โดย ซาบีน่า ชาห์

บทความนี้เป็นบทความแรกที่ดิฉันเริ่มเขียน ซึ่งไปตรงกับช่วงของการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ละพรรคก็ได้ส่งตัวแทนของพรรคลงแข่งขันกันในการสู้ศึกในครั้งนี้ ตั้งแต่มีการปฏิวัติยึดอำนาจโดย คสช. เมื่อปี 2557

ก่อนหน้านี้ได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากคะแนนเสียงของประชาชน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “รัฐบาลประชาธิปไตย” และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย เธอชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆ ของอดีตนายกรัฐมนตรีชื่อ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งปี 2544-2547 นายกทักษิณได้รับเลือกจากประชาชนมาด้วยจำนวน ส.ส. 248 ที่นั่ง สมัยที่ 2 ปี 2548 – 2549 ได้รับเลือกจากประชาชนมาด้วยจำนวน ส.ส. 376 ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส.ในสภาทั้งหมด 500 ที่นั่ง

ไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาลอยู่ได้รวมทั้งหมด 6 ปี ทหารก็ทำการปฏิวัติ หัวหน้าปฏิวัติในครั้งนั้นคือ สนธิ บุญยรัตกลิน ตั้งแต่ปี 2476 มาถึงปี 2562 ประเทศมีการปฏิวัติทั้งหมด 13 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลัง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง) นี้คือที่มาคร่าว ๆ ของประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย

ระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นช่วงวันที่มีการประกาศเชิญชวนประชาชนรับสมัครเป็น ส.ส. เพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ทำให้แต่ละพรรคการเมืองส่งตัวแทนของพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. พร้อมกับเสนอรายชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรค (แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี) จนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัครก็เกิดเหตุการณ์ที่ทุกคนจับตามองไปที่ “พรรคไทยรักษาชาติ” ซึ่งได้ส่งแคนดิเดตคนเดียวคือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐก็ได้ส่งรายชื่อพลเอกประยุทธ์ จันโอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเช่นกัน กรณีนี้พรรคไทยรักษาชาติส่งรายชื่อทูลกระหม่อมฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หลายคนได้วิเคราะห์ว่า นี่เป็นกลยุทธ์ในการสู้ศึกเลือกตั้งของ พรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 สร้างกติกามาให้พรรค คสช. สืบทอดอำนาจแบบสุดโต่ง แบบที่ใครๆ ก็ดูออก

วิธีการที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ออกแบบกติกาเพื่อพรรคของ คสช. มีอย่างไร

1 เสนอชื่อนายกคนนอกได้ โดยไม่ต้องเป็น ส.ส. (ก็เพื่อจะเสนอชื่อประยุทธ์เป็นนายกต่อไป โดยไม่ต้องมาลงสมัคร ส.ส และไม่ต้องลาออกจากนายกปัจจุบัน)

2. บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่เอาคะแนนทิ้งมานับเพื่อให้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ (ก็เพื่อลด ส.ส. จากพรรคใหญ่เพิ่ม ส.ส.ให้พรรคเล็กพรรคน้อย จะได้ดูดไปเลือกนายกของตัวเองตอนเข้าสภา เพื่อสืบทอดอำนาจได้ง่าย)

3. ให้ สว. เลือกนายกฯ ได้ (อันนี้สกปรกสุดๆ เพื่อให้พรรค คสช. มีคะแนนตุนไว้แล้ว 250 เสียง)

4. มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องทำตาม (ในกรณีที่ทำทุกทางแล้ว คสช. ก็ยังแพ้ คสช. ก็ยังจะมีอำนาจควบคุมรัฐบาลใหม่ ถ้าไม่ทำตามก็อาจถูกถอดถอนหรือฟ้องร้องคดีและติดคุก แล้วทหารก็จะได้กลับมาเป็นนายกอีกครั้ง แบบไม่ต้องเสียเวลาทำรัฐประหาร)

อย่างที่ว่าไป ใครๆ ก็มองออกว่า คสช. ตั้งกฏกติกามาเพื่อให้ทีมงาน คสช. ได้สืบทอดอำนาจทางการเมืองแน่นอน นี่ยังไม่รวมการใช้งบประมาณมาแจกกันอย่างโจ่งแจ้ง นอกจานี้ยังมีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ กำหนดหมายเลขผู้สมัครพรรคเดียว หลายเบอร์ หรือพิมพ์บัตรเลือกตั้งให้คนสับสนอีก

ถ้าเป็นคนอื่นเห็นกติกาโคตรโกงแบบนี้คงยอมแพ้ เลิกสู้และหันหลังไปใช้ชีวิตสบายๆ ตามประสาคนมีเงินกันแล้ว แต่สำหรับ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในเมื่อผลักให้เขาต้องสู้ ต่อให้เขียนกติกาอะไรมา ก็ต้องสู้มันทั้งแบบนี้ ต้องหาวิธีเอาชนะให้ได้ แถมต้องคิดวิธีการต่อสู้เพื่อย้อนเกล็ดคืนแก๊งค์ คสช. ด้วยกติกาของตัวเองซะเลย มาดูวิธีการที่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ย้อนเกล็ดคืนแก๊งค์ คสช. มีอย่างไรบ้าง

1.ใช้การนับคะแนนเพื่อทำลายพรรคใหญ่ส่งเสริมพรรคเล็กพรรคน้อยใช่หรือไม่ (เราก็แบ่งพรรคเพื่อไทยออกเป็นหลาย ๆ พรรค ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ อย่างข้อมูลจาก ส.ส. เขต 350 เขตทั่วประเทศ ส่งในนามพรรคเพื่อไทย 350 คน และไทยรักษาชาติ 270 คน ซึ่งการจะจบที่ตัวเลขนี้ก็คงไม่ได้มามั่วๆ ตัวเลขทั้งหมดก็คงคำนวนมาแล้วว่านี่น่าจะเป็นตัวเลขที่ทำให้ทางฝั่งเขาได้ทั้ง ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อจากทุกคะแนนเสียงเยอะที่สุด (เรื่องแบบนี้ถ้ามีข้อมูลทางสถิติมันคำนวนได้อยู่แล้ว) แล้วสุดท้ายพรรคที่จะซวยก็คือพรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์เองที่ต่างเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวและไม่มีสาขาย่อย

2. ต่อมาเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ที่คนสมัครไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ในพรรคก็ได้ใช่หรือไม่ เพราะพรรคที่สนับสนุนคุณประยุทธ์เป็นนายก ฯ จะได้ส่งคุณประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยไม่ต้องลงสมัคร ส.ส. ในเมื่อนายกฯ จะเป็นใครก็ได้โดยไม่ต้องเป็น ส.ส. ทางพรรคเพื่อไทยก็เลยจัดส่งคุณชัชชาติ คือ ชายผู้แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาล ผู้ที่คนต่างยอมรับในความสามารถ ส่วนพรรคไทยรักษาชาติเชิญทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ หญิงผู้มาพร้อมกับบารมีที่เหนือกว่ามาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งหากดูแล้วทั้งสองไม่ได้ลงสมัครเป็น ส.ส. ของพรรค

หากวิเคราะห์ทั้งสองพรรคที่กล่าวมาเดินคู่ขนานในสนามการเลือกตั้งนี้ด้วยกัน แฟนเพื่อไทยที่มีฐานเสียงของ ส.ส. เดิมก็คงเลือกเพื่อไทยอยู่แล้ว ส่วนพรรคไทยรักษาชาติก็จะได้คะแนนจากคนที่ตอนแรกยังลังเลว่าจะเลือกใครดี หรือคนที่รักสนุกชอบความแปลกใหม่ (ซึ่งไม่รู้หรอกว่ามันดีรึเปล่า แต่มันก็สนุกดีจริงๆ และนี่อาจจะเป็นกลยุทธ์ ที่คิดว่าทั้งสองพรรคจะได้ ส.ส. รวมเกิน 350 เสียงและตั้งรัฐบาลพรรคเดียวโดยไม่สนไม่แคร์เสียงจาก สว. ที่ คสช. แต่งตั้วมาเลยก็ได้ (ถ้าคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยและไทยรักษาชาติไม่ถึงก็ยังมีพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย คงคุยกันไว้แล้ว)

แต่ถ้าผลการเลือกตั้งออกมา ดิฉันก็ไม่คิดว่าทูลกระหม่อนหญิงอุบลรัตน์ฯ จะได้เป็นนายกฯ อยู่ดี เพราะดูจากจำนวน ส.ส. ที่ส่งทั่วประเทศแล้ว อย่างไรจำนวน ส.ส. จากพรรคเพื่อไทยก็น่าจะได้มากกว่าพรรคไทยรักษาชาติ เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยก็จะได้สิทธิเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีของพรรคตัวเองก่อน ถึงจังหวะนั้น ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ก็จะลงจากการเมืองแบบสง่างาม ไม่ต้องมาเกลือกกลั้วเพราะอ้างได้ว่า พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงมากกว่าก็ย่อมมีสิทธ์ิเสนอชื่อนายกฯ ก่อน วินๆ กันทุกฝ่าย

3. แต่ถ้าผลการเลือกตั้งเกิดก้ำกึ่ง ครึ่งๆ กลางๆ ถ้าทั้งสองพรรคได้ ส.ส. รวมไม่ถึง 350 คน ก็อาจจะวัดดวงด้วยการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ให้สภาเลือกก็ได้ ก็เพื่อวัดใจ สว. ลากตั้งว่าจะเลือกใคร ระหว่างคุณประยุทธ์กับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ซึ่งก็คงคิดว่าถ้าถึงจุดนั้นคงล็อบบี้ สว. ได้ไม่ยาก และนี่คงไม่น่าจะมาจากความคิดคนๆ เดียว แผนเหนือนเมฆขนาดนี้คงต้องมีกุนซือช่วยกันวางหลายขั้นตอน

เมื่อ คสช. ก็อุตสาห์เขียนกติกามาซะขนาดนี้ พรรคที่มาจากประชาธิปไตยจะทำอย่างไร สุดท้ายการเมืองมันก็เป็นเรื่องของกลยุทธ์อยู่ดี การทำเพื่อประชาชนก็ส่วนหนึ่ง การทำเพื่อชัยชนะและอำนาจก็ส่วนหนึ่ง มันก็เป็นของคู่กันแบบนี้มาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว ขึ้นอยู่กับว่ายุคไหนสมัยไหน ผู้นำจะรักษาสมดุลย์สัดส่วนการทำเพื่อประชาชนหรือเพื่อตัวเองไว้ได้ดีกว่ากัน ใครที่หวังว่าคนที่มาเล่นการเมืองจะทาเพื่อประชาชนเพียงอย่างเดียว เสียสละอย่างเดียว นี่คงจะหวังสูงไป มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันต้องมีกลยุทธ์เพื่อรักษาอำนาจไว้ด้วยอีกต่างหาก ในเมื่อเราวางตัวกันเป็นแค่ผู้ชม เราก็มารอชมและคอยนั่งวิเคราะห์กันต่อไปว่า ซีรีส์ Game of Thai จะดำเนินไปยังไงต่อ เพราะกว่าจะจบซีซั่นนี้ก็คงต้องลุ้นผลกันในวันเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งจบเกมชิงอำนาจก็น่าจะยังไม่จบ และก็แค่เป็นจุดเริ่มต้นของซีซั่น 2 เท่านั้นเอง

image_pdfimage_print