โดย สุภาพร ธรรมประโคน

อุบลราชธานี – ข้อกังขาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของชาวบ้านดอนผอุง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ที่คนในพื้นที่เชื่อว่าสาเหตุมาจากบ่อขยะขนาดเกือบ 300 ไร่ ที่ต้องอยู่ห่างออกไปเพียง 1.5 กม. ด้านสาธารณะสุขตำบลฯ เผยโรคระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหารมะเร็งตับ ขึ้นแท่นโรคแห่งการเจ็บป่วยมากที่สุดในพื้นที่ ผู้นำชุมชนวอนขอให้มีการตรวจสุขภาพโดยละเอียดเพื่อให้ทราบถึงปัญหา

ขยะกองเรียงรายจำนวนมากในบ่อขยะวารินชำราบ

เมื่อกลิ่นของความตายมาเยือน

กลิ่นควันลอยฟุ้งมาในอากาศ สายตาพลันมองเห็นขยะกองสูงโพนที่ตั้งอยู่เพียงเหลือบหางตา หมู่บ้านดอนผอุง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีบ่อขยะขนาดเกือบ 300 ไร่ ตั้งอยู่ไม่ไกลนัก และภายในบ่อขยะแห่งนี้ยังมีโรงกำจัดขยะติดเชื้อที่กำลังทำงาน หากมองดูเพียงผิวเผิน ก็อาจดูเป็นภาวะปกติ แล้วอะไรคือสาเหตุของความตายที่เกิดขึ้น ณ หมู่บ้านแห่งนี้

pasted image 0

สุนันทา ผาแก้ว อายุ 43 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านดอนผอุง ภรรยาผู้เสียชีวิต ใส่หน้ากากป้องกันมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาขยะติดเชื้อขณะยืนอยู่หน้าบ้านตนเอง

สุนันทา ผาแก้ว อายุ 43 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านดอนผอุง เธอและครอบครัวต่างก็เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้ หรือ โรคหอบหืด สามีของเธอพึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยอายุเพียง 50 ปี เธอไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เธอเล่าว่าอาการเจ็บป่วยของสามีเริ่มจากอาการเกี่ยวกับลำไส้ เขาถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง และหมอที่โรงพยาบาลวารินชำราบได้ระบุว่าเสียชีวิตด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ

“เราไม่ได้ให้หมอเขาวินิจฉัยละเอียด แต่พี่คิดว่ามันน่าจะมีสาเหตุมาจากการเผาขยะติดเชื้อ” สุนันทากล่าว

สามีของเธอมีอาชีพทำนา มีพฤติกรรมการกินอาหารที่หาได้ตามชุมชน เช่น กบ เขียด ปลา รวมถึงปลาร้าดิบ และข้าวที่ปลูกในผืนนาใกล้บ่อขยะด้วย เมื่อ 2-3 ปีก่อน เขาเริ่มมีอาการป่วย และสองเดือนก่อนเสียชีวิต เขามีอาการเดินไม่ได้ ท้องเสียอย่างหนักก่อนที่จะเสียชีวิตลง  

เธอเชื่อว่าสาเหตุการตายของสามีและโรคระบบทางเดินหายใจที่เธอกำลังเผชิญอยู่มาจากบ่อขยะ เพราะบ้านของเธออยู่ห่างจากบ่อขยะเพียงแค่ไม่ถึง 2 กิโลเมตร และครอบครัวมีที่นาห่างจากบ่อขยะเพียงประมาณ 500 เมตร  

จากข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลคูเมือง ระบุว่า บ่อขยะวารินชำราบตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านดอนผอุง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ขนาด 282 ไร่ เริ่มใช้งาน พ.ศ. 2541 ใช้พื้นที่จริงร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งมีวิธีการกำจัด การฝังกลบอย่างถูกสุขาภิบาล และการเผาในเตาเผา มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระแวกนี้กว่า 37 แห่งนำขยะมากำจัด ซึ่งค่าธรรมเนียมในการกำจัดขยะอยู่ที่ 330 บาท/วัน ปริมาณขยะเข้าสู่ระบบ 300 ตัน/เดือน

ขณะที่การอ้างอิงของ เพชรลักษณ์ สีดารักษ์ กำนันตำบลคูเมือง ระบุว่ามีขยะติดเชื้อประมาณ 30-40 ตัน/วัน และขยะทั่วไป 300-400 ตัน/วัน

วาสนา พลพันธ์ อายุ 51 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านดอนผอุง ภรรยาผู้เสียชีวิต

วันสุดท้ายแห่งการจากลา

วาสนา พลพันธ์ อายุ 51 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านดอนผอุง เป็นอีกคนที่ปักใจเชื่อว่า

การเสียชีวิตของสามีเธออาจมีสาเหตุมาจากการเผาขยะติดเชื้อ ซึ่งตั้งห่างจากบ้านของเธอเพียงไม่ถึง 2 กิโลเมตร สามีของเธอพึ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ด้วยวัย 55 ปี

เธอเล่าถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันให้ฟังว่า บ่ายวันนั้นสามีออกจากบ้านเพื่อไปพ่นปุ๋ยใส่นาข้าว ซึ่งเป็นวันที่แดดกล้า เขารู้สึกเหนื่อยกว่าวันอื่นๆ เธอบอกเขาเพียงว่า ถ้าเหนื่อยก็หยุดพักแล้วค่อยพ่นปุ๋ยต่อ แต่ทว่าไม่นานนักเขาก็ล้มลงเสียชีวิตกลางทุ่งนาขณะที่กำลังพ่นปุ๋ยอยู่ เธอไม่คาดคิดว่านั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้คุยกัน

สามีของวาสนามีอาชีพทำนาข้าวและเกี่ยวหญ้าเลี้ยงควาย เขามักจะรับประทานอาหารพื้นบ้าน เช่น ส้มตำ นํ้าพริก ผัก รวมถึงข้าวที่ปลูกเพื่อบริโภคและจำหน่ายบนผืนนาที่อยู่ห่างจากบ่อขยะเพียงไม่ถึง 3 กิโลเมตร นอกจากนี้ เขายังมีพฤติกรรมชอบกินปลาร้าดิบมากกว่าปลาร้าสุก โดยสามีของเธอเริ่มมีอาการป่วยเมื่อ 4-5 ปีก่อน เขามักมีอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร แน่นหน้าอก วิงเวียนศรีษะ รับประทานอาหารไม่อร่อยและนอนไม่ค่อยหลับ เขาเคยไปตรวจที่โรงพยาบาล ซึ่งก็ได้รับเพียงแค่ยาลดกรดกลับมา ท้ายที่สุดแพทย์ไม่ได้พิสูจน์ว่าการเสียชีวิตของสามีเธอนั้นมีสาเหตุเกิดขึ้นจากอะไร

บ่อยครั้งที่เธอและคนในครอบครัวต้องทนกับกลิ่นเหม็นจากเตาเผาขยะติดเชื้อ ซึ่งรบกวนการดำเนินชีวิตของเธอค่อนข้างมาก กลิ่นเหม็นยังส่งผลต่อจิตใจของเธอด้วย ทั้งนี้ วาสนาเริ่มมีอาการโรคภูมิแพ้มาตั้งแต่ 4-5 ปีก่อน ซึ่งอาการป่วยนี้เกิดขึ้นหลังจากมีบ่อขยะ

“กลิ่นจากเตาเผาขยะติดเชื้อเหม็นที่สุด คล้ายๆ กลิ่นหนังที่ถูกเผา บางคนก็ชิน บางคนก็ต้องทน” วาสนากล่าว

เธอไม่อยากให้มีบ่อขยะอยู่ใกล้ชุมชนเพราะมันไม่มีผลดีต่อใคร “สิ่งที่เราเรียกร้องไป ทางเทศบาลเองก็รับปาก เพียงแค่รับปากเท่านั้น เราก็ไม่รู้ว่าจะทำจริงหรือเปล่า” วาสนากล่าวทิ้งท้าย

อาคารเตาเผาขยะมูลฝอยจากสถานพยาบาลขณะทำการเผาขยะติดเชื้อในตอนกลางวัน

ผลกระทบยืนยาว ชีวิตสั้น

ประสิทธิ์ นิลเกษ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านดอนผอุง เล่าให้ฟังว่า ควันที่ลอยมาตามอากาศส่งกลิ่นเหม็นจนยากจะกลํ้ากลืน ในยามที่โรงกำจัดขยะจากสถานพยาบาลกำลังเผาขยะติดเชื้อ ซึ่งรับขยะมาจากโรงพยาบาล 5 จังหวัดในภาคอีสาน และมักจะมีการลักลอบเผาในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งตามข้อตกลงโรงกำจัดขยะจะต้องเผาเพียงแค่ช่วงเวลากลางวันเท่านั้น

ผู้ใหญ่บ้านเปิดเผยต่อว่า สาเหตุที่มีการเผาขยะในเวลากลางคืนนั้นเป็นเพราะขยะมีจำนวนมาก จึงต้องเร่งเผาให้ทันเวลา และอาจมีผลประโยชน์จากการเผาขยะเข้ามาเกี่ยวข้อง  

ประสิทธิ์เป็นอีกคนที่ปักใจเชื่อและตั้งข้อสังเกตุว่าอาการเจ็บป่วยของคนในหมู่บ้านที่นำไปสู่การตาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบ่อขยะ “ปีนี้มีคนตายตั้ง 7 คนแล้วนะ มันเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ตายแค่ 4 คน” เขาสันนิษฐานว่าหมู่บ้านที่เขาปกครองอยู่นี้มีคนตายเพิ่มขึ้นและมีอายุสั้นลง

pasted image 0

ประสิทธิ์ นิลเกษ อายุ 47 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านดอนผอุง ขณะพาเดินไปบ้านผู้เสียชีวิต

ด้าน วาสนา ภูมีคำ นักวิชาการด้านสาธารณสุขชำนาญการ ประจำโรงพยาบาลตำบลคูเมือง ให้สัมภาษณ์ โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอวารินทร์ชำราบถึงข้อมูลการเสียชีวิตของตำบลคูเมือง 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 –  2561

ปี 2557 เสียชีวิตรวม 53 คน เฉพาะ ม. 5 เสียชีวิต 2 คน
ปี 2558 เสียชีวิตรวม 40 คน เฉพาะ ม. 5 เสียชีวิต 2 คน
ปี 2559 เสียชีวิตรวม 41 คน เฉพาะ ม. 5 เสียชีวิต 2 คน
ปี 2560 เสียชีวิตรวม 54 คน เฉพาะ ม. 5 เสียชีวิต 4 คน (ข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 )
ปี 2561 เสียชีวิตรวม 24 คน เฉพาะ ม. 5 เสียชีวิต 7 คน (ข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 )

วาสนากล่าวว่า “โรคที่ชาวบ้านดอนผอุงเป็นมากที่สุดคือ โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และโรคมะเร็งตับ โดยเฉพาะพื้นที่ตรงนี้ ชาวบ้านหมู่ 5 เป็นมะเร็งตับค่อนข้างมาก ตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ตับของชาวบ้านค่อนข้างมาก แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ชาวบ้านบ้านดอนผอุงจะป่วยและเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากขยะจริงหรือไม่ แค่เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น”

เธอยังกล่าวต่อว่า ทาง รพ.สต. คูเมือง มีการตรวจสุขภาพประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง จากการตรวจเลือดเเละความดัน โดยชาวบ้านหมู่ 5 ส่วนใหญ่อยู่ในมาตราฐานที่ปกติ และมีโครงการอบรมการป้องกันการรักษาดูแลความสะอาดจากการทำงานที่ต้องสัมผัสขยะเป็นประจำทุกปี

“ทางเรามีการตรวจและอบรมทุกปีนะ โดยเน้นกลุ่มที่สัมผัสขยะโดยเฉพาะ แต่ชาวบ้านก็มาไม่ค่อยเยอะหรอก” วาสนากล่าว

เธอสังเกตุเห็นว่าชาวบ้านชอบรับประทานปลาร้าดิบ ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวโยงกับแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาในลำคลองที่อยู่ใกล้กับบ่อขยะ การบริโภคปลาหรือสัตว์น้ำดิบๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ โดยพยาธิใบไม้ตับจะอาศัยร่างกายของคนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพื่อเจริญเติบโตและวางไข่ ส่งผลให้ท่อน้ำดีเกิดการอักเสบเรื้อรังหรืออุดตันจากไข่และตัวพยาธิ ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง หรืออ่อนเพลีย แต่หากอาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจตาเหลืองตัวเหลืองคันตามตัว หรือเบื่ออาหารได้  

เธอเล่าต่อว่าจากการตรวจคุณภาพนํ้าของหมู่ที่ 5 โดยกรมอนามัย พบว่าไม่ผ่านมาตราฐาน ซึ่งพบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อเอชเชอริเชีย โคไล (escherichia coli) หรือย่อว่า “เชื้ออีโคไล” และมีส่วนผสมของเหล็กเจือปนจำนวนมาก

แมลงวันจำนวนมากกำลังเกาะเศษขยะในบ่อขยะวารินชำราบ

ข้อมูลด้านสำนักงานสาธารณสุขอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เผยสถิติของข้อมูลทางเว็ปไซต์ โดยโรค 5 อันดับแรกที่ชาวอำเภอวารินชำราบป่วยกันมากที่สุด ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 – 2561 มีดังนี้

  1. โรคระบบหายใจ จำนวน 59,603 คน  
  2. โรคระบบย่อยอาหารรวมโรคช่องปาก จำนวน 37,363 คน
  3. โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ โภชนาการ และเมตะบอลิสึม จำนวน 22,213 คน
  4. โรคระบบไหลเวียนเลือด จำนวน 21,894 คน
  5. โรคระบบกล้ามเนื้อรวมโครงร่างและเนื้อยืดเสริม จำนวน 17,278 คน

ที่มา: รายงาน 505 กลุ่มงานยุทธศาสตร์ โรงพยาบาลวารินชำราบ
หมายเหตุ: อัตราต่อแสนประชากร

ข้อมูลจาก Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข ระบุ สาเหตุการตาย 5 อันดับแรกของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคูเมืองกลาง ต.คูเมือง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีปี 2559 – 2561

สาเหตุการตาย 5 อันดับแรกของตำบลคูเมือง คือ 1. โรควัยชรา รวม 70 คน 2. หัวใจล้มเหลว ไม่ระบุรายละเอียด รวม 10 คน 3. มะเร็ง ณ จุดเริ่มของตับ ถุงน้ำดี และท่อน้ำดี รวม 7 คน  4. ไตวายเรื้อรัง รวม 6 คน 5. หลอดเลือดสมองโป่งพองไม่แตก รวม 3 คน

1. ความดันโลหิตสูงที่ไม่มีสาเหตุนำ รวม 5,956 คน
2. เบาหวาน รวม 5,608 คน
3. เนื้อเยื่อผิดปกติ รวม 2,022 คน
4 คออักเสบเฉียบพลันและต่อมทอนซิลอักเสบเฉียบพลัน รวม 1,727 คน
5. ความผิดปกติอื่น ๆ ของฟันและโครงสร้าง รวม 1,641 คน
6. การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนแบบเฉียบพลันอื่น ๆ รวม 1,227 คน

pasted image 0

ชาวบ้านหมู่บ้านดอนผอุงมีอาชีพเสริมคือการเก็บและแยกขยะเพื่อนำไปขาย

จากงานวิจัยเรื่องผลกระทบทางด้านสุขภาพของแรงงานคุ้ยขยะในหลุมฝังกลบขยะ เทศบาลเมืองวารินชําราบ อําเภอวารินชําราบ จังหวัดอุบลราชธาน โดย สมเจตน์ ทองดํา และจินตนา ศิริบูรณ์พิพัฒนา วารสารวิทยาศาสตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่ 20 ฉบับที่ 1 มกราคม–เมษายน 2561 ผ่านการสัมภาษณ์ในกลุ่มตัวอย่างคนที่มาคุ้ยขยะอยู่ในหลุมฝังกลบขยะเทศบาลเมือง วารินชําราบ จํานวน 101 คน ผลการวิจัยระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพทางกายของแรงงานคุ้ยขยะส่วนใหญ่ได้รับดังนี้ ผลกระทบจากการเจ็บป่วยด้วยอุบัติเหตุจากมูลฝอยมีคมจากการทํางานในสถานที่ฝังกลบมูลฝอยมากที่สุด ร้อยละ 55.45 รองลงมาคือ ได้รับผลกระทบจากการทํางานซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่สามารถทําให้เกิดโรคผิวหนัง ผื่นคัน และผิวหนังอักเสบได้ ร้อยละ 41.58 และผลกระทบจากการทํางานในสถานที่มีฝุ่นละออง ควัน ซึ่งเป็นสาเหตุเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจร้อยละ 36.63 และได้รับผลกระทบที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส อาเจียน จากการทํางานในหลุมฝังกลบที่มีกลิ่นเหม็น ร้อยละ 27.72

การมีสถานที่ฝังกลบมูลฝอยใกล้ชุมชนทําให้เกิดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมและเกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของแรงงาน และเป็นสาเหตุทําให้เจ็บป่วยจนต้องไปรับการรักษาจากสถานบริการสุขภาพ ร้อยละ 21.78

แม้ว่าข้อมูลของจากด้านสาธารณะสุขจะยังไม่ชี้ชัดว่าบ่อขยะขนาด 282 ไร่และโรงเผาขยะติดเชื้อ อีกหนึ่งโรง จะส่งผลเกี่ยวกับการตายของคนในหมู่บ้านดอนผอุงหรือไม่

ผู้ใหญ่ประสิทธิ์ นิลเกษ ต้องการเรียกร้องให้มีการตรวจสุขภาพชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบบ่อขยะ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ตามที่เคยเข้าไปยื่นหนังสือร้องขอกับทางเทศบาลตำบลคูเมือง ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

“เรากำลังได้รับผลกระทบ อยากได้การเยียวยาดูแลบ้าง ในชีวิตที่ต้องใช้ผืนดิน น้ำและอาศัยอากาศในการหายใจอยู่ทุกวัน ในอนาคตเด็กน้อยตาดำๆ ลูกหลานชาวบ้านดอนผอุงต้องใช้ชีวิตแบบนี้กันอีกนานเท่าไหร่ ถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น” ผู้ใหญ่บ้านดอนผอุงกล่าว

สุภาพร ธรรมประโคน ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2561

image_pdfimage_print