เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก

การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในรัฐใดก็ตาม ล้วนเป็นไปเพื่อความกลมเกลียวเหนียวแน่นและความสมัครสมานสามัคคีของคนในรัฐ ตลอดจนเป็นการสร้างความมั่งคงทางอำนาจของผู้ปกครอง ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีแนวทางรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ส่งผลให้ความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ของไทยถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของรัฐบาลกลาง ต่อมาก็ได้กลายเป็นการกลืนกินความแตกต่างหลากหลายของท้องถิ่นทีละน้อย และความหลากหลายนี้จะหมดสิ้นไปในที่สุด หากคนในท้องถิ่นเองไม่มีการสร้างสำนึกความเป็นท้องถิ่น เพื่อรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตนเอง

“ดินแดนลาว” ที่เรียกว่า “ฝั่งขวาแม่น้ำโขง” หรือ “ภาคอีสาน” เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม โดยหนึ่งในรากฐานทางวัฒนธรรมเหล่านั้นก็คือ “ภาษา” ที่ใช้สื่อสาร ในอดีตภาคอีสานจึงเต็มไปด้วยภาษาถิ่นมากมาย อาทิ ภาษาผู้ไท ภาษาเวียตนาม และภาษาลาว ภาษาเหล่านี้มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน

บทความนี้ต้องการนำเสนอประเด็นการรวมศูนย์อำนาจทางการปกครองผ่านการใช้ตัวอักษร โดยยกกรณีตัว “อักษรไทน้อย” ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นภาษาเขียนของคนลาวล้านช้าง มาเป็นแกนหลักในการดำเนินเรื่องเพื่อนำเสนอภาพของการกลืนกินทางวัฒนธรรมลาวฝั่งขวาให้อยู่ใต้เงาของสยาม

ความเป็นมาของอักษรไทน้อย

แต่เดิม ชาวอีสานโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ลาวจะใช้อักษรประจำถิ่นของตนเอง ที่นิยมกันมากมี 3 ชนิด คือ 1) อักษรขอม หรืออักษรอินเดียกลาย เป็นอักษรที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกซึ่งพบในดินแดนอีสาน สมัยพุทธศตวรรษที่ 16-18 ซึ่งเป็นยุคที่วัฒนธรรมเมืองพระนคร (เมืองโบราณขนาด 400 ตร.กม. ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต จ.เสียมเรียบ กัมพูชา) เจริญรุ่งเรืองและแผ่อิทธิพลเข้าสู่ภาคอีสาน 2) อักษรธรรม เป็นอักษรที่แพร่เข้าสู่อีสานสมัยล้านช้างช่วงพุทธศตวรรษที่ 22-24 มีต้นเค้ามาจากอักษรมอญโบราณ โดยทั่วไปใช้ใน “ทางธรรม” จารึกเรื่องราวที่เป็นจริยวัตรของพระพุทธเจ้าและเรื่องราวทางพุทธศาสนาต่างๆ และ 3) อักษรไทน้อย เป็นอักษรที่แพร่เข้าสู่อีสานพร้อมๆ กับตัวอักษรธรรม มักใช้ใน “ทางโลก” เช่น การว่าราชการบ้านเมือง การจารึกวรรณกรรมที่ปราชญ์โบราณอีสานแต่งขึ้นเอง รวมถึงใช้บันทึกนิทานหรือผญาต่างๆ ตำรายา ตำราหมอดู ถือได้ว่าอักษรไทน้อยเป็นอักษรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมปัญญาชนอีสานสมัยโบราณ

ภาพที่ 1-2 ปัจจุบันที่บ้านสาวะถี จ.ขอนแก่น ยังปรากฏร่องรอยการใช้อักษรไทน้อยบนจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วัดไชยศรี หรือวัดใต้ โบสถ์นี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2408

สำหรับอักษรไทน้อยที่ชาวอีสานโบราณใช้ในการติดต่อสื่อสารนั้น เป็นอักษรที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์ แต่มีเสียงวรรณยุกต์ครบทั้ง 5 เสียงเหมือนภาษาไทย ผู้อ่านต้องใส่เสียงวรรณยุกต์เอาเอง เพราะตัวอักษรที่เขียนเหมือนกันอาจมีความหมายแตกต่างกันตามการพิจารณาของผู้อ่าน ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้คนโบราณอีสานเรียกว่า “อ่านหนังสือ หนังหา” หมายถึงผู้อ่านต้องหาความหมายเองตามบริบทที่แวดล้อมของคำนั้นๆ ด้วย

อาณานิคมทางปัญญา: อักษรไทน้อยใต้ปีกอักษรไทย

ถ้าพูดถึงการใช้ภาษา สำนึกแรกที่เกิดขึ้นในจินตนาการของผู้เขียนก็คือ ภาษามีสถานะเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า ภาษาคือพื้นฐานของการนำมาซึ่งอำนาจและการถ่ายทอดอำนาจ ดังจะนำเสนอข้อสังเกตจากการรวบรวมข้อมูลต่อไปนี้

เมื่อสยามเริ่มมีการดำเนินนโยบายปฏิรูปการปกครองเพื่อรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ตั้งแต่ พ.ศ. 2417 เป็นต้นมา รัฐบาลสยามพยายามชี้ให้ชาวอีสานเห็นว่า การใช้อักษรไทยมีความสะดวกและเป็นที่ยอมรับในการติดต่อกิจการบ้านเมืองมากกว่าการใช้อักษรท้องถิ่น รัฐบาลสยามได้เริ่มดำเนินนโยบายให้มีการใช้ภาษาวัฒนธรรมไทยในการเรียนการสอน ชาวอีสานถูกอบรมสั่งสอนให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไทย นำมาสู่การยอมรับวัฒนธรรมของรัฐสยามที่มีบทบาทเหนือกว่าวัฒนธรรมอีสานโดยผ่านระบบการศึกษาแบบใหม่

เหตุแห่งการดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษา ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการปฏิรูประบบการศึกษาของไทย ซึ่งต้องการผลิตบุคคลเข้ารับราชการในหน่วยงานจำนวนมากที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการดำเนินนโยบายปฏิรูปการปกครอง ส่วนกลางจึงได้มีนโยบายสนับสนุนให้โรงเรียนตามหัวเมืองจัดตั้งผู้มีคุณวุฒิทางด้านการสอน โดยในระยะแรกๆ นั้น ได้ใช้วัดประจำชุมชนเป็นสถานที่สอน โดยมากมีพระเป็นผู้สอน รวมทั้งฆราวาสที่เคยบวชพระ จนกระทั่ง พ.ศ. 2434 จึงมีการตั้งโรงเรียนแห่งแรกในภาคอีสานขึ้นที่เมืองอุบล ชื่อ “โรงเรียนอุบลวาสิกสถาน” ซึ่งมีการใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอน นับจากนั้นระบบการศึกษาตามรูปแบบของส่วนกลางก็ได้มีพัฒนาการเรื่อยมาในอีสาน ในช่วงนั้นพบว่ามีตำราเรียนภาษาไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูล) ในภาคอีสาน 6 เล่ม ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิตนิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจนพิจารณ์ และพิศาลการันต์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2453 กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งผู้รับผิดชอบขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ตรวจตราให้เยาวชนอีสานได้เข้าเรียนโรงเรียนไทยอย่างทั่วถึง จนกระทั่ง พ.ศ. 2464 ได้มีการกำหนด พ.ร.บ.ประถมศึกษา ที่บังคับให้ผู้ปกครองส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทย เป็นอันว่าปัญญาชนชาวอีสานแทบทุกหัวระแหงจำต้องเดินเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ใช้อักษรไทยนับตั้งแต่นั้นมา

ภาพที่ 3 ใบบอกอักษรไทย (หนังสือราชการจากหัวเมืองส่งไปยังราชสำนัก) จากบ้านหมากแข้ง จ.อุดรธานี ส่งไปยังราชสำนักกรุงเทพฯ โดยกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เมื่อ ร.ศ. 115 หรือ พ.ศ. 2439 ชี้ให้เห็นถึงการเริ่มใช้อักษรไทยในสังคมอีสานระยะแรก (ถ่ายจากต้นฉบับจริงที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติโดยผู้เขียน)

จะเห็นได้ว่าอิทธิพลของอักษรไทยแพร่เข้ามาในหัวเมืองอีสาน เริ่มแรกหลังมีการปฏิรูปการปกครองนั้น อักษรไทยมักใช้เฉพาะงานในหน้าที่ราชการ เช่น ใบบอกจากหัวเมืองไปสู่รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ส่วนชาววัดและชาวบ้านทั่วไปยังคงใช้อักษรพื้นเมือง จนกระทั่งมีการตั้งโรงเรียนรัฐบาล (โรงเรียนประจำจังหวัด-ประจำมณฑล มีข้าราชการกำกับดูแลในทุกภาคส่วน) และโรงเรียนประชาบาล (โรงเรียนในชนบท มีข้าราชการและ/หรือประชาชนในท้องถิ่นเป็นกรรมการจัดการศึกษา) ในภาคอีสาน บุตรหลานของชาวอีสานจึงต้องเข้าศึกษาหาความรู้ตามระเบียบบังคับที่โรงเรียนที่ตั้งขึ้นเหล่านั้น โดยมีการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย บริบทเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของอักษรไทน้อยโดยตรง เพราะเมื่อระบบการศึกษาทั่วไปได้หันมาใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอน ทำให้จำนวนผู้เรียนอักษรท้องถิ่นดั้งเดิมลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่มีผู้สนใจที่จะเรียนและไม่เห็นประโยชน์ที่จะสืบทอด อักษรไทน้อยจึงค่อยๆ เลือนหายไปจากภูมิปัญญาของชาวอีสานรุ่นหลัง

ภาพที่ 4-5 ธรรมมาสน์ที่วัดพระธาตุขามแก่น ระบุสร้างเมื่อ พ.ศ. 2473 โดยพระสงฆ์ 2 รูป ซึ่งน่าสนใจว่ามีการใช้ภาษาไทยเขียนระบุข้อมูลต่างๆ ลงในธรรมมาสน์แล้ว (ถ่ายโดยผู้เขียนเมื่อ พ.ศ.2558)

ร่องรอยการขบถทางปัญญา

ใช่ว่าการครอบงำทางปัญญาของรัฐบาลไทยในสมัยนั้นจะราบรื่นนัก ในบางท้องถิ่นได้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่น กรณีกบฏผู้มีบุญบ้านสาวะถี จ.ขอนแก่น เมื่อ พ.ศ. 2483 นำโดยหมอลำโสภา พลตรี พร้อมแกนนำชาวบ้านที่ไม่ยอมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอน เนื่องจากเชื่อว่าการเรียนในโรงเรียนจะทำให้บุตรหลานกลายเป็นคนไทยไม่ใช่คน (ชาติพันธุ์) ลาวอีกต่อไป ประกอบกับเชื่อว่าอักษรที่ใช้กันมาแต่เดิมนั้นสั่งสอนให้เด็กเป็นคนดีมีศีลธรรมได้ดีกว่าการใช้ภาษาไทย แต่สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็ลงท้ายด้วยการถูกปราบปรามจากรัฐบาลด้วยข้อหากบฏ!

การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นและความเป็นหนึ่งเดียวให้กับรัฐบาลกลางตามที่กล่าวมานั้น ได้ส่งผลให้ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมลดน้อยถอยลง รวมไปถึงบทบาทของอักษรไทน้อยที่ถูกเบียดขับจากสังคมและภูมิปัญญาของชาวอีสาน การครอบงำทางปัญญาของท้องถิ่นด้วยอำนาจที่เหนือกว่านี้ นอกจากที่อีสานแล้วยังพบว่า ลาวในยุคอาณานิคมฝรั่งเศสก็ตกอยู่ในสภาวะที่ถูกเจ้าอาณานิยมพยายามครอบงำทางปัญญาด้วยเช่นกัน โดยฝรั่งเศสพยายามจะเปลี่ยนระบบการใช้ตัวอักษรโรมันแทนการใช้อักษรลาวโดยมุ่งหวังที่จะให้ลาวตกเป็นอาณานิคมทางปัญญา (แต่ไม่สำเร็จ)

สรุปได้ว่า แนวทางการครอบงำด้วยระบบภาษาจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐใช้ในการลบเลือนคุณค่าหรือภูมิปัญญาของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแก่ศูนย์อำนาจการปกครอง นี่นับเป็นความสำเร็จขนานใหญ่ของการรวมชาติ เพราะผู้เขียนเองเติบใหญ่มาในสังคมอีสานด้วยระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐไทย ก็เพิ่งได้รู้เมื่อไม่นานว่าอีสานเคยมีภาษาเขียนเป็นของตัวเอง

image_pdfimage_print