โดย พิรุณ อนุสุริยา

ไม้อัดตีเป็นกรอบเวที ตกแต่งด้วยลวดลายสีจัดจ้าน เรืองรองด้วยแสงไฟนีออนขาวสว่าง หน้าฉากม่านทิวทัศน์ป่าเขาลำเนาไพร ปรากฏภาพงิ้วคณะ “เตี่ยเกี๊ยะตง เจี่ยสูงเฮียง” ที่กำลังแสดงในช่วงเทศกาลงานทุ่งศรีเมือง งานประจำปีของจังหวัดอุดรธานีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561

หน้าเวทีการแสดงงิ้วของคณะ “เตี่ยเกี๊ยะตง เจี่ยสูงเฮียง” วันสุดท้าย ในเทศกาลงานทุ่งศรีเมือง งานประจำปีของจังหวัดอุดรธานี ที่เริ่มมีคนดูหนาแน่นขึ้นจากเมื่อวานที่ฝนตก

นักแสดงต่างสลับสับเปลี่ยนบทบาทการแสดงวนไปวนมาหน้าเวทีและหลังม่าน ระหว่างยืนชมการแสดง ผู้เขียนก็เกิดฉุกคิดขึ้นมาว่า แล้วชีวิตหลังม่านงิ้วนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เขาอยู่ เขากินกันอย่างไร

วันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายของงานเทศกาลทุ่งศรีเมือง ผู้เขียนตัดสินใจก้าวเท้าเข้าไปสังเกตการณ์ชีวิตหลังม่านนักแสดงงิ้ว ก่อนที่คณะงิ้วนี้จะย้ายไปแสดงที่จังหวัดอื่น

เมื่อลบเครื่องสำอางค์ ถอดองค์ทรงเครื่องที่เคยประดับเรือนกายออกไปแล้ว ทำให้พบว่า นักแสดงงิ้วที่กำลังทำการแสดงนั้น ไม่ใช่คนจีนอย่างที่ผู้เขียนเคยคิด พวกเขาเหล่านั้นคือคนอีสานนครราชสีมาที่ยึดอาชีพนักแสดงงิ้วมานานกว่า 30 ปี

ยาใจ มีสุข อายุ 57 ปี (ซ้ายมือ) ขณะแสดงหน้าเวทีในบทลูกสะใภ้ผู้มีนิสัยเอาแต่ใจตัว สร้างความลำบากใจให้กับคนในบ้าน

ตระกูล เปล่งศรี และ ยาใจ มีสุข สองสามีภรรยาที่ยึดอาชีพนักแสดงงิ้วมาร่วม 30 ปี ตั้งแต่ยุคสมัยที่ค่าแรงงิ้วรายวันเพียงห้าสิบสตางค์

ตระกูลเป็นชายวัยกลางคนผู้รับหน้าที่ให้เสียงบรรยายและร่วมแสดง ส่วนยาใจเป็นนักแสดงหญิงที่รับสารพัดบท

“พี่เริ่มเล่นงิ้วตั้งแต่อายุ 11 ปี ได้ค่าจ้างวันละห้าสิบสตางค์ เก็บเงินเลี้ยงพ่อแม่ ด้วยความที่ครอบครัวยากจน เรียนไม่ถึงปอสอง พอเห็นงิ้วมาเล่นก็ตัดสินใจออกจากโรงเรียน แล้วก็มาสมัครเพราะต้องการมีอาชีพ จนอยู่ได้เดือนกว่า พ่อกับแม่ก็มาตามจะพาเรากลับ แต่เราตัดสินใจอยู่ต่อ เพราะเราได้เล่นขึ้นเวที และส่งเงินให้พ่อแม่ได้” ยาใจเล่าถึงจุดเริ่มต้นในแวดวงงิ้ว

ชีวิตหลังเวทีที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

โดยมากงานแสดงงิ้วมักผูกอยู่กับงานไหว้เจ้าของศาลเจ้าแต่ละจังหวัด ซึ่งในช่วงเวลานี้ คณะงิ้วของตระกูลและยาใจจะเดินทางไปแสดงทั่วภูมิภาคอีสาน

“ผมไปหลายจังหวัด นครพนม หนองคาย เลย ขอนแก่น เจ้าภาพงานเขาจะจัดหาที่พักให้ พักในโรงเรียนบ้าง กางเตนท์บ้าง แต่มีส่วนน้อยจะกางเตนท์ เพราะมันมีปัญหาตอนฝนมาจะเปียก น้ำรั่วเข้าที่นอนบ้าง” ตระกูลกล่าว

“เราเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นช่วงหลังกินเจ เล่นเสร็จจากอุดรก็ไปวังสะพุง (เลย) สามวัน กลับกรุงเทพ แล้วก็กลับมากระนวน (ขอนแก่น) ต้องย้ายไปมาหลายที่ รวมถึงการที่เราต้องรอถ้ารถยังไม่มา มันเหนื่อยตรงนี้แหละ” ยาใจกล่าวเสริม

ตระกูล เปล่งศรี ผู้รับหน้าที่บรรยายเปิด แสดงร่วม รวมถึงตีกลองให้กับวงดนตรีด้วย

ในวันนี้ กว่า 30 ชีวิตในคณะฯ กินอยู่หลับนอนที่พื้นดินเบื้องล่างเวทีงิ้ว โดยมีเตนท์กางนอนในเวลากลางวัน และตื่นมาช่วงเย็นเพื่อเตรียมตัวแสดงงิ้วตั้งแต่หกโมงเย็นยาวไปจนถึงเวลาประมาณเที่ยงคืน ส่วนหลังเวทีจัดแบ่งสรรปันส่วนเป็นพื้นวางอุปกรณ์การแสดง เสื้อผ้าเครื่องประดับ และที่เตรียมแต่งหน้า

หน้าฉากโรงงิ้วก็มีการใช้อุปกรณ์ประกอบฉาก และข้างหลังฉากที่เป็นผ้าม่านลวดลายภาพพิมพ์ทิวทัศน์ตามเหตุการณ์ต่างๆ ของเรื่อง ตระกูลแจกแจงรายละเอียดของโรงงิ้วโรงนี้

“ฉากมีประมาณสิบกว่าฉาก บางครั้งก็อาจจะลดงบลงเหลือเจ็ดถึงแปดฉาก มีฉากพระราชวัง ศาล ป่า บ้าน บังลังก์โจร ฯลฯ บางวันพิเศษหน่อยก็จะมีการแสดงงิ้วเปลี่ยนหน้า แต่พอดีเมื่อคืนที่ต้องแสดงเกิดฝนตก เราก็เลยไม่ได้แสดง” ตระกูลกล่าว

นักแสดงงิ้วหลากหลายชาติพันธุ์

การแสดงงิ้วต้องเล่นให้ได้ทุกบทบาท โดยเริ่มต้นจากบทตัวประกอบ ฝึกฝนจนพัฒนาได้มีบทร้อง ยาใจเล่าถึงอดีตที่เริ่มต้นมาคณะงิ้วด้วยความสมัครใจ จนได้ขึ้นเล่นบทเวที

“เวลาบทไหนขาด เขาก็เรียกให้เราเล่น เราก็เล่นได้หมด เริ่มมาตั้งแต่บทเล็กบทน้อย เล่นบททหารที่แค่ร้องเอ้วๆ ตามเขา สมัยก่อนการเรียนการสอนงิ้วก็เข้มงวดมาก ต้องนั่งเรียงกันเป็นลูกเป็ด เขาจะมีคนคุมเราตลอด กินนอนอยู่นั่น ให้น้ำเราอาบแค่สองถัง เขาทำกับข้าวอะไรให้เรากินก็ต้องกิน เราเรียนรู้ด้วยการคอยดูเวลานักแสดงขึ้นเวที เขาเล่นอะไร ร้องยังไง เราก็จะจำไว้ กว่าจะร้องรำได้ก็ถูกตีไปหลายที เล่นงิ้วก็ผ่านมาหลายคณะ จนมาอยู่คณะนี้ได้เกือบยี่สิบปีแล้ว”  ยาใจกล่าว

นักแสดงวัยรุ่นของคณะ โดยมักจะเริ่มต้นรับบทสาวใช้ก่อนเนื่องจากไม่มีบทพูดเยอะมากนัก

ขณะที่ในยุคปัจจุบัน หากมีใครมาสมัครแสดงงิ้ว ทางคณะก็ยินดีรับหมด โดยคนที่มาสมัครมีหลากหลายเชื้อชาติ ไม่จำกัดที่คนไทยเชื้อสายจีนเพียงอย่างเดียว

“สมัยนี้มีคนจีนกับคนลาวมาเล่นด้วย คนลาวจะมาจากเวียงจันทน์ ซึ่งเดือนๆ หนึ่งเขาก็ต้องไปต่ออายุพาสปอร์ต การต่ออายุครั้งหนึ่งก็ไม่ใช่ง่าย เห็นใจเขาอยู่เหมือนกัน อย่างเราคนไทยยังสบายเพราะอยู่ไปได้เรื่อย ถ้าคนไทยส่วนมากจะเป็นคนอีสาน มีกรุงเทพบ้าง ร้อยพ่อพันแม่ที่จะมาหากิน แต่สมัยนี้มีคนมาสมัครน้อยลงมาก” ยาใจกล่าว

การปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและภูมิภาค

เมื่อมีคนดูน้อยลง คนที่สมัครเล่นงิ้วก็น้อยลง การปรับตัวของคณะงิ้วก็ตามมา ยุคก่อนหากพูดถึงอาชีพงิ้วที่เป็นแหล่งรวมคณะงิ้วที่มากที่สุดในภาคอีสาน ย่อมเป็นที่อำเภอโนนสูง จังหวัดโคราช ตระกูลได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากอดีตมาจนปัจจุบัน

“เดิมคนอีสานเล่นงิ้วจะเป็นที่โนนสูง เพราะที่นั่นเป็นแหล่งรวมงิ้วหลายคณะ มีการสืบต่อเล่นมาจากคนรุ่นแต่เก่าก่อน แต่เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่ พอมีลูกมีหลานเขากลับไม่ได้สืบต่อการเล่นงิ้ว ส่วนมากมักส่งให้ลูกไปเรียนหนังสือกัน เมื่อก่อนหลังตลาดบ้านศาลตาโป่งที่โนนสูงมีงิ้วหลายเจ้า แต่เดี๋ยวนี้เหลือนักแสดงงิ้วแค่ไม่กี่คน” ตระกูลกล่าว

บรรยากาศในพื้นที่การแต่งหน้าด้านหลังเวทีงิ้ว หลังสุดเป็นศาลขนาดย่อมที่ทุกคนต้องทำพิธีไหว้ก่อนขึ้นแสดงทุกครั้ง

เขาเชื่อว่าจำนวนคนดูเองก็ร่อยหรอลง เนื่องด้วยประชากรช่วงวัยที่เคยดูงิ้วเพื่อความบันเทิงก็ได้ลดลงด้วยเช่นกัน

“สมัยนี้คนดูน้อยลง เขาเดินมานั่งดูได้สักพักแล้วก็เดินผ่านไป เมื่อก่อนคนดูงิ้วเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ค่อนข้างลำบาก คนเฒ่าคนแก่ที่เคยนั่งดูก็ล้มหายตายจากไปแล้ว คนสมัยใหม่ก็ไม่สนใจเท่าไหร่ เราก็มีการเอางิ้วร้องเสียงไทยมาเล่นบ้าง งิ้วเปาบุ้นจิ้นภาษาไทย หรือพากย์ภาษาไทยเข้าไปให้เขาฟังรู้เรื่อง อย่างศาลเจ้าถ้ามีแต่งิ้วอย่างเดียวก็ไม่มีคนนะ ต้องมีสินค้ามาขายด้วย ถ้ามีแต่งิ้ว รับรองงานศาลเจ้าก็ไม่มีคนมา”

อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนคนดูในภาคอีสานจะถดถอยลดน้อยลง แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวเองความต้องการที่จะรับชมการแสดงงิ้วดูจะเติบโตอยู่บ้าง โดยทุกปีจะมีงานสมโภชน์เจ้าปู่ย่าที่หอกลางของเวียงจันทน์ และคณะงิ้วของตระกูลมักจะได้รับจ้างให้ไปเล่นเป็นเวลากว่าสิบวัน ซึ่งจุดเด่นของการแสดงงิ้วในประเทศลาวนั้นจะอยู่ที่การพากย์เสียงอีสานให้คนพื้นที่เข้าใจเนื้อเรื่อง

“คณะเราเป็นคณะเดียวที่พากย์ภาษาอีสานให้คนดูที่ลาวได้ ผมกล้ายืนยันตรงนี้ เพราะผมรู้ว่าคณะอื่นไม่มีคนพากย์อีสาน ส่วนมากงิ้วไม่ค่อยพากย์อีสานกัน แต่มันบังเอิญที่ผมเอาภาษาอีสานมาเผยแพร่  เพราะการพากย์มีแค่บางคณะเท่านั้น ขนาดพากย์ไทยยังหายาก” ตระกูลกล่าว

การแต่งหน้าของนักแสดงหญิงในคณะที่หลังเวทีงิ้ว

“ที่เวียงจันทน์ คนลาวให้ความสนใจเยอะ เพราะงานศาลเจ้าต่างจากที่ไทย มีเวทีงิ้วเพียงเวทีเดียว ไม่มีงานเวทีงานแสดงอื่นอีก และที่ลาวไม่เคยมีงิ้วมาก่อนแบบที่ไทย มีแต่ประเทศละแวกใกล้บ้านอย่างไทยที่เอางิ้วไปแสดง คนดูแต่ละครั้งก็ร่วมสองร้อยคนได้” ตระกูลกล่าว

แม้จะเป็นรายละเอียดเล็กน้อย แต่ก็สะท้อนถึงความใส่ใจของคณะให้ความสำคัญและสร้างจุดเด่นของตนเองด้วยการพากย์เป็นภาษาอีสาน ทำให้ “เตี่ยเกี๊ยะตง เจี่ยสูงเฮียง” ที่มีโอกาสได้ไปแสดงในต่างประเทศ ทั้งตระกูลและยาใจยังคงยึดอาชีพนี้ในการสร้างสรรค์ความบันเทิงและสานต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมนี้ให้สืบต่อไป ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว

พิรุณ อนุสุริยา คนอุดรธานี ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยแนวสยองขวัญ นักเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ สนใจในเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและสังคมในจังหวัดอุดรธานี หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ดประจำปี 2559

image_pdfimage_print