โดย ถนอม ชาภักดี
หมอกควันพิษในพื้นที่ปิดกับการลิดรอนสิทธิพลเมือง
แทบจะเรียกว่าผู้คนในประเทศนี้ต่างเผชิญหมอกควันพิษในหลายๆ มิติที่แตกต่างกัน ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีมานี้ ควันพิษทางการเมืองได้คลี่คลุมให้ผู้คนหวาดผวาตื่นกลัวกับหมอกทางอำนาจจากรัฐเผด็จการในรูปแบบต่างๆ สิทธิ เสรีภาพ ถูกลิดรอนจนเหลือแต่ความเปล่าเปลือย ไร้ชีวิตชีวาราวกับยืนตากแดดกลางทุ่งกุลาก็มิปาน ยิ่งแล้ววิกฤตควันพิษในช่วงนี้ที่แผ่ขยายกินบริเวณกว้างทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาวะวิกฤตของความอ่อนแอเชิงพลังทางสิทธิ การแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิสุขภาพขั้นพื้นฐานของผู้คนในเมืองใหญ่อย่างชัดเจน ไม่มีใครลุกขึ้นมาทักท้วงอย่างจริงจัง ความหวังที่ฝากไว้กับรัฐทหารที่จะแก้ปัญหานั้น ยิ่งไม่มีความหวังใดๆ นอกจากปล่อยให้พลเมืองเผชิญชะตากรรมตายผ่อนส่งทุกวินาที
สถานการณ์หมอกควันพิษในกรุงเทพมหานครเป็นภาพสะท้อนให้เห็นสภาวะของความอ่อนแอทางการเมืองที่ประชาชนไม่สามารถลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ เสรีภาพของตนเองและกลายเป็นต่างคนต่างดิ้นรน ปิดปาก ปิดจมูก เดินดุ่มท่ามกลางมลพิษทางอากาศราวกับคนเมืองผีดิบ การสวมหน้ากากป้องกัน ฝุ่นควันพิษที่ปิดปาก ปิดจมูก ราวกับการพรางใบหน้าตัวเองเพื่อต่อสู้กับฝุ่นควันที่มองไม่เห็น กลายเป็นสัญญะแห่งการประท้วงสวมหน้ากากในเทศกาลฝุ่นควันพิษแห่งฤดูกาล ราวกับเป็นการสื่อสะท้อนถึงสภาวะการไร้สิทธิ ไร้เสียง ไม่ต่างจากหุ่นยนตร์ที่ถูกไขลาน
สภาวะฝุ่นควันพิษที่กล่าวมาข้างต้นไม่สามารถแยกออกจากมิติทางสังคม วัฒนธรรม การเมืองได้อย่างแน่นอน และไม่ต่างกับมิติการสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรมที่ผูกพ่วงอยู่กับวิถีชีวิตจิตวิญญาณและลมหายใจของผู้คนทุกๆ ระดับ ตราบใดที่ประชาชนพลเมืองในสังคมถูกกดทับด้วยหมอกควันพิษกลิ่นอายของเผด็จการ ก็อย่าได้หวังว่าจักได้เห็นพลังการสร้างสรรค์ที่เสมือนกลไกของคำสั่งหรือกฎระเบียบของผู้มีอำนาจ เพราะกระบวนการสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรม นั้นเป็นกระบวนการที่ยืนอยู่บน / ใน พื้นที่ของเสรีภาพ การแสดงออกอย่างเปิดเผย นั่นคือวิถีของประชาธิปไตย ที่ประชาชนพลเมืองสามารถสร้างสรรค์แบบอย่าง วิถีชีวิต ลิขิต ออกแบบสิทธิประโยชน์ของตนเองได้อย่างมีอิสระ
จึงไม่แปลกที่พื้นที่การสร้างสรรค์ใดๆ จึงพยายามสร้างความเป็นเอกเทศให้กับตัวเองเสมอ เพื่อหลีกหนีการควบคุม กฎระเบียบหรือคำสั่งที่จะมายับยั้งโลกแห่งความคิดและอุดมคติแห่งการสร้างสรรค์ของตัวเองไว้ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ทางศิลปะแขนงต่างๆ จึงเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับเป็นแหล่งพลังการต่อรองทางวัฒนธรรม ความคิด รูปแบบ การนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ที่ตรงกันข้ามกับพื้นที่ปิด ที่รอรับคำสั่ง เต็มไปด้วยกฎระเบียบ จารีต และไม่เปิดเผย
พื้นที่สร้างสรรค์สำคัญหมายในวิถีประชาธิปไตย
การเกิดขึ้นของ TCDC หรือ Thailand Creative and Design Center (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ) เมื่อช่วงกลางทศวรรษ 2540 นั้น ก่อตั้งขึ้นเพื่อการต่อรองทางศิลปะการออกแบบระหว่างความเป็นท้องถิ่น (ประเทศไทย) กับวิถีโลกาภิวัตน์หรือกระแสทุนเสรีนิยมใหม่ที่ต้องการบริโภคความเป็นท้องถิ่น ซึ่งความเป็นท้องถิ่นในที่นี้ไม่ได้หมายถึงหมู่บ้านหรือชานเมืองในชนบท แต่หมายถึงอัตลักษณ์ทางศิลปะ วัฒนธรรม หัตถกรรม การออกแบบต่างๆ ที่มีอยู่หรือเคยมีอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อนำมาเสนอฟื้นฟู ส่งเสริม ต่อยอด ให้สอดคล้องกับกลไกทางธุรกิจการตลาดในยุคโลกาภิวัตน์ สิ่งสำคัญของพันธกิจศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้นำเอาไว้ก็คือปฏิบัติการส่งเสริม สนับสนุน ฟื้นฟูสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วให้เกิดความอิสระ คล่องตัวในการดำเนินการและเป็นแหล่งข้อมูล การเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เสมือนเป็นสนามปฏิบัติให้กับนักสร้างสรรค์ปฏิบัติการรุ่นใหม่ได้ประลองความคิด การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้ก้าวไกลทันต่อรสนิยมของผู้บริโภคในโลกกว้างอย่างท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลง แน่นอนโลกของศิลปะการสร้างสรรค์จึงไม่ใช่โลกของแนวคิดเชิงอนุรักษ์อันคร่ำครึแต่เป็นโลกที่ต้องการความท้าทายและเปลี่ยนแปลง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่แนวคิดเผด็จการจะเข้ามามีบทบาทต่อพื้นที่ของนักปฏิบัติการสร้างสรรค์แห่งนี้ เหตุที่เผด็จการนั้นกลัวเพราะเป็นการท้าทายต่อการพังทลายอำนาจของตน
ประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์กับการปิดปั้นของเผด็จการ
สถาบัน Bauhaus (1919-1933) อันเรืองชื่อโด่งดังในเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ ครบรอบ 100 ปีในปีนี้ เชื่อว่านักปฏิบัติการทางศิลปะทุกแขนงคงรู้จักบทบาทของสถาบันแห่งนี้เป็นอย่างดี ที่มีมอตโต (motto) ที่ว่า Form follows Function หรือ อรรถประโยชน์มาก่อนรูปแบบ ถือว่าเป็นการพังทลายแนวคิดศิลปะของกระฎุมพีที่ชอบความหรูหราฟู่ฟ่าแต่หาประโยชน์ใช้สอยได้น้อย สิ่งที่ Bauhaus ได้นำเสนอและสร้างสรรค์ต่อสังคมนั้นเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อวงการศิลปะการออกแบบ สถาปัตยกรรมอันเป็นการปฏิวัติวงการต่อการดำรงชีวิตของวิถีคนเมืองที่มีพื้นที่จำกัด จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบข้าวของเครื่องใช้ อาคารบ้านช่องให้สอดคล้องกับความเป็นเมือง แน่นอนว่าเมื่อแนวคิดของ Bauhaus ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น ผู้คนสามารถเข้าถึง สัมผัส ใช้สอยงานสร้างสรรค์เหล่านี้ได้โดยไม่ยาก แต่มันขัดใจต่อผู้ปกครองในยุคนั้น ที่ต้องการจำกัดพื้นที่การแสดงออกของผู้คน รวมถึงนักสร้างสรรค์เหล่านั้น Adolf Hitler ผู้นำพรรคนาซี ประเทศเยอรมนี จึงสั่งให้ยุติบทบาทของสถาบัน Bauhaus ในปี 1933 พร้อมๆ กับฟื้นฟูศิลปะเชิงโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ขึ้นมา ในช่วงปี 1930 – 1945 นั้นถือว่าเป็นยุคทองของเผด็จการยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นมามีอำนาจของสตาลินแห่งสหภาพโซเวียต รัสเซีย มุโสลินีแห่งอิตาลี นายพลฟรังโกแห่งสเปน พวกบรรดาเผด็จการเหล่านั้นได้สร้างค่านิยมคลั่งชาติพร้อมๆ กับนำเอาศิลปะแนวโฆษณาชวนเชื่อ วีรบุรุษ วีรสตรี ทหาร ผู้นำ ขึ้นมาเพื่อปลุกใจประชาชนให้เกิดความคลั่ง บ้า ลุ่มหลง จนลืมความเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก และศิลปะที่ไม่ใช่การปลุกใจรักชาติ ก็กลายเป็นศิลปะแบบเสื่อมทราม (degenerate art) ซึ่ง Hitler ใช้ประณามหยามหยันเอาไว้
อันที่จริงแนวคิดการสร้างสรรค์ศิลปะเชิงการออกแบบเพื่อต่อต้านการครอบงำนั้นมีมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม กลุ่มศิลปินในอังกฤษได้รวมตัวกันตั้งสมาคมศิลปหัตถกรรมขึ้น เพื่อส่งเสริม สนับสนุน งานหัตถกรรมของชาวบ้าน ดังจะเห็นได้จากผลงานของกลุ่มศิลปิน Pre-Raphaelite Brotherhood ซึ่งถือว่าเป็นจุดกำเนิดแนวคิดของ Bauhaus ก็ว่าได้ หลังจากนั้นก็มีกลุ่มศิลปิน Art Nouveau, Vienna Secession อันเป็นผลพลังให้เกิดแนวคิด รูปแบบ งานสร้างสรรค์ออกแบบใหม่ๆ ท้าทายต่อความรุ่มร่ามของศิลปะบริโภคกระฎุมพีในช่วงเวลานั้นๆ
เป็นที่น่าแปลกใจไม่น้อยที่บรรดานักสร้างสรรค์ออกแบบในบ้านเฮาไม่ได้แยแสกับวาระครบร้อยปีของ Bauhaus ทั้งๆ ที่มันเป็นแม่แบบทางการออกแบบที่ classic ที่สุดที่รับใช้แนวคิดและปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็ยังดีที่วาระ 100 ปี ของ Bauhaus มีการเปิด TCDC Khon Kaen ของบ้านเฮา
TCDC Khon Kaen ขอนไม่มีแก่น มีแคนแต่บ่มีคนเป่า
ได้มีโอกาสไปขอนแก่นบ่อยๆ และเห็นความเปลี่ยนแปลงของความเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว นิยามของขอนแก่นในยุค Smart City ยังหาจุดลงตัวไม่ได้ว่าจะไปในทิศทางไหนในสภาวะที่บ้านเมืองยังฝุ่นตลบเช่นนี้ อยู่ดีๆ ก็มี TCDC Khon Kaen โผล่มาแถวถนนกัลปพฤกษ์ ย่านกังสดาล ในอาณาเขตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น แม้จะมีข่าวคราวมาตลอดว่า ศูนย์สร้างสรรค์ออกแบบแห่งนี้ จะเป็นศูนย์การออกแบบที่สมิงที่สุดในเขตอาณาจักรล้านช้างเดิม จนทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้มในใจว่าจะได้เห็นพื้นที่ปฏิบัติการสร้างสรรค์ก็ครานี้แหละ อีกอย่างเมื่อปี 2548 ทาง TCDC กรุงเทพฯ สมัยที่ตั้งอยู่ห้างสรรพสินค้าดิเอ็มโพเรียม สุขุมวิท ได้จัดนิทรรศการ “กันดารคือสินทรัพย์ : อีสาน” ในครั้งนั้นถือว่าเป็นนิทรรศการเอกชุดหนึ่งที่มีวิธีการจัดการเนื้อหา สาระ รูปแบบ ที่งดงาม ดึงคนกรุงเทพให้ได้รับรู้สัมผัสถึง ความเป็นอีสาน แม้จะเป็นกระผีกหนึ่งก็ตามอย่างน้อยในสถานะของความเป็นศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ก็สามารถพูดได้เต็มปากว่า มีกระบวนการจัดการที่ดีไม่น้อย
คล้อยมาต้นปี 2562 ที่ผ่านมา กังสดาล เมืองขอนแก่น ได้ไปเยี่ยมเยือน TCDC Khankaen ตามคำโฆษณาชวนเชื่อในนิทรรศการ “Look Isan Now” (ลูกอีสานวันนี้) เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา (นิทรรศการตามคำโฆษณา เปิดถึง 26 พฤษภาคม 2562) เมื่อได้ประจักษ์กับสายตาซื่อๆ ของนิทรรศการแล้ว ไม่สามารถอธิบายความรู้สึกที่ประดังเข้าในช่วงขณะที่ยืนอยู่เบื้องหน้าตึกทรงสี่เหลี่ยมทื่อๆ นั้นได้ นอกจากจะเห็น ป้าย “ห้ามผ่าน” แปะอยู่ที่เชือกกั้นห้ามเข้าตึกแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า ชวนเพื่อนๆ ไปกินก้อย ซอยจุ๊ที่มิตรภาพลาบก้อย แถวตึก GF ที่ที่เคยจัด Khon Kaen Manifesto ย้อนให้นึกถึงวันเปิด Manifesto เมื่อ 6 ตุลาคม 2561 อย่างอึกทึกรื่นเริง
ถ้า TCDC Khon Kaen ไม่สามารถกุมหัวใจลาวอีสานได้ ก็ยากที่จะออกแบบแผ่นดินที่ราบสูงให้เป็นเพชรเม็ดงามแห่งล้านช้างที่มีขุมทรัพย์ทางปัญญาและการสร้างสรรค์อยู่ทุกอณูของเม็ดดินนี้ได้ เพราะแผ่นดินถิ่นนี้มีพลวัตที่ก้าวไกลไปกว่านิยามเดิมที่ศูนย์กลางเคยมีทัศนะว่าไว้ อย่างน้อยเสียงพิณ เสียงแคน หมอลำ ก็ข้ามฟากไปเกินกว่าจะเพรียกกลับมาสู่ดินเดิม ฤา TCDC Khon Kaen จะเป็นเพียงตึกร้างกลางย่านกังสดาล กระนั้นหรือจะเป็น ขอนที่ไม่มีแก่น มีแคนแต่บ่มีคนเป่า
หมายเหตุ
ยืนยันที่จะไม่เขียนถึงรายละเอียดของงาน Look Isan Now เพราะไม่สามารถเข้าไปดูงานนิทรรศการได้ ด้วยเหตุที่ “ห้ามผ่าน” และไม่สามารถเขียนบรรยากาศของงานแสดงในพื้นที่กลางแจ้งได้เช่นกันเพราะถือว่าเป็นเพียงงานออกร้านขายของ…ขอไม่กล่าวถึง…