โดย กรรตษณะ ประทุมมาตย์

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ที่เปิดรับนักเรียนจากประเทศกัมพูชาเข้ามาศึกษาที่ประเทศไทย ภายใต้โครงการพระราชทานความช่วยเหลือราชอาณาจักรกัมพูชา ด้านการศึกษา ในกองทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีช่องทางการสื่อสารภายในนิสิตที่ได้รับทุนชื่อกลุ่มว่า CASS-MSU (Cambodian Students Association of Sirindhorn Scholarship at Mahasarakham University) ปัจจุบันมีนิสิตจากกัมพูชาที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ประมาณ 70 คน

ข้อมูลขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ปี 2559 ระบุว่า มีชาวกัมพูชาออกไปศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยนอกประเทศ จำนวน 4,221 คน โดย 10 อันดับประเทศที่ชาวกัมพูชานิยมไปศึกษาต่อ อันดับหนึ่ง ได้แก่ ประเทศไทย โดยมีจำนวน 955 คน รองลงมาคือ ออสเตรเลีย 602 คน เวียดนามและฝรั่งเศส 443 คน สหรัฐอเมริกา 376 คน ซาอุดิอาระเบีย 350 คน ญี่ปุ่น 297 คน เกาหลีใต้ 273 คน นิวซีแลนด์ 82 คน และอังกฤษ 66 คน

ห้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ (Co-English Learning Space) ตั้งอยู่ที่อาคารราชนครินทร์ (RN) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่มีนิสิตชาวต่างประเทศเข้าใช้บริการ

“ตอนอยู่กัมพูชาพูดไทยไม่ได้ รู้จักพยัญชนะไทยคร่าว ๆ เพราะคล้ายคลึงกับภาษากัมพูชา” Sovat Nita (โสวาท นิตา) หรือ แอน อายุ 22 ปี นิสิตจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กล่าว แอนได้รับทุนมาศึกษาอยู่ที่คณะสาธารณะสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชั้นปีที่ 3 เธอมาจากครอบครัวที่มีฐานะระดับปานกลาง และมีแม่ผู้มีอาชีพเป็นพยาบาลเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เธอมุ่งหาทุนการศึกษาด้านสาธารณสุขระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ

ภายในกลุ่มนิสิตที่มาจากกัมพูชาจะมีการช่วยเหลือดูแลกันและกันอยูเสมอ โดยนิสิตรุ่นพี่ที่เข้ามาเรียนที่ ม.มหาสารคาม ก่อน จะทำหน้าที่คอยช่วยดูแลนิสิตรุ่นน้องที่มาใหม่ เนื่องจากรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่ยังสื่อสารภาษาไทยยังไม่ได้ เช่น นิสิตรุ่นพี่จะคอยต้อนรับและพาไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารโดยช่วยนิสิตทุนคนใหม่ฝึกใช้ภาษาไทยในการสั่งอาหาร รวมถึงสั่งซื้อสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม

“จริง ๆ การเรียนในชั้นเรียนจะเป็นภาษาไทย โดยส่วนมากใช้ภาษาไทยในการเรียน การสอน แต่ช่วงแรกที่มาเรียนที่นี่ หนูต้องใช้ความสามารถภาษาอังกฤษพูดคุยกับเพื่อนและอาจารย์ประจำวิชาเพื่อจะได้คุยกันรู้เรื่อง” แอนกล่าว

แอนเล่าต่อว่าช่วงแรกเธอใช้ภาษาไทยไม่เก่งมาก และจะสื่อสารกับเพื่อนคนไทยเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ เพราะเพื่อนบางคนไม่เข้าใจและพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างช่วงที่เพื่อนใช้ภาษาอีสานพูดคุยกันและพูดคุยกับเธอ เธอยิ่งฟังไม่เข้าใจ

“สื่อสารกับเพื่อนลำบาก และไม่สามารถคุยกับเพื่อนได้ในช่วงแรก” แอนกล่าว

ชิงทุนการศึกษาไทย

แอน คือหนึ่งในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่ประเทศกัมพูชาที่ได้รับทุนการศึกษาของโครงการพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา มาศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

“การสอบแข่งขันต้องสอบวิชาภาษาอังกฤษ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และภาษาไทย โดยทุนมีหลายคณะให้เลือกสอบ โดยการเลือกมหาวิทยาลัย หนูจะต้องค้นหาว่าคณะไหนในมหาวิทยาลัยเปิดรับเด็กกัมพูชาสอบชิงทุนศึกษาต่อบ้าง” แอนกล่าว


Sovat Nita (โสวาท นิตา) หรือ แอน อายุ 22 ปี นิสิตจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาที่ได้รับทุนมาศึกษาอยู่ที่คณะสาธารณะสุขศาสตร์ ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3

ทุนของโครงการพระราชทานความช่วยเหลือราชอาณาจักรกัมพูชา ด้านการศึกษา ในกองทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แบ่งออกเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 7 ทุน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 3 ทุน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จำนวน 20 ทุน เป็นต้น โดยนักเรียนชาวกัมพูชาที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมสามารถเลือกมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ทั้งหมด 2 อันดับ หลังจากผ่านข้อสอบอัตนัยในรอบแรก จะต้องสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ โดยการสัมภาษณ์จะจัดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา และอาจารย์ผู้ทำการสอบสัมภาษณ์จะเป็นอาจารย์ชาวไทยที่มาจากมหาวิทยาลัยที่ให้ทุนการศึกษา

“ตอนสอบสัมภาษณ์ หนูพูดภาษาไทยไม่ได้ ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสอบสัมภาษณ์รวมทั้งเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย ข้อมูลจังหวัดและมหาวิทยาลัยที่เลือกที่จะสอบชิงทุน” แอนกล่าว

นอกจากแอนแล้ว สอง หรือ Saneth Khann (สาเนตร ขัน) อายุ 24 ปี จากจังหวัดเสียมเรียบ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา คือนิสิตชาวกัมพูชาอีกคนที่ได้รับทุนมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สองศึกษาที่คณะวิทยาการสารสนเทศ สาขาภูมิสารสนเทศ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4  

สอง หรือ Saneth Khann (สาเนตร ขัน) อายุ 24 ปี จากจังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ผู้ที่ได้รับทุนมาศึกษาที่คณะวิทยาการสารสนเทศ สาขาภูมิสารสนเทศ ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4

“ผมและเพื่อน ๆ ติดตามข่าวสารการเปิดสมัครทุน รู้จากสื่อออนไลน์ เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงการบอกกันปากต่อปากจากรุ่นพี่ที่เคยได้รับทุน” สองกล่าว

เนื่องจากสองอยู่ที่อำเภออังกอธม (Ankor Thum) จังหวัดเสียมเรียบ ซึ่งเป็นต่างจังหวัด ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเตอร์เน็ตยังเข้าถึงไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้สองต้องเดินทางจากอำเภออังกอธม เข้าไปยังอำเภอเมืองของจังหวัดเสียมเรียบทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน คือทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เพื่อเข้าไปค้นหาข้อมูลการรับสมัครทุนการศึกษาที่ประเทศไทยจากร้านอินเทอร์เน็ต และเมื่อถึงช่วงที่ต้องสอบชิงทุน สองต้องเดินทางไปสอบที่กรุงพนมเปญ ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 วัน 

สำหรับเขา เหตุผลที่ต้องสอบชิงทุนการศึกษาของไทยมาศึกษาที่ประเทศไทยเป็นเพราะว่าต้องการนำความรู้และวุฒิการศึกษาที่ได้เพื่อนำมาใช้ประกอบอาชีพและหารายได้สนับสนุนครอบครัวให้มีพอใช้และชีวิตมีความเป็นอยู่สบายมากขึ้น

ไทยและกัมพูชามีวัฒนธรรมคล้ายกัน

สำหรับแอนและสอง เหตุผลที่ต้องการมาศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ประเทศไทยเป็นเพราะทั้งคู่รู้สึกคุ้นเคยกับสังคมและวัฒนธรรมไทย ทั้งสองคิดว่า ประเทศไทยและกัมพูชา ทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ มีพรมแดนติดกัน ลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมบางอย่างมีความคล้ายคลึงกันมาก อีกทั้งการศึกษาในโรงเรียนที่กัมพูชามีีการเรียนการสอนเกี่ยวกับประเทศไทย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง

“สื่อจากไทยสู่กัมพูชาก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ผมรู้จักสังคมไทยมากขึ้น ทั้งละคร ภาพยนตร์ เพลง อย่างละคร บุพเพสันนิวาส นาคี และละครจักรๆ วงศ์ๆ อย่าง เงาะป่า สังข์ทอง คือละครเรื่องโปรดของผม” สองกล่าว

ความเชื่อและกิจกรรมทางศาสนาพุทธของกัมพูชาและไทยยังมีความคล้ายคลึงกันอีกด้วย จึงทำให้สองรู้สึกไม่แตกต่างหากเมื่อต้องร่วมกิจกรรมทางศาสนาของคณะและมหาวิทยาลัย หรือแม้เมื่อไปเข้าวัดทำบุญเอง

“ผมเข้าร่วมประเพณีทางศาสนาหลายอย่าง เช่น วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา หรือทำบุญวันเกิด ผมและเพื่อนจากกัมพูชาจะไปทำบุญที่วัดผ่ากู่แก้ว ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม” สองกล่าว

ทั้งนี้ ความแตกต่างระหว่างสองประเทศที่สองพอจะสังเกตเห็นได้ชัดคือ “อาหารการกิน” สองกล่าวว่ารสชาติอาหารไม่เหมือนกัน อาหารไทยโดยเฉพาะที่มหาสารคาม ซึ่งอยู่ในภาคอีสาน อาหารจะมีรสจัด เปรี้ยว เค็ม เผ็ด และหวาน แตกต่างจากที่ประเทศกัมพูชาที่อาหารส่วนใหญ่จะรสชาติไม่จัดและค่อนข้างจืด

“ที่ไทย (มหาสารคาม) นิยมกินข้าวเหนียวกับอาหารคาว แต่กัมพูชานิยมกินข้าวเจ้า และนิยมนำข้าวเหนียวมาทำเป็นของหวานมากกว่า” สองกล่าว

สำหรับแอน เธอกล่าวว่า พิธีกรรมทางศาสนา ถึงแม้จะเป็นศาสนาพุทธเหมือนกัน บางพิธีกรรมทำไม่เหมือนกัน เช่น พิธีแต่งงาน เธอรู้มาว่าในประเทศไทยมีการรดน้ำสังฆ์ แต่ที่กัมพูชาไม่มีพิธีนี้

“กัมพูชาจะมีพิธีกรรมล้างเท้าคู่บ่าวสาว ซึ่งคล้ายกับการรดน้ำสังฆ์” แอนกล่าว

ชีวิตในมหาวิทยาลัย

สองพักอาศัยอยู่ในหอพักภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจัดให้พักฟรีตามเงื่อนไขของทุนการศึกษา โดยสองพักอยู่ในหอพักชายล้วน  

สองเล่าว่า วิถีชีวิตในแต่ละวันเขาเริ่มตั้งแต่ตื่นนอน หากวันใดมีเรียนในช่วงเช้า เขาจะรีบตื่นเช้าเพื่อเตรียมตัวเข้าเรียน หลังจากเรียนเสร็จและมีเวลาว่างเขาเลือกที่จะค้นหาความรู้เพิ่มเติม โดยมักจะเข้าไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัย

หอพักชายนาดูน ม.มหาสารคาม หอพักที่สองและนิสิตจากกัมพูชาที่ได้รับทุนพักอาศัยอยู่

“เวลาว่างในตอนเย็น ผมจะออกกำลังกายด้วยการตีแบกมินตันบริเวณหอพัก บางครั้งกก็เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือ ที่สำคัญ ผมชอบใช้เวลาอยู่กับเพื่อนกัมพูชาด้วยกัน คุยกันสนุกเพราะมาจากกัมพูชาด้วยกัน” สองกล่าว

ทั้งแอนและสองได้รับเงินจากโครงการทุนการศึกษาเดือนละ 5,000 บาท เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าทำงานส่งอาจารย์ และค่าเครื่องใช้ส่วนตัว ส่วนค่ารักษาพยาบาลนั้น นิสิตทุนสามารถใช้สิทธิเข้ารับการรักษาภายในสถานพยาบาลของมหาวิทยาลัย

สองเล่าว่า ทุนที่ได้รับนี้เป็นทุนที่มีคุณค่าสำหรับเขามาก เพราะทำให้เขาสามารถมาศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและใช้ชีวิตที่ประเทศไทยได้อย่างไม่ลำบาก ที่สำคัญคือ ทุนทำให้เขาไม่ต้องรบกวนเงินจากครอบครัวที่กัมพูชา เว้นเสียแต่ว่ามีความจำเป็นจริงๆ เขาถึงจะติดต่อขอเงินเพิ่มเติม

“ตอนไม่มีเงินใช้จริง ๆ ผมถึงขอเงินจากทางบ้าน” สองกล่าว

หลังจบการศึกษาจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิด

สำหรับสอง หลังจากเรียนจบปริญญาตรีที่ประเทศไทย เขาวางแผนหางานทำที่ไทยก่อน เพื่อหาประสบการณ์การทำงาน หลังจากนั้นค่อยกลับไปหางานทำที่จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาบ้านเกิด

“เมื่อมีประสบการณ์แล้วก็ค่อยกลับไปทำงานที่บ้าน ผมเลือกกลับบ้าน เพราะเคยคุยกับอธิการบดี ท่านบอกว่าถ้าได้ทุนมาแล้วยังไงก็ต้องกลับบ้านไปพัฒนาบ้านเกิด” สองกล่าว

แอนก็เช่นกัน เธอกล่าวว่า ถึงแม้ทุนจากไทยไม่ได้บังคับต้องกลับไปชดใช้ทุนที่กัมพูชา แต่เธอก็วางแผนจะกลับไปทำงานที่กัมพูชา เพื่อพัฒนาบ้านเกิดของเธอ

“แม้ทุนไม่ได้บังคับใช้ทุน แต่จบแล้วก็ว่าจะกลับบ้าน นำความรู้ที่ได้เรียนมาไปพัฒนาบ้านเกิด กลับไปอยากเป็นอาจารย์สอนด้านสุขภาพ” แอมกล่าว

กรรตษณะ ประทุมมาตย์ ผู้เข้าร่วมอบรมนักข่าวภาคอีสานกับเดอะอีสานเรคคอร์ด รุ่นที่ 3 ประจำปี 2561 

image_pdfimage_print