โดย กนกวรรณ มะโนรมย์

“นาค” คือ ความเชื่อเหนือธรรมชาติที่ฝังแฝงในวิถีวัฒนธรรมและปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของคนอีสาน

ปัจจุบันพบว่า คนอีสานใช้ความเชื่อเรื่อง “นาค” เป็นเครื่องมือเชิงจิตวิญาณและจินตนาการเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางสังคม สร้างการมีอิสระทางความคิดรวมถึงลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาชีวิตอันเกิดจากการถูกกดขี่จากโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมและการถูกกดทับทางอัตลักษณ์

ความเชื่อเรื่องนาคเป็นส่วนหนึ่งในความเชื่อสำคัญ 3 อย่างในสังคมอีสาน ได้แก่ ผี พุทธ และพราหมณ์ โดยความเชื่อเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า คนอีสานพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการทำมาหากินโดยใช้ผีหรือความเชื่อเหนือธรรมชาติเป็นกลไกสำคัญในการจัดระเบียบและสร้างกติกาการอยู่ร่วมกันทางสังคม และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความถ่อนตนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ภาคอีสานมีพื้นที่และจำนวนประชากรมากถึง 1 ใน 3 ของประเทศ แต่กลับมีผลผลิตและรายได้ต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ทั้งที่มีศักยภาพในเรื่องพื้นที่และจำนวนคนที่มากที่สุดในประเทศ

การศึกษาจำนวนมากพบว่า ความยากจนที่เรื้อรังในภาคอีสานเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม การเข้าถึงทรัพยากรด้านการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน ปัญหาการถูกกดทับ กดขี่ของชั้นผู้ปกครอง และการถูกดูถูกเชิงการเมืองและการแสดงออกของตัวตน

การพัฒนาในอีสานถูกกำหนดขึ้นจากรัฐหลากหลายรูปแบบเพื่อหวังลดความยากจนในภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การนำทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ที่ดินและป่าไม้มาเปลี่ยนเป็นทุนและสินค้า และการสนับสนุนการเปิดรับการพัฒนาจากต่างประเทศ โดยให้บริษัทต่างชาติเข้ามาขายสินค้าปลีก รวมทั้งการมีสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวนมากมาย เป็นต้น

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ส่งผลให้คนอีสานมีความเป็นอยู่ดีขึ้นโดยรวม แต่การพัฒนามาพร้อมกับความย้อนแย้งในตัวมันเอง กล่าวคือคนอีสานจำนวนมากยังเป็นกลุ่มคนที่ยากจนกว่าคนภาคอื่นๆ และนับวันช่องว่างความยากจนยังจะถ่างมากขึ้น  

คนอีสานพยายามลดความยากจนของตนเองลงด้วยวิธีการต่างๆ นานา เช่น ผลักดันตัวเองด้วยแรงปรารถนาจะมีชีวิตให้ดีขึ้นผ่านการทำงานนอกภาคเกษตรกรรมทั้งในและต่างประเทศ และมีการศึกษาสูงขึ้น เชื่อมโยงกับสังคมภายนอกและสังคมโลกผ่านการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมและการทำงานต่างถิ่น

นอกจากนี้ คนอีสานนำความเชื่อเหนือธรรมชาติมาเป็นกุศโลบายสำคัญเพื่อลดความยากจน

เห็นได้จากการนำความเชื่อเรื่องนาคและการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือ การผสมผสานระหว่างพื้นที่ศักดิ์ของนาคในพื้นที่วัดซึ่งเป็นพื้นที่ทางพุทธศาสนา เป็นต้น ดังเช่น วัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในอีสาน ได้แก่ วัดศิริสุทโธคำชะโนด ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งชาวบ้านอีสานเชื่อว่าเป็นที่สถิตของพญานาคาศรีสุทโธ และ นาคีศรีปทุมมา ที่อยู่ในพื้นที่ป่าคำชะโนด ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นสถานที่เคารพของชาวจังหวัดอุดรธานี จังหวัดต่างๆ ในอีสานรวมทั้งจากพื้นที่อื่นๆ มากมาย เป็นต้น

“นาค” เป็นความเชื่อของคนอีสานและความเชื่อร่วมของคนในภูมิภาคอีสานและแม่น้ำโขงโดยเชื่อมโยงกับความเชื่อและตำนานที่ว่า นาคคือผู้สร้างแม่น้ำโขงและทำหน้าที่ปกป้องศาสนาพุทธ ซึ่งปรากฏในตำนานและพงศาวดารต่างๆ ในอุษาคเนย์ ความเชื่อดังกล่าวเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ศักด์สิทธิ์เพื่อการท่องเที่ยวขององค์กรและชุมชนต่างๆ ในอีสาน

ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปในพื้นที่วัดศิริสุทโธคำชะโนด เมื่อปลายปี 2561 พบว่าผู้คนจากทั่วทุกสารทิศจากทุกๆ กลุ่ม เช่น ชาวบ้าน ชาวเมือง พ่อค้า ชาวนา ข้าราชการ นักการเมือง พระ คนทุกเพศและทุกวัย ต่างเดินทางไปที่นั่นเพื่อขอพรด้านโชคลาภหรือขอหวยจากปู่ศรีสุทโธและย่าศรีปทุมมา  และอธิฐานให้ตนประสบความสำเร็จและมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตจากการถูกหวย

ผู้เขียนเห็นแผงหวยจำนวนมากตั้งเรียงรายที่นั่น ซึ่งแน่นอนว่าแผงหวยเหล่านั้นได้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับคนท้องถิ่น และอาจสร้างความร่ำรวยในชั่วข้ามวันให้กับผู้โชคดีในแต่ละงวดที่หวยออก ดังเห็นได้จากสื่อสังคมออน์ไลน์ที่มักลงข่าวความศักดิ์สิทธิ์นาคีศรีสุทโธและนาคาศรีปทุมมาด้านการให้โชคลาภอยู่เป็นประจำ

นักท่องเที่ยวกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอโชคลาภให้ร่ำรวย สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องมือทางจิตวิญญาณเพื่อหวังหลุดพ้นจากความยากลำบากในสังคม ถ่าย : พงษ์เทพ บุญกล้า

เมื่อผู้เขียนเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมแล้ว พบว่า การที่คนอีสานจำนวนมากเดินทางไปพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นมากจากการที่พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ยิ่งการที่คนอีสานจำนวนมากเข้ามาในและเข้ามาใช้ “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” เพื่อขอพรให้มีสุขภาพกายใจดี มีความสุข มีความสำเร็จ ร่ำรวย ไม่เจ็บป่วย ให้โชคลาภ หรือ หายป่วยมากเท่าใด  ยิ่งสะท้อนว่าสังคมอีสานมีปัญหาอันเกิดจากโครงสร้างการพัฒนามากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมทางเศรษกิจ ปัญหาที่รุมเร้าทางสังคม ปัญหาจิตใจจากความยากจนและปัญหาการถูกกดทับกดขี่จากชนชั้นผู้ปกครอง

นันักท่องเที่ยวต่างกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิและขอพรให้มีสุขภาพกายใจดี มีความสุข มีความสำเร็จ ร่ำรวย ไม่เจ็บป่วย ให้โชคลาภภายในวัดศิริสุทโธคำชะโนด ถ่าย : พงษ์เทพ บุญกล้า

การที่คนยากจนหรือผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้เข้ามาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดๆ ก็ตาม พวกเขามักเกิดความสบายใจ มีความสุข และรู้สึกว่าตนมีความเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ หรือชนชั้นอื่นๆ ในสังคม เพราะพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เดียวที่ไม่ได้แบ่งแยกคนและกลุ่มออกจากกันด้วยฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ เป็นพื้นที่ที่คนมีอิสระทางความคิดมากที่สุด มีอิสระทางวัฒนธรรมสูงสุดและมีจินตนาการอันกว้างไกลได้มากที่สุดเท่าที่ตนต้องการ

ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาสามารถที่จะจินตนาการอยากให้ตนเป็นอะไรก็ได้ มีฐานะร่ำรวยเพียงใดก็ได้ อยากได้อะไร ก็อธิษฐานเอาได้ เป็นพื้นที่ที่ตนเองได้แสดงตัวตนและความปรารถนาของตัวเองมากที่สุด โดยปราศจากการถูกกดดัน กดทับ หรือ กดขี่ จากชนชั้นต่างๆ ในสังคม

มีการกราบไหว้ และตั้งเครื่องสักการะบูชาต้นไม้ขนาดใหญ่ ภายในวัดศิริสุทโธคำชะโนด ถ่าย : พงษ์เทพ บุญกล้า

ดังนั้น ความเชื่อเรื่องนาคและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นพื้นที่สำคัญทางจิตวิญญาณที่หลงเหลือภายใต้ยุคเผด็จกาที่การแสดงออกทางความคิดการเมืองอย่างมีอิสระกลายเป็นสิ่งต้องห้ามรและในยุคที่ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสูงที่สุดในโลก

หมายเหตุ

ผู้เขียนอ้างอิงความคิด การเมืองวัฒนธรรม (Cultural politics) ของ อันโตนิโอ แกรมชี่  ข้อเขียนจาก ศาสตราจารน์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ และศาสตราจารย์.ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์ เกี่ยวกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กับสังคมไทย

 

image_pdfimage_print