บทความรับเชิญ โดย เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์
“เฝ้ารอโกโดต์” เป็นบทละครที่แต่งโดยซามูเอล เบคเกทต์ แก่นเรื่องอยู่ที่ตัวละครเอกผู้เฝ้ารอการมาของตัวละครลึกลับในนาม โกโดต์ อย่างไม่รู้จบ
แต่แล้วโกโดต์ก็ไม่เคยมาถึง…
คนไทยจำนวนมากเฝ้ารอการเลือกตั้ง ซึ่งดูจะมาไม่ถึงเสียทีเช่นเดียวกับโกโดต์ รัฐบาลทหารได้กล่าวถึงวันเลือกตั้งหลายต่อหลายครั้ง เพียงเพื่อที่จะเลื่อนมันออกไป ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ในขณะที่สังคมรอมาตั้งแต่ทันทีหลังรัฐประหารในปี 2557 จนถึงทุกวันนี้ นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการที่ต่อต้านรัฐบาลทหารในภูมิภาคอีสานอันเป็นฐานที่มั่นของคนเสื้อแดง ต่างถูกคุกคามและปราบอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลทหาร ตามที่ผู้เขียนและเพื่อนร่วมงานได้อภิปรายไว้ที่นี่
หลายสิ่งอย่างเกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศเข้าใกล้การเลือกตั้งเลย มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยคณะกรรมาธิการที่มาจากรัฐบาลทหาร ซึ่งผ่านการรับร่างโดยกระบวนการประชามติในปี 2559 อันเป็นกระบวนการที่แปลก เพราะรายละเอียดของร่างเป็นที่รับรู้ในหมู่สาธารณชนน้อยมาก (ดูการวิเคราะห์ในบทความแสดงความคิดเห็นและบทความวิจัยของผู้เขียน)
ประชาชนทั่วไปรู้สึกไม่พอใจต่อการปกครองของคณะทหารมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กว่าจะมีการยกเลิกข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง “บางส่วน”ก็ปาเข้าไปกลางเดือนธันวาคม ปี 2561 ประชาชนเริ่มพูดเรี่องเลือกตั้ง ราวกับว่าเพื่อจะปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจ สมาชิกพรรคการเมืองเริ่มลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนในเขตของตน เวทีปราศรัยเริ่มปรากฎขึ้นในบางพื้นที่
ความสนใจประการหนึ่งของผู้เขียนคือการประเมินกระแสความรู้สึกของคนอีสานที่มีต่อการเลือกตั้ง โดยเฉพาะของคนเสื้อแดง ช่วงธันวาคม 2561 และมกราคม 2562 ผู้เขียนได้ตระเวนไปตามจังหวัดต่างๆในภาคอีสานตอนล่างเพื่อสังเกตสัญญาณของกิจกรรมทางการเมืองและทัศนคติของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ถูกปราบปรามอย่างหนักมาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย
ผู้เขียนได้สังเกตการณ์เวทีปราศรัยโดยแกนนำพรรคเพื่อไทย รวม 6 แห่ง ได้แก่ การปราศรัยของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ และอีก 5 แห่งที่จังหวัดร้อยเอ็ด และยโสธร โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ทั้งสองเป็นนักการเมืองที่คร่ำหวอดมานานและเป็นนักปราศรัยฝีปากคม มีผู้เข้าร่วมฟังประมาณ 20,000-25,000 คนเมื่อนับทุกเวทีรวมกัน

ที่อ. เลิงนกทา จ. ยโสธร ผู้ร่วมฟังจำนวนมากต้องยืนฟังคำปราศรัยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย ที่จัดขึ้นที่โรงสีข้าว ของว่าที่ผู้สมัครส.ส.ของพรรค โดยมีผู้มาฟังอย่างน้อย 8,000 คน ทั้งที่การปราศรัยเริ่มช้าไปกว่า 3 ชั่วโมง
สิ่งที่ผู้เขียบพบจากการสังเกตปฏิกริยาของผู้เข้าฟัง คือการที่พวกเขาแสดงความพร้อมที่จะได้สิทธิเสียงของพวกเขาคืนมาผ่านการเลือกตั้ง จริงอยู่ที่โดยทั่วๆไปที่ผ่านมาในอดีต ในการปราศรัยในลักษณะนี้ ผู้เข้าฟังจำนวนมาก ได้รับ “เชิญ” ให้เข้ามาร่วม โดยมีรถรับส่งจากหมู่บ้านหรือชุมชน เพื่อแสดงพลังสนับสนุนว่าที่ผู้สมัครในการเลือกตั้ง ภาพที่ออกมาจึงเป็นสิ่งที่คุ้นตานักวิชาการที่ศึกษาการเมืองไทยดี ที่อ. วังหิน มีผู้ฟังประมาณ 2,000 คน และแต่ละจุกที่ อ. เลิงนกทา อ. เมืองยโสธร และอ. โพนทอง มีประมาณ 8,000 คน
แต่ความสนใจของผู้เขียน ไม่ได้อยู่ที่จำนวนผู้เข้าฟัง ผู้เขียนพยายามมองหาปฏิกริยาตอบรับ ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำหรือภาษากาย อากัปกริยา หรือแม้แต่เสื้อผ้าเครี่องแต่งกาย เนื่องจากการแสดงออกเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นความรู้สึกและอารมณ์ ซึ่งที่สุดแล้วสะท้อนให้ลักษณะการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ผู้ปราศรัยไม่ได้มีเพียงแค่แกนนำพรรคทั้งสองคน ว่าที่ผู้สมัครในพื้นที่ต่างได้รับโอกาสในการปราศรัยเช่นกัน โดยผู้ปราศรัยดึงความสนใจของผู้ฟังไปที่ความยากลำบากจากสภาวะเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ วิจารณ์นโยบายรัฐบาลทหาร อ้างว่านโยบายเหล่านี้ไม่มีผลอย่างยั่งยืน โดยกล่าวถึงนโยบายสมัยรัฐบาลทักษิณขึ้นมาเปรียบเทียบ
ผู้ปราศรัยบางคน เช่น คุณนิสิต สินธุไพร ใช้ตลกร้ายเป็นกลวิธีด้วยการล้อเลียนความทุกข์ของตัวเองในฐานะที่เป็นนักโทษการเมือง ต้องติดคุกนับปี เห็นได้ชัดว่าผู้ปราศรัยเหล่านี้ใช้วาทกรรมที่มีมาก่อน เป็นที่รับรู้ร่วมกันระหว่างคนในขั้วการเมืองเดียวกัน ซึ่งก็คือ คนเสื้อแดง นั่นเอง ส่วนการตอบรับจากผู้ฟังมักอยู่รูปของการตอบคำถามคนบนเวที เปล่งเสียงกล่าวคำขวัญ หัวเราะและยิ้ม เต้นไปตามจังหวะของเพลงลูกทุ่งประจำพรรค รวมไปถึงการปรบมือ
อย่างไรก็ตาม คนที่นั่งฟังอยู่บางคน ยกระดับการโต้ตอบกับคนบนเวทีด้วยการพูดตอบแทบทุกคำกล่าวของผู้ปราศรัย ราวกับว่ากำลังสนทนาอยู่กับผู้ปราศรัย ชายสูงอายุคนหนึ่งนั่งข้างเวทีที่อ. วังหิน พยักหน้าแทบตลอดเวลาระหว่างการปราศรัย มีช่วงหนึ่งได้กล่าวโพล่งขึ้นมาเป็นภาษาลาวอีสานว่า “บ่ต้องเว่าหลาย ผมเลือกเพื่อไทยมาตลอด เทื่อนี้กะสิเลือกเพื่อไทยอีก”
อีกตัวอย่างหนึ่ง มาจากการปราศรัยของคุณหญิงสุดารัตน์ เธอกล่าวว่า ประชาชนได้ฟังเพลงมาแล้ว “เจ็ดเพลง” เมื่อเธอถามผู้ฟังว่า อยากรอฟังเพลงที่ 20 หรือไม่ ประชาชนข้างล่างเริ่มส่งเสียงโห่ฮาบอกว่าไม่อยากฟังเพลง
คุณหญิงสุดารัตน์ไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนเลยว่าเพลงที่เธอกำลังพูดถึงคือเพลงอะไร แต่ประชาชนรับรู้สารที่ซ่อนอยู่ เพราะมีความเข้าใจตรงกันว่าเพลงเหล่านี้หมายถึงเพลงอะไร บริบทของการตีความคืออะไร และความหมายโดยนัยยะของเสียงโห่ฮาของพวกเขาต่อความคิดว่าต้องฟังอีกหลายเพลงคืออะไร
ปฏิกริยาของผู้ฟังชี้ให้เห็นว่าประชาชนไม่เพียงแต่ทราบเนื้อหาของสิ่งที่ถูกหยิบมาพูด แต่ยังทราบที่มาของเนื้อหาสาระดังกล่าว พวกเขารู้เรื่องการเมืองไทยมากพอที่จะแสดงออกอย่างนั้น ซึ่งอาจไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาลทหารนัก
คนที่มีความกังขาอาจตั้งคำถามว่าผู้ฟังเพียงอยากต้องการเอาใจผู้ปราศรัยหรือไม่ แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่ถูกจับตาและปราบปรามเป็นพิเศษ การที่คนมาฟังการปราศรัยเหล่านี้ โดยตัวของมันเองแล้วก็คือความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ยิ่งการแสดงออกต่อคำปราศรัยแบบมีความรู้สึกร่วมอย่างมากแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ผู้หญิงคนหนึ่งสวมเสื้อแดงที่มีสัญลักษณ์เกี่ยวโยงกับขบวนการเสื้อแดงมาฟังการปราศรัยที่อ. เมืองยโสธร ที่มีผู้เข้าฟังประมาณ 3,000 คน การปราศรัยครั้งนี้จัดที่สนามฟุตบอลที่เป็นสถานที่ของเอกชน เช่นเดียวกับสถานที่ปราศรัยแห่งอื่นๆ
หากปฏิกริยาทางวาจาไม่เพียงพอต่อการกล่าวสรุปว่าผู้ฟังมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร เราสามารถพิจารณาสิ่งที่ผู้เข้าฟังสวมใส่มา คนจำนวนมากสวมเสื้อแดงที่มีสัญลักษณ์โยงกับขบวนการเสื้อแดง ได้แก่ เสื้อยืด และหมวก ซึ่งบางชิ้นดูเก่าๆจากใช้งาน เมื่อพิจารณาภาพและข้อความบนเสื้อผ้า พบว่าเสื้อผ้าเหล่านี้มาจากช่วงปี 2552-2553 โลโก้ที่พบบ่อยที่สุดคือของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เสื้อผ้าเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้สวมใส่คือคนเสื้อแดงที่เป็นสมาชิกกลุ่มมานาน ที่หยุดนิ่งในช่วงที่รัฐบาลทหารปราบปรามอย่างหนัก พวกเขาใช้โอกาสนี้ในการแสดงอัตลักษณ์ทางการเมืองของตนออกมา ถึงแม้จะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกระบุตัวและจับตาจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ปะปนอยู่กับมวลชน
สิ่งที่ผู้เขียนได้เห็นเป็นประจักษ์พยานในช่วงสัปดาห์หลังๆที่ผ่านมา คือการที่คนเสื้อแดงได้กลับมาแล้ว และรอการเลือกตั้งด้วยใจจดจ่อ
เมื่อวานนี้ รัฐบาลทหารก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม ดังนั้นเราลองมาจับตาดูกันว่าในที่สุดโกโดต์จะเดินทางมาถึงหรือไม่