หมาในมหาวิทยาลัย
คุณจะเลือกชื่นชมสัตว์ชนิดใดระหว่างสุนัขจรจัดที่ยืนตรงและเห่าหอนเวลาได้ยินเสียงเพลงชาติและกระรอกตัวน้อยที่มีอิสระจากเสียงเพลงปลุกใจ เรื่องสั้น “หมาในมหาวิทยาลัย” ชายคาเรื่องสั้นชวนตั้งคำถาม
โดย กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ
เตือนสปอยล์!
มันเริ่มที่บ่ายวันหนึ่ง โต้ง (ศักดิ์ดา แก้วบัวดี) คนงานก่อสร้างพลัดถิ่นจากกาญจบุรี กำลังจ้องมองอนุสาวรีย์ที่ตั้งตระหง่านท้าแดดลมในระหว่างที่ใบหน้าของเขาเต็มไปด้วยเหงื่อไคลย้อย บทเพลงแห่งเมืองได้ขับขานแซ่ซ้องขึ้น “The Longest Day March” เพลงเดียวนี้เองที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นราวช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อปลุกเร้ากำลังใจแก่เหล่าทหารอเมริกันให้ต่อสู้ศัตรูและยอมพลีชีพเพื่อชาติ เพลงนี้เองที่ถูกบรรเลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า โหมโรงเพื่อเป็นสัญญาณบอกนักเรียนให้มาเข้าแถวในระเบียบก่อนเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา
โต้งเคยให้สัมภาษณ์ว่า ชีวิตเมื่อสิบปีก่อนจะได้เจอพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ลำบากมาก เกิดในครอบครัวชาวไร่อ้อย พ่อและพี่ชายจบ ป. 6 ต้องออกมาทำไร่ โต้งหนีจากบ้านมาอยู่วัดจนได้เรียนจบม. 6 หลังจากนั้นก็เข้ากรุงเทพฯ ทำงานสารพัด ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเคเอฟซี พนักงานเซเว่นฯ คนขายพวงมาลัยข้างถนน และแรงงานก่อสร้าง ดังนั้นแล้ว อาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์สั้น Song of the City เป็นเสมือนภาพย้อนในอดีตของโต้ง พร้อมๆ กันก็บันทึกภาพเหตุการณ์การปรับปรุงสวนรัชดานุสรณ์ (เมืองขอนแก่น) ในบริบทโลกอนาคตอีกสิบปีข้างหน้าของประเทศไทย
โต้งจ้องมองเหม่อลอยราวกับตกในภวังค์ของการฝันกลางวัน เมื่อเขาเหน็ดเหนื่อยเกินทนจากงานก่อสร้าง เขาหยุดและยืนจ้องมองรูปปั้นขนาดสูงกว่าตัวจริงเล็กน้อยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยู่นาน เสียงเพลงหลอกหลอนเข้ามาผสมในภาพฝันก่อนจะพาโต้งเข้าสู่ดินแดนกึ่งจริงกึ่งฝันที่เกิดขึ้นอยู่ชั่วขณะ รอบฐานอนุสาวรีย์ชีวิตของผู้คนในจินตนาการและความจริงที่อยู่เบื้องล่างใต้เงาผีของนายพลทอดยาวบนพื้นปูนซีเมนต์ที่กำลังถูกก่อสร้างให้กว้างขวางโดดเด่นกว่าเดิม
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 ได้มีการประกอบพิธีบวงสรวงและวางศิลาฤกษ์พร้อมกับได้นำอัฐิของจอมพลสฤษดิ์ มาบรรจุไว้ในแท่นฐานที่ตั้งอนุสาวรีย์ รัชกาลที่เก้าทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร (พระยศในขณะนั้น) ประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527
โดยในวันที่ 8 ธันวาคมทุกปีจะมีการประกอบพิธีวางพวงมาลาแด่จอมพลในวันคล้ายวันอสัญกรรม เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของจอมพลที่ได้มาร่างและเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2504 ซึ่งได้มาลงหลักปักฐานกางเต็นท์ทหารพักแรมที่แรกบริเวณบึงแก่นนคร และช่วงวันที่ 8 ธันวาคมเอง ก็อยู่ในช่วงเดียวกับการจัดงานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น งานรื่นเริงยิ่งใหญ่ประจำปีของชาวเมืองขอนแก่น
จอมพลที่เคยปรากฎตัวเป็นรูปภาพขนาดใหญ่ข้างเวทีในหอประชุมโรงเรียนของป้าเจน (เจนจิรา พงศ์พัศ)ในภาพยนตร์ “รักที่ขอนแก่น” สืบเนื่องจากโปรเจค Primitive ที่ได้สำรวจความทรงจำของอีสานที่เคยเป็นพื้นที่สีแดงจนเกิดเป็น “ลุงบุญมีระลึกชาติ” (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past lives, 2553) ผีในนามของรัฐและคนในครอบครัวที่ตามหลอกหลอนลุงบุญมี อดีตทหารที่เคยสังหารคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น เขาผู้เริ่มตั้งคำถามกับอุดมการณ์ชาตินิยมที่ป้าเจนศรัทธายิ่ง แนวคิดที่ผลักให้อีกฝ่ายกลายเป็นผีที่ต้องถูกปราบ
หลังจากหลบหลีกชีวิตจริงเข้าไปอาศัยในห้วงความฝัน โต้งได้เจอกับอิฐ (บัลลพ ล้อมน้อย) ทั้งสองคุยไถ่ถามสารทุกข์กันตามประสา หลังจากไม่ได้เจอกันสิบกว่าปีตั้งแต่ “สัตว์ประหลาด” (2547) อิฐ ตอนนี้ย้ายจากอุดรไปอยู่ประจวบฯ เขาทำสวนผักปลอดสารเล็กๆ ด้วยคำแนะนำจากเพื่อนที่ไปทำงานที่อิสราเอล โดยทำกินแบบพอเพียงและส่งขายได้บ้าง
เรื่องเล่าในดินแดนจินตนาการของโต้งถูกขยับขยายจนบอกได้ยากว่าอยู่ในเขตแดนเดียวกันหรือไม่
การปรากฎตัวหมอลำแบงค์ อาจเรียกได้ว่าเป็นผลงานการแสดงหลังจากที่เขาถูกจองจำเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง “ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม” “ปฏิภาณ ลือชา” (ชื่อในวงการ) หรือ “หมอลำแบงค์” อดีตผู้ต้องขังในคดีอาญามาตรา 112 เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 จากการร่วมแสดงละครเวทีเสียดสีการเมืองเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขณะนั้น เขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อย่างปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีการจับกุมคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในโลกอนาคตของพี่เจ้ย กลายเป็นว่า หมอลำแบงค์ จากคนที่เป็นขบถของรัฐต้องกลายมาเป็นนักแสดงตัวประกอบ เป็นเซลล์แมนขายเครื่องนอนหลับฝันดีให้หมอเตย (นันทรัตน์ สวัสดิกุล) จาก “แสงศตวรรษ” (2549) โดยมีทีมงานแคสติ้งคือ ฝน ลูกสาวป้าเจนจาก “แม่โขงโฮเต็ล” (2555)
หมอลำที่เคยเป็นกระบอกเสียงต้อต้านรัฐจากส่วนกลาง พร้อมๆ กันก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือชักจูงชาวบ้านในช่วงปี 2510 ยูซิส (USIS – หน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐ) ขับเคลื่อนโครงการฉายหนังในหมู่บ้านทางอีสานร่วมกับการแสดง “กลอนลำเต้ยไฟเย็น” มุ่งเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และเปิดโปงความชั่วร้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์
กลอนลาวแพนที่หมอลำแบงค์บ่นระบายความทุกข์ระทมภายในจิตใจใต้กรงขังไม่อาจขับร้องจนจบก็ถูกขัดเสียก่อน เขาต้องคุยเป็นภาษาไทยกลางกับทีมงาน พี่ฝนที่ไม่ได้เรียนการพูดภาษาไทบ้านจากป้าเจน ภายนอกแล้วเธอจึงไม่ต่างจากคนที่มาจากกรุงเทพฯ ภาษาอีสานที่ถูกใช้เฉพาะในเบื้องหน้าของภาพยนตร์เพื่อต่อรองกับหมอเตยให้ช่วยซื้อเครื่องนอนหลับฝันดี
กิจการหมอลำของทางบ้านที่เขาไม่อาจบอกได้อย่างเต็มปากว่ามันไปไม่รอด จนต้องมารับงานพิเศษเป็นตัวประกอบ ชีวิตที่พึ่งหวังกับหวยและดวงชะตาที่ฝากไว้กับเทพเจ้าหลายสำนัก ทั้งตามความเชื่อท้องถิ่นอีสานอย่างเจ้าแม่นาคีไปจนถึงจอมพลผ้าขาวม้าแดง ก็มีคนมาขอหวยถูกอยู่หลายราย ชีวิตของคนอีสาน (แปลว่าภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ ในขณะที่ภาษาอีสานไม่ถูกแปลเป็นภาษาไทยกลางในเรื่องนี้และ “Sunset”) ถูกตราหน้าว่าแร้นแค้นและเป็นข้ออ้างของจอมพลเพื่อมาพัฒนาภูมิภาคนี้รวมถึงขอนแก่น เวลาผ่านไปแม้ตึกรามบ้านช่องจะเติบโตขึ้น แต่ถ้าเทียบโดยสัมพัทธ์แล้วก็เห็นได้ชัดว่ามันแทบไม่ต่างจากแต่ก่อนหรืออาจถอยหลังลงคลอง
ฉากการขายเครื่องนอนหลับสองเทคที่ดูแล้วก้ำกึ่งว่าพื้นที่แห่งนี้คือกองถ่ายทำภาพยนตร์หรือความจริงเป็นเรื่องแต่งหรือสารคดี สุดท้ายแล้วด้วยความไม่ประสีประสาหรืออะไรบางประการ หมอเตยก็ถูกหมอลำแบงค์พาไปทดลองเครื่องนอนหลับ เขากล่อมเธอด้วยการเล่าถึงธรรมชาติที่ไม่จริงในบริเวณนั้น อย่างบรรยากาศยามเช้าที่นกไปเหยื่อมาให้ลูก หรือสายลมริมทะเล
ฉากนี้เอง โดยพลันทำให้นึกถึงหมอเตยใน “แสงศตวรรษ” เธอนั่งฟังหลวงตาอย่างตั้งใจว่ามีผีแม่ไก่มาตามไล่จิกล้างแค้นในความฝันจนเป็นที่มาของอาการโรคเก๊าท์กำเริบ ก่อนที่หลวงตาวานเด็กวัดให้เอาสมุนไพรบำรุงเลือดให้หมอเตยใช้ชงดื่ม ทว่าน่าประหลาด สิบกว่าปีผ่านไป เธอปรากฏตัวอีกครั้งในฝันกลางวันของโต้ง และนี่เองก็ทำให้นึกถึงภาพเมื่อสี่ปีก่อน เช่นเดียวกัน ภาพของกลุ่มแพทย์ที่เคยต่อสู้เพื่อทรัพยากรทางสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอให้ชาวบ้าน หรือแพทย์ พยาบาล เภสัชกรทั่วประเทศในนาม “ประชาคมสาธารณสุข” ต่างออกมาสนับสนุนรัฐประหารกันหน้าโรงพยาบาลทั้งแผ่นดิน ร่วมเดินขบวนตามท้องถนนกันอย่างสนุกสนาน ลาหยุดงานไปร่วมขบวนได้ มีการเอารถปฐมพยาบาลที่เป็นภาษีของประชาชนไปใช้ เชิญชวนนักศึกษาไปร่วมชุมนุมอย่างฮึกเหิม
หากมองตามทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เราเชื่อว่าชนชั้นกลางจะนำพาประชาธิปไตยมาสู่ประเทศเราอย่างสร้างสรรค์ ตรงกันข้าม เราไม่ค่อยเชื่อว่าคนรากหญ้าที่ยึดติดกับระบบอุปถัมภ์จะนิยมประชาธิปไตย หากเรายึดแนวคิดนี้ก็แปลว่าเราต้องขยายฐานชนชั้นกลางให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาก็เป็นบทพิสูจน์แล้วว่าแนวคิดนี้คงใช้ไม่ได้กับไทย
มีกรณีศึกษาในจีนและอินเดียเช่นกันที่คนตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าชนชั้นกลางมีมากขึ้นจริง ตอนนี้ก็คงมีการลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการไปแล้ว แต่กลายเป็นว่าชนชั้นกลางเองนี่แหละที่เป็นฝ่ายประจบสอพลอ ตักตวงผลประโยชน์ และสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน หรือพรรคอนุรักษ์นิยมในอินเดีย
เหล่าชนชั้นกลางระดับบนคือคนที่สามารถถีบตัวเองออกจากภาคการเกษตรไปสู่ภาคการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในแผนฉบับแรกคนจนในไทยลดลงมากจาก 60% เหลือ 30% แต่หากพิจารณาให้ละเอียดกลายเป็นว่าคนจนได้รับผลประโยชน์น้อยที่สุด ในทางตรงกันข้ามชนชั้นกลางระดับบนต่างหากที่เติบโตเร็วอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงประชาธิปไตยไม่เต็มใบอย่างในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์และช่วงพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเกิดจากการเปิดการค้าเสรี ราคาน้ำมันที่ถูกลงซึ่งเอื้อต่ออาชีพอย่างเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง (เช่น แพทย์) มาก
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กลับเป็นว่าชนชั้นกลางระดับล่างเริ่มไล่ตามชนชั้นกลางระดับบนทัน ซึ่งมันทำให้คนชนชั้นกลางระดับบนมองว่าผลประโยชน์ที่ตนเองเคยได้หดหายไป จึงนำไปสู่คำอธิบายความผูกสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกลางระดับบนกับเผด็จการ อีกปัจจัยคือ ชนชั้นกลางส่วนใหญ่เป็นคนจีน หรือลูกหลานคนจีนพลัดถิ่นที่อัตลักษณ์ของความเป็นจีนถูกกดทับ ไม่มีอะไรให้ยึดถือ จึงกลายเป็นโอกาสที่รัฐจะเข้าไปสร้างปลูกฝังอุดมการณ์จนผสมกลมกลืนเป็นอัตลักษณ์ใหม่ของตนเอง อย่างเช่นลูกจีนรักชาติ
คนกลุ่มนี้มักเกลียดชังนักการเมือง และมองว่านโยบายประชานิยมเป็นการหาเสียง ทำลายความพอเพียงของคนชนบท ทำให้พวกเขาเสียผลประโยชน์ รวมทั้งเป็นการเพิ่มบทบาททางการเมืองของชนชั้นล่าง พวกเขาไม่ไว้ใจรัฐบาลรวมถึงชนชั้นล่างที่ได้ลืมตาอ้าปาก แต่กลับไม่มองด้วยมาตรฐานเดียวกันกับสิ่งที่องค์กรทหารทำ
ทั้งนี้ ใน “Song of the City” หมอเตยที่แวะมาทำความเคารพจอมพลก่อนจะไปประชุมตอนบ่าย ตอนนี้ได้ม่อยหลับไปกับเครื่องช่วยนอนของเซลล์แมนหมอลำแบงค์ ก่อเกิดเป็นความเงียบพิเศษ เสียงของสายลมดังชัดขึ้นแทนบทสนทนา กลุ่มแรงงานเสื้อแดงแบบเดียวกับหมอกควันที่พวยพุ่งจากใจกลางพีระมิดใน “Planetarium” ของจุฬญาณนนท์ ศิริผล พวกเขากำลังขะมักเขม้นทำงานที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ทัศนียภาพของเหล่าแรงงานเทก่อปูนเหนือประติมากรรมนูนต่ำแสดงผลงานของนายพล ตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำบุญหรือพบปะประชาชนที่นั่งพนมมือกราบไหว้ราวกับเป็นตัวแทนของพระเจ้าแผ่นดิน นี่เองเหมือนกำลังบอกว่าการปรับปรุงสวนนี้ รวมไปถึงประเทศชาตินี้ล้วนเกิดจากอาบเหงื่อต่างน้ำของชนชั้นกรรมาชีพทั้งนั้น
ฝน ลูกสาวป้าเจน ผู้ได้รับการถ่ายทอดวิญญาณผีปอบจากป้าเจน ณ โรงแรมแห่งหนึ่งริมโขงใน “แม่โขงโฮเต็ล” (2555) การกลับมาของเธอคราวนี้กลายเป็นแคสติ้ง ซึ่งเป็นอีกอาชีพของป้าเจนนอกจากนักแสดงในกองถ่ายของพี่เจ้ย แม้จะไม่มีการปรากฏตัวของป้าเจน แต่นี่ก็อาจหมายถึงการถ่ายทอดวิญญาณของผีชายขอบ การป่วยไข้ หรือคำสาปของสาวอีสานพลัดถิ่นที่ไม่มีตัวตน เธอนั่งอยู่เดียวดายก่อนมองไปที่อนุสาวรีย์ ครุ่นคิดถึงอะไรบางอย่างเช่นเดียวกับโต้ง ไม่นานนักก็มีเสียงบทเพลงของเมืองดังขึ้นกลบความเงียบสงบของอาณาบริเวณ
อิฐ แอบมานอนกลางวันภายใต้มุ้งของคนงานเหมือนลิงผีภายใต้มุ้งชมพูใน “A Letter to Uncle Boonmee” (2552) พัดลมส่ายไปมาช่วยคลายร้อนเหมือนในช่วงหนึ่งของ “รักที่ขอนแก่น” (2558) ที่เหมือนเป็นสารคดีถ่ายชาวบ้านพักผ่อนในช่วงกลางวัน อิฐนอนกระสับกระส่ายไม่ต่างจากป้าเจนที่พยายามข่มตานอนหน้าโรงลิเกผีสิงใน “Blue” (2561)
อาการนอนไม่หลับนี่เองนี่เป็นภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น พี่เจ้ยเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโปรเจค SLEEPCINEMAHOTEL ซึ่งเป็นการให้แขกเข้านอนพักในโรงแรมที่เนรมิตโดยพี่เจ้ย โดยจะได้ชมวิดิโอภาพในอดีตของเนเธอร์แลนด์จนเผลอหลับไป การนอนหลับก็คือการข้ามจากอีกโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง การที่คนจะนอนหลับได้แสดงว่าสภาวะหรือสถานที่นั้นต้องปลอดภัยกับเขามาก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการหลีกหนีความจริง ดังนั้นแล้วการตื่นก็อาจหมายถึงการเผชิญหน้าและยอมรับความจริง
ตรงนี้เองชวนให้นึกถึงงาน “No Happiness other than Serenity” (2018) ของ พชร ปิยะทรงสุทธิ์ ซึ่งเป็นบทแปลภาษาอังกฤษของข้อความ “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” ที่เขียนบทซุ้มประตูวัดหมู่บ้านนาบัวที่สร้างโดยทหารจากสกลนคร อีกด้านหนึ่งปรากฎเป็นพระปรมาภิไธยที่มีข้อความไม่สามารถอ่านออก ตั้งตระหง่านกลางเกลียวคลื่นริมหาดที่ซัดกลืนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้จมหายไป รัฐพยายามไกล่เกลี่ยและสร้างวาทกรรมของความสุขมาโบกปิดเรื่องราวที่เคยกระทำไว้ หรือว่าให้ง่ายคือ การทำให้ประชาชนเสพติดความสุขหรือความสงบ การนอนหลับก็ไม่ต่างจากการทำให้ประชาชนลบลืมความเครียดจากชีวิตในโลกทุนนิยมที่รัฐมีส่วนสำคัญในการก่อร่างและฉกฉวยประโยชน์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
“No Happiness other than Serenity” (2018), ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบโดย พชร ปิยะทรงสุทธิ์
การนอนหลับของทหารใน “รักที่ขอนแก่น” ก็อาจหมายถึงภาวะอ่อนเปลี้ยเสียขา การไม่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ มันท้าทายบทบาทหน้าที่ของทหารที่ต้องปกป้องประเทศชาติ อย่างปฏิเสธไม่ได้ว่าทหารกลับมีส่วนสำคัญในการพาประเทศชาติสู่อดีตอีกครั้ง การนอนหลับของป้าเจนในตอนกลางวันและตื่นขึ้นมาอีกครั้งตอนเวลาโพล้เพล้ ก่อนที่เธอเหมือนจะรู้ตัว เธอกำลังพยายามที่จะตื่น (หรือพยายามจะไม่หลับ) จึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับหมอเตยที่ถูกหลอกล่อด้วยประชาชนกันเองภายใต้ฉากละครที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างง่ายๆ เธอยินยอมพร้อมใจจะเข้าสู่นิทรา ปล่อยให้ร่างกายและใจอยู่ในสภาพที่ไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป
หัวหน้าทีมแคสติ้งหายไปจากช่วงท้ายของเรื่องที่มีการถ่ายนักแสดง (ที่อาจจะไม่ได้แสดง) แต่ละคน การเข้ามาสร้างฉากแล้วหายไป เขาอาจอยู่หลังกล้องหรืออยู่ที่ใดสักแห่ง เขาก็คงรับคำสั่งมาจากผู้กำกับอีกที นี่เป็นอีกส่วนที่น่าสนใจเมื่อพี่เจ้ยสถาปนากองถ่ายหนังให้ทับซ้อนความโลกของความจริง ผู้กำกับที่ไม่ต่างจากบุคคลบนยอดพีระมิด มีอำนาจเด็ดขาดในการชี้สั่งคนเบื้องล่าง ฉากที่เด่นชัดคือเก้าอี้ดนตรีในรักที่ขอนแก่น การละเล่นของคนในเสื้อหลากสีที่มาใช้จ่ายเวลาหลังเลิกงานบริเวณบึงแก่นนคร พวกเขาถูกสั่งให้ทำอากัปกิริยาแปลกประหลาด หลังจากชายกลางคนคนหนึ่งขับจักรยานผ่าน
หุ่นไดโนเสาร์มีพวงมาลัยคล้องคอ ราวกับเป็นสิ่งกราบไว้บูชา ซากโบราณกาลถูกขุดพบเมื่อ พ.ศ. 2519 เนื่องด้วยมีกลุ่มหน่วยสำรวจธรณีวิทยาจากสหรัฐอเมริกาเข้าสำรวจพื้นที่เทือกเขาภูเวียง มีการตั้งชื่อไดโนเสาร์ซอโรพอดสกุลและชนิดใหม่จากภูเวียงที่ชื่อว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรนี จนปัจจุบันเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาด 5,500 ตารางเมตร ดังนั้นแล้วการขุดค้นพบไดโนเสาร์ในช่วงสงครามเย็นจนนำไปสู่การมีตัวตนเด่นเป็นสง่าของไดโนเสาร์หลังจากถูกฝังกลบใต้ดิน จะต่างอะไรไปจากความพยายามของรัฐบาลในการขุดหาซากของชนชั้นนำในอดีตให้กลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งในรักที่ขอนแก่น
การสร้างสวนรัชดานุสรณ์ ในทางนัยยะอาจเป็นการขยายฐานอำนาจของเผด็จการ แต่ในทางกายภาพแล้ว สวนแห่งนี้ที่ไม่มีประโยชน์นอกจากการจัดกิจกรรมของรัฐ สวนที่เคยเป็นบ้านของคนไร้บ้านหรือที่ขายบริการของโสเภณี พวกเขาถูกขับไล่ บ้านของเขาถูกกลบทับด้วยสถาปัตยกรรมที่สะอาดเรียบร้อย เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ภายใต้นาม Khon Kaen Smart City ที่พัฒนาเมืองนำโดยกลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง กลุ่มนักธุรกิจผู้มั่งคั่งในเมืองขอนแก่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลงขันกันด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท มีการผลิตโครงการออกมามากมายเพื่อตอบโจทย์คนชนชั้นกลางในเมือง รวมทั้งการเปิดตัวของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติอันแสดงถึงความสนใจของทุนต่างถิ่นที่ไม่มั่นใจเช่นกันว่ามีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไรหรือไม่กับภาพอันงดงามของโครงการพัฒนาเมืองนี้
ยังไม่รวมถึงโครงการก่อสร้างรางรถไฟ “ระบบทางคู่” ที่มีการบีบบังคับให้ชุมชมแออัดริมทางรถไฟกว่า 39 ครัวเรือน ชุมชนที่เริ่มก่อตัวช่วงปี 2503 เนื่องด้วยรัฐให้แรงงานขนฟืนรถไฟเข้าสร้างที่อยู่อาศัย รัฐได้ให้ทางเลือกกับเหล่าผู้ได้รับผลกระทบด้วยการให้ซื้อบ้านจัดสรรที่สร้างไว้ให้ในโครงการบ้านมั่นคงนครขอนแก่นโดยต้องมีเงินดาวน์ถึงสี่หมื่นบาท
การถ่ายจากด้านหลังของไดโนเสาร์ เรากลับเห็นผู้คนวิ่งออกกำลังกันบนพื้นด้านล่าง ต่างจากภาพของโต้งที่มองจอมพลไปด้านบนที่ไม่เห็นอะไรเลยนอกจากอนุสาวรีย์ เหมือนกับภาพสุดท้ายของ Song of the City ที่เผยให้เห็นมุมมองของใครสักคน อาจจะเป็นชาวบ้านที่มาใช้สถานที่แห่งนั้น มองไปไกลปรากฎเป็นทัศนียภาพของวัดวาอาราม บึงแก่นนคร อดีตที่ตั้งแคมป์ของจอมพล และตึกระฟ้าสูงเด่น แต่ไม่ปรากฏผู้คน มุมมองที่คนอย่างโต้ง อิฐ หมอเตย หมอลำแบงค์ ฝน หัวหน้าแคสติ้ง หรือคนงานเสื้อแดง ไม่อาจมีส่วนร่วมประกอบเป็นส่วนหนึ่งภาพนั้นได้เลย
การฝันกลางวันของโต้งในบ่ายวันหนึ่งด้วยเพลงที่หลอกหลอนช่วยกล่อมให้เขาหลับ สิ่งนี้เองที่พาเราไปพบเรื่องจริงและเรื่องแต่งของอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเมืองขอนแก่น และประเทศชาตินี้ ดินแดนที่มิติของเวลาได้ทับซ้อน มีปฏิกิริยาตอบโต้ และไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้
อ้างอิง
– ธเนศ รัตนกุล ชนชั้นกลางไม่เอาประชาธิปไตย? เข้าใจชนชั้นกลางระดับบน กับ ดร.ธร ปีติดล 2561
– สมคิด พุทธศรี ทำไมคนชั้นกลางไทยถึงหันหลังให้ประชาธิปไตย 2560
– BBC Thai ก้าวหน้า พงศ์พิพัฒน์ ฉายหนังให้คนหลับใหล งานศิลปะของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” เปลี่ยนโรงหนังให้กลายเป็นโรงแรม 2561
– เก่งกิจ กิตเรียงลาภ มานุษยวิทยาจักรวรรดิ: การประดิษฐ์หมู่บ้านชนบทและกำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น 2559
– The Isaan Record ‘รถไฟทางคู่’ กระทบคนจนเมืองขอนแก่น รัฐรื้อชุมชนริมรางเพิ่มด้านละ 20 เมตร ชาวบ้านชี้ค่ารื้อถอนไม่เป็นธรรม 2559