกังวลเรื่องจะเกิดความรุนแรงและความไม่สงบเหมือน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น นายอำเภอบอกกับฝ่ายต่อต้านว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องความมั่นคง จะมีหน่วยงานความมั่นคงเข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยตรง ชุมชนไม่ต้องกังวล” อาบีดูนกล่าว 

ภาพที่ถูกเผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊ค “อีสานไม่เอามัสยิด” แสดงให้เห็นถึงสาเหตุของการคัดค้านและต่อต้านการสร้างมัสยิดนั้นมีเรื่องของศาสนามาเกี่ยวข้อง (ภาพจาก : เพจคนอีสานไม่เอามัสยิด)

ประเด็นความกังวลเรื่องวัฒนธรรมของศาสนาอิสลามจะกลืนกินวัฒนธรรมของศาสนาพุทธนั้น อาบีดูนได้ชี้แจงไปในที่ประชุมว่า เรื่องนี้น่าจะไม่มี เพราะในภาคกลางก็มีคนมุสลิมที่สร้างชุมชนมุสลิมอยู่ในชุมชนพุทธมานาน ซึ่งไม่เห็นมีปัญหาหรือขัดแย้งกันในเรื่องศาสนาและวิถีชีวิต หรือมีปัญหาว่าจะมีวัฒนธรรมมุสลิมจะกลืนกินวัฒนธรรมชาวพุทธแต่อย่างใด

เสรีภาพการนับถือศาสนาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ

หลังจากนั้นนายอำเภอให้ทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน แต่ก็ไม่เป็นผล

“วันนั้นไม่มีการทำข้อตกลงกัน ได้แค่พูดคุยกันอย่างเดียว หลังจากการประชุม ผ่านมาไม่กี่วันก็เกิดเหตุการณ์ที่ฝ่ายคัดค้านได้ทำเอกสารเพื่อล่ารายชื่อในการคัดค้านการก่อสร้างมัสยิดเพื่อหวังยื่นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณายับยั้งการก่อสร้างมัสยิด” อาบีดูนกล่าว

เขาเล่าต่อว่า เมื่อต้นเดือนตุลาคม ปี 2559 ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬยื่นหนังสือชี้แจงว่าไม่สามารถยับยั้งการก่อสร้างได้ เพราะรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคนทุกกลุ่ม ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไว้ เมื่อกลุ่มบุคคลที่ใช้สิทธิตามที่หลักกฎหมายได้ยื่นคำร้องขออนุญาตตามกฎหมาย

“ผู้ว่าฯ บอกว่าเมื่อทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ย่อมมีความชอบธรรมที่จะได้รับการอนุญาตสร้างตามกระบวนการของกฎหมาย สถานการณ์การต่อต้านในพื้นที่ได้เงียบไปหายหลังจากนั้น”

ก่อสร้างมัสยิดอีกครั้ง แต่ก็ถูกต่อต้าน

หลังจากทางหน่วยงานราชการขอให้หยุดก่อสร้างมัสยัดประมาณเกือบ 3 เดือน สถานการณ์การต่อต้านได้เงียบลง คณะกรรมการก่อสร้างมัสยิดจึงเห็นว่าสถานการณ์เข้าสู่ปกติแล้ว จึงตัดสินใจดำเนินการก่อสร้างต่อ แต่ไม่กี่อาทิตย์ต่อมาก็เกิดการต่อต้านในสังคมออนไลน์อีกครั้ง

“หลังเกิดการต่อต้านอีกครั้ง เจ้าหน้าที่บอกให้หยุดการก่อสร้างอีกครั้ง แต่ผมบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าหยุดการก่อสร้างไม่ได้แล้ว เพราะอุปกรณ์ก่อสร้างก็ซื้อมาไว้แล้ว แล้วการก่อสร้างก็เริ่มขึ้นรูปขึ้นสร้างตามโครงสร้าง มีการมุมหลังคาแล้ว” อาบีดูนกล่าว

มัสยิดสร้างตามขั้นตอนกฎหมาย

ขั้นตอนการก่อสร้างมัสยิดอัศศอบีรีนทำตามขั้นตอนกฎหมายทุกขั้นตอนและมีฝ่ายนักกฎหมายที่ให้คำปรึกษาในการติดต่อขอดำเนินการก่อสร้างจากหน่วยงานรัฐ โดยฝ่ายกฎหมายได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ หรือ สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ไวท์ชาเนล (White Channel TV) ที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สถานีโทรทัศน์ของคนมุสลิมในประเทศไทย สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมดังกล่าวยังประกาศระดมทุนก่อสร้างจากพี่น้องมุสลิมจากทั้งในและนอกประเทศ โดยการระดมทุนเป็นการรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา

“คณะกรรมการก่อสร้างซึ่งเป็นคนมุสลิมในพื้นที่ได้ดำเนินการก่อสร้างมัสยิดตามระเบียบทางราชการทุกขั้นตอน โดยเริ่มจากการยื่นเรื่องขอสร้างมัสยิดไปที่สำนักจุฬาราชมนตรี แล้วสํานักจุฬาราชมนตรีก็ส่งคนมาดูพื้นที่ว่าจะสร้างได้จริงหรือไม่” อาบีดูนกล่าว

เมื่อตัวแทนสํานักจุฬาราชมนตรีประชุมมาดูพื้นที่และบอกว่าสามารถสร้างได้ นายทะเบียนของสํานักจุฬาราชมนตรีจะลงลายมือชื่ออนุมัติใบอนุญาต พร้อมกับส่งใบอนุญาตไปที่หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่เพื่อดำเนินการต่อไป

“มัสยิดได้รับการอนุญาตจัดตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559 และใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 3,000,000 บาท โดยสร้างเสร็จและมีพิธีเปิดมัสยิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560” อาบีดูนกล่าว

คนมุสลิมในฐานะความแปลกใหม่ใน จ.บึงกาฬ

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งดังกล่าว อาบีดูนเชื่อว่าเกิดจากความไม่เข้าใจกันของคนในพื้นที่ สาเหตุมาจากคนที่นับถือศาสนาพุทธและคนที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่ไม่มีโอกาสได้พูดคุยกัน ตนเชื่อว่าคนมุสลิมมาที่ จ.บึงกาฬ ในฐานะความแปลกใหม่ เนื่องจากไม่มีคนมุสลิมอยู่ที่นี่มาก่อนหน้านี่

“เขาไม่ได้รู้จักเรา เขาก็กลัวว่าเรามาที่นี่เพราะมีอะไรแอบแฝงหรือไม่ มีอะไรแอบแฝงในที่นี่คือ กลัวว่าเราจะมาก่อความไม่สงบเหมือนที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรื่องการก่อการร้ายที่มีอยู่ทั่วโลก เขากลัวสิ่งเหล่านี้จะมาอยู่ในพื้นที่ของเขา” อาบีดูนกล่าว

อานนท์ มัจฉาวานิชย์ บิหลั่นหรือผู้ประกาศเชิญชวนให้มุสลิมปฏิบัติศาสนกิจตามเวลากำลังประกาศเชิญชวนให้คนมุสลิมมาปฏิบัติศาสนกิจช่วงเย็นของวันที่ 8 กรกฏาคม พ.ศ. 2560 ภายในมัสยิดอัศซอบีรีน

ข่าวทำให้คนหวาดกลัวคนมุสลิม

กระแสการต่อต้านการสร้างมัสยิดที่เกิดขึ้นในภาคอีสานและอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทยนั้น  นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในประเด็นคนมุสลิมและศาสนาอิสลามเชื่อว่า นี่คือการแพร่กระจายของกระแสการหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ในประเทศไทย โดยสังคมมองคนมุสลิมเป็นผู้ร้าย นิยมความรุนแรงในลัทธิการก่อการร้าย จนกลายเป็นโรคเกลียดกลัวอิสลาม ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกหลังเหตุการณ์โจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 และในประเทศไทย กระแสความหวดกลัวอิสลามนั้นเป็นผลมาจากเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์และตามโทรทัศน์เกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากคนที่อ้างว่าเป็นคนมุสลิมและนับถือศาสนาอิสลามในเหตุการณ์การก่อการร้ายในระดับโลก จึงทำให้อาบีดูนเชื่อว่าข่าวมีส่วนทำให้คนที่นับถือศาสนาพุทธในจ.บึงกาฬมองภาพคนมุสลิมหรือคนที่นับถือศาสนาอิสลามในฐานะ “พวกหัวรุนแรง”

“ผลกระทบจากความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และเหตุการณ์การก่อการร้ายในระดับโลก มุสลิมถูกเหมารวมว่าเป็นพวกใช้ความรุนแรง” อาบีดูนกล่าว

ทั้งนี้ อาบีดูนยังกล่าวอีกว่า ตนก็เป็นคนไทยเหมือนกัน เกิดที่ประเทศไทย ไม่ได้มาจากประเทศนอกหรือต่างประเทศ และภาษาในการสื่อสารก็ใช้ภาษาไทยกลาง สิ่งที่พี่น้องชาวมุสลิมที่นี่ต้องการขอ มีเพียงแค่ส่วนหนึ่งในสังคมให้เรามีความเชื่อที่จะนับถือศาสนาและมีสถานที่ที่จะใช้ประกอบศาสนกิจเหมือนทุกศาสนา ที่ยังมีวัดหรือโบสถ์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ฉะนั้นศาสนาอิสลามก็ต้องการสถานที่ไว้ประกอบศาสนกิจเท่านั้น และไม่มีอะไรแอบแฝงตามที่ชุมชนกังวล

ทุกวันนี้ ในพื้นที่จ.บึงกาฬไม่มีการต่อต้านมัสยิดดังกล่าวแล้ว อาบีดูนและพี่น้องมุสลิมคนอื่นๆ สามารถใช้ชีวิตตามปกติเหมือนที่เคยเป็นมาก่อน สามารถทำงาน ดูแลครอบครัว เข้าละหมาด และวันไหนมีงานจัดเลี้ยงทำบุญตามศาสนาที่มัสยิดได้ตามปกติ

“เราอยากอยู่แบบปกติอย่างนี้ ให้เขา (กลุ่มต่อต้าน) ดูการใช้ชีวิตของเรา จะไม่ขอพูดอะไร ขอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราจะไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนในชุมชนแน่นอน พิสูจน์ว่าสิ่งทีชุมชนกังวลหรือกลัวนั้นมันจะไม่เกิดขึ้น” อาบีดูนทิ้งท้าย

image_pdfimage_print