โดย มาโนช พรหมสิงห์
- ยุคกำเนิดชุมชนโบราณ/เมืองเขมรป่าดง
แผ่นดินอีสานเกิดจากการยกตัวขึ้นของพื้นที่ใต้ทะเล เกิดเป็นที่ราบสูงที่อุดมไปด้วยเกลือสินเธาว์ นับเป็นแอ่งเกลือใหญ่ที่สุดในแถบอุษาคเนย์ บนที่ราบสูงนี้มีพื้นที่แอ่งสำคัญคือ ทางเหนือ-แอ่งสกลนคร ทางใต้-แอ่งโคราช ประกอบกับมีแม่น้ำสายสำคัญของโลก-แม่น้ำโขง ไหลผ่านดินแดน/ชุมชนหลากหลาย ซึ่งไหลเลาะเลียบที่ราบสูงอีสานนี้ไป บริเวณนี้จึงมีเหตุปัจจัยที่เอื้อให้เกิดชุมชน/อารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง ดังตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมบ้านเชียง ศูนย์กลางการประกอบพิธีกรรมผาแต้มของชุมชนส่วนแผ่นดินใหญ่แห่งอุษาคเนย์
ต่อมาเมื่อเกิดชุมชนใหญ่ขึ้น เป็นเมือง เป็นอาณาจักร มีการเพาะปลูกแบบซื้อขาย แลกเปลี่ยน การติดต่อค้าขายกับดินแดนในคาบสมุทรอื่น แผ่นดินอีสานจึงถูกปล่อยให้รกร้าง กลายเป็นพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์กลางชุมชนใหญ่ ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจของเมืองและอาณาจักรแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา วรรณกรรมที่สำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตในยุคนี้ อาทิ
- กำเนิดมนุษย์ – ในพงศาวดารล้านช้าง ว่าด้วยการกำเนิดชาติพันธุ์ต่างๆ จากน้ำเต้าปุง
แน่นอนว่า วรรณกรรมมุขปาฐะ นิทาน ตำนาน เรื่องเล่าของผู้คนและทวยเทพ ก็เริ่มก่อร่างปะติดปะต่อขึ้นในยุคสมัยนี้ มีการเล่าขานสานต่อข้ามพื้นถิ่น ข้ามเผ่าพันธุ์ ต่อมาจึงมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องที่โดดเด่นซึ่งถือเป็นสุดยอดของวรรณกรรมอีสานในยุคนี้ คือ ‘ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง’ ถือเป็นมหากาพย์ (epic) ที่กวีลุ่มน้ำกก (บริเวณเชียงราย/อ.ฝาง เชียงใหม่ ไหลลงแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน เชียงราย) เขียนแต่งขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 1800-1900 ยุคเดียวกับการสร้างกรุงศรีอยุธยา เป็นการเล่าเรื่องกองทัพขุนเจืองยกไปช่วยขอมรบกับจาม (แกว) ดังมีหลักฐานของกองทัพเสียมกุก จารึกอยู่ที่ผนังระเบียงนครวัด และทุ่งไหหิน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นภาชนะหมักเหล้าของไพร่พลในกองทัพ
‘ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง’ แต่งขึ้นด้วยโคลงของสองฝั่งโขงเกือบ 5,000 บท กลุ่มชนสองฝั่งโขงเรียก ‘หนังสือเจือง’ จิตร ภูมิศักดิ์ ให้ความเห็นว่าเป็นมหากาพย์ เพราะเล่าเรื่องวีรบุรุษด้วยภาษาโบราณยิ่ง เป็นภาษาล้านช้างหลวงพระบาง แต่บางคำก็เหลื่อมล้ำไปในภาษาไตยวน ไตโยนก หรือล้านนา
ท้าวฮุ่ง จึงถือเป็น Cultured hero/Messiah ของหลายชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำโขง
ในกาลต่อมากลับถูกห้ามอ่านในวัด และถูกทำลาย เพราะผู้แต่งเขียนตามสภาพของคนลาว ที่เข้ามาในดินแดนข่า และรับการนับถือผีของข่ามา (เช่น คนบรู นับถือฮีตข่าคองขอม) /และจากอิทธิพลของพุทธศาสนาที่แผ่เข้ามาในสุวรรณภูมิ ดังนั้น ‘ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง’ ซึ่งอุดมด้วยเรื่องการสงคราม รบราฆ่าฟัน ความรัก กามารมณ์ การดื่มเหล้าเมายาสนุกสนาน ถ้อยคำหยาบโลน การบรวงสวงบูชาผี ไม่มีเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ จึงขัดกับหลักธรรมของพุทธธรรม อาจใช้ผูกคอในงานรื่นเริงของบุญบ้องไฟเดือนหกหรืออ่านในงานศพเท่านั้น
สังข์สินไซ ก็แต่งขึ้นในสมัยเดียวกัน ส่วน ผาแดงนาไอ่ ได้รับอิทธิพลมาจากท้าวฮุ่ง ขุนเจือง ทว่าชะตากรรมของวรรณคดีเหล่านี้ ก็ล้วนถูกกีดกันออกไปไม่ถูกนับให้เป็นวรรณกรรม/วรรณคดีของชาติ ถือเป็นการลบตัวตนเก่าทิ้ง เพื่อรับแบบแผนตัวตนใหม่ของอำนาจรัฐใหม่ที่เหนือกว่า
- หนังสือพื้นเวียง – สมัย ร.3 เกิดกรณีกบฏเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ. 2346) ได้มีการเปลี่ยนแปลงจารีตของวรรณกรรมอีสานเกิดขึ้นครั้งสำคัญที่จะส่งผลต่อสังคมครั้งใหญ่ในกาลต่อมา จากปลูกฝังมโนทัศน์หวังบุญกุศลในภพหน้า อดทนอดออมสร้างบุญเพื่อเสวยสุขในโลกพระศรีอาริย์ วรรณกรรมเปลี่ยนมาทำหน้าที่สะท้อนความทุกข์ยาก ถูกกดขี่ เช่น หนังสือพื้นเวียง บทเพลงลาวแพน (ballad)
พื้นเวียง พรรณนาความสมัยกบฏอนุวงศ์ ด้วยข้อมูล/ความคิดความรู้สึกที่ผิดแผกจากประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้เห็นถึงความขัดแย้งอีกด้านของหัวเมืองประเทศราชในอีสานด้วยกันเอง นอกจากความขัดแย้งของเวียงจันทน์กับกรุงเทพฯ กบฏครั้งนี้ได้ก่อสำนึกทางประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของลาวอีสานอันเข้มแข็งเข้มข้น ซึ่งถูกนำมาใช้ในความพยายามสร้างรัฐอิสระของกลุ่มกบฏหลายกลุ่มหลายครั้ง อาทิ กบฏผีบ้าผีบุญ (พ.ศ. 2444-2445)
- หนังสือ/คำทำนายของกบฏผีบ้าผีบุญ สืบเนื่องจากการปรับเปลี่ยนการปกครองประเทศราชาธิราช(empire) อันถือว่าหัวเมืองทั้งหลายของอีสานนั้นมีลักษณะเป็นเมืองขึ้น เป็นประเทศราชต้องส่งส่วย ครั้นเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นพระราชอาณาจักร (kingdom) จึงให้เลิกการปกครองแบบกินเมือง (อัญญาสี่) เรียกเก็บเงินค่าราชการ (ภาษี) ชายฉกรรจ์ 4-6 บาท/ปี ออก พ.ร.บ. การปกครองท้องที่ เรียกว่า ระบบเทศาภิบาล
หนังสือคำพยากรณ์ที่คัดลอก บอกต่อหรือแต่งเป็นกลอนลำ ถือเป็นอาวุธสำคัญของพวกกบฏ ประกอบด้วย หนังสือผู้มีบุญ หนังสือท้าวพระยาธรรมิกราช หนังสือพระยาพระอินทร์ และตำนานพื้นเวียง
- ยุคก่อตั้งคณะสุภาพบุรุษ พ.ศ. 2472 – เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร
คณะสุภาพบุรุษ โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และคณะ ผสานกับกลุ่มอักษรสาส์น สุภา ศิริมานนท์ (อุดม/อัศนี-เปลื้อง) ส่งทอดความคิดให้นักคิดนักเขียนรุ่นถัดมา อาทิ ทวีป วรดิลกและจิตร ภูมิศักดิ์
เกิดกลุ่มเสรีไทยและองค์การต่อต้านญี่ปุ่นของกลุ่ม ส.ส. อีสาน
ต้นพุทธทศวรรษ 2490 จอมพล ป. ผนึกกำลังกับ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ปราบปรามคู่อริทางการเมือง เกิด police state ดำเนินการจับกุม ขจัดนักคิดนักเขียนก้าวหน้า และฆาตกรรม ส.ส.อีสาน ได้แก่ จำลอง ดาวเรือง จ.มหาสารคาม, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ จ.อุบลราชธานี, ถวิล อุดล จ.ร้อยเอ็ด (และดร.ทองเปลว ชลภูมิ์ จ.สมุทรสาคร) เมื่อปี 2495 กรณีกบฏสันติภาพ นอกจากเกิดการจับกุมนักคิดนักเขียนกลุ่มใหญ่ ยังมีชาวบ้านคูซอด จ.ศีรสะเกษ ถูกจับด้วย
- เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อ 10 ธันวาคม 2475 ได้มีการเลือกผู้แทนราษฎร (ทางอ้อม) เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2476 อุบลราชธานีมีผู้สมัครเป็นอันดับสองรองจากโคราชและบุรีรัมย์ นายอ่ำ บุญไทย ผู้สมัคร ส.ส.อุบลฯ เขียนหนังสือ ‘กฤดาการบนที่ราบสูง’ ใช้แนะนำตัวและหาเสียง ถือเป็นหนังสือที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกที่ใช้เป็นเครื่องมือในการก้าวสู่อำนาจทางการเมือง เนื้อหาแบ่งเป็น 4 บท ได้แก่ บทที่ 1 ว่าด้วยหน้าที่และลักษณะของ ส.ส. บทที่ 2 ว่าด้วยประเทศ บทที่ 3 ว่าด้วยจังหวัดอุบลฯ และแนวทางในการพัฒนา บทที่ 4 ว่าด้วยความคิดและนโยบาย
- อัศนี พลจันทร นามปากกา ‘นายผี’ เขียน บทกวีชื่อ ‘อีศาน’ ตีพิมพ์ใน ‘สยามสมัย’ ปีที่ 4 ฉบับที่ 256 7 เมษายน 2495 สะท้อนสภาพและกล่อมเกลาจิตวิญญาณเสรีชนให้ลุกสู้เพื่อต้านอำนาจฝ่ายอธรรม ข้ามยุคสมัยมาจนปัจจุบัน
…ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย
น้ำตาที่ตกราย ก็รีบซาบบ่รอซึม
- รัฐประหาร 2500-01 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคมืดทางการเมืองและพุทธิปัญญา
ใช้ ม.17 รวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จของเผด็จการ และคำขวัญ ‘ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว’ พร้อมกับฟื้นฟูขยายบทบาทสถาบันกษัตริย์
คำสิงห์ ศรีนอก เขียนเรื่องสั้น ‘เขียดขาคำ’ ในปิยมิตร รมย์ รติวัน เขียนเรื่องสั้น ‘นาฟางลอย’ คำสิงห์ตั้ง สำนักพิมพ์เกวียนทอง พิมพ์งาน ‘ศรีบูรพา’ ‘ปีศาจ’ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ (ซึ่งไม่มีสำนักพิมพ์ใดกล้าพิมพ์) และรวมเรื่องสั้น ‘ฟ้าบ่กั้น’ ของ ‘ลาว คำหอม’ ซึ่งเปรียบดั่งคำร้องทุกข์ เรียกขานมโนธรรมของชาวเมืองและชนชั้นปกครอง นับเป็นหลักหมุดหมายสำคัญของวรรณกรรมอีสานร่วมสมัย และ รศ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ให้ความเห็นว่ามันอาจส่งอิทธิพลทางความคิดในด้านกลับต่อมายาคติ โง่ จน เจ็บ ของคนอีสานที่ต่อเนื่องมาอย่างเนิ่นนานจนถึงปัจจุบัน
ใช้ ม.17 จับกุมนักเขียนก้าวหน้า อิศรา อมันตกุล, สุวัฒน์ วรดิลก, กรุณา กุศลาศัย, บรรจง บรรเจิดศิลป์, เปลื้อง วรรณศรี, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ ปิดหนังสือพิมพ์และประกาศรายชื่อหนังสือ ‘ต้องห้าม’ เช่น แม่ ของ แมกซิม กอร์กี้ ศรีบูรพา แปล และ นิติศาสตร์ 2500 ส่วนที่ไม่ถูกจับก็หยุดชะงัก เช่น ศรีบูรพาเยือนจีนแล้วขอลี้ภัยและสิ้นชีวิตในปี 2517 ลาว คำหอม กลับไปทำไร่ที่ปากช่อง เสนีย์ เสาวพงศ์ เข้าทำงานในสถานทูตที่อาร์เจนตินาและหยุดเขียน รมย์ รติวัน หันไปสู่วงการภาพยนตร์ เขียนบ้างในหนังสือผู้หญิง เช่น แม่ศรีเรือน, สกุลไทย, คุณหญิง (รวมเรื่องสั้นชื่อ ‘ปุยนุ่นและดวงดาว’ สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ตุลาคม 2508)
กำเนิดนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ (พ.ศ. 2506-2519) บรรณาธิการคือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการต่อในปี 2512 ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของปัญญาชนก้าวหน้าในวงกว้าง
- ยุค 14 ตุลา 16 – 6 ตุลา 19 และการล่มสลายของ พคท. ในปี 2523
การลุกขึ้นของประชาชนเพื่อโค่นล้มเผด็จการเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ก็นับเป็นการปะทุครั้งใหญ่ของกระแสแนวคิดสังคมนิยม/คอมมิวนิสต์ ที่มีเชื้อแฝงฝังอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน การศึกษาและผลิตงานวรรณกรรมอัตถสังคมนิยม (social realism) ในหมู่ในนักคิดนักเขียนจึงเป็นไปอย่างคึกคักเข้มข้น โดยมีงานเขียนในแนวอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ซึ่งถือเป็นงานวรรณกรรมของแนวคิดซ้ายใหม่ในโลกตะวันตกขณะนั้น ก็ผลิผุดแทรกขึ้นมาเพื่อหยั่งรากอยู่
บรรยากาศของเสรีภาพเอื้อให้เกิดการคิด การเขียน การพิมพ์ อันเข้มข้นหลากหลาย เกิดกลุ่มวรรณกรรมขึ้นในสถานศึกษา ในภูมิภาคในพื้นที่เล็กๆ ย่อยๆ ทั่วประเทศ เกิดแนวทางของวรรณกรรมเพื่อชีวิต (อันจะกลายเป็นสูตรสำเร็จที่แข็งทื่อไร้ชีวิตแล้วกลับกลายเป็นน้ำเน่าเสื่อมสลายไปในกาลต่อมา) ก็ผุดพรายสะพรั่งทั่วแผ่นดิน
ในห้วงพุทธทศวรรษ 2520 ‘ลูกอีสาน’ นวนิยายแนวสัจนิยมบริสุทธิ์ของ คำพูน บุญทวี (นพพร ประชากุล ให้ความเห็นว่าเป็นวรรณกรรมเฉียดใกล้ศูนย์องศาแห่งประพันธกรรม ตามแนวคิดของนักคิดหลังสมัยใหม่คนสำคัญคือ โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารฟ้าเมืองไทยรายสัปดาห์ จากปี 2518-2519 และได้รับรางวัลซีไรต์เป็นเล่มแรก ในปี 2522 ที่สุด วิจิตร คุณาวุฒิ สร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายในปี 2525
ในอีสาน กลุ่มคนหนุ่มสาวได้รวมตัวก่อตั้งกลุ่มวรรณกรรมขึ้น สมาชิกคือ น.ศ.ครู ครูและคนหนุ่มสาวก้าวหน้าจำนวนหนึ่งในบริเวณอีสานใต้ ดำเนินกิจกรรมพูดคุยเสวนาด้านการอ่านเขียนอย่างคึกคักเข้มข้น ทั้งในเขตพื้นที่อีสานใต้และเชื่อมโยงกับกลุ่มวรรณกรรมในภูมิภาคอื่นอีกด้วย
กำเนิดกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูล อันประกอบด้วย วีระ สุดสังข์, สรวุฒิ ศรีเพชร, ปราโมทย์ ในจิต, เจริญ กุลสุวรรณ, อภิเชษฐ์ ทองน้อย, ไพวรินทร์ ขาวงาม, เสรี ทัศนศิลป์, สังคม เภสัชมาลา, วงเดือน ทองเขียว, สลา คุณวุฒิ, เยี่ยม ทองน้อย ฯลฯ
- ยุคหลังป่าแตก
นโยบาย 66/23 ของอำนาจรัฐและทหาร ผนวกกับการขัดแย้งทางความคิดในขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประจวบเหมาะกันพอดี ทำให้สงครามประชาชนยุติลงอย่างสิ้นเชิง พคท. ถึงกาลล่มสลาย คนป่าคืนเมือง เกิดกลุ่มคนเดือนตุลาคม ผู้จะมีบทบาทในกลุ่มปัญญาชน นักคิด นักเขียน นักวิชาการ NGO เกิดมายาคติและมูลค่าของคนเดือนตุลา (ซึ่งมายาคติเหล่านี้จะนำไปสู่มุมอับและความขัดแย้งในสังคมรอบใหม่ในอีก 3 ทศวรรษต่อมา)
เกิดองค์กรนักเขียนอีสานที่มีการทำงานกว้างและมีระบบบริหารชัดเจนเข้มแข็งขึ้น โดยยกระดับและเปลี่ยนผ่านมาจากกลุ่มวรรณกรรมลุ่มน้ำมูล คือ สโมสรนักเขียนภาคอีสาน มีการเลือกคณะกรรมการบริหารเป็นวาระ มีการหางบประมาณมาสร้างกิจกรรม ผลิตวารสารเผยแพร่แนวคิด กิจกรรม และมีสมาชิกแน่ชัด (ไม่ต้องสมัคร แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่านักเขียนอีสานไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใดก็เป็นสมาชิกโดยปริยาย) ทว่าก็จำลองรูปแบบและวิธีดำเนินการมาจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในส่วนกลาง รวมถึงแนวคิดของคนเดือนตุลาและพคท. ยังฝังลึกอยู่ภายใน โดยในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่านจากกลุ่มวรรณกรรมมาเป็นรูปแบบบริหารงานแบบสโมสรกึ่งสมาคม ก็ได้ปัญญาชนแถวหน้าของอีสานซึ่งคืนเมืองหลัง พคท. ล่มสลาย ‘สมคิด สิงสง’ เจ้าของเพลง ‘คนกับควาย’ มาดำรงตำแหน่งประธานคนแรก
ในห้วงเวลานี้ กลุ่มนักเขียนอีสานได้ผลิตงานเขียน ขับเคลื่อนออกมาเป็นขบวนแถวคึกคักอย่างยิ่งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เป็นเพราะบรรยากาศของสังคม/การจัดองค์กรขับเคลื่อน/นักคิดนักเขียนจากป่าคืนเมือง อาทิ สมคิด สิงสง, ยงค์ ยโสธร (ประยงค์ มูลสาร), อุดร ทองน้อย แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่ายังมีขบวนเล็กๆ ของนักเขียนที่มิได้สัมพันธ์กับสโมสรฯ/คนป่า ทำงานเขียนอย่างเข้มข้นเช่นกัน อาทิ ธีระยุทธ ดาวจันทึก (นวนิยาย ‘ชะบน’), รักษ์ มนัญญา, พิสิฐ ภูศรี, ชัชวาลย์ โคตรสงคราม, พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์, โกศล อนุสิม, มาโนช พรหมสิงห์ ซึ่งงานเขียนของนักเขียนเหล่านี้จะแปลกต่างจากงานของนักเขียนในสโมสรนักเขียนภาคอีสานอย่างเห็นได้ชัด
ปัจจัยที่เอื้อต่อการสร้างความคึกคักและสร้างนักเขียนหน้าใหม่ของอีสาน ก็คือ นิตยสาร‘ช่อการะเกด’ ยุค 2 ของ บ.ก. สุชาติ สวัสดิ์ศรี นั่นเอง
อีกปัจจัยที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ศักยภาพในตัวตนนักเขียนที่กระจายตัวตามภูมิลำเนากว้างใหญ่ ได้รวบรวมกลุ่มก้อนคนใฝ่ใจในวรรณกรรมกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยขึ้นในทุกพื้นที่ เช่น กลุ่มสุรินทร์สโมสร สุรินทร์, กลุ่มคมดาว กลุ่มหิ่งห้อย อุบลราชธานี, กลุ่มบ่งใบ และอื่นๆ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, และกลุ่มวีระสโมสร กลุ่มเล็กๆ เหล่านี้เป็นแหล่งเพาะบ่มนักคิดนักเขียนรุ่นใหม่อันมีลัษณะเฉพาะของแนวคิดกับปัญหาของพื้นที่ที่แตกต่างกันหลายนาม อาทิ ทัศนาวดี, วัฒนา ธรรมกูร, สุขุมพจน์ คำสุขุม, สนั่น ชูสกุล, ไชยา วรรณศรี, มหา สุรารินทร์, วิทยากร โสวัตร, โกสินทร์ ขาวงาม, บรรจง บุรินประโคน, ธีรยุทธ บุษบงค์, วิชัย จันทร์สอน, มิ่งมนัสชน จังหาร, จารุพัฒน์ เพชราเวช, ภู กระดาษ, สัญญา พานิชยเวช, โขงรัก คำไพโรจน์, เสือ นาลานฯ ณ ลุ่มน้ำ, อรอาย อุษาสาง ฯลฯ
- ยุคการรัฐประหาร 29 กันยายน 2549 – การล้อมปราบ เมษา-พฤษภา 2553
ในช่วงพุทธทศวรรษ 2550 เกิดปรากฏการณ์ตื่นรู้ทางการเมืองของคนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบท นักเขียนอีสานก็ได้ปักหมุดหมายใหม่ของเส้นทางวรรณกรรม ที่จะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าจากอดีตไปอย่างน่าจับตา/วิเคราะห์/ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
หลังรัฐประหาร 1 ปี กลุ่มนักคิดนักเขียนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่อุบลราชธานี ได้ร่วมมือกันทำ ‘วารสารไทบ้าน’ โดยได้รับทุนจาก พอช. ยาวนาน 2 ปี (ปี 2550 – 4 ฉบับ/ ปี 2551 – 2 ฉบับ) ก่อนที่กลุ่มคนทำงานกลุ่มนี้จะร่วมกันทำจุลสารรายสะดวก (คล้ายหนังสือเล่มละบาทยุค 14 ตุลา) แจกฟรีชื่อ ‘จดหมายวรรณกรรม’ และที่สุดก็พัฒนามาเป็น ‘วารสารชายคาเรื่องสั้น’ ในปี 2553 กลุ่มคนนักคิดนักเขียนเหล่านี้ เช่น มาโนช พรหมสิงห์, ธีระพล อันมัย, พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์, ภู กระดาษ, จารุพัฒน์ เพชราเวช, อรอาย อุษาสาง, ภูมิชาย คชมิตร, วิทยากร โสวัตร ซึ่งยั่วล้อตนเองว่าเป็นกองทัพผีที่ออกมาหลอกหลอนผู้คน เป็นอาณานิคมของเจ้าอาณานิคมหลายชั้น เป็นไพร่ เป็นข้า ที่ถูกกดทับอยู่หลายซับหลายซ้อน ผ่านจนถึงปี 2558 จึงร่วมมือและได้รับการหนุนเสริมจากกลุ่มนักวิชาการรุ่นใหม่ นำโดย เสนาะ เจริญพร, ธีระพล อันมัย, ราม ประสานศักดิ์ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการจัดหาทุน ร่วมทำงานและร่วมเสนอแนวคิดในการดำเนินการ ซึ่งเป็นการผนึกกำลังที่น่าจับตา/ศึกษายิ่ง
และกลุ่มสำนักพิมพ์ชนนิยม นำโดย ปรีดา ข้าวบ่อ รวบรวมมิตรสหายจากหลากหลายกลุ่มดำเนินการออกนิตยสารรายเดือน ‘ทางอีศาน’ มีเนื้อหานำเสนอด้านศิลปวัฒนธรรมอีสานอย่างต่อเนื่อง
#วรรณกรรมอีสานเก่า
- ติดกรอบแนวคิดก้าวหน้าของวาทกรรม 14 ตุลา/วรรณกรรมเพื่อชีวิต/แนวคิดของ พคท.
- กลวิธีการเขียนยึดอยู่กับสัจนิยม (realism), สะท้อนความทุกข์ยาก, แร้นแค้น, ด้อยโอกาส ด้วยน้ำเสียงเศร้า, เสียดเย้ย, ขมขื่น
- ผลิตซ้ำงานยิ่งใหญ่ในอดีต อาทิ ฟ้าบ่กั้น, ลูกอีสาน, คำอ้าย, ครูบ้านนอก
- อยู่ในกรอบอาณานิคมภายใน (internal colonialism) ไม่ใช้คำลาวอีสาน, คิดว่าความเป็นสากลของงาน คือ เขียนให้ส่วนกลางเข้าใจ, รับรู้, ฟ้องร้อง
# วรรณกรรมอีสานใหม่ มีเค้ารางเส้นทางใหม่ของวรรณกรรมอีสาน กระเส็นกระสายก่อตัวมาระยะหนึ่ง ทว่าได้ปรากฏเด่นชัดและมีพลวัตรที่มีพลังอย่างน่าจับตาและตื่นตา ก็ลุล่วงมาจนถึงช่วงพุทธทศวรรษ 2550 อันมีมูลเหตุมาจากการตื่นตัว/แบ่งขั้วความคิดทางการเมืองในสังคมไทย ผนวกกับการบ่มเพาะตัวศึกษาแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Post-modernism) และหลังอาณานิคม (post-colonialism) อย่างลุ่มลึกจริงจังของเสรีชนนักคิดนักเขียนและนักวิชาการรุ่นใหม่ในอีสาน
- ล้อวรรณกรรมสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ล้อตนเองและตั้งคำถามกับความเป็นศิลปะและวรรณกรรมของตน
- มีลักษณะของวรรณกรรมหลังสมัยใหม่ (post-modernism) คือ กระตุ้นคนอ่านให้ตั้งคำถามกับความจริง
- มีลักษณะของวรรณกรรมยุคหลังอาณานิคม (post-colonialism) ที่มุ่งปลดแอกตนเองจากการครอบงำทางวัฒนธรรม ไม่ยอมสยบใต้อำนาจหรือแบบแผนวรรณกรรมของเจ้าอาณานิคม
- มีลักษณะวิพากย์อุดมการณ์กระฎุมพีที่แฝงอยู่ในวรรณกรรมสัจนิยม (realism) ซึ่งปฏิเสธโลกทรรศน์แบบฝันเฟื่องที่มากับตำนาน (ไม่ให้คุณค่าชาวบ้าน)
- ก้าวล่วงผ่านลงลึกไปรื้อฟื้นคติชาวบ้าน/คติชนวิทยา (folklore) มาใช้ประกอบสร้างงานเขียน รวมไปถึงประวัติศาสตร์กระซิบ, ชาติพันธุ์วิทยา (ethnology) ซึ่งย้อนแย้งอย่างยิ่งกับการศิลปะ/วิธีการประพันธ์ ซึ่งนำเอาเทคนิควิธีการของต่างประเทศมาใช้อย่างเข้มข้นจริงจัง
- นำภาษาพื้นบ้านของชาติพันธุ์ต่างๆ (ลาว, เขมร) มาใช้อย่างยั่วล้ออย่างสนุกสนาน/สร้างความปั่นป่วน เพราะได้รับอิทธิพลหรือมีการศึกษาเรื่องภาษาศาสตร์ของแฟร์ดิน็องด์ เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) (ค.ศ. 1857-1912) และแนวคิดสัญศาสตร์ (semiotics)
บรรณานุกรม
- ‘สายธารวรรณกรรมเพื่อชีวิตไทย’ เสถียร จันธิทาธร สนพ.เจ้าพระยา พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2525
- ‘การเมืองสองฝั่งโขง’ ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ สนพ.มติชน พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2546
- ‘ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง: วีรบุรุษสองฝั่งโขง’ นักเขียนหลายคน สุจิตต์ วงเทศ บรรณาธิการ สนพ.มติชน พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2538
- ‘“ชาติไทย”ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า’ โสภา ชานะมูล สนพ. มติชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาตม 2550
- ‘ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย’ คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร สนพ. มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2557
- ‘ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 1/เล่ม 2’ นพพร ประชากุล สนพ.อ่านและวิภาษา พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2552
- ‘ประวัติศาสตร์นักหนังสือกบฏ (ฉบับใต้ดิน)’ วาด รวี สนพ. Openbook พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2551