โดย ศตานนท์ ชื่นตา
สกลนคร – หลังจากมีพระราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ ส.ส. ทั่วประเทศในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 นั้น จังหวัดสกลนคร ก็มีการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมด 6 เขต ในแต่ละเขตมีผู้สมัคร ส.ส. เฉลี่ยมากกว่า 30 คน โดยเฉพาะเขต 6 ที่มีผู้สมัคร ส.ส. มากถึง 39 คน
สกลนคร นับเป็นอีกหนึ่งจังหวัด ที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่จากการเข้ามาของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐและภาคเอกชน เช่น โครงการสำรวจแร่โปแตชฯ โครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล และผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐจนกลายเป็นความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นต้น
เดอะอีสานเรคคอร์ดพูดคุยสอบถามผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร จาก 3 พรรค เกี่ยวกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของพรรคในการแก้ปัญหาดังกล่าวในพื้นที่ ก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 นี้

สกุณา สาระนันท์ (กลาง) ผู้สมัคร ส.ส. เขต 5 จังหวัดสกลนคร (อำเภอวานรนิวาส และบ้านม่วง) พรรคเพื่อไทย ภาพจากเฟสบุ๊กแฟนเพจ สกุณา สาระนันท์
สกุณา สาระนันท์ อายุ 50 ปี ผู้สมัคร ส.ส. เขต 5 จังหวัดสกลนคร (อำเภอวานรนิวาส และบ้านม่วง) พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “นโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้นชัดเจนในทุกด้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะนโยบายการแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชน”
โดยแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐและโครงการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ พรรคเพื่อไทยจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรวบรวมปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดจากการพัฒนา ไม่ว่าจะเรื่องสำรวจแร่โปแตชฯ กลิ่นเหม็นจากโรงงานยางพารา หรือปัญหาอื่นๆ ส่งให้รัฐบาลพิจารณาแก้
“เราจะยึดตามสังคมโลกที่ทุกวันนี้มีความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม เราจะไม่เพิ่มโรงงานเข้ามาอีก จะบังคับใช้กฎหมายในโรงงานที่มีการฝ่าฝืน นี่ก็เป็นแนวทางเบื้องต้นที่จะทำหากได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.” สกุณากล่าว

สีสมพร ทองนา ผู้สมัคร ส.ส. สกลนคร เขต 6 (อำเภอพรรณานิคม อากาศอำนวย และคำตากล้า) พรรคสามัญชน
สีสมพร ทองนาง อายุ 60 ปี ผู้สมัคร ส.ส. สกลนคร เขต 6 (อำเภอพรรณานิคม อากาศอำนวย และคำตากล้า) พรรคสามัญชน กล่าวว่า พรรคสามัญชนประกาศชัดอยู่แล้วว่า จะแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน เพราะสมาชิกพรรคสามัญชนส่วนมากมาจากพี่น้องเครือข่ายชาวบ้าน เกษตรกร นักศึกษา นักวิชาการ ฯลฯ เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ที่โดนกระทำจากโครงการของรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น เหมืองแร่ทองคำ เหมืองแร่หิน เหมืองแร่โปแตชฯ และโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
“โครงการเหล่านี้ มันไปส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต พวกเขาเหล่านั้นจึงรวมกลุ่มกันต่อสู้ เรียกร้องความเป็นธรรม ปกป้องสิทธิของพวกเขาไว้” สีสมพรกล่าว
สีสมพรกล่าวต่อว่า ถึงแม้พรรคสามัญชนจะเป็นพรรคเล็กพรรคใหม่ ซึ่งไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในพื้นที่เป็น ส.ส. ในครั้งนี้ แต่ก็คาดหวังคะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ในการส่งตัวแทนพรรคสามัญชนอย่าง เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรค เข้าไปในสภาฯ อย่างน้อยก็เพื่อ “บอก พูด ตะโกน แย้ง ให้สภา เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายหรือนโยบายที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่
“ผมคิดว่าให้เรา (พรรคสามัญชน) มีโอกาสเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา เสนอทางออกของปัญหาความขัดแย้งด้วยเสียงประชาชนเอง เราจะเสนอนโยบายการพัฒนาจากฐานราก โดยมีเป้าหมายคือ ประชาชนเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง” สีสมพร กล่าวทิ้งท้าย

บุญรักษา พรมวัง (เสื้อสีขาว) ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ สกลนคร เขต 5 (อำเภอวานรนิวาส และบ้านม่วง)
บุญรักษา พรมวัง อายุ 31 ปี ผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร เขต 5 (อำเภอวานรนิวาส และบ้านม่วง) พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการสำรวจแร่โปแตชฯ ก็ต้องขอกล่าวถึง เพราะ อ.วารนิวาส นั้นชัดเจนเหลือเกินในเรื่องความขัดแย้งนี้ ตนและพรรคไม่มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอำเภอวานิวาส อำเภอบ้านม่วง และจังหวัดสกลนคร ด้วยโครงการอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชฯ อยู่แล้ว ตนอยากให้มีโครงการพัฒนาที่ส่งเสริมวิถี วัฒนธรรม ชุมชนและการท่องเที่ยวมากกว่า
ส่วนในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้น บุญรักษาขอเสนอหลักการการพัฒนาที่คำนึงถึงบนความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาโดยการพูดคุยกับความเข้าใจ ความรู้สึกร่วม ความต้องการร่วมกันของทุกฝ่าย ที่ยึดหลักความถูกต้องเป็นหลัก
“ถ้าทุกฝ่ายมีการพูดคุย สร้างความเข้าใจในปัญหาและวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน ก็อาจจะแก้ไขปัญหาได้” บุญรักษากล่าว
ศตานนท์ ชื่นตา เป็นผู้เข้าอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสาน ของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560