เวทีปราศรัยพรรคฝั่งทหารที่ขอนแก่น “หากผมพูดว่า ‘รัฐบาล’ พี่น้องพูดว่า ‘พลังประชารัฐ’ ”
หมายเหตุ: บุคคลสองท่านที่เคยปรากฎในการรายงานข่าว กล่าวว่า มีการนำเสนอคำพูดที่เกินจริงและก่อให้เกิดการเข้าใจผิด หลังจากได้รับคำร้องเรียนจากทั้งสองท่าน เดอะอีสานเรคคอร์ด จึงลบข้อมูลหรือการอ้างอิงใดๆ ของบุคคลทั้งสองออก ทั้งนี้ เดอะอีสานเรคคอร์ด ต้องขออภัยในความไม่สะดวกที่อาจเกิดขึ้นให้สองท่านนี้จากการรายงานข่าวดังกล่าวมา ณ ที่นี้ด้วย
โดย เอลเลน เกร็บส์, คาเมรอน ทอดด์, ริตา ทริก, บีนา แอรอน, ฮิเดโอะ อิชิ-อดาจาร์, อเล็กซิส มาร์ติน และ ไปรยา ไวกุนทาปาธิ
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2562 พรรคพลังประชารัฐได้จัดปราศรัยใหญ่ขึ้นโดยมีผู้เข้าร่วมฟังจำนวนมากถึง 30,000 คน ซึ่งเดินทางมาจากทั่วทั้งจังหวัดขอนแก่น การปราศรัยครั้งนี้จัดขึ้นที่พุทธมณฑลอีสานจังหวัดขอนแก่น โดยผู้ร่วมงานต่างเดินทางมาเพื่อรับฟังนโยบายของพรรคสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ แกนนำพรรคได้ร่วมปราศรัยกับผู้สมัครจากสิบเขตเลือกตั้งในจังหวัดขอนแก่น โดยต่างขึ้นเวทีกล่าวต่อหน้าฝูงชนที่เข้าร่วมงานอย่างครึกครื้นทีละคน
พรรคพลังประชารัฐกำลังเผชิญกับการต่อสู้อันยากลำบากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากผลการสำรวจความคิดเห็นคนอีสาน ของอีสานโพล (E-Saan Poll) ที่เผยแพร่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เรื่อง พรรคที่ชอบและนโยบายที่ใช่ของคนอีสาน พบว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 44.8 มีแนวโน้มที่จะลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย ตามด้วยพรรคอนาคตใหม่ร้อยละ 21.2 และพรรคใหม่ที่เพิ่งถูกยุบไปคือ พรรคไทยรักษาชาติ 7.5 โดยพรรคพลังประชารัฐมีแนวโน้มที่จะได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 7.4 พรรคภูมิใจไทยร้อยละ 6.1 และพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 3.9 และมีเพียงร้อยละ 9 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในอีสานที่ยังไม่ตัดสินใจ จึงเท่ากับว่ามีคะแนนเสียงที่จะมอบให้กับพรรคอื่นๆ อย่างพรรคพลังประชารัฐเหลืออยู่ไม่มากนัก
ผู้จัดได้เตรียมเก้าอี้จำนวน 30,000 ตัว โดยจัดเรียงเป็นแถวตามสีธงชาติ บนเก้าอี้แต่ละตัวมีขวดน้ำหนึ่งขวดพร้อมกับธงตราสัญลักษณ์ประจำพรรค มีการแจกใบปลิวรายการนโยบายหลักของพรรค ได้แก่ การเพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เดือนละ 1,000 บาท เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือน มอบเงินสวัสดิการ 3,000 บาทต่อเดือนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และมอบ 10,000 บาท เพื่อเป็นค่าคลอดบุตร สำหรับเกษตรกร ทางพรรคได้ให้สัญญาว่าจะมอบเงิน 1,500 บาทก่อนการเพาะปลูกและค่าเก็บเกี่ยวอีก 2,000 บาทต่อไร่ สูงสุดไม่เกิน 25 ไร่ พรรคพลังประชารัฐยังให้สัญญาว่าจะพักชำระหนี้ทางการเกษตรเป็นเวลา 3 ปีและจะเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านอีกด้วย (ภาพโดย ไปรยา ไวกุนทาปาธิ)
ผู้คนกำลังหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่เวทีปราศรัย โดยมีรถบัส รถกระบะและรถยนต์ขนส่งพวกเขามายังที่แห่งนี้ ผู้เข้าร่วมการปราศัยคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า มีการจัดรถตู้สำหรับผู้โดยสาร 10 คน พร้อมคนขับ 1 คน เพื่อบริการรับส่งคนมายังเวทีปราศรัย เจ้าหน้าที่ผู้จัดเวทีปราศรัยคนหนึ่งกล่าวว่า คนขับรถกล่าวว่าได้รับค่าตอบแทนในการพาชาวบ้านมาส่งที่งานและพาเดินทางกลับ (ภาพโดย ฮิเดโอะ อิชิ-อดาจาร์)
“ไม่มีใครขอให้มา” ประนม ภูกระโท แม่ค้าขายอาหารจากอำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น กล่าวตอบภายหลังถามถึงเหตุผลที่มาร่วมฟังปราศรัยครั้งนี้ เฉกเช่นคนอื่นๆ ที่มาร่วมงาน ประนมมาที่นี่เพื่อมาทำความรู้จักพรรค สำหรับเธอแล้ว ปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้คือ ราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำและเศรษฐกิจที่เติบโตช้าตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ภาพโดย คาเมรอน ทอดด์)
วัฒนา ช่างเหลา อายุ 38 ปี ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ เขตการเลือกตั้งที่ 2 จ.ขอนแก่น เนื่องจากการปราศรัยใหญ่ครั้งนี้จัดขึ้นในพื้นที่เขตการเลือกตั้งของตนเอง วัฒนาจึงไม่พลาดที่จะเดินทักทายกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งก่อนงานเริ่ม ก่อนหน้านี้ วัฒนาเคยรับตำแหน่งเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เขาจึงกล่าวว่า เขารู้ดีว่าปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่นี้กำลังเผชิญอยู่มีอะไรบ้าง พร้อมกันนี้เขายังกล่าวย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองใหม่ และไม่ได้เป็นพรรคการเมืองของรัฐบาลทหาร แต่ไม่ว่านโยบายอะไรก็ตามที่รัฐบาลทหารได้ดำเนินอยู่นั้น พรรคพลังประชารัฐจะยังคงดำเนินการสานต่อ (ภาพโดย ไปรยา ไวกุนทาปาธิ)
หลายคนที่เวทีปราศรัยต่างถือป้ายสัญลักษณ์เดียวกันที่มีข้อความ “คนอิสาน ฮักลุงตู่” ชื่อเล่นของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลุ่มทหารที่โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2557 พรรคพลังประชารัฐก่อตั้งขึ้นโดยผู้ที่มีความใกล้ชิดกับกองทัพ เพื่อเป็นการช่วยให้เขาเหล่านี้เปลี่ยนสถานะจากผู้ทำการรัฐประหารมาเป็นนักการเมือง พลเอกประยุทธ์เป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐเพียงคนเดียว (ภาพโดย ไปรยา ไวกุนทาปาธิ)
เกีย ทองเลอ ชาวนาเกษียณผู้ร่าเริง อายุ 74 ปี มาจากอำเภอพระยืน เธอเดินทางไกลกว่า 40 กม. เพื่อมาเข้าร่วมรับฟังปราศรัย ทั้งนี้ การเดินทางดังกล่าวได้รับการจัดแจงโดยทีมผู้สมัครในพื้นที่ เกียกล่าวว่ามีครอบครัวทั้งหมด 300 ครอบครัวที่มาจากหมู่บ้านเดียวกันที่เข้าร่วมการปราศรัยในวันนี้ เธอมาที่นี่เพื่อฟังการปราศรัยของผู้สมัครในพื้นที่ของเธอ ซึ่งผู้สมัครรายนี้เคยเป็นนายกเทศมนตรีตำบลที่เธออาศัยอยู่มากว่า 20 ปี เธอกล่าวว่า ในช่วงนั้น เขาได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน เช่น จัดหาน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรที่อยู่ตอนบน “พลเอกประยุทธ์เป็นคนดี แม่ชอบที่เขาช่วยคนจน” เกียเล่าว่าหมู่บ้านของเธอเคยได้ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์มาก่อน แต่เธอก็ไม่เคยเห็นว่าพรรคนี้ทำอะไรดีขึ้นบ้างเลย
กลุ่มผู้เข้าร่วมงานผู้ชายที่มาจากเขตเลือกตั้งที่ 2 และ 10 กล่าวว่า ได้รับค่าตอบแทน 200 บาท เพื่อเข้าร่วมฟังการปราศรัยครั้งนี้ “ก็ถ้าเขาชวน เราก็มา” ชายคนหนึ่งกล่าวพลางหัวเราะ มีนโยบายของพรรคพลังประชารัฐเพียงนโยบายเดียวที่พวกเขานึกออกได้ นั่นคือ นโยบายบัตรสวัสดิการ ซึ่งให้เงินช่วยเหลือคนจนเดือนละ 200-300 บาท พวกเขาเชื่อว่าปัญหาใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ (ภาพโดย คาเมรอน ทอดด์)
เฉลิมพล โจดนาค (ขวา) อายุ 17 ปี ซึ่งอายุไม่ถึงเกณฑ์ในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เดินทางมาพร้อมกับพ่อแม่เพื่อฟังนโยบายของพรรค แม้ว่าเขาจะไม่ได้ติดตามข่าวการเมืองก็ตาม เมื่อถามถึงอะไรที่เป็ฯปัญหาที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ เขาตอบว่า “กรุงเทพคือปัญหาที่สุด เป็นเมืองที่วุ่นวายมาก” (ภาพโดย ไปรยา ไวกุนทาปาธิ)
ผู้พูดบนเวทีกำลังเตรียมฝูงชนที่มาร่วมฟังให้พร้อมก่อนที่ผู้นำพรรคจะขึ้นเวทีปราศรัย ข้อมูลจากผู้ที่ถูกการสัมภาษณ์ พบว่าเวทีปราศรัยครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นเวทีเพื่อให้ข้อมูลที่เต็มไปด้วยการเต้นรำและกองเชียร์เสียมากกว่าจะเป็นการชุมนุมรวมตัวกันของผู้ที่ชื่นชอบและให้การสนับสนุนพรรค (ภาพโดย ไปรยา ไวกุนทาปาธิ)
เมื่อภาพของหัวหน้าพรรคปรากฏขึ้นบนหน้าจอพร้อมเสียงเพลงแห่งชัยชนะอันครึกครื้น ฝูงชนต่างพากันลุกเต้นและร้องเพลงตาม (ภาพโดย ไปรยา ไวกุนทาปาธิ)
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ ขณะเดินผ่านฝูงชนที่มาร่วมฟังปราศรัย ในฐานะสมาชิกสูงสุดของพรรคที่ชุมนุม การปรากฏตัวของเขาทำให้ฝูงชนต่างตื่นเต้นและพากันมอบพวงมาลัยดอกไม้ให้จำนวนมาก (ภาพโดย ไปรยา ไวกุนทาปาธิ)
ผู้พูดบนเวทีกำลังฝึกสอนให้ฝูงชนให้กล่าวตาม “หากผมพูดว่า รัฐบาล พี่น้องพูดว่า พลังประชารัฐ” เสียงเพลงดังลั่นจากลำโพง โดรนที่ใช้ถ่ายวิดีโอหลายตัวบินเหนือศีรษะท่ามกลางแสงอ่อนของพระอาทิตย์ที่กำลังจะลับลา (ภาพโดย ไปรยา ไวกุนทาปาธิ)
ผู้สมัครต่างถูกห้อมล้อมไปด้วยผู้คนแทบทุกย่างก้าวก่อนที่จะเดินขึ้นเวทีจนได้ในที่สุด (ภาพโดย ไปรยา ไวกุนทาปาธิ)
ผู้สมัครขึ้นมาบนเวทีปราศรัย (ภาพโดย ไปรยา ไวกุนทาปาธิ)
ผู้สมัคร ส.ส. เป็นครั้งแรก วัฒนา เดินออกมาด้านนอกเพื่อให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เขากล่าวว่า แนวนโยบายของพรรคนั้นตั้งอยู่บนฐานของนโยบายสวัสดิการสังคม ซึ่งจะได้รับเงินสนับสนุนจากงบประมาณโครงสร้างพื้นฐาน พรรคต้องการเน้นนโยบายสำหรับคนยากจน เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยเคยเรียกตนเองว่าเป็นพรรคของคนรากหญ้าอยู่แล้วใช่หรือไม่ วัฒนากล่าวว่า ด้วยวิธี “การใช้ใจทำงาน” พรรคของเขาจะทำเพื่อคนจนคนรากหญ้าได้มากยิ่งขึ้น พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคสำหรับคนยากคนที่สุดในประเทศไทย “เราจะชนะใจประชาชนที่นี่” เขากล่าว “ผมมั่นใจว่าเราจะชนะ” (ภาพโดย ไปรยา ไวกุนทาปาธิ)
ผู้สมัครแต่ละคนขึ้นพูดปราศรัย แต่จุดสำคัญของงานวันนี้จบลงแล้ว ผู้ชมเริ่มทะยอยออกจากพื้นทีเวทีปราศรัยไปยังรถบัส รถกระบะและรถยนต์ เตรียมพร้อมกลับบ้าน (ภาพโดย ไปรยา ไวกุนทาปาธิ)
ถ้าจะพูดให้ถูก การชุมนุมจบลงฉับพลันในความมืด เป็นเวลาค่อนข้างดึกแล้วและผู้เข้าร่วมต่างก็อยากกลับบ้านไปทานอาหารเย็น รถบัสปรับอากาศถอยออกมาจากลานจอดรถด้านหลัง รถกระบะที่มีผู้สูงอายุและเด็กนั่งอยู่ด้านหลังเริ่มเดินทางกลับ การจราจรแทบจะไม่ขยับเขยื้อนไปไหน หากเมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับเวทีปราศรัยวันนี้ ผู้คนที่อยู่ด้านหลังรถกระบะพากันตอบว่าพร้อมที่จะลงคะแนนเสียงให้กับพรรคพลังประชารัฐ
เอลเลน เกร็บส์ ศึกษาสังคมวิทยาที่ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน
คาเมรอน ทอดด์ ศึกษารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน
ริตา ทริก ศึกษาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ บีนา แอรอน ศึกษาประสาทวิทยาศาสตร์ที่วิทยาลัยแอมเฮิร์สต์
ฮิเดโอะ อิชิ-อดาจาร์ ศึกษาคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเซาเธิร์น เมโธดิสต์
อเล็กซิส มาร์ติน ศึกษาด้านสาธารณสุขและการเต้นรำที่มหาวิทยาลัยทูเลน
ไปรยา ไวกุนทาปาธิ ศึกษาโลกคดีศึกษาที่ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ วิทยาเขตแชมเปญ-เออร์บานา
ทั้งหมดกำลังศึกษาเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาและโลกาภิวัฒน์ที่จังหวัดขอนแก่น