23

ขอนแก่น – พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวทีเปิดสถานีรถไฟขอนแก่น แถลงความสำเร็จของผลงานรัฐบาลตามนโยบายประชารัฐ เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทวงคืนฝืนป่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ บัตรคนจน ฯลฯ เผยไม่เคยมีรัฐบาลไหนพัฒนาประเทศอย่างมีแผนอย่างเป็นระบบมาก่อน ทิ้งให้คนฟังว่า “อยากอยู่กับผมต่อหรือไม่ ใครอยากให้อยู่ยกมือขึ้น” ด้านนักวิชาการตั้งข้อคำถามกรณีประยุทธ์ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐใช้โอกาสตรวจงานราชการ แถลงนโยบายก่อนการเลือกตั้งเหมาะสมหรือไม่ อาจเข้าข่ายใช้หน้าที่และงบประมาณของรัฐหาเสียง

“เพราะคิดถึง จึงมาหา” “อีสานบ้านนายกเหมือนกัน คิดฮอดหลายเด้อ” คำกล่าวทักทายประชาชนของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาเปิดสถานีรถไฟขอนแก่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ชุมทางจิระ (นครราชสีมา) ถึงชุมทางขอนแก่นที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2558

การลงพื้นที่ตรวจราชการและเปิดสถานีรถไฟขอนแก่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ชุมทางจิระ (นครราชสีมา) ถึงชุมทางขอนแก่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562 ทำให้ สถาพร เริงธรรม รองศาสตรจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ตั้งข้อสังเกตว่า การลงพื้นที่ตรวจราชการครั้งนี้ เป็นการใช้โอกาสนำเสนอผลงานการทำงานของพล.อ.ประยุทธและรัฐบาล เพื่อหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในอีกไม่กี่สัปดาห์หรือไม่ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ นอกจากจะเป็นนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันยังมีฐานะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ

23

ประชาชนต่างเข้ามาสวมกอด หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์เข้าสักการะศาลเทพารักษ์หลักเมืองจังหวัดขอนแก่น ประชาชนบางส่วนตะโกน “ลุงตู่ สู้ๆ” นานหลายนาที ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปเปิดสถานีรถไฟขอนแก่น

สถาพรเห็นว่า การตรวจราชการในลักษณะมีพีธีการ เช่น การไปไหว้ศาลหลักเมืองและมีมวลชนมารอต้อนรับจำนวนมาก มีการขึ้นเวทีแถลงความสำเร็จของผลงานรัฐบาล รวมถึงมีคำพูดบางประโยคที่สื่อไปในทิศทางให้ประชาชนเลือกพล.อ.ประยุทธ์และคณะฯ ทำงานในรัฐบาลต่อ ไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง เพราะจะทำให้สังคมหรือพรรคการเมืองอื่นตั้งคำถามว่า เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่และงบประมาณราชการเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคหรือไม่

“ผมคิดว่าการตรวจราชการของรัฐบาลช่วงก่อนการเลือกตั้งควรตรวจหรือสรุปผลงานกันในห้องประชุมก็พอ หรือกรณีการเปิดสถานีรถไฟก็เพียงแค่กล่าวเปิดงานเท่านั้นก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องมานำเสนอผลงานของรัฐบาลในช่วงนี้” สถาพรกล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของ เพียงกมล มานะรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ตรวจราชการในฐานะนายกรัฐมนตรีคงไม่ผิดปกติแต่อย่างใด แต่ตอนนี้ เขาคือหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหมายความว่า เขาคือหนึ่งในผู้เล่นทางการเมืองช่วงก่อนการเลืองตั้ง จึงไม่ผิดที่สังคมจะตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐและงบประมาณหาเสียงช่วงก่อนการเลือกตั้งหรือไม่

“ประชาชนอย่างเราก็เพียงแค่ตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสม ส่วนจะเข้าข่ายการหาเสียงหรือไม่นั้น ต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา” เพียงกมลกล่าว

ประชาชนที่มารอต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวชื่นชมนายกฯ และรัฐบาลที่แก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบที่มีการเก็บอัตราดอกเบี้ยสูงเกินที่กฎหมายกำหนดได้สำเร็จเป็นรัฐบาลแรก

คำถามว่า การลงพื้นที่ตรวจราชการของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นเหมือนการหาเสียงให้พรรคพลังประชารัฐทางอ้อมนั้นเกิดขึ้นจากกำหนดการการปราศรัยหาเสียงใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เช่น ที่ขอนแก่น พรรคพลังประชารัฐเพิ่งมาปราศรัยใหญ่เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา และวันที่ 13 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ตรวจราชการและใช้โอกาสนี้แถลงผลงานของรัฐบาล และที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐเพิ่งปราศรัยใหญ่เมื่อวันที่ 12 มีนาคม และวันที่ 20 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ตรวจราชการ เป็นต้น

“เหมือนเป็นการหาเสียงคู่ขนานกัน ถึงแม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์จะปฏิเสธไม่ขึ้นเวทีปราศรัยของพรรคพลังประชารัฐ แต่วิธีการลงพื้นที่ตรวจราชการและนำเสนอผลงานของรัฐบาลก็เข้าข่ายหาเสียงให้พรรคเช่นกัน” สถาพรกล่าว

นอกจากจะกล่าวถึงโครงการสถานีรถไฟขอนแก่น พล.อ.ประยุทธ์ยังพูดถึงความสำเร็จของโครงการต่างๆ ของรัฐบาลต่อประชาชน เช่น บัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน โครงการทวงคืนฝืนป่าจากนายทุน เป็นต้น พร้อมย้ำว่า รัฐบาลนี้บริหารงานแผ่นดิน แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างมีระบบ มีการทำแผนแม่บทและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งถือว่าไม่มีรัฐบาลไหนเคยพัฒนาประเทศอย่างแผนแบบนี้

เพียงกมลมองว่า สาเหตุที่พล.อ.ประยุทธ์สามารถลงพื้นที่ตรวจราชการในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เป็นเพราะยังมีฐานะนายกรัฐมนตรีอยู่ เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 กำหนดว่า คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน (รัฐบาล คสช.) จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกระทั่งมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามารับหน้าที่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562 ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะไม่เข้าองค์ประกอบเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย จึงทำให้คำถามที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นข้าราชการ สามารถเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคการเมืองได้หรือไม่นั้นตกไป

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ นครราชสีมา – ขอนแก่นเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่มีรัฐบาลไหนเคยทำได้ “นี่คือเรื่องจริง ไม่ได้อิงนิยาย ไม่ได้พูดเลอะเทอะ ผมมีความอดทน เข้มแข็งในการบริหารงาน ไม่งั้นประชาชนอยู่กับผมไม่ได้ถึง 5 ปี จะอยู่กับผมต่อหรือไม่ ใครจะอยู่กับผมยกมือขึ้น” ประชาชนที่มาร่วมงานต่างพากันยกมือขึ้น

 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยมีแผนพัฒนาที่มีโครงการเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาทั้งประเทศแบบที่รัฐบาลตนทำ “มีรัฐบาลไหนทำให้ดูแบบนี้ เคยมีใครทำให้ดูหรือไม่ มีรัฐบาลไหนทำให้ดูแบบนี้ ถามหน่อย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวพร้อมชูแผ่นผับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ถนน ทางรถไฟ สนามบิน เป็นต้น

 

พล.อ.ประยุทธ์ทิ้งท้ายว่า ใครที่ต้องการเข้ามาทำหน้าที่บริหารงานแผ่นดินต้องมีแผนการทำงานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ “ทุกคนที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ต้องรู้จักเรื่องหลักการบริหาร ต้องรู้การใช้จ่ายงบประมาณ รู้กฎหมาย ถ้าจะจ่ายเงินส่วนไหน ต้องชี้แจงให้สภาให้ได้ว่างบประมาณมาจากไหน ถ้าเป็นรัฐบาล ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าจะเป็นผู้นำ ต้องมีมีธรรมาภิบาล”

 

พล.อ.ประยุทธ์และคณะฯ ขณะขึ้นบันไดเลื่อนเพื่อนั่งรถไฟขบวนพิเศษจากสถานีขอนแก่นไปสถานีท่าพระ อ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น ระยะทาง 10 กิโลเมตร เพื่อเยี่ยมชมโครงการก่อสร้างและปรับปรุงทางรถไฟในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ-ขอนแก่น

image_pdfimage_print