แม้ว่า “ลา เวีย กัมเปซินา” (La Via Campesina หรือ ขบวนการชาวนาสากล) จะสามารถเพิ่มพื้นที่การต่อรองทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองให้กับผู้หญิงชาวนาอีสานผู้ที่ถูกกดทับด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจแบบตลาดที่ไม่เป็นธรรม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเธอจะสามารถปลดแอกตัวเองออกจากสังคมแบบชายเป็นใหญ่ไปได้
ผู้เขียนเห็นว่า ลา เวีย กัมเปซินา คือพื้นที่ที่ยังคงตอกย้ำผู้หญิงอีสานภายใต้การกดทับของโครงสร้างสังคมแบบปิตาลัยและสังคมแบบตลาด การลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองในการจัดการทรัพยากรและรักษาอธิปไตยทางอาหารก็เพื่อแสดงถึงการรักษาบทบาทของผู้หญิงในฐานะแม่ เมีย และลูกสาวของคนอีสานอยู่ดี ดังเห็นได้จากข้อความรณรงค์ที่ว่า “ไม่มีสตรีนิยม ไม่มีความมั่นคงอาหาร” (No Feminism, No Food Sovereignty!) แม้ว่าลา เวีย กัมเปซินา จะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงออกถึงสิทธิและความเท่าเทียมทางการเมืองในเวทีระดับภูมิภาคได้มากขึ้นก็ตาม

แผ่นผ้ารณรงค์ขององค์กรชาวนาสากล (สีเขียว) ส่วนอีกแผ่น (สีชมพู) เป็นการรณรงค์เกี่ยวกับผู้หญิงและอธิปไตยทางอาหาร โดยมีข้อความเขียนว่า “ไม่มีสตรีนิยม ไม่มีความมั่นคงอาหาร” (No Feminism, No Food Sovereignty!) : ถ่ายภาพโดย พงษ์เทพ บุญกล้า
บทความนี้เกิดจากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอ และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในงานการอบรมเตรียมความพร้อมผู้หญิงสมัชชาคนจนเพื่อการประชุมผู้หญิง ลา เวีย กัมเปซินา (La Via Campesina) ระดับภูมิภาคอาเซียน ระหว่างวันที่ 20-25 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสาธารณสุขโขงเจียม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีชาวนาผู้หญิงอีสานจำนวน 12 คนเข้าประชุมร่วมกับชาวนาหญิงจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมแล้วประมาณ 20 กว่าคน

ผู้หญิงชาวนาที่เป็นผู้นำที่เข้าร่วมประชุม (ถ่ายภาพโดย วรรณภา วงษ์พินิจ)
ลา เวีย กัมเปซินา (La Via Campesina) หรือ “ขบวนการชาวนาสากล” คืออะไร คือ องค์กรของชาวนารายย่อยและขนาดกลางในประเทศกำลังพัฒนาที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางสังคมระดับนานาชท่าติ โดยก่อตัวขึ้นมาในปี 1993 (2536) ซึ่งเป็นช่วงที่บรรษัทข้ามชาติมีบทบาทและอิทธิพลทั่วโลกในด้านการผลิตอาหารโลก ก่อให้เกิดการกีดกันและทำลายเกษตรกรรายย่อยผ่านการครอบงำและรวมศูนย์การจัดการทรัพยากรด้านเกษตรกรรม
ชาวนาเหล่านี้ประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีกิจกรรมการผลิตที่หลากหลาย ได้แก่ ทำนาและทำไร่ ทั้งที่มีที่ดินและไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ประมงพื้นบ้าน ล่าสัตว์ เก็บหาของจากป่า เร่ร่อนไม่มีหลักแหล่ง ผู้หญิงชนบทและเยาวชน ย้ายถิ่น แรงงานรับจ้างในภาคเกษตรกรรมที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หัตถกรรม รวมทั้งพึ่งพาทรัพยากรจากธรรมชาติหรือมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับธรรมชาติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ขบวนการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อธำรงไว้ซึ่งอธิปไตยทางอาหาร ในฐานะที่เป็นเครื่องมือสนับสนุนและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม รักษาศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกรรม โดยทำการต่อต้านอย่างแข็งขันต่อบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำลายวิถีเกษตรกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและธรรมชาติ
ในปี 1996 (2539) องค์กรลา เวีย กัมเปซินา ประกาศวาระสำคัญและรณรงค์ในงานประชุมสุดยอดอาหารโลกใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ (หนึ่ง) มุ่งสู่การมีอธิปไตยทางอาหาร (food sovereignty หมายถึง สิทธิของประชาชนที่จะผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีความสอดคล้องกับวัฒนธรรม ด้วยวิธีการธำรงรักษาระบบนิเวศและสิทธิในการกำหนดระบบอาหารและเกษตรของตนเอง) โดยเรียกร้องที่ดินทำกินและปฏิรูปเกษตรกรรมเพื่อคนยากจน (สอง) สนับสนุนและส่งเสริมและปกป้องนิเวศเกษตรและเมล็ดพันธุ์พื้นเมือง โดยพันธุกรรมอาหารต้องอยู่ในการควบคุมของเกษตรกรรายย่อย และ (สาม) สนับสนุนส่งเสริมสิทธิชาวนาและต่อสู้จากการเลือกปฏิบัติต่อชาวนา
ปัจจุบันองค์กรชาวนาโลกมีสมาชิกองค์กรย่อย 182 องค์กร ทั้งเป็นองค์กรระดับท้องถิ่นและนานาชาติ จาก 81 ประเทศในทวีปแอฟริกา เอเซีย ยุโรป และอเมริกา มีสมาชิกชาวนาทั้งสิ้นราวๆ 200 ล้านคน ถือเป็นองค์ที่มีอิสระในตนเองและมีความหลากหลายในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ผู้เขียนเห็นว่า องค์กรชาวนาสากลเป็นผลผลิตจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจที่สนับสนุนการค้าเสรี สิทธิที่ถูกลิดรอนและทำให้หายไปผ่านกระบวนการครอบงำและพรากสิทธิ์ของเสรีนิยมใหม่ที่เอื้อและสร้างความชอบธรรมให้รัฐที่สนับสนุนนายทุนและองค์กรของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจในการนำทรัพยากรธรรมชาติมาทำเป็นสินค้า โดยที่ชาวนาไม่สามารถกำหนดและตัดสินใจเกี่ยวกับระบบเกษตรและการผลิตอาหาร และไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการผลิตอาหารของโลก เช่น กำหนดราคา หาแหล่งตลาด รวมทั้งปัจจัยการผลิต
ผู้หญิงชาวนาอีสานเข้าไปเกี่ยวข้องกับ ลา เวีย กัมเปซินา ได้อย่างไร การเข้าสู่ขบวนการชาวนาโลกของชาวนาผู้หญิงในอีสานดำเนินการในนาม “ผู้หญิงสมัชชาคนจน” ซึ่งมิได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หากแต่เกิดขึ้นภายใต้การถูกกดทับที่ซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันของกระบวนการทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจสองกระบวนการ ได้แก่ (หนึ่ง) สังคมแบบตลาด และ (สอง) โครงสร้างสังคมแบบปิตาลัย
(หนึ่ง) สังคมแบบตลาด
ความยั่งยืนของสังคมเศรษฐกิจชนบทอีสานจากอดีตจนถึงปัจจุบันส่วนสำคัญขึ้นอยู่กับฐานทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ดิน น้ำ ป่า และสัตว์ป่า ที่คนอีสานใช้เพื่อผลิตอาหารและสร้างรายได้ ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและสังคม รัฐได้เข้ามาจัดการทรัพยากรดังกล่าวในนาม “การพัฒนาเพื่อลดความยากจน” มุ่งหวังให้เกิดสังคมแบบตลาด เพราะรัฐมองว่าภาคอีสานเป็นภาคที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย การพัฒนาดังกล่าวดำเนินการผ่านการสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนพลังงานไฟฟ้า ระบบชลประทาน สนับสนุนการนำที่ดินมาปลูกพืชเศรษฐกิจและพืชโตเร็วที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่แห้งแล้ง เช่น มันสำปะหลังและยูคาลิปตัส เป็นต้น การพัฒนาดังกล่าวแม้จะเป็นการสะสมทุนให้เกิดขึ้นและเห็นผลชัดเจน จนความยากจนในภาคอีสานลดลงไปมากตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับละเมิดและพรากสิทธิ์ในการใช้และเข้าถึงทรัพยากรของคนท้องถิ่น เนื่องจากคนจำนวนมากในอีสานยังอาศัยฐานทรัพยากรดังกล่าวเพื่อการดำรงชีพและสร้างรายได้อย่างไม่เป็นทางการ แต่มีนัยสำคัญเชิงเศรษฐกิจและสังคมต่อครัวเรือนและชุมชนเป็นอย่างมาก

บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับบทบาทชาวนาหญิงในการจัดการทรัพยากรและการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่ออธิปไตยทางอาหาร : ถ่ายภาพโดย พงษ์เทพ บุญกล้า
ผู้หญิงอีสานในขบวนการชาวนาสากลล้วนอาศัยอยู่ในพื้นที่การต่อสู้จากกระบวนการแย่งชิงทรัพยากรที่เกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐทั้งสิ้น ได้แก่ ผู้หญิงในพื้นที่เขื่อนและพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจที่ส่งเสริมโดยรัฐ เช่น พื้นที่เขื่อนปากมูลและพื้นที่เขื่อนสิรินธร โดยมีสมัชชาคนจนเป็นองค์กรระดับท้องถิ่นในการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้หญิง ทั้งประเทศมี 6 ชุมชนที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและเคลื่อนไหวเรื่องการสร้างอธิปไตยทางอาหาร ซึ่งผู้หญิงสมัชชาคนจนที่อยู่ในเครือข่ายลา เวีย กัมเปซินาในประเทศไทยมีอยู่ใน 6 ชุมชนด้วยกัน โดยอยู่ในภาคอีสาน 2 ชุมชน ดังที่กล่าวข้างต้น และมีอีก 1 ชุมชนในภาคตะวันออก คือ ชุมชนโคกอีโด่ย ลุ่มน้ำลำสะโตน จังหวัดสระแก้ว ซึ่งชุมชนร่วมกันฟื้นฟูป่าในลุ่มน้ำลำสะโตนและรักษาพันธุ์พืชพื้นเมือง และอีก 3 ชุมชนในภาคใต้ คือ (หนึ่ง) ชุมชนป่าต้นน้ำท่าแซะ จังหวัดชุมพร ที่ต่อสู้กับรัฐเรื่องเขื่อนท่าแซะและถูกอพยพออกจากพื้นที่จากการสร้างเขื่อนดังกล่าว นอกจากทำสวนยางแล้ว ผู้หญิงในชุมชนยังร่วมกันสร้างอธิปไตยทางอาหารด้วยการทำสวนผลไม้และแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม เช่น กล้วยฉาบ ผลิตน้ำพริกและรณรงค์ให้รับประทานกับผักพื้นบ้าน
(สอง) ชุมชนเทือกเขาบรรทัด จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง เป็นชุมชนที่ผู้หญิงรวมตัวกันเพื่อปกป้องที่ดินในการทำสวนยางพาราและปลูกพืชสวนครัวและผลไม้เพื่อเป็นอาหารและสร้างรายได้ และชุมชนสุดท้ายคือ
(สาม) ชุมชนอ่าวพังงา จังหวัดพังงาและภูเก็ต เป็นชุมชนที่ผู้หญิงมุสลิมที่มีอาชีพประมงพื้นบ้านพยายามรักษาป่าชายเลนและต่อต้านประมงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีพลังทำลายนิเวศประมงมหาศาล (โครงการปฏิบัติการเพื่อสิทธิคนจน แผ่นพับ)
สำหรับชุมชนในภาคอีสาน ได้แก่ (หนึ่ง) ชุมชนเก้ามาตรลุ่มน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปลูกป่ายูคาลิปตัสของรัฐบาล โครงการดังกล่าวทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพภูมินิเวศของพื้นที่ กลุ่มผู้หญิงในชุมชนจึงรวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ ปลูกพืชผักอินทรีย์และสร้างเครือข่ายตลาดสินค้าอินทรีย์กับชุมชนในเครือข่ายสมัชชาคนจน (สอง) ชุมชนปากแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรักษาและฟื้นฟูวิถีประมงในฐานะที่เป็นอัตลักษณ์ทางสังคมและวิถีการดำรงชีพของคนลุ่มน้ำมูล และพยายามหาทางออก ตลอดจนดิ้นรนต่อสู้เพื่อสร้างอธิปไตยทางอาหารด้วยการหาอาชีพอื่นๆ มาชดเชย นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปอาหารจากธรรมชาติอีกด้วย
(สอง) โครงสร้างสังคมแบบปิตาลัย (Patriarchal Society หรือ ชายเป็นใหญ่)
ถึงแม้ว่าการศึกษาจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ชายหญิงในภาคอีสานจะพบว่าสังคมอีสานเป็นสังคมแบบมาตาลัย (Matriarchal Society) คือเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิงหรือผู้หญิงเป็นใหญ่ ดังเห็นได้จากที่ผู้หญิงเป็นผู้รับมรดกจากพ่อแม่ รวมทั้งเมื่อชายแต่งงานแล้วจะต้องไปอยู่ในครอบครัวฝ่ายภรรยา คำอธิบายเหล่านี้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเพียงภาพเหมารวมและผิวเผินไปว่าสังคมอีสานมีลักษณะเช่นนี้ เพราะความเป็นจริงจากการศึกษาของผู้เขียนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งคำให้การของผู้หญิงชาวนาอีสานที่เข้าร่วมประชุมในงานลา เวีย กัมเปซินา ระดับภูมิภาคครั้งนี้ ต่างสะท้อนออกมาในทำนองเดียวกันว่า พวกเธอเกิดมาในฐานะที่เป็นลูก เมีย และแม่ นั้น พวกเธอต้องแบกรับความคาดหวังจากสังคมและครอบครัว ว่าต้องทำงานหนักทั้งในและนอกครัวเรือน ต้องหาเงินเลี้ยงสมาชิกในบ้านอีกด้วย และยังต้องทำหน้าที่แม่ศรีเรือนอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
การที่พวกเธอลุกออกมาต่อสู้กับรัฐและทุนเพื่อเรียกร้องอธิปไตยทางอาหารและสร้างเครือข่ายร่วมกันนั้น ยิ่งตอกย้ำว่า ผู้หญิงก็ยังคงต้องรักษาบทบาทหน้าที่ตามที่ถูกสั่งสอนมาภายใต้ระบบปิตาลัย นั่นคือ การมีหน้าที่ดูแลครอบครัวในฐานะผู้หาอาหารและผลิตอาหาร
จากการพูดคุยกับผู้หญิงอีสานที่เข้าร่วมประชุมพบว่า กว่าจะฝ่าฟันระบบสังคมชายเป็นใหญ่จนสามารถเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวของลา เวีย กัมเปซินา หรือขบวนการทางสังคมอื่นๆ ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย พวกเธอต้องต่อรองกับสามีและพ่อแม่ในหลากหลายรูปแบบ ต้องใช้พลังกาย พลังสมอง และพลังความคิด ตลอดจนกุศโลบายนานาชนิด เพื่อให้ตนเองข้ามพ้นกับดักทางวัฒนธรรมสังคมแบบชายเป็นใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถก้าวข้ามพ้นได้ เพราะสังคมแบบปิตาลัยก็ยังให้ความสำคัญกับผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง ซึ่งเป็นอุดมการณ์ทางสังคมและอคติทางวัฒนธรรมที่ปฏิบัติการ ดำรงอยู่และฝังแฝงในสถาบันต่างๆ รอบตัวมาเนิ่นนานจนยากจะหลุดพ้นไปได้
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ผู้หญิงชาวนาอีสานที่เข้าร่วมขบวนการชาวนาสากล ต่างกำลังถูกกดทับอย่างซ้ำซ้อน จากทั้งระบบการเมืองและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ทุนและรัฐต่างเข้ามาแย่งยึดทรัพยากรของผู้หญิง และระบบสังคมแบบชายเป็นใหญ่ที่ผู้หญิงต้องทำหน้าที่ในครัวเรือน