โดย วิศรุต แสนคำ

เมื่อสามปีก่อน หลังจากที่เรียนจบมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ผมเดินทางจากอีสานเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครและพักอยู่ย่านพญาไท วันหนึ่งช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ปี 2559 ระหว่างการเดินกลับที่พักผ่านถนนเพชรบุรีซอย 10 ที่ผ่านเป็นประจำ ผมพบว่ามีการตั้งเวทีงิ้วอยู่กลางซอยซึ่งเป็นซอยตลาดของชุมชนแห่งนี้ จะว่าไปประสบการณ์ของผมที่มีต่องิ้วก็คงจะเป็นงานงิ้วประจำปีที่จังหวัดบ้านเกิดของผมในกาฬสินธุ์ที่มักจะจัดกันในช่วงฤดูหนาว และผมมักจะมีโอกาสได้ไปยังศาลเจ้าประจำจังหวัดซึ่งเป็นสถานที่จัดงานอยู่เสมอทุกปี แต่ทว่าเมื่อตอนเด็กนั้น ผมดูจะไม่ได้สนใจการแสดงงิ้วเลยก็ด้วยเพราะว่าฟังภาษาที่แสดงไม่ออก และสิ่งที่ผมสนใจหากเมื่อมีคณะงิ้วมาแสดงก็มีแต่ขนมน้ำตาลที่ปั้นเป็นรูปตัวมังกร ลิง และเกมส์บอยที่มาให้เช่าเล่นทุกๆ ปี

ครั้งนี้ ระหว่างที่ผมยืนดูคนงานพากันตั้งโรงงิ้วขึ้นอยู่นั้นก็พลันได้ยินเสียงพูดคุยกันเป็นภาษาลาวอีสานที่คุ้นเคย ผมนึกสนใจเลยถามไถ่เจ้าของคณะงิ้วดูก็พบว่าคณะงิ้วจีนจากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 10 กว่าคน มีคนอีสานอยู่ในคณะมากถึง 3-4 คน

ไม่ช้านักผมก็ได้มีโอกาสพบเจอและถามไถ่ถึงความเป็นมาและบทบาทของพวกเขาในคณะงิ้ว ทำให้ผมเกิดความคิดและความต้องการที่จะเล่าเรื่องราวของคนบ้านเดียวกัน ที่พลัดถิ่นมาทำงานอยู่ในเมืองกรุงเหมือนกันผ่านภาพถ่ายของผม โดยหวังว่าจะช่วยสะท้อนให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงชีวิตและอาชีพอย่างหนึ่งซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของจีนที่น้อยคนนักจะคาดคิดว่าปัจจุบันคนอีสานจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการสืบต่อและสร้างรายได้จากอาชีพนี้

“ฮอดคิวแล้ว…ฮอดคิวแล้ว รุ่ง” เสียงเรียกจากหญิงสาวในชุดประดับแสงระยิบระยับดูคล้ายว่ามาจากตัวละครจีนในทีวีที่ผมเคยดู เธอพยายามมองซ้ายขวา พลางส่งเสียงเรียก “อ้ายรุ่ง อ้ายรุ่ง”

23

รุ่ง หรือ รุ่งตะวัน เชิญประเสริฐ ชาวจังหวัดชัยภูมิกำลังเก็บชุดที่ใช้ในการแสดงงิ้วหลังจากสวมใส่ เพื่อรักษาชุดให้สะอาดที่สุด เนื่องจากแต่ละชุดที่ใช้แสดงมีราคาในการตัดสูงถึง 5,000 บาทและมักไม่ค่อยทนทานต่อการซักเท่าใด

ชายหนุ่มคนหนึ่งวิ่งท่าทางลุกลนมาหลังเวทีงิ้วพร้อมหิ้วถุงน้ำอัดลมสีเขียว แดงและดำ สีที่หลากหลายของน้ำอัดลมคล้ายกับสีที่แต่งแต้มบนใบหน้าของเขา  

“เอ้าขอโทษหลายๆ เด้อ เมื่อกี้เจ้เพิ่นฝากซื้อน้ำอัดลม” ชายหนุ่มกล่าวพร้อมรีบยื่นถุงน้ำอัดลมให้นักแสดงงิ้วและนักดนตรีหลังเวที แล้วรีบเดินไปสวมชุดสีแดงดำ จากนนั้นก็กระโจนพุ่งออกไปหน้าเวทีพร้อมกับตวัดทวนไม้สู้กับงิ้วคนอื่นท่ามกลางสายตามผู้ชมข้างล่างเวที

เขาคือ รุ่ง หรือ รุ่งตะวัน เชิญประเสริฐ อายุ 24 ปี คนจังหวัดชัยภูมิโดยกำเนิด รุ่งทำงานในคณะงิ้วนี้มากว่า 3 ปี ด้วยความชื่นชอบดูการแสดงงิ้วซึ่งมักจะจัดแสดงที่หน้าศาลเจ้าจีนในจังหวัดชัยภูมิตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เขามีโอกาสได้ร่วมแสดงในคณะงิ้วตั้งแต่เขาอายุ 16 ปี

“พ่อแม่เห็นผมชอบดูการแสดงงิ้ว พ่อเลยพาผมมาฝากให้ทำงานกับเถ่าแก่เจ้าของคณะงิ้วในจังหวัดชัยภูมิ ทำให้ได้เข้าวงการการแสดงงิ้วตั้งแต่ตอนนั้น”

รุ่งเล่าว่า เริ่มทำงานในคณะงิ้วเป็นนักแสดงบนเวที อุปสรรคในช่วงแรกของการแสดงตอนนั้นคือเรื่องภาษาจีน การออกสำเนียงภาษาจีนในการแสดง

“เรื่องภาษาจีนเป็นปัญหามากตอนนั้น เพราะตอนแสดงบนเวทีบางครั้งต้องพูดภาษาจีนในการแสดง ผมอาศัยการท่องจำเอา ไม่รู้ความหมายของคำทั้งหมด ตอนแสดงต้องคอยจับจังหวะสายตาคู่นักแสดงอีกคนว่าจะพูดประโยคอะไรต่อไป”

“ผมมักจะได้เล่นเป็นทหารเสียส่วนใหญ่ เพราะไม่จำเป็นต้องพูดอะไรยาวๆ” รุ่งกล่าวพลางหัวเราะ

23

แนน ลูกอีสานศรีสะเกษ ผู้เพิ่งเข้าสู่วงการแสดงงิ้วได้เพียง 3 เดือน ขณะเตรียมตัวขึ้นแสดง

งานศึกษาเรื่องงิ้วแต้จิ๋ว ของ ศยามล เจริญรัตน์ ระบุว่าการแสดงงิ้วที่เราพบเห็นกันเป็นส่วนใหญ่ในปัจจุบันคืองิ้วแต้จิ๋วที่ได้มีพลวัตรเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่การเป็นการแสดงชั้นสูงของสังคมที่มักจะไดรับการอุปถัมภ์โดยผู้มีอำนาจ และเมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงทำให้งิ้วกลายเป็นงิ้วเร่ร่อนที่คอยแสดงตามศาลเจ้าต่าง ๆ แทน

ส่วนตัวผมนั้นมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เองคงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีชาวอีสานเข้ามาอยู่ในคณะงิ้ว

23

เนื่องจากงานงิ้วที่มักจะแสดงกันในช่วงเวลากลางคืน ดังนั้นช่วงกลางวันจึงเป็นเวลาพักผ่อนของเหล่านักแสดงและคนงานในคณะงิ้ว ท่ามกลางวิถีชีวิตโดยรอบเวทีที่ดำเนินไปอย่างปกติ โดยครั้งนี้คณะงิ้วเตี่ยเกี๊ยะอี่ไหล่ซุงได้รับการว่าจ้างมาแสดงที่บริเวณเพรชบุรี ซอย 10

“คนอีสานในคณะงิ้วมีมานาน ตั้งแต่ 40-50 ปีแล้ว” เถ้าแก่เจ้าของ “คณะงิ้วเตี่ยเกี๊ยะอี่ไหล่ซุง” กล่าวพร้อมเสริมว่า คนอีสานคือคนไทยกลุ่มแรกที่เข้ามาทำงานในคณะงิ้วของคนจีน ซึ่งได้รับการฝึกสอนโดยคนจีนที่เป็นเจ้าของคณะงิ้ว โดยจะให้แสดงตามบทละคร เช่น การแสดงเป็นทหาร โจรผู้ร้าย เป็นต้น นักแสดงงิ้วที่เป็นคนอีสานบางคนต้องทำหน้าที่หลายตำแหน่งในคณะ เช่น เมื่อแสดงบทตัวเองเสร็จอาจจะต้องมาตีฆ้องตีกลองประกอบการแสดงหลังเวทีหรือทำหน้าที่เตรียมอาหาร รวมถึงจัดฉากบนเวทีการแสดงเพิ่มเติม และบางคนที่ไม่ได้เป็นนักแสดง ก็จะทำหน้าที่เป็น “ฮี้เกี้ย” หรือลูกงิ้วในคณะเพื่อดูแลนักแสดงและเวทีการแสดงทั้งหมดหลังโรงงิ้ว

คณะงิ้วเตี่ยเกี๊ยะอี่ไหล่ซุงพึ่งจะเริ่มตั้งมาได้เพียงแค่สองปีกว่าเท่านั้น เมื่อก่อนทั้งตัวเถ้าแก่เองก็เคยเป็นลูกน้องในคณะงิ้วของคนอื่นมา 30 กว่าปี ซึ่งคณะงิ้วที่เขาเคยร่วมงานมาก่อนนั้นมีนักแสดงมากถึงกว่า 30 ชีวิต ถือว่าเป็นคณะใหญ่เมื่อเทียบกับคณะอื่นๆ ซึ่งมักมีประมาณ 10-20 ชีวิตเท่านั้น หลายสิบชีวิตในคณะงิ้วนั้นก็มักจะมีคนอีสานรวมอยู่ด้วยเช่นกัน

23

นักแสดงชาวอีสานของคณะเตี่ยเกี๊ยะอี่ไหล่ซุง กำลังซ้อมบทกับแสดงจากประเทศจีน ในขณะที่คนอื่นกำลังพักผ่อนอยู่ใต้เวที

งานแสดงส่วนใหญ่ของคณะงิ้วมักอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม และถือว่าเป็น “ไฮซีซั่น” หรือช่วงเวลาที่ได้รับการว่าจ้างไปแสดงค่อนข้างสูงสำหรับวงการงิ้วเลยก็ว่าได้ โดยแต่ละเดือนจะมีงานแสดงไม่ต่ำกว่า 20 วัน ขณะที่ในช่วงเดือนอื่นๆ จะมีงานแสดงเพียงแค่ 5-6 วัน

23

พนาวรรณ (ซ้าย) และไพโรจน์ (ขวา) คู่ชีวิตนักแสดงงิ้วจากจังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างกำลังแต่งหน้าเตรียมตัวขึ้นแสดง โดยทั้งคู่พบรักกันในคณะงิ้วและตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน

ปัจจุบัน การทำคณะงิ้วมีความลำบากกว่าในอดีต สาเหตุไม่ใช่ว่าไม่การว่าจ้างงาน แต่เป็นเพราะไม่มีคนที่จะมาทำหน้าที่เป็นนักแสดงเสียต่างหาก ทั้งนี้ เถ้าแก่เล่าว่า เด็กหรือลูกหลานคนจีนเจ้าของคณะงิ้วต่างพากันเรียนหนังสือหรือไม่ก็ไปทำงานอย่างอื่นที่ได้เงินดีกว่า หลายคณะจึงหาคนมาแสดงไม่ได้ ทำให้ต้องทยอยเลิกทำกิจการไป

“เราก็ได้คนอาศัยคนอีสานนี้เละมาช่วยงาน เราจะฝึกให้พวกเขาแสดงงิ้วแบบจีนให้ได้คล้ายคนจีนแสดงมากที่สุด” เถ้าแก่คนเดิมเล่าให้ฟังถึงปัญหาในวงการงิ้วให้ฟัง ก่อนเดินลงไปหยิบหมวกให้นักแสดงที่รับบทแสดงเป็นเปาบุ้นจิ้น ตัวละครในวรรณกรรมจีนชื่อดังเกี่ยวกับความยุติธรรม ที่รอคิวออกแสดงอยู่หลังม่าน

23

นักแสดงจากอีสานมักจะใช้วิธีการจดบทพูดภาษาจีนเป็นอักษรไทยแบบภาษาคาราโอเกะเพื่อง่ายต่อการท่องจำและฝึกฝน

ด้านหลังเวที ผมพบกับ แนน อายุ 23 ปี เธอเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษและมาอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยตามพ่อแม่ที่เข้ามาทำงานตั้งแต่เด็ก แนนเริ่มเล่นงิ้วได้เพียงสามเดือน ทั้งนี้ ช่วงแรกที่เริ่มเข้ามาทำงานในคณะงิ้ว แนนทำหน้าที่ทำความสะอาดและดูแลนักแสดงตลอดจนคนคุมเวที แนนเล่าว่า เวลาว่างหลังจากการทำความสะอาด เธอมักจะแอบฝึกเล่นเป็นตัวละครบนเวที โดยเรียนรู้แบบครูพักลักจำ ใช้วิธีสังเกตการแสดงของนักแสดงคนอื่น ๆ แม้ว่าปัจจุบันแนนจะเป็นหนึ่งในนักแสดงของคณะแล้วก็ตาม แต่เธอก็ยังต้องเรียนรู้และฝึกฝนการแสดงอยู่เสมอ

“มีเถ้าแก่มาสอนบ้างในช่วงใกล้วันงานแสดงในส่วนบทพูด แต่ต้องอาศัยการท่องจำและซ้อมเตรียมจังหวะกับนักแสดงรุ่นใหญ่ ว่าถ้าร้องคำนี้ก็ให้ร้องตอบด้วยคำไหน” แนนเล่า

23

นักแสดงที่ฟังภาษาจีนไม่เข้าใจจะรู้จังหวะต่อบทจากการสังเกตท่าทาง ตลอดจนการกะพริบตาที่ได้ตระเตรียมกันไว้ก่อนขึ้นแสดงนั่นเอง

ถึงแม้การเล่นงิ้วจะเป็นเรื่องยากเพราะใช้ภาษาจีนทั้งหมด แนนยอมรับว่าทักษะการสื่อสารและการใช้ภาษาจีนของเธอยังไม่ดีขึ้นมากเท่าใด แต่แนนยังชื่นชอบการแสดงงิ้วอยู่ และการแสดงนี้ทำให้เธอมีรายได้พอเลี้ยงดูตัวเอง นอกจากนี้ แนนยังรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานตลอดจนนักแสดงในคณะฯ ได้ให้ความช่วยเหลือเหมือนเป็น ครอบครัวเดียวกัน

23

บรรดาผู้ชมวัยเด็กๆ จากชุมชนบริเวณเพรชบุรีซอย 10 เนื่องจากคณะงิ้วมาแสดงเป็นประจำทุกปี เด็กบางคนจึงกลายเป็นเพื่อนกับนักแสดงงิ้ว

นักแสดงงิ้วคนอีสานอีกคนในคณะนี้ได้แก่ รุ่ง อายุ 24 ปี เขาเป็นคนชัยภูมิโดยกำเนิดและเข้ามาแสดงร่วมกับคณะนี้มากว่า 3 ปีแล้ว รุ่งเคยอยู่กับคณะงิ้วอื่นมาก่อน เขาเล่าว่า เขาหลงรักการแสดงงิ้วตั้งแต่แรกเห็นเมื่อยังเป็นเด็ก โดยเขามักจะไปดูงิ้วที่ศาลเจ้าในจังหวัดชัยภูมิอยู่เสมอ หลังจากที่เฝ้าเพียรไปดูงิ้วทุกปีติดกันถึง 4 ปี พอปีที่ 5 เมื่อตอนที่เขาอายุ16 ปี พ่อแม่จึงได้พามาฝากกับเถ้าแก่เจ้าของคณะงิ้ว ทำให้เขาได้เข้าวงการงิ้วมาตั้งแต่ตอนนั้น

23

นอกเหนือจากการแสดงบนเวที งานหลังเวทีอย่างการเป็นลูกงิ้วหรือคนงานในโรงงิ้วก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ผู้เข้าคณะใหม่ๆ มักจะได้ทำ

23

ช่วงเวลากลางวันมักเป็นช่วงเวลาพักผ่อนของชาวคณะงิ้ว โดยครั้งนี้คณะเตี่ยเกี๊ยะอี่ไหล่ซุงได้พักที่ตึกของศาลเจ้าที่จ้างมาแสดงในบริเวณถนนเพรชบุรีซอย 10 เขตพญาไท

23

ในระหว่างช่วงกลางวันขณะนักแสดงของคณะงิ้วกำลังรับประทานอาหารภายในร้านอาหารใกล้เคียง

 

image_pdfimage_print